ตอนที่ 44 : พัฒนาแฟลตดินแดง

          ในรอบสัปดาห์ หมอพลเดชยังคงติดอยู่ที่หน้าจอทีวี และหนังสือพิมพ์อย่างต่อเนื่อง ต้นสัปดาห์เป็นเรื่อง “รื้อแฟลตดินแดง สร้างชุมชนดินแดงใหม่” กลางสัปดาห์เรื่องจากครม. และปลายสัปดาห์เป็นบทสัมภาษณ์พิเศษ “ยุทธศาสตร์ดับไฟใต้” ในมติชน

25 มิย.
          เช้าไปจังหวัดนครปฐม ที่อำเภอนครชัยศรี เปิดเวทีประชาธิปไตยชุมชน ทีมขับเคลื่อนยุทธศาสตร์สังคมนครปฐมได้ดำเนินงานเวทีครบหมดแล้ว นี่เป็นเวทีสุดท้าย ดูบรรยากาศแล้วเป็นไปแบบเรื่อยๆ ไม่หวือหวานัก แต่แกนทำงานที่นี่เขาทำงานเข้าขากันดี

 

 

อยู่ทานข้าวกลางวันกับ พมจ. และคณะ ที่ร้านอาหารข้าวที่ว่าการอำเภอ เขามีอาหารเป็นชุด 1250 บาท เรากินกัน 10 คน อาหารปลาเพียบเลย เมืองไทยนี่อาหารการกินสุดที่จะอุดมสมบูรณ์และค่าครองชีพถูกมาก สมแล้วที่คนต่างชาติจะหลงเสน่ห์มาเที่ยวเมืองไทยไม่ขาดสาย

