ประสบการณ์ประชาสังคม (35) การะเกด 49 กับอารยะแข็งขืน

การชุมนุมต่อต้านรัฐบาลทักษิณ (2) ยิ่งปลุกเร้าให้ประชาชนที่มีการศึกษาและชนชั้นกลางในเมืองเข้าร่วมสนับสนุนมากขึ้นทุกทีเมื่อมีการซื้อขายหุ้นชินคอร์ป 73,000 ล้านบาท

โดยไม่เสียภาษีแม้แต่บาทเดียว การเปิดโปงการทุจริตคอร์รัปชันของรัฐบาลและความแยบยลของการทุจริตเชิงนโยบายซึ่งทำให้กระแสความไม่พอใจสูงขึ้นจนชนเพดาน

เมื่อกระแสสังคมต่อต้านรุนแรงขึ้นรัฐบาลพรรคไทยรักไทยจึงพลิกเกมส์สู้ด้วยการยุบสภาเพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่ โดยหวังที่จะเอาเสียงทางการเมืองจากนโยบายประชานิยม มากลบความผิดทางจริยธรรมและคดีอาญาของตน กระแสบอยคอตการเลือกตั้งจึงเกิดขึ้นและขยายตัวไปอย่างรวดเร็ว พรรคประชาธิปัตย์ประกาศไม่ร่วมแข่งขัน ทำให้พรรคไทยรักไทยต้องดันทุรังต่อไปด้วยการหนุนพรรคเล็กพรรคน้อยให้เข้ามาแข่งขันแทนจนครบทุกพื้นที่ เพื่อเลี่ยงกฎผู้ลงคะแนนเกินร้อยละ 20

 

เมื่อเห็นว่าจำเป็นต้องก่อตัวการเคลื่อนไหวคู่ขนานเพื่อหนุนเสริมพลังต่อต้านรัฐบาลของฝ่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และคุณสนธิ ลิ้มทองกุล สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา (LDI) จึงเชิญชวนสมัครพรรคพวก จำนวน 81 องค์กร และเครือข่ายจากทั่วประเทศมาร่วมออกตัวเคลื่อนไหวทางสังคมในนาม เครือข่ายพันธมิตรการเมืองภาคพลเมือง

 

 

 

 

ที่ป้อมพระสุเมรุ ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา กลางกรุงเทพฯ พวกเราได้ร่วมกันอ่านแถลงการณ์แสดงจุดยืน-ท่าทีทางการเมืองต่อหน้าสื่อมวลชน ข้อความตอนหนึ่งว่า…..

 

…เพื่อนพลเมืองผู้เป็นไท บัดนี้ถึงเวลาแล้วที่เราต้องรวมตัวกัน ทั้งในอาณาบริเวณแม่น้ำสายใหญ่ที่กรุงเทพฯ และแม่น้ำสายเล็กสายน้อยทั่วทั้งแผ่นดิน ทำภารกิจเร่งด่วน ใช้พลังพลเมือง พลังแห่งคุณธรรมและจริยธรรม พลังแห่งความรับผิดชอบต่ออนาคตของประเทศ ปลดปล่อยระบอบทักษิณ ระบอบธนกิจการเมืองที่ปล้นชาติขายประเทศให้จงได้…

 

 

 

ในเวลานั้นการต่อสู้ขับเคี่ยวระหว่างรัฐบาลกับการเมืองภาคประชาชนดุเดือดขึ้นทุกที กลุ่ม-เครือข่ายอื่นๆ ต่างมีการก่อตัวการเคลื่อนไหวคู่ขนานกับการชุมนุมใหญ่เช่นกัน ทำให้รัฐบาลอยู่ภาวะที่จนตรอก จึงหันไปใช้วิธี “ม็อบชนม็อบ” เพื่อเบรกเกมส์รุกของภาคประชาชน

ในที่สุด เมื่อเห็นว่ามาตรการเคลื่อนไหวต่าง ๆ ของภาคประชาชนยังไม่เกิดผลแตกหัก เครือข่ายของพวกเราจึงพากันขบคิดหาวิธีบีบรัดให้รัฐบาลและกลุ่มทุนสนับสนุนเกิดความพะว้าพะวง จึงเป็นที่มาของการฟื้นการเคลื่อนไหวกลุ่มการะเกดที่ครั้งหนึ่งเคยมีบทบาทรณรงค์รัฐธรรมนูญสีเขียวเมื่อ 10 ปีก่อน คราวนี้มี ชัยวัฒน์ ถิระพันธุ์, พลเดช ปิ่นประทีป, อนุชาติ พวงสำลี, แก้วสรร-ขวัญสรวง อติโพธิ, ธีรพล นิยม, ปรีชา อุยตระกูล, นวลน้อย ตรีรัตน์, สังศิต พิริยะรังสรรค์, สนธิญาณ หนูแก้ว, สุริชัย หวั่นแก้ว, ชูชัย ฤดีสุขสกุล, ภุชงค์ กนิษฐชาติ, เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ ฯลฯ เป็นแกนกลาง

ครั้งนี้ใช้ชื่อว่า กลุ่มการะเกด49 ซึ่งกลับมาจุดประกายการเคลื่อนไหวสังคมด้วยการเชิญชวนสาธารณชนร่วมปฏิบัติการ “อารยะแข็งขืน 10 ประการ”

เป็นการรณรงค์อารยะแข็งขืน เพื่อคว่ำบาตรสินค้าและบริการของกลุ่มธุรกิจการเมืองฝ่ายตรงข้าม แข็งขืนต่อรัฐบาลที่ไม่ชอบธรรมและสำแดงพลังหนุนประชาธิปไตยเชิงจริยธรรม

1. ยกเลิกการใช้ซิมการ์ดโทรศัพท์มือถือของ AIS, TRUE และ TRUE MOVE

2. ไม่ซื้อของในห้าง TESCO LOTUS, MAKRO, SEVEN-ELEVEN และ TELEWIZ ทุกสาขา

3. ไม่ใช้ผลิตภัณฑ์ สินค้า และบริการทุกประเภทของ CP, Nestle’ และ Capital OK.

4. ชวนกันไปเลือกตั้ง 2 เมษายน 2549 ให้ล้นหลาม โดยยึดคำขวัญ “เข้าคูหา กาไม่เลือกใคร”

5. พร้อมกันเฉื่อยงาน ลางาน และหยุดงานตามเงื่อนไข
6. ชะลอการเสียภาษีทุกประเภท

7. ปฏิบัติดังเยี่ยงพลเมืองผู้ตื่นรู้ (Active Citizen) เตรียมรณรงค์ต่อต้านระบอบทักษิณอย่างร่าเริง สนุกสนาน และทำกิจกรรมอย่างสร้างสรรค์

8. ข้าราชการทุกกระทรวงทบวงกรม ร่วมกันแต่งชุดดำ หรือติดริบบิ้นที่แขนขวาในทุกวันอังคาร ที่รัฐบาลมีการประชุม ครม.

9. ชวนกันพูดคุยในครอบครัว ในหน่วยงาน ในองค์กร และในชุมชนด้วยความรักและความห่วงใยในประเด็น “คุณธรรม-จริยธรรมกับอนาคตสังคมไทย”
10. ส่งบทเพลง บทกวี คำขวัญ บทความ หรือผลงานศิลปะ ฯลฯ ของท่านที่แสดงออกถึงความมุ่งมั่นให้คุณธรรมและจริยธรรมเติบกล้าในสังคมไทย ไปที่…
การเคลื่อนตัวของการะเกด’49 มีส่วนช่วยเสริมกระแสการมีส่วนร่วมของประชาