ประสบการณ์ประชาสังคม(19) : กองทุนสื่อประชาสังคมต้านคอร์รัปชัน (2545-2547)

           เมื่อไปประกาศในเวทีสัมมนารวมพลังประชาชนต้านคอร์รัปชันของ คปต.  ที่ศูนย์ประชุมไบเทคแล้ว คุณทักษิณ ชินวัตรได้เชิญคณะของเราไปพบที่ทำเนียบรัฐบาลในสัปดาห์ถัดมา ที่ไปในคราวนั้นมีคุณณรงค์ โชควัฒนา, หมอพลเดช ปิ่นประทีป, พลเอกกิติศักดิ์  รัฐประเสริฐ และคุณวีระ สมความคิด

          คุณทักษิณ พูดกับพวกเราว่า “เชิญพวกท่านมาเพื่อส่งการบ้านตามที่รับปากไว้ในเวที    รัฐบาลจะให้เงินไปเป็นกองทุนวิจัยสืบค้นคอร์รัปชัน จำนวน 20 ล้านบาท โดยงวดแรกเอาไปก่อน 5 ล้าน จากสำนักงานกองสลากฯ หมดแล้วจึงค่อยเอาอีก”
          แล้วท่านก็มอบหมายพลตรีปรีชา   วรรณรัตน์ รองเลขานายกรัฐมนตรี (ในขณะนั้น) เป็นผู้ประสานติดต่อกับพวกเราโดยตรง
          โดยไม่คาดคิดมาก่อนว่าจะเร็วปานนี้ เรากลับมานั่งคุยกันต่อว่าจะจัดการอย่างไรดี  คุณวีระ ยกประเด็นสำคัญขึ้นหารือว่า คปต. ต้องทำงานตรวจสอบนักการเมืองและราชการ ถ้ารับเงินจากรัฐบาลดูจะไม่เหมาะด้วยประการทั้งปวง เพราะ คปต. ต้องเป็นอิสระและได้รับความไว้วางใจจากสังคม

ที่ประชุมจึงตกลงกันว่าให้ LDI เป็นผู้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลและบริหารจัดการทุกอย่างแทน จึงเป็นที่มาของการตั้ง “กองทุนสื่อประชาสังคมต้านคอร์รัปชัน (สปต.)”  (People’s Fund For Exposing Corruption : PFEC) ภายใต้มูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนา เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2544 โดยมีคณะกรรมการประกอบด้วย รศ.ต่อตระกูล   ยมนาค (จุฬาฯ) เป็นประธาน, คุณดนัย   อนันติโย (สภาทนายความ), คุณเอื้อวงศ์   วงศ์ทองเหลือ (สำนักงาน ปปช.), คุณดวงกมล โชตะนา (กรุงเทพธุรกิจ), นพ.ชูชัย   ศุภวงศ์ (สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ), ดร.ชุติมา   หาญเผชิญ (สำนักงาน กพ.) และ นพ.พลเดช   ปิ่นประทีป (LDI) ซึ่งเป็นทั้งเลขานุการและคณะกรรมการผู้จัดการกองทุน