          17.00 น. ไปร่วมประชุม บอร์ด กคช. นัดพิเศษเพื่อพิจารณาปัญหาแฟลตดินแดง วันนี้ ปพม. มิได้มาเป็นประธาน มี ศ.ดร.ธงชัย พรรณสวัสดิ์ ทำหน้าที่แทน เมื่อเดินทางไปถึง กคช.ที่คลองจั่น มีกองทัพผู้สื่อข่าวทั้ง TV ,หนังสือพิมพ์.มาดักที่หน้าตึกสำนักงานใหญ่ พอเห็นรถ รมช.พม.มาถึงพวกเขายิ้มเดินเข้าหา ผมแกล้งทำหน้าประหลาดใจพร้อมกับยกมือชู แล้วร้องว่า “สู้โว้ย!” เล่นเอาน้องนักข่าวพากันหัวเราะครื้นเครง
         ก่อนที่เข้าประชุมบอร์ด กคช. ผมให้สัมภาษณ์ในเชิงยืนยันจุดยืน และทิศทางนโยบายของ พม.ในแบบเดิม แต่ออกแต่ว่า “ขอให้ฟังการประชุมบอร์ด กคช. เสียก่อนจะดีกว่า” อย่างไรก็ตามคำสัมภาษณ์นั้นได้ถูกปล่อยออกไปทางวิทยุ,ข่าวด่วน TV และ SMS ล่วงหน้าไปแล้ว
         เมื่อวานนี้ กลุ่มผู้อาศัยจำนวนหนึ่งที่เป็นแกนได้มาฟังการชี้แจงและประชุมร่วมกับ กคช. มีบรรยากาศการรับฟังที่ดีและมีการให้สัมภาษณ์ทางวิทยุ นสพ. TV ในวันนี้ตั้งแต่เช้าในทางบวก มีท่าทียอมรับสภาพและช่วยคิดเรื่องการปรับปรุงชุมชน
         ที่ประชุมบอร์ด ได้นำ VDO บันทึกการประชุมมาฉายให้ดูบรรยากาศด้วย อ.ขวัญสรวง อติโพธิ ได้นำเสนอPower point แสดงสถานการณ์ปัญหาของชุมชนและอาคารอย่างมีศิลปะ ช่วยให้ที่ประชุม/ ชุมชนมีความเข้าใจและปรับทัศนคติได้ไม่น้อยที่เดียว
         ที่สุดแล้วบอร์ดมีมติ 4 ข้อ ยืนยันเจตนารมณ์”พัฒนาชุมชนแฟลตดินแดงใหม่ เพื่ออนาคตของลูกหลาน”
                   1) ทุกคนได้อยู่ที่เดิม
                   2) การเคหะฯจะไม่หากำไรทางธุรกิจ
                   3) กคช.กับชุมชนจะร่วมกันกำหนด ทั้งรูปแบบ , ขั้นตอน – กระบวนการ ,การลงทุนและการดูแลชุมชนระหว่างปรับปรุง
                   4) จะมีสื่อสารทางตรงระหว่าง กคช. – ชุมชนมากขึ้น      โดยไม่ผ่านตัวกลาง
         หลังการประชุมเสร็จ รองนายกฯไพบูลย์ เดินทางมาถึงพอดี จึงBrief เสร็จแล้วลงไปแถลงข่าวร่วมกันระหว่าง รมว. , รมช. ผว.กคช.และบอร์ด,ผู้สื่อข่าวยังคงอยู่อย่างหนาแน่นเช่นเคย มีการซักซ้อมความเข้าใจในประเด็น หลาย กรณี
                      รมว.ยืนยันความเชื่อมั่นในการทำงานของ Board ชุดนี้
                      รมช.ย้ำจุดยืนและทิศทางนโยบายที่ได้เคยสัมภาษณ์ไว้
                      ผว.กคช.และบอร์ดช่วยกันอธิบายปัญหาทางเทคนิค
         หลังแถลงข่าว กลับขึ้นไปทานข้าวเย็นร่วมกัน ทุกคนมีความมั่นใจว่าจะเดินหน้าต่อไปได้อย่างดี และมีกำลังใจผว.การเคหะถึงกับประกาศว่า” บัดนี้กระบวนการฟื้นฟูเมืองใหม่ดินแดงเกิดแล้ว”
26 มิ.ย. ( อังคาร)
          ประชุม ครม. วันนี้ไม่มีนายกฯ รองฯโฆษิตเป็นประธานแทน มีการประชุมนอกรอบกับประธาน คมช.เช่นเคย
          เรื่องสำคัญของการประชุมนอกรอบคือ การชี้แจง ต่างประเทศ และ ประชาชน ในเรื่องคำตัดสินคดีการเมืองของศาลรัฐธรรมนูญ คดีอายัดทรัพย์ของคตส. ซึ่ง รมต.ธีรภัทร เรียนที่ประชุมว่า สน.นายกจะทำ Spot วิทยุ , TV โดยเอาสาระจากคำพิพากษามาทำเป็นสื่อและเผยแพร่อย่างต่อเนื่อง ด้วยความถี่
