
ในห้วง 4 ปี ของรัฐบาลทักษิณ(1) อำนาจตัดสินใจในการแก้ปัญหาน้อยใหญ่ของประเทศและการบริหารราชการแผ่นดินได้ถูกทำให้รวมศูนย์มาอยู่ที่กลไกรัฐบาลและนายกรัฐมนตรีแต่เพียงฝ่ายเดียว
กลไกระบบตรวจสอบถูกแทรกแซงและบั่นทอนจนหมดความหมาย ประชาชนฐานล่างโดยเฉพาะอย่างยิ่งในชนบทได้รับการหว่านโปรยด้วยนโยบายประชานิยมหลากหลายรูปแบบ ระบบเศรษฐกิจใหม่ของรัฐบาลดูท่าจะสวนทางกับวิถีเศรษฐกิจพอเพียงชัดเจนยิ่งขึ้นทุกขณะ
แนวทางในการแก้ปัญหาทางสังคมที่มีธรรมชาติอันสลับซับซ้อนด้วยวิธีการใช้อำนาจเบ็ดเสร็จ ประกอบกับนิสัยใจเร็วใจร้อนของผู้นำรัฐบาล ได้นำไปสู่ปัญหาการละเมิดสิทธิของประชาชนอย่างรุนแรง ทั้งในเรื่องแก้ปัญหายาเสพติด การชุมนุมเรียกร้องของประชาชนตามสิทธิอันพึงมี และกรณีความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
ปรากฎการณ์และข้อเท็จจริงดังกล่าวเป็นตัวอย่างของจริงที่สะท้อนความล้าหลัง เน่าเหม็น และขาดประสิทธิภาพของประชาธิปไตยแบบที่เน้นการเลือกผู้แทนเข้าไปแก้ปัญหาของประเทศ(Represented Democracy)อย่างเห็นได้ชัด
ดังนั้นในโอกาสที่การเลือกตั้งทั่วไปในปี 2548 กำลังจะมาถึง ข่ายงานภาคประชาสังคมที่ปฏิบัติงานอยู่ในพื้นที่ต่างๆทั่วประเทศ จึงได้รวมตัวกันเป็นเครือข่ายการเมืองของพลเมือง ทำการเคลื่อนไหวรณรงค์ทางสังคมอย่างกว้างขวาง มุ่งสร้างกระแสความเข้าใจ ความตื่นตัว และนำเสนอแนวนโยบายต่อพรรคการเมืองต่างๆ เรียกร้องให้มีกลไกส่งเสริม “การเมืองใหม่ ประชาธิปไตยทางตรง” อย่างเป็นรูปธรรม
เราเปิดฉากการเคลื่อนไหวโดยเริ่มจากเวทีนโยบายสาธารณะเพื่อเอาชนะความยากจนในสถานการณ์เลือกตั้ง เมื่อ 26 พฤศจิกายน 2547 ณ สถาบันพัฒนาข้าราชการพลเรือน จากนั้นคณะทำงานแต่ละจังหวัดได้แยกย้ายกันไปขับเคลื่อนในพื้นที่ของตน ตามสภาพกำลังคนและทรัพยากรของแต่ละจังหวัด
ในเวทีวันนั้น จากการระดมสมองได้เกิดคำขวัญการรณรงค์ 2 ประการคือ
“โหวตยุทธศาสตร์ โหวตเพื่อสังคมเข้มแข็ง”
“เลือกคนที่รัก เลือกพรรคไปคาน”
อย่างแรกเป็นการย้ำเตือนผู้ปฏิบัติงานและเครือข่ายว่า ในการเลือกตั้งคราวนี้ เราอยากเห็นพลเมืองที่มีวุฒิภาวะทั่วประเทศ ไปลงคะแนนเสียงอย่างมียุทธศาสตร์ หมายความว่าไม่ใช่การเลือกตั้งตามใจชอบ หรือเลือกพรคคที่ตนรักไปบริหารประเทศเท่านั้น แต่เป็นการไปเลือกเพื่อให้เกิดความสมดุลระหว่างรัฐบาลกับฝ่ายค้าน อันจะนำไปสู่ความเข้มแข็งของสังคมโดยรวมมากกว่า
ส่วนอย่างหลัง คือรูปธรรมการชี้แนะสำหรับประชาชนทั่วไป โดยขอให้แยกการเลือกสส.เขตกับการเลือกสส.บัญชีรายชื่ออย่างชัดเจน สำหรับการเลือกสส.เขตให้เน้นการเลือกตัวบุคคลที่เรารัก โดยไม่ต้องสนใจว่าเขาอยู่พรรคใด ส่วนการเลือกสส.บัญชีรายชื่อนั้น ถ้าเห็นว่าพรรคใดจะได้เป็นรัฐบาลขอให้เลือกพรรคอื่นๆแทน ทั้งนี้เพื่อป้องกันเผด็จการทางรัฐสภา