          กองทุน สปต. ดำเนินการให้ทุนการวิจัยสืบสวนสอบสวนเพื่อสร้างองค์ความรู้เรื่องราวทุจริตคอร์รัปชันแบบเจาะลึกและเผยแพร่ข้อมูลต่อสาธารณะ   โดยมีวัตถุประสงค์สามประการ   1) ให้ทุนสนับสนุนสื่อมวลชนทุกแขนง   นักพัฒนาเอกชน นักวิชาการและผู้นำชุมชน   2) ประสานสนับสนุนกิจกรรมเผยแพร่   3) วิจัยปัญหาอุปสรรคในการต่อต้านคอร์รัปชัน
          โครงการสืบค้นคอร์รัปชันชุดแรกประมาณ 10 เรื่อง ที่กลุ่มนักข่าวและนักพัฒนาเอกชนได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุน สปต. นับว่าได้สร้างผลสะเทือนในวงการเมืองการปกครองขณะนั้นตามสมควร  อาทิ : กรณีทุจริตนมโรงเรียน, กรณีก่อสร้างศูนย์นิวเคลียร์องครักษ์, กรณีการออกเอกสารสิทธิ์ที่ดินในจังหวัดลำพูน, กรณีกองทุนประกันสังคม,กรณีซ่อมเฮลิคอปเตอร์ฮิวอี้,กรณีเรือขุดอิลิออตต์, กรณีสนามกีฬากรมพละศึกษา, กรณีทุจริตยา, กรณีคลองด่าน, กรณีสะพานสตึก,กรณีโฉนดน้ำ ฯลฯ
          นอกจากสนับสนุนโครงการวิจัยสืบสวนสอบสวนแล้ว   กองทุน สปต. ยังได้สนับสนุนกิจกรรม/โครงการที่สนับสนุนกระบวนการต่อต้านคอร์รัปชันในรูปแบบอื่น ๆ ด้วย เช่น กิจกรรมฝึกอบรมนักข่าวให้มีความรู้และทักษะพื้นฐานในการทำ Investigative Reporting  โครงการนี้ก็เกิดแรงกระเพื่อมเมื่อคุณทันพงษ์   รัศนานันท์ได้เกิดแรงบันดาลใจ ไปทำการรวมตัวกลุ่มผู้เข้าอบรมเข้าเป็นเครือข่าย CINN (Corruption Investigation News Network) มีสมาชิกประมาณ 30 คน หรือ เช่นการสนับสนุนโครงการพัฒนาระบบฐานข้อมูลนักการเมืองเพื่อเป็นข้อมูลสาธารณะ    รวมทั้งการจัดประชุมสัมมนาและการจัดทำสื่อเผยแพร่ข้อมูลคอร์รัปชันต่าง ๆ
          เราทำงานไปได้ปีกว่า เงินทุนกำลังจะหมดลง ผมจึงได้ทำบันทึกเสนอนายกรัฐมนตรี ผ่านเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเพื่อขอสนับสนุนงบประมาณในจำนวน 15 ล้านบาทตามที่เคยรับปากไว้   คุณทักษิณชิ่งลูกไปให้รองนายกรัฐมนตรี คุณวิษณุ   เครืองาม    ผมตามไปพบตัวจนได้   คุณวิษณุแบ่งรับแบ่งสู้ตามฐานานุภาพของท่าน    จนในที่สุดก็สามารถสรุปได้ชัดเจนว่าคุณทักษิณปิดเกมไปแล้วตั้งแต่ผลงานของเราออกมาเปิดโปงกรณีที่มีเงื่อนงำทั้งหลาย     เวลานั้นคุณทักษิณ หลุดคดีซุกหุ้นไปแล้วและรัฐบาลกำลังแข็งแรงอย่างสุดๆ เสียด้วย การดำเนินงานของกองทุน สปต. จึงจำต้องหยุดลงไปก่อน(ชั่วคราว)ในปี 2548
ปลายปีนั้นเองพรรคไทยรักไทยของคุณทักษิณชนะเลือกตั้งกลับมาเป็นรัฐบาลอีกครั้ง ด้วยคะแนนเสียงที่ถล่มทลายยิ่งกว่าคราวแรก
          มีบทเรียนรู้จากกองทุนสื่อประชาสังคมต้านคอร์รัปชันที่ควรพิจารณาในเชิงยุทธศาสตร์และการจัดการของภาคประชาชนครับ
          1. กลไกกองทุนเป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนภาคประชาชน
          การขับเคลื่อนสังคมโดยภาคประชาชนนั้นมักมีลักษณะที่เป็นนวัตกรรมมากกว่าที่จะเป็นกิจกรรมทั่ว ๆ ไป จึงเป็นเรื่องที่หน่วยงานราชการและองค์กรภาครัฐตามปกติจะไม่เข้าใจและไม่อยากสนับสนุนงบประมาณ เว้นเสียแต่ว่าจะมีข้าราชการจิตอาสาที่อำนาจหน้าที่ จะช่วยหาทางพลิกแพลงจัดหาทรัพยากรมาสนับสนุนในทางอ้อม ๆ ซึ่งก็ทำได้น้อยมากและมีเงื่อนไขเฉพาะมากมาย
          กองทุนสนับสนุนภาคประชาชนจึงถือเป็นกลไกสนับสนุนสำคัญ ที่มีความหมายเชิงยุทธศาสตร์ทีเดียวครับ
          ความจริงประเทศไทยมีการริเริ่มและพัฒนาระบบกองทุนมานานแล้วและมีกองทุนที่ดำเนินการนอกระบบราชการมากมาย   ในภาคธุรกิจ อุตสาหกรรม การเงิน และการค้าขายเขาทำกันจนเป็นเรื่องปกติ   แต่ในทางสังคมนั้นมักกลายเป็นประเด็นทันทีเพราะคนไทยถูกสอนสั่งให้หลงไปกับการแข่งขันวูบวาบมากกว่าสนใจชีวิตความเป็นอยู่ภายในบ้านหรือความมั่นคงในชีวิตมนุษย์   รัฐบาลช่วยภาคธุรกิจทีละหมื่นล้านแสนล้านไม่ต้องคิดอะไรมาก     แต่จะช่วยสังคมและคนยากจนสักสิบล้านร้อยล้านมักมีปัญหา