          ก่อนเข้าประชุม ครมช. ผมให้สัมภาษณ์สื่อไปก่อนแล้วในเรื่อง จชต..ว่าส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับการให้เป็นเขตปกครองพิเศษตามที่มีคนเสนอ , และไม่มั่นใจว่าการเจรจาจะเกิดขึ้นได้ง่ายๆกับตัวจริงเพราะเขาไม่กล้าเปิดเผยตัว เนื่องจากผู้รับผลกระทบจากยุทธวิธีของพวกเขามีมากเหลือเกิน ฯลฯ นี่เป็นการชิมลางปูพื้นก่อนที่บทสัมภาษณ์จะออกในปลายสัปดาห์
          ที่ประชุม ครมช. ยังคงพูดปัญหา จชต.ด้วยความห่วงใยเช่นเคยทาง คมช.พูดถึงงบประมาณ TOT 800 ล้านที่จะใช้ซื้ออุปกรณ์ดักฟังว่าเป็นเครื่องมือทางยุทธวิธีดับไฟใต้ เพราะทำงานได้ผลดีมาก แต่เรื่องแดงขึ้นมาเนื่องจากถูก ดร.วุฒิพงษ์ เทรียบจริยาวัตรเบรก จนเกิดเรื่องทำให้ถูกขับออกจากบอร์ดและผอ. TOT อย่างฉับพลัน และเมื่อเรื่องแดงแล้ว ยุทธวิธีนี้ก็ไม่อาจทำได้ต่อไป รมว.กห.ท่านบอกอย่างนี้
         รมว.กห. ชี้แจงเรื่องที่สัมภาษณ์ นสพ.ว่า “จชต.ปกครองพิเศษก็อยู่ในวิสัยพิจารณาได้ เพราะ กทม.,พัทยาก็เป็นอย่างนั้นอยู่แล้ว” ท่านบอกกับที่ประชุม ครมช. ว่าท่านมิได้มีเจตนาที่จะให้เป็นเขตปกครองตนเอง หรือว่าเขตปกครองพิเศษแต่อย่างใด
                      ผมไม่แสดงความคิดเห็นแม้แต่นิดเดียว ในใจคิดว่า “คอยอ่านบทสัมภาษณ์ทางมติชนก็แล้วกัน”
                      ประชุมครม. คราวนี้มีเรื่องน้อยกว่าคราวก่อน เรื่องสำคัญได้แก่
·   เห็นชอบ พรบ. ขรก. ยกเลิกระบบซี ( PC 1 -11) เปลี่ยนมาเป็น 4 สายงานแทน
·พิจารณาแผนแม่บทการสื่อสารสาธารณะของรมต.สำนักนายกโดย ให้กลับไปศึกษาแล้ว กลับมาพูดคุยอีกครั้งในคราวหน้า
·   รายงานการแก้ปัญหาแฟลตดินแดงของกระทรวงพม.เพื่อทราบเป็นข้อมูล
         16.00 น. ประชุมกับรองนายกฯ และคณะทำงานวิชาการที่ขับเคลื่อน พรบ. สภาองค์กรชุมชน มี ดร.อนุชาติ พวงสำลี ,ชัชวาลย์ ทองดีเลิศ,ไพโรจน์ พงเพ็ชร, ปาริชาติ วลัยเสถียร ฯลฯ ยืนยันว่าใน ครม.จำเป็นต้องหยุดเคลื่อนไหวเพื่อรอจังหวะทางยุทธวิธี ไม่ใช่เป็นการถอยทางยุทธศาสตร์แต่อย่างใด เพราะไม่มีการถอย,ไม่มีการถอน(ร่าง) พรบ.ใดๆทั้งสิ้น
         ตกลงว่า การเคลื่อนของพลังทางสังคม ,ชุมชน,ภาควิชาการควรเดินหน้าต่อไปโดยที่ผมไม่ไปยุ่งเกี่ยว แต่จะช่วยสนับสนุน งปม. ผ่าน วจส.สำหรับจัดเวทีภูมิภาคของฝ่ายวิชาการ 10 เวที
27 มิ.ย
         เดินทางไปขอนแก่น เพื่อบรรยายพิเศษในงานสัมมนาวัฒนธรรมจังหวัด ทั่วประเทศของกระทรวง วธ. เพราะรับปากคุณหญิงไขศรี แสงอรุณ รมว.วธ.เอาไว้เป็นมั่นเหมาะ ก่อนบรรยายไปเยี่ยมศูนย์สงเคราะห์เด็ก 0-6 ปี “บ้านแคนทอง”
         บรรยายหัวข้อ “ พม.ทำอะไรในชุมชน” เพื่อเป็นประวัติและข้อมูลให้กับที่ประชุม ระดมความคิดบูรณาการงาน วธ. – พม. ในระดับพื้นที่
         14.30 น ดอนและดร.โจ ที่ปรึกษา จชต. มาพบเพื่อเตรียมประเด็นการพูดคุย คณะกรรมการที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีในกิจการ จชต. ที่จะมีขึ้นครั้งแรกในวันจันทร์หน้า ( 2 ก.ค.)
          ดอนกระซิบบอกผมว่าให้ระมัดระวังหน่อย เพราะมีกระแสข่าวจากทีมงานของ รมต.สำนักนายก บอกว่ารมช.พม. ไปแย่ง Scene ของเขา , กระแสข่าวจากทีมนสพ. ผู้จัดการ และไทยโพสต์จึงจับจ้องมาที่หมอพลเดช หมายจะใช้เป็นตัว proxy  สู้กับอำนาจเก่าแทน รมต.ธีรภัทร์ ได้ฟังแล้วจึงขอบใจดอนที่เป็นห่วง
