ประสบการณ์ประชาสังคม (29) : ปฏิรูประบบยุติธรรม (2547)

          การโยนความคิดทางนโยบายใหม่ๆ ใส่สังคมไทยอย่างรวดเร็ว จนสังคมไทยตั้งรับไม่ทัน และเกิดความเครียดไปตามๆกันเมื่อคุณทักษิณ ชินวัตร ในฐานะนายกรัฐมนตรีตอบโต้การวิจารณ์อย่างเกรี้ยวกราดและท้าทาย ทำให้เราต้องจัดให้มีเวทีนโยบายที่เป็นอิสระเพื่อให้คนไทยมีการถกเรื่องนโยบายกันโดยใช้ความรู้เป็นฐาน กระทั่งเกิดเป็นปัญญาทางนโยบาย

           จากเวทีนโยบายสาธารณะเพื่อเอาชนะความยากจนครั้งแรก ซึ่งจัดเมือวันที่ 14 มกราคม 2546 ที่ประชุมเล็งเห็นว่าไม่ควรปล่อยให้นายกฯ ต้องแก้ปัญหาความยากจนเพียงลำพัง และมองว่ากฎหมายที่ไม่เป็นธรรมเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่สำคัญที่นำมาซึ่งความอับจนและความยากจน ทิศทางของเวทีนโยบายสาธารณะดังกล่าวจึงมุ่งไปสู่การเคลื่อนไหวปฏิรูปกฎหมายแก้ความยากจนตั้งแต่นั้น
          อันที่จริงเรื่องการปฏิรูปกฎหมายและระบบยุติธรรมเริ่มคิดกันมาก่อนหน้านั้นแล้ว ผมจำได้ว่าในเวทีประชาคมแผน ๘ คราวหนึ่งเมื่อปี 2542 ดร.กิติพงษ์ กิตยารักษ์ นักวิชาการหนุ่มทางด้านนิติศาสตร์ ได้นำเสนอความก้าวหน้างานวิจัยว่าด้วยกระบวการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์และยุติธรรมชุมชน ซึ่ง EU ให้การสนับสนุน ปัจจุบันแม้ท่านเป็นปลัดกระทรวงยุติธรรม ท่านยังคงขับเคลื่อนเรื่องนี้ร่วมกับคุณชาญเชาว์ ไชยานุกิจ และผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงอย่างแข็งขัน
          เวทีนโยบายสาธารณะครั้งต่อๆมา เราเริ่มค้นหาแนวทางการทำงานที่เจาะลึกลงไปเรื่อยๆ อาทิ: การปฏิรูประบบยุติธรรมเพื่อเศรษฐกิจพอเพียงและความเป็นธรรมในสังคมไทย, การจัดการความขัดแย้งด้วยสัติวิธีเพื่อเสริมสร้างความรู้รักสามัคคีในชาติ, ธรรมนูญว่าด้วยความเป็นธรรมทางสังคมและเศรษฐกิจ, คดีสิทธิชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม กับข้อกังขาว่าด้วยความเป็นธรรมในสังคมไทย ฯลฯ
          มีกลุ่มนักคิดนักวิชาการทางด้านนิติศาสตร์และตุลาการศาสตร์เข้ามาร่วมวงกับพวกเรานักพัฒนาและนักกิจกรรมภาคประชาสังคมมากขึ้น อาทิ: พิเชษฐ์ เมาลานนท์, พีรพล ศรีสิงห์, นิลุบล ชัยอิทธิพรวงศ์, พรทิพย์ อภิสิทธิวาสนา, เจริญ คัมภีรภาพ, เชิดชอ เชื้อสมบูรณ์, ประพจน์ ศรีเทศ, วิชา มหาคุณ, สมชาย หอมละออ, ดนัย อนันติโย
          ระหว่างนั้น เกิดความคิดในการขับเคลื่อนการปฏิรูประบบยุติธรรมอย่างเป็นขบวน โดยได้รับอิทธิพลส่วนหนึ่งมาจากกระแสการปฏิรูประบบสุขภาพแห่งชาติซึ่งกำลังทำงานกันอย่างเข้มแข็ง แต่เนื่องจากเงื่อนไขและบริบทที่แตกต่างกันมา ความพยายามต่อความคิดดังกล่าวจึงมาได้เพียงแค่การเป็นโครงการก่อตั้ง “สถาบันส่งเสริมการปฏิรูประบบยุติธรรมและความเป็นธรรมทางสังคม” (สปรย.) เท่านั้น
          โครงการก่อตั้ง สปรย.เน้นกระบวนสร้างนวัตกรรมกฎหมายเฉพาะเพื่อการแก้ปัญหาความยากจน และส่งเสริมการพัฒนารูปแบบการใช้ประโยชน์จากรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่มีอยู่ เพื่อไปปฏิรูปกลไกระบบยุติธรรม และงานพัฒนาทั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่นเป็นสำคัญ
          พิเชษฐ์ เมาลานนท์ และทีมวิจัยตุลาการศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยนิกาตะ ประเทศญี่ปุ่น มีความมุ่งมั่นที่จะสร้างสำนึกคิด (School of Thought) ด้านกฎหมานสายสังคม (Social Justice) เพราะเห็นว่าเมืองไทยนั้นขาดแคลน ที่มีอยู่มีแต่สำนักคิดกฎหมายเศรษฐกิจ กฎหมายอาญา และกฎหมายมหาชน เท่านั้น