          ในสายสิ่งแวดล้อมเขามีกองทุนสิ่งแวดล้อม หรือในสายพลังงานเขามีกองทุนพลังงาน แต่กองทุนเหล่านี้ล้วนเป็นราชการทั้งแท่ง ประชาชนเข้าถึงยาก    ในสายสาธารณสุขเขามีกองทุน สสส. ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐที่ไม่ใช่ราชการจึงเป็นเครื่องมือทางสังคมที่ภาคประชาชนสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้มากกว่า     แต่กองทุน สสส. ก็มีภารกิจและวัตถุประสงค์เฉพาะขององค์กร   ใช่ว่าจะสนับสนุนภาคประชาชนได้ทุกเรื่องเสียเมื่อไร
          จากประสบการณ์ของกองทุน สปต. พวกเราจึงมีความตั้งใจมุ่งมั่นว่าสักวันหนึ่ง จะต้องผลักดันให้มีกองทุนสนับสนุนภาคประชาชนเพื่อต่อสู้กับคอร์รัปชัน   อันเป็นมะเร็งร้ายที่กัดกินสังคมไทย 5 ปีมาแล้วที่เราพยายามเสนอให้รัฐบาลหรือองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ออกกฎหมายตั้ง “กองทุนเพื่อความโปร่งใส” โดยเจียดเงินเพียงแค่ 0.1% ของงบลงทุนหรืองบพัฒนาในแต่ละปีของราชการและท้องถิ่นเข้ามา    หรืออาจจะแบ่งส่วนมาจากค่าธรรมเนียมการเคลื่อนย้ายถ่ายโอนเงินทุนในตลาดหลักทรัพย์ หรือจะเก็บภาษีเพิ่มจากธุรกิจสีเทาก็ได้
          แต่ความพยายามดังกล่าวยังไม่ประสบผล   เวลานี้จะมีก็แต่ “กองทุนพัฒนาการเมือง”   ที่จัดตั้งขึ้นแล้วตาม พ.ร.บ. สภาพัฒนาการเมือง พ.ศ.2551    ซึ่งสถาบันพระปกเกล้าเป็นผู้ดูแล และขณะนี้ยังละล้าละลังอยู่ว่าจะไปทางไหน
          2. เงินทุนเพื่อแก้ปัญหาคอร์รัปชันยังหาได้ยากในสังคมไทย
          จากประสบการณ์ในการก่อตั้ง คปต. และการบริหารกองทุน สปต. เราพบว่ากลุ่มองค์กรภาคประชาชนที่จับงานตรวจสอบและขจัดปัญหาคอร์รัปชันนั้นหาแหล่งทุนสนับสนุนได้ยากมาก   ด้วยความที่เป็นงานซึ่งร้อนจัด เอกชนไม่กล้าสนับสนุนอย่างออกหน้าออกตา   ราชการก็กลัวได้รับผลกระทบ    นักการเมืองยิ่งกลัวเป็นหอกข้างแคร่
          การทำกิจกรรมระดมทุน (Fund Raising) อย่างจริงจังในเรื่องนี้ไม่เคยมีใครทำมาก่อน   แต่หากใครอยากทำก็คงไม่ง่าย เพราะคนไทยส่วนใหญ่ยังยากจน (70% เป็นคนละระดับรากหญ้า) ผิดกับประเทศเกาหลีใต้ที่เขาผ่านพ้นความยากจนไปแล้ว (70-80% ของคนเกาหลีเป็นชนชั้นกลาง)    เศรษฐีคนไทยยังไม่มีค่านิยมบริจาคเงินเพื่อพัฒนาสังคมแบบเป็นล้ำเป็นสันโดยไม่หวังผลตอบแทน   คนไทยทั่วไปนิยมชมชอบบริจาคเงินแบบทำบุญทำทานโดยร่วมกับวัด วังหรือราชการมากกว่าวัตถุประสงค์อื่น ๆ
          3. องค์กรภาคีมีความสำคัญ
          กองทุน สปต. ได้รับเงินจากรัฐบาลก็จริง  แต่การทำงานร่วมกับสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่มี รศ.ต่อตระกูล ยมนาค และ ดร.สังศิต   พิริยะรังสรรค์ ร่วมทั้งคุณอานันท์ ปันยารชุน เป็นผู้สนับสนุน หรือการทำงานร่วมกับวุฒิสภาซึ่งมีกลุ่ม 30 สว. หัวก้าวหน้า เช่น โสภณ สุภาพงษ์, นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ, เจิมศักดิ์   ปิ่นทอง, สัก กอแสงเรือง, แก้วสรร   อติโพธิ, ประทิน สันติประภพ ฯลฯ หรือการทำงานร่วมกับสำนักงาน ปปช. และ สตง. นั้น มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่ช่วยให้ภาคประชาชนสามารถยืนอยู่ได้ มีภูมิคุ้มกัน และมีแหล่งทรัพยากรเกื้อหนุนกันไปบ้างตามสภาพ
          อย่างเช่นในปี 2546-2547   สำนักงาน ป.ป.ช. นำงบประมาณอุดหนุนจากธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) มาร่วมกับ LDI และกองทุน สปต.   จำนวน 15 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนเครือข่ายภาคประชาชนทำงานต้านคอร์รัปชัน เรามีกระบวนการพัฒนาและพิจารณาโครงการแบบมีส่วนร่วม สุดท้ายมีองค์กรภาคประชาชนได้รับการสนับสนุนจำนวน 11 โครงการ ประกอบด้วยโครงการด้านสื่อประชาสัมพันธ์, ด้านองค์ความรู้ และด้านการเคลื่อนไหวสังคม   เป็นต้น
นพ.พลเดช ปิ่นประทีป
2 ตุลาคม 2552

Be the first to comment on "ประสบการณ์ประชาสังคม(19) : กองทุนสื่อประชาสังคมต้านคอร์รัปชัน (2545-2547)"

Leave a comment

Your email address will not be published.