          ดอนบอกว่าเป็น paper จชต.ล่าสุดที่พี่หมอให้อ้อยพิมพ์น่าหวาดเสียวมาก อยากให้ระมัดระวัง ไม่ปล่อยออกไปสู่ภายนอก ผมคิดในใจว่า “พรุ่งนี้มติชนจะลงบทสัมภาษณ์แล้ว” คงเบรกไม่ทันแน่ แต่เมื่อขอบทสัมภาษณ์สุดท้ายที่จะส่งพิมพ์มาดู ก็พบว่า “ไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง”
28 มิ.ย
         8.00 น. คุณ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (หน.พรรคประชาธิปัตย์) และคุณพีรพันธุ์ สาลีรัฐวิภาคย์ มาพบ รมว. และรมช.พม. เรื่องแฟลตดินแดง บรรยากาศเป็นไปด้วยดี พวกเขาอ้างถึงมติ ครม. ปี 43 ในสมัยที่นายกฯชวน หลีกภัย บริหารประเทศ , คุณอภิสิทธิ์ เป็น รมต.ประจำสำนักนายก เคยมีมติในการพัฒนาแฟลตดินแดง ,ให้ งปม. 200 ล้าน และวางแนวทาง 8 ข้อ ซึ่งรัดกุมดี แต่มิได้ดำเนินการเพราะยุคต่อมา นายกฯทักษิณไม่ทำตาม เอาแต่หาเสียงกับชาวแฟลตด้วยนโยบายประชานิยม
         หลังคุยกันเสร็จ เดินออกมาสัมภาษณ์ด้วยกัน อภิสิทธิ์พูดกับผมว่า “คุณหมอทำอะไรตั้งเยอะ เมื่อเช้านี้ผมพึ่งอ่านบทสัมภาษณ์ไฟใต้จากมติชน”ผมตอบขอบคุณ
         9.30 น. คุณ ปรีดิ์ บูรณศิริ ประธานประเมินผล กคช. มาพบเพื่อชี้ประเด็น 1) ต้องเริ่มกระบวนการสรรหา ผอ.กคช. คนใหม่ได้แล้ว เพื่อไม่ให้เกิดสูญญากาศหลังคุณพรศักดิ์ เกษียณราชการ 2) ต่อรายงานของคณะกรรมการประเมินผลที่เสนอมาแล้วอยากให้ รมต.แทงเรื่องมอบหมาย กคช.อย่างจริงจัง
         10.00 น. คณะของ UNFPA  นำโดย ดร.กิริดะ ( ชาวอินเดีย) ดร.วาสนา อิ่มลาภ , นพ.ทวีทรัพย์ ศิริประภาศิริ ฯลฯ มาพบหารือเรื่องการทำงานร่วมกัน ระหว่าง UNFPA  และ กระทรวงพม. ได้ข้อสรุปว่มีางานผู้สูงอายุ 1 ต.ค 50 – วันรับผู้สูงอายุสากลที่จะจัดร่วมกัน และ นำไปสู่การประกาศวาระผู้สูงอายุในโอกาส 80 ปี ในหลวงด้วย
                      11.00 น บันทึกเทปรายการเรื่องจริงผ่านจอ ประเด็นนโยบายรัฐบาลในเรื่องลด ละ เลิก อบายมุข
         12.30 น. คุณอาณัติ จาก สำนัก งปม. มาขอพบ เพื่อให้ข้อมูลและแง่คิดในการปรับโครงสร้างองค์กรของกระทรวง พม. ซึ่งเขาเห็นว่า ศพส.น่าจะถอยกลับไปที่ตั้ง จาก 75 จว.เหลือแค่ 57 พท.ก็พอ ผมบอกว่าเราจะคุยกันวันอาทิตย์อยู่พอดีขอบคุณมาก
         13.30 น. ประชุมคณะกรรมาการฟื้นฟูคนพิการ มีสาระที่พัฒนาหลายเรื่อง รวมทั้งเรื่องสลากคนพิการ , APCD ,กีฬาคนพิการ,และการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ
          รมว.พม.ถือโอกาสมาเยี่ยมและอยู่ประชุมด้วยสักพัก
         16.00 น. ทีม แผนงานเมืองน่าอยู่ของสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา โดยคุณปนิตา หัวหน้าโครงการ มาปรึกษาหารือเรื่องแผนการดำเนินงานปีที่ 3 หลังจากรอคอยการลงนามสัญญากับสสส.เกือบ 1 ปีเต็ม
         17.30 น. บันทึกเทปรายการ “ตัวจริง ชัดเจน” ของคุณจอม เพ็ชรประดับ ทาง TITV  ประเด็นไฟใต้ แรกทีเดียวบอกเป็นการขยายผลต่อจากบทสัมภาษณ์มติชน แต่ที่ไหนได้เชิญไปออกรายการร่วมกับ คุณเด่น โต๊ะมีนา และอ.วินัย สะมะอูน คำถาม คือ1) เห็นด้วยกับเขตปกครองพิเศษหรือไม่ 2) ฟังการสัมภาษณ์ของเลขาธิการสหพันธ์องค์กรมุสลิมโลกแล้วเห็นว่าการเจรจาโดยมีองค์กร ตปท. เป็นคนกลางจะเหมาะสมหรือเปล่า