นอกจากนั้น เครือข่ายการเมืองของพลเมืองยังได้จัดทำเอกสารเล่มเล็ก ประมวลข้อมูลปัญหาของประเทศและเปรียบเทียบแนวนโยบายของพรรคการเมืองหลักๆ ในเรื่องสำคัญ อาทิ: ความไม่สงบในจชต., แก้ปัญหารากหญ้าด้วยประชาสังคมหรือประชาสงเคราะห์, เอาชนะคอร์รัปชันด้วยอำนาจรัฐหรือด้วยพลังทางสังคม, จัดการความขัดแย้งอย่างไร ไม่ละเมิดสิทธิของประชาชน, ปัญหาความไม่เป็นธรรมในเชิงโครงสร้างและการมีส่วนร่วมของประชาชน ฯลฯ
แต่สุดท้ายผลการเลือกตั้งกลับปรากฎว่า พรรคไทยรักไทยชนะทั่วประเทศอย่างถล่มทลายเสียยิ่งกว่าการเลือกตั้งครั้งก่อน ได้สส.รวม ** ที่นั่ง สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้เพียงลำพังพรรคเดียวซึ่งถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทย
อย่างไรก็ตาม คุณทักษิณ ชินวัตร ยังคงแสดงอาการหงุดหงิดตามเคย เพราะขัดข้องใจมากที่ไม่สามารถตีฐานคะแนนนิยมของพรรคประชาธิปัตย์ในภาคใต้ได้ และยิ่งกว่านั้นใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ถึงขั้นแลนด์สไลด์กลับทิศ กล่าวคือพรรคไทยรักไทยไม่ได้สส.แม้แต่คนเดียว
ประสบการณ์ครั้งนั้น ให้บทเรียนรู้อะไรแก่ภาคประชาสังคมบ้าง
1. พลังเครือข่าย ไม่อาจสู้พลังสาธารณะ
เห็นได้ชัดว่าลำพังเครือข่ายชุมชนและภาคประชาสังคมที่ถักทอเชื่อมโยงกันอยู่ทั่วประเทศนั้นยังไม่มีพลังมากพอที่จะสร้างกระแสการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองระดับชาติอย่างหวังผลในระยะสั้นๆ แต่การที่ได้ทดลองรณรงค์ในครั้งนั้นเป็นบทเรียนรู้ที่มีประโยชน์มาก
พลังเครือข่ายเป็นพลังที่เกิดจากการจัดตั้งและมีการบริหารจัดการ แต่พลังสาธารณะคือพลังความรู้สึก ความต้องการ หรือความนิยมชมชอบของประชาชนทั่วไปที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติภายใต้การรับรู้ข้อมูลข่าวสาร โดยที่ไม่มีใครไปจัดตั้งตรงๆ
พรรคการเมืองทุกพรรคต่างมีพลังเครือข่ายหรือมวลชนจัดตั้งที่เป็นฐานคะแนนด้วยกันทั้งนั้น และต้องยอมรับว่าในขณะนี้พรรคไทยรักไทยเขามีระบบบริหารจัดการกับฐานมวลชนที่กว้างขวางที่สุด ทั้งๆที่เป็นพรรคที่เพิ่งตั้งขึ้นมาเพียงแค่ 6 ปีเท่านั้น
ในขณะเดียวกัน ด้วยแนวนโยบายประชานิยมและกลยุทธ์ทางการตลาดและการสื่อสารที่เหนือชั้น พวกเขายังสามารถสร้างความนิยมชมชอบของสาธารณะได้อย่างรวดเร็ว จนยากที่ใครจะตามได้ทัน
อย่างไรก็ตาม พลังการตลาดว่าที่ยอดเยี่ยมของไทยรักไทยยังไม่อาจลบล้างความทรงจำของประชาชนในพื้นที่อันเนื่องมาจากนโยบายดับไฟใต้ที่ผิดพลาดลงได้ ผู้คนและสังคมใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้และ 11 จังหวัดที่เหลือยังไม่เคลิบเคลิ้มไปกับนโยบายประชานิยมที่เสนอเหมือนภาคอื่นๆ
