ในปีนั้น ตอนต้นปีเกิดเหตุการณ์ปล้นปืนที่นราธิวาสก่อนที่ไฟใต้จะลุกโชนอย่างต่อเนื่อง พอ ปลายปีเกิดคลื่นสึนามิถล่มภูเก็ตและฝั่งทะเลอันดามันก่อความสูญเสียที่แสนสาหัส ผมรู้สึกว่าช่างเป็นปีที่โชคร้ายเสียเหลือเกินสำหรับประเทศไทย ถึงตอนนี้ มีเรื่องร้ายๆ เกิดขึ้นในบ้านเมืองเราถี่เหลือเกิน จนเกิดความชินชาไปหมดแล้ว
แต่ในความโชคร้าย ยังมีสิ่งดีๆเกิดขึ้นให้ชื่นใจอยู่บ้าง เหตุการณ์พิบัติภัยสึนามิ 26 ธันวาคม 2547 อันหฤโหดได้กระตุ้นกระแสธารน้ำใจขนาดมหึมาของประชาชนทั่วประเทศและทั่วโลกให้หลั่งไหลมาโอบอุ้มผู้ประสบเคราะห์กรรมอย่างล้นหลาม อย่างไม่เคยปรากฎมาก่อน
ช่วงแรก ขณะที่องค์กรภาครัฐในพื้นที่กำลังอยู่ในสภาวะช็อคจากเหตุการณ์และตึงเครียดอยู่กับการรอคำสั่งการของหน่วยเหนือ ปรากฎมีคลื่นอาสาสมัครและกลุ่มองค์กรภาคประชาสังคมทั้งในและนอกพื้นที่รวมตัวกัน เชื่อมโยงการทำงานและก่อตัวเป็นเครือข่ายเพื่อเข้าไปช่วยเหลือชุมชนและประชาชนที่กำลังเดือดร้อนอย่างแข็งขัน เคียงคู่กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ขณะเดียวกันกระแสการบริจาคเงินและสิ่งของเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยก็เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางและต่อเนื่อง โดยมีหน่วยงานรัฐ สถาบันการเงิน องค์กรการกุศลและบริษัทห้างร้านต่างๆ ลุกขึ้นมาเป็นตัวกลาง
แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าองค์กรเหล่านั้นมักไม่ทราบความต้องการการช่วยเหลือที่หลากหลายของผู้ประสบภัย และขาดความรู้ความเข้าใจในกระบวนการชุมชนเข้มแข็ง จึงกำหนดการช่วยเหลือแบบสำเร็จรูปไปจากส่วนกลาง ขาดระบบการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพในพื้นที่ ผูกติดกับกลไกระบบราชการและมุ่งช่วยเหลือเป็นรายบุคคลแบบประชาสงเคราะห์มากกว่าที่จะสร้างกระบวนการฟื้นฟูและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยมองข้ามบทบาทอาสาสมัครและองค์กรภาคประชาสังคมไปหมดสิ้น
เมื่อเป็นดังนั้น LDI จึงร่วมกับเครือข่ายศิลปินเพื่อชีวิตที่เขารวมตัวกันเกือบ 60 วง จากทั่วประเทศ จัดงานมหกรรมดนตรี “รวมพลคนอาสา ธารรัก ธารน้ำใจ สู่ไทยอันดามัน”ขึ้นเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2548 ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เพื่อระดมทุนไปสนับสนุนการดำเนินงานของกลุ่มอาสาสมัครและองค์กรภาคประชาสังคม และจัดตั้ง “กองทุนอาสมัครเพื่อเพื่อนมนุษย์” สำหรับเป็นกลไกการดำเนินงานในระยะยาว