 ก่อนออกรายการ ทั้งคุณเด่น ,อ.วินัย และคุณออมได้อ่านบทสัมภาษณ์กันของผมแล้วทุกคน แสดงว่ามีความสนใจอย่างกว้างขวางที่หมอพลเดชออกมาสัมภาษณ์ไฟใต้อย่างเป็นเรื่องราว
ดอนโทรมาชื่นชมว่าพี่หมอสัมภาษณ์ได้ดี แต่ตัวเขาจะขอเช็คกับพื้นที่ดูอีกทีว่า ฝ่ายก่อการมีปฏิกิริยาต่อบทสัมภาษณ์อย่างไร
29 มิ.ย
         เดินทางไปหาดใหญ่ / สงขลา ตั้งแต่เช้า ที่ห้อง VIP ดอนเมืองได้พบ ดร.รุ่งแก้วแดง อดีต รมช.ศธ.ยุคจาตุรนต์ จึงเข้าไปทักทาย ท่านบอกว่า “ได้อ่านบทสัมภาษณ์ มติชนแล้ว เมื่อคืนก็ดู TITV  ด้วย ท่าน รมต. สัมภาษณ์ได้เนื้อหาดีทีเดียว”
         ระหว่างรอขึ้นเครื่อง พบกับทปษ.กระทรวงสธ. และคณาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ มีเสียงดังมาว่า “คนดังมาแล้ว” ผมยกมือไหว้ทักทายด้วยรอยยิ้ม
         ที่สงขลา เดินทางไปด่านสะเดานอก (จังโหล๋น) เพื่อทำพิธีเปิดป้ายกลุ่มออมทรัพย์ และมอบบ้าน 19 หลังแรกให้กับสมาชิกกลุ่มออมทรัพย์ มีรอง ผวจ. ,รองนายก อบจ. ,นายกเทศมนตรีตำบลสำนักขาม และนายอำเภอมาร่วม ชาวบ้านภูมิใจมาก
         กลุ่มออมทรัพย์ที่นี้ เกิดจากกลุ่มผู้ขับขี่ มอเตอร์ไซค์ รับจ้างซึ่งมาจากต่างถิ่นต่างที่กัน แต่มามีอาชีพมอเตอร์ไซค์รับจ้างเหมือนกัน ในชุมชนเมืองที่นี่ด้วยกัน รวมตัวตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อช่วยกันเอง แรกมีสมาชิก 19 คน ออมวันละ 5 บาท มีเงินครั้งแรก 950 บาท ตั้งแต่ปี 2547 ปัจจุบันกลุ่มเข้มแข็งมาก มีสมาชิก 772 คน ,มีเงินออม 7 ล้านบาทเศษ ทำธุรกิจกลุ่ม จัดหามอเตอร์ไซค์ มาให้สมาชิกผ่อน, ซื้อข้าวสารมาบริการสมาชิก ,ทำปั๊มน้ำมันหลอด,และสุดท้ายมาทำโครงการออมวันละ 40 บาท เพื่อสร้างบ้านเป็นของตนเอง
         ผมสนใจกลุ่มนี้เพราะพวกเขาไม่มีองค์กรพี่เลี้ยงใดๆมาช่วยเลย และยังกล้าหาญถึงขั้นจัดทำโครงการสร้างบ้านอยู่อาศัยกันเอง โดยไม่ใช่โครงการบ้านมั่นคงของพอช. เสียด้วย สมาชิกโครงการบ้าน 250 คน กำลังจะได้มีบ้านเป็นของตนเอง ซื้อที่ดินจากผู้ใจบุญคนมุสลิม 22 ไร่ราคา 12 ล้าน ทะยอยจ่ายเจ้าของอนุญาตให้สร้างบ้านได้ พวกเขาไม่มีเครดิต ร้านค้าวัสดุไม่ยอมส่งของ ต้องใช้วิธีเอาเงินสดไปซื้อของทุกร้านเป็นรายวันจนกระทั่งผ่านไป 3 เดือน จ่ายเงินให้กับร้านค้ารวม 1 ล้านเศษ เจ้าของร้านค้าจึงเริ่มเชื่อใจ
         เมื่อ พอช. เข้าไปช่วยเป็นพี่เลี้ยงให้ตามที่ รมช.พม.สั่งการ ทำให้ชุมชนมีความมั่นใจมากขึ้น ผมก็สบายใจมาก
         วันนี้พวกเขาร่วมกันทำแผนงานโครงการที่จะพัฒนาที่อยู่อาศัย ผู้มีรายได้น้อย เป้าหมาย 1500 ครอบครัวเพื่อรากฐานสร้าง “เมืองปลอดสลัม” โดยจะแบ่งเป็น 3 ระยะ วันนี้มีพิธีลงนามระหว่างชุมชน , เทศบาล , อบจ , พอช , และ พมจ, โดยมีรมช.พม.และ ผวจ.สงขลาเป็นสักขีพยาน
         ขากลับถึงดอนเมือง พนักงานการบินไทยที่คอยต้อนรับ ห้อง VIP บอกว่า “ท่านเดินทางบ่อยมากเลยนะค่ะ เห็นท่านสัปดาห์ละหลายครั้ง นั่นคือเสียงสะท้อนจากคนภายนอกซึ่งอาจเป็น ตัวชี้วัดที่สะท้อน บทบาทต่อสาธารณะของผู้เป็นรัฐมนตรีได้เป็นอย่างดี
 