          เขาเชื่อว่ากฎหมายที่ดีจะต้องยึดเอาความเป็นธรรมทางสังคมเป็นหลักและเป็นหน้าที่ของตุลาการที่จะต้องตีความที่ก้าวหน้าไปกว่าตัวบท ที่เรียกว่า Judicial Activism เพราะสังคมมีพลวัตรอย่างรวดเร็ว จะยึดติดตัวบทที่ตายตัวไม่ได้ เขาเห็นแย้งพระองค์เจ้าระพีพัฒน์ พระบิดาแห่งกฎหมายไทย ที่กล่าวว่า เมื่อความเป็นธรรมทางสวังคมขัดแย้งกับกฎหมายให้ยึดกฎหมายไว้ก่อน เขามีผลงานศึกษาวิจัยด้านตุลาการศาสตร์มากมายในประเทศต่างๆทั่วโลกเพื่อยินยันและสนับสนุนกระบวนการตุลาการภิวัฒน์
          งานวิจัยของกลุ่มนี้ได้ถูกนำมาขับเคลื่อนสู่วงการตุลาการไทยอย่างเงียบๆ และด้วยการจัดการความรู้อย่างมีเป้าหมายมาระยะหนึ่ง โดยเฉพาะในกลุ่มตุลาการศาลปกครอง   สังคมคงสัมผัสการเปลี่ยนแปลงในการตัดสินคดีสิ่งแวดล้อมและคดีที่เกี่ยวข้องกับสิทธิชุมชนเกิดขึ้นบ้างแล้ว
          อีกกลุ่มหนึ่งเป็นยุคลาการในโครงสร้างตุลาการไทย มีดร.สุนทรียา เหมือนพะวงศ์ เป็นแกนประสาน มีสถาบันระพีพัฒน์เป็นฐานในการทำงาน กลุ่มนี้มุ่งมั่นงานพัฒนาวิชาการ และการเปลี่ยนแปลงในระบบเป็นหลัก
          หลังเหตุการณ์รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ในขณะที่ตุลาการภิวัฒน์มีบทบาทโดดเด่นขึ้น ความเสื่อมโทรมของกระบวนการยุติธรรมได้ปรากฎตัวชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบตำรวจ และระบบอัยการ ซึ่งเป็นต้นธารและกลไกสำคัญของระบบยุติธรรม เสียงเรียกร้องการปฏิรูประบบตำรวจและระบบอัยการดังขรมไปหมด เหล่านี้ยิ่งเป็นกระแสหนุนเนื่องสำหรับการปฏิรูประบบยุติธรรมของประเทศ
          เรามีประสบการณ์สำคัญอะไรบ้างจากความเคลื่อนไหวนี้ :
          1. ปัจจัยทางสังคมยังไม่สุกงอม
                   แม้ว่าสังคมจะมองเห็นความเสื่อมทรามของระบบตำรวจและอัยการ แต่ยังคงไม่สามารถมองเชื่อมโยงไปถึงระบบยุติธรรมทั้งระบบได้ เพราะระบบงานยุติธรรมแยกไปอยู่ในความรับผิดชอบของกลไกและหน่วยงานต่างๆ ที่เป็นเอกเทศจากกัน ไม่ว่าจะเป็นตำรวจ อัยการ ศาล ราชทัณฑ์ การสืบสวนคดีพิเศษ ยาเสพติด ฯลฯ และขาดการวิจัยองค์ความรู้ในเชิงระบบที่มากเพียงพอในการยกระดับภูมิปัญญาและการเรียนร้องต้องการของสังคม
                   สิ่งที่เป็นไปได้มากกง่าคือการเรียกร้องการปฏิรูประบบย่อยๆ เช่น ระบบตำรวจ ระบบอัยการ
          2. ปัจจัยภายในมีข้อจำกัด
                   ประชาคมนิติศาสตร์-ตุลาการศาสตร์ ยังมีการรวมตัวกันในวงแคบ ที่รวมตัวกันแล้วก็มักเป็นแค่รวมตัวในวงการเท่านั้น มักขาดปฏิสัมพันธ์กับสังคมตลอดเวลา รวมทั้งการมีบุคลาการที่เป็นนักคิด นักเคลื่อนไหวสังคมอยู่จำนวนมาก และมีสถาบันที่ทำการวิจัยเชิงระบบมาอย่างต่อเนื่อง การก่อตัวขบวนการปฏิรูปสุขภาพจึงเกิดขึ้นได้ง่ายกว่า
          3. หนทางยังยาวไกล
                   ความเคลื่อนไหวเล็กๆ ของคน 3-4 กลุ่ม ได้เกิดขึ้นแล้ว แม้ว่าจะยังไม่สามารถก่อการเคลื่อนไหวสังคมเพื่อการปฏิรูประบบยุติธรรมในภาพรวมได้ ความพยายามเหล่านี้มิได้สูญเปล่า เพราะองค์ความรู้ที่เฉพาะเจาะจงลึกลงไปในส่วนหนึ่งส่วนใดของกระบวนการพบแล้วว่าสามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเล็กๆ ได้เช่นกัน
                   โดยส่วนตัว ผมมีความสนใจและอยากสนับสนุนการเคลื่อนไหวนี้ต่อไป ตามกำลังสติครับ
นพ.พลเดช ปิ่นประทีป

Be the first to comment on "ประสบการณ์ประชาสังคม (29) : ปฏิรูประบบยุติธรรม (2547)"

Leave a comment

Your email address will not be published.