คราวนั้นเรามีรายได้ในการจัดงานร่วม 2 ล้านบาทจากการขายภาพวาดศิลปิน การประมูลของรักของส่วนตัวคนดัง การจำหน่าย CD เพลง และการรับบริจาคทั่วไป เงินดังกล่าวแม้ว่าจะไม่มากนัก แต่ได้ช่วยสนับสนุนกลุ่มเยาวชนและศิลปินที่มีจิตอาสาทำงานช่วยเหลือชาวบ้านและชุมชนได้ไม่น้อย ที่สำคัญยิ่งกว่านั้นคือ การได้ถักทอกลุ่มนักดนตรีเพื่อชีวิตมาเชื่อมกับการทำงานชุมชนท้องถิ่นครั้งใหญ่ ซึ่งเครือข่ายความสัมพันธ์เหล่านี้ ยังคงมีกิจกรรมเพื่อสาธารณะร่วมกันเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
มีประสบการณ์ที่น่าสนใจบางประการจากความเคลื่อนไหวครั้งนั้น
1. เมล็ดพันธุ์แห่งความดีงาม
อาจารย์หมอประเวศ วะสี ท่านสอนอยู่บ่อยๆว่า ในตัวมนุษย์ทุกผู้ทุกคนนั้นมีเมล็ดพันธุ์แห่งความดีงาม ถ้าได้รับการส่งเสริมเพาะบ่มให้ดีก็งอกเงยเพิ่มพูนได้ และพร้อมที่จะแสดงออกมาในภาวการณ์ที่เหมาะสม
กรณีพิบัติภัยสึนามิซึ่งก่อความหายนะแก่ชีวิตและทรัพย์สินของผู้คนนับแสนๆ ในเวลาพร้อมกัน ก่อให้เกิดภาพอันน่าสลดหดหู่อย่างยิ่งและกระตุ้นให้เมล็ดพันธุ์แห่งความดีงามในตัวคนหลั่งไหลออกมาด้วยความเห็นอกเห็นใจเพื่อนร่วมทุกข์จนไม่อาจนิ่งเฉยอยู่ได้ พากันหาทางช่วยเหลืออย่างไม่รู้เหน็ดเหนื่อย
ที่ศูนย์ธรรมศาสตร์รังสิต มีหนุ่มนักศึกษาหนุ่มสาวหน้ามน ที่เคยถูกประมาทหน้าว่าเป็นพวกที่ไม่สนใจสังคม พากันมาดูแลนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ได้รับการช่วยเหลือมาจากเหตุการณ์และกำลังรอเดินทางกลับบ้าน ผมมีโอกาสได้ไปสังเกตการณ์การทำงาน รู้สึกทึ่งกับคำพูดคำจาและการปฏิบัติต่อผู้ประสบภัยของพวกเขา ไม่คิดว่าเด็กรุ่นหลังจะมีจิตอาสาได้ถึงปานนี้เหมือนกัน
จากปรากฎการณ์นั้นองค์กรพัฒนาสังคมหลายแห่งพากันหาทางสานต่อกระแสความตื่นตัว และพลังจิตอาสาที่ผุดขึ้นมาตามธรรมชาติกันขนานใหญ่ แม้วันนี้กระแสจะลดลงแล้วแต่ความเคลื่อนไหวจิตอาสายังคงมีอยู่ทั่วไปในรูปแบบที่หลากหลาย
2. ระบบงานอาสาของคนไทย
เนื่องจากภัยพิบัติครั้งนี้เป็นโศกนาฏกรรมหมู่นานาชาติครั้งใหญ่ ชายฝั่งทะเลอันดามันของเราเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ต่างชาตินิยม จึงมีคนหลายเชื้อชาติเผ่าพันธุ์มาเสียชีวิตลงที่เดียวกันในเหตุการร์ครั้งนั้น ประเทศต่างๆ จึงส่งหน่วยปฏิบัติการและอาสาสมัครพลเรือนมาช่วยกันจนลายตาไปหมด สถานการณ์เช่นนี้ทำให้เราสามารถสังเกตเห็นบุคลากรและระบบงานอาสาสมัครที่มีคุณภาพและความพร้อมที่แตกต่างกัน
ในภาพรวมๆ เราเห็นคนไทยที่มีจิตใจดีจำนวนมากเดินทางไปโดยไม่มีการนัดหมายหรือหาข้อมูลมาก่อน เรียกว่ามีจิตอาสาแต่ไม่เคยงาน ไม่เคยปฏิบัติการ ไม่เคยได้รับการฝึกฝนเตรียมตัวมาก่อนเลยแม้แต่น้อย จึงมากันแบบพะรุงพะรัง สุดท้ายก็ไม่รู้จะช่วยใคร ไม่รู้จะช่วยอย่างไร พากันเอาสิ่งของไปกองเอาไว้กับหน่วยงาน-องค์กรในพื้นที่ ซึ่งหน่วยงาน-องค์กรเหล่านั้นก็ไม่มีระบบบริหารจัดการรองรับ ข้าวของจึงเสียหายไปจำนวนมาก
ส่วนที่เป็นพวกอาสาสมัคร ประเภทนักพัฒนาเอกชนหรือผู้นำชุมชนจะดีขึ้นมาหน่อย เพราะรู้จักติดต่อประสานงานหาข้อมูลล่วงหน้า และมีเครือข่ายในพื้นที่คอยเกื้อหนุน แต่อย่างไรก็ตามอาสาสมัครเหล่านี้มักขาดแคลนทุนทรัพย์และอุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือ มาแต่ตัวและหัวใจ
ผิดกับอาสาสมัครต่างประเทศซึ่งส่วนใหญ่มักจะมีความพร้อมทุกอย่าง รวมทั้งอุปกรณ์ช่วยชีวิต อุปกรณ์ยังชีพ และเครื่องมือสื่อสาร มีทักษะประสบการณ์สูง จุดนี้ทำให้ต้องหันกลับมาสำรวจตนเองขนานใหญ่
ความจริงก็คืองานอาสาสมัครของไทยนั้นยังไม่ได้รับการเอาใจใส่พัฒนา ไม่มีหน่วยงานราชการใดรับเรื่องนี้จริงจัง ที่มีอยู่ล้วนเกิดขึ้นจากภาคเอกชนและองค์กรสาธารณประโยชน์ทำกันไปตามมีตามเกิด งานกาชาดและประชาสงเคราะห์ก็ทำกันแบบคุณหญิงคุณนาย คอยแจกผ้าห่มข้าวสารอาหารแห้งสำหรับผู้รอดชีวิตเท่านั้น
การพัฒนา “ระบบส่งเสริมและสนับสนุนอาสาสมัคร” ควรเป็นงานเชิงนโยบายและยุทธศาสตร์ที่กระทรวงทางสังคมต้องช่วยกันทำ ยิ่งภาวะโลกร้อน ยิ่งประชากรเพิ่มจำนวน ภัยพิบัติมีโอกาสเกิดบ่อยขึ้นและจำนวนผู้รับเคราะห์กรรมจะมากขึ้น
3. การช่วยเหลือจากภายนอก
ไม่รู้ว่าควรจะร้องไห้หรือหัวเราะดี เมื่อหน่วยงานต่างประเทศยื่นมือเข้ามา และโดนนายกฯทักษิณ ประกาศขอบคุณแต่ไม่ขอรับความช่วยเหลือจากต่างประเทศ แกคงกลัวเสียฟอร์ม การแสดงท่าทีของผู้นำเช่นนั้นมีผลทำให้องค์กรเอ็นจีโอและภาคประชาสังคมไทยขาดโอกาสในการทำงานช่วยเหลือผู้เดือดร้อน รัฐบาลมีงบประมาณมากแต่ก็ไม่รู้จักใช้คนอื่น กระทั่งไม่เห็นหัวภาคประชาสังคม หน่วยราชการพากันทำเองทุกอย่าง ภาคประชาชนอยากทำก็ต้องมาช่วยตามที่ฉันสั่ง หรือไม่ก็ต้องหาเงินทุนมาทำกันเอง
พวกองค์กรภาคธุรกิจที่เขามีจิตอาสาหรือมีงาน CSR อยู่ก็ดีหน่อย เพราะสามารถลงพื้นที่ได้โดยไม่ต้องง้อรัฐบาลหรือราชการ บางองค์กรก็อาศัยเอ็นจีโอเข้าร่วม จากเหตุการณ์ครั้งนั้นเราสามารถเห็นกระแสความเคลื่อนไหวของภาคธุรกิจและ CSR ได้ชัดเจนขึ้น
ส่วนเอ็นจีโอนั้น คุณทักษิณ เขาไม่ชอบและราชการมีอคติอยู่แล้ว นักพัฒนาเอกชนผู้คร่ำหวอดทั้งหลายจึงได้แต่นั่งดูเหล่าขุนนาง และนักพัฒนามือสมัครเล่นเขาแสดงไปบนฉากความทุกข็ระทมของชาวบ้าน
นั่งมองแบบตาปริบๆ ครับ
Be the first to comment on "ประสบการณ์ประชาสังคม (30) : สึนามิกับพลังจิตอาสา"