ในระยะยาวพรรคการเมืองต่างต้องเร่งสร้างเสริมพลังเครือข่ายและความนิยมของสาธารณะกันอย่างเต็มที่ ส่วนพวกเราภาคประชาสังคมนั้น หากจะสร้างพลังภาคที่สาม(Third Sector) ที่เข้มแข็งอิสระเป็นกลาง และสามารถถือดุลย์ได้ จำต้องเร่งพัฒนายุทธศาสตร์ ยุทธวิธีกันอย่างจริงจัง
2. บทบาทสื่อสาธารณะและสื่อมิติใหม่
พรรคการเมืองในระบบตัวแทนย่อมมีความพร้อมมากกว่าภาคประชาสังคม ทั้งทางการเงินและบุคลากร เพราะเขาเป็นองค์กรที่จัดตั้งขึ้นมาโดยมีเป้าหมายการต่อสู้เพื่อเข้าไปยึดกุมอำนาจบริหารประเทศ สิ่งที่เขาเสนอขายกับประชาชนคือนโยบายรูปธรรมว่าถ้าเป็นรัฐบาลเขาจะทำอะไร จึงมีเนื้อหาสาระที่จะสื่อสารอย่างชัดเจน
ผิดกับภาคประชาชนซึ่งมีแต่หลักการ หลักคิด และเรื่องเชิงอุดมคติ สิ่งที่เราพูดนั้น ประชาชนไม่รู้ว่าจะมีเงื่อนไขจะได้ทำเมื่อไร จึงเป็นการยากที่จะสื่อสารให้สาธารณชนทั่วไปเข้าใจในเชิงเปรียบเทียบและแข่งขันกับคะแนนนิยมของพรรคการเมืองได้
เราจึงไม่ใช่คู่แข่งของพรรคการเมืองใด แต่เรามุ่งในเรื่องการมีส่วนร่วม(Participation) การกำหนดตนเอง และการรับผิดชอบงานส่วนรวมด้วยตัวเองเป็นสำคัญหรืออาจเรียกว่าเป็นการปกครองตนเอง (Self Governing) เราสามารถที่จะก้าวเข้าไปอ้อล้อปฏิสัมพันธ์ได้กับทุกพรรค ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่ตำหนิติติง หรือเรื่องที่สนับสนุน เราจึงแทรกแซงอยู่ได้ในทุกเครือข่าย รวมทั้งในหมู่สาธารณชนคนทั่วไป
ยุทธศาสตร์การสื่อสารเพื่อสร้างพลังสาธารณะและพลังเครือข่ายของภาคประชาสังคมเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องลงทุนลงแรงอย่างจริงจัง
ไม่ว่าจะเป็นสื่อสารมวลชน สื่อสาธารณะ สื่อส่วนบุคคล สื่อมัลติมีเดีย สื่อผสม และสื่อที่มากับเทคโนโลยีใหม่ๆในอนาคต
3. ภาคประชาสังคมกับศรัทธาสาธารณะ
แม้ภาคประชาชนจะไม่มีโอกาสขายนโยบายรูปธรรมแบบพรรคการเมือง แต่เราสามารถสร้างสิ่งที่เรียกว่าศรัทธาสาธารณะ(Social Trust) ขึ้นมาทดแทนได้ในบางระดับ
เครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคมทั้งในระดับพื้นที่และระดับชาติล้วนอยู่ในวิสัยที่จะสร้างความเป็นสถาบันและความเชื่อถือไว้วางใจจากสังคมได้ด้วยกันทั้งนั้น มากบ้างน้อยบ้างตามศักยภาพ
จะเป็นสถาบันที่น่าเชื่อถือได้จำเป็นต้องสร้างองค์ความรู้ และจัดการการเรียนรู้อย่างจริงจัง เพื่อสนองกลุ่มองค์กรในเครือข่ายและสาธารณชนทั่วไป
ศรัทธาสาธารณะที่มีต่อองค์กรหรือสถาบันใด ย่อมส่งผลเชื่อมโยงไปสู่ความศรัทธาที่มีต่อเครือข่ายขององค์กรหรือสถาบันเหล่านั้นด้วย
สังคมมีความศัทธาและคาดหวังต่อพรรคการเมืองในลักษณะหนึ่ง แต่สังคมย่อมรู้ว่าควรเชื่อถือและคาดหวังต่อเครือข่ายภาคประชาสังคมในรูปแบบที่แตกต่างกัน
การเมืองของพลเมืองเป็นเรื่องของการเดินทางไกลจริงๆ อย่างเพิ่งท้อนะครับ
Be the first to comment on "ประสบการณ์ประชาสังคม (31) : การเมืองของพลเมือง เลือกพรรคไปคาน (2548)"