30 มิ.ย
         ไปเปิดงาน” โครงการเด็กกรุงพอเพียง เลี่ยงอบายมุข” ที่โรงแรม Maxx เป็นงานของสมาคมเยาวชนกรุงเทพ ซึ่งเป็นองค์กรของเยาวชน โดยเยาวชน เพื่อเยาวชนโดยแท้
         ในงานพบกับ ดร.ศุภชัย เยาวประภาส ท่านบอกว่า “ท่านรมต.ประกาศทุบแฟลตดินแดงทีเดียว ดังไปทั่วประเทศเลย!!”
 
1 ก.ค.
         ไปถ่ายรูปครอบครัวในการซ้อมรับปริญญาของน้องหญิง ซึ่งจบปริญญาตรี B.B.A จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
         9.00 น. ไปเป็นประธานเปิดโครงการสร้างวินัยการออมของสมาชิกบ้านเอื้ออาทร ประชานิเวศน์ 2 นนทบุรี , ที่นี่มีแฟลตเอื้ออาทร 1500 ยูนิต (ตึก27 หลัง) ออกแบบดีกว่าแฟลตดินแดงเมื่อ 40 ปี ก่อนมาก ทั้งในเชิงโครงสร้าง ,พื้นที่ใช้สอย , สวน และสาธารณูปโภค
         ผมได้ยกตัวอย่างกลุ่มออมทรัพย์บ้านจังโหล๋น อ.สะเดา จ.สงขลา ให้ที่งานชุมนุมฟัง พอใจกันมาก ที่จังโหล๋น เขามีวินัยจึงแข็งแรง มีวินัยสุขภาพก็สุขภาพแข็งแรง มีวินัยเงินฝากการเงินก็แข็งแรง
         มีการจับรางวัลผู้โชคดี 5 รางวัล + 1 รางวัล ใหญ่ สำหรับผู้ที่ส่งค่าบ้านสม่ำเสมอไม่มีขาด , มีแจกประกาศนียบัตรชมเชย 100 ราย มีงาน Booth ของหน่วยงานต่างๆ,มีร้านธงฟ้าราคาประหยัดฯลฯ
         ผู้สื่อข่าวสัมภาษณ์เรื่องบ้านเอื้ออาทรประชานิเวศน์ กรณีมีผู้ขาดส่ง3 เดือนและกคช.ต้องซื้อคืนประมาณ 25 ราย (คิดเป็น 2%) ,เรื่องแฟลตดินแดง
         12.00 น. เริ่มประชุมworkshop  ผู้บริหารระดับสูง พม. (ระดับ 10 และ 9) ว่าด้วยเรื่อง “ โครงสร้างองค์กรของกระทรวงพม.ในสถานการณ์ปัจจุบันและอนาคต” ที่โรงแรมสวนสามพราน , ต่อเนื่อง 2 วัน ( 1-2 ก.ค.)
         บรรยากาศดีมาก คาดว่าน่าจะนำไปสู่การปรับโครงสร้างให้ลงตัวได้ และการแก้ไขกฏกระทรวง อาจแล้วเสร็จภายในรัฐบาลชุดนี้
 
 
นพ.พลเดช ปิ่นประทีป
1 กรกฎาคม 2550

 

Be the first to comment on "ตอนที่ 44 : พัฒนาแฟลตดินแดง"

Leave a comment

Your email address will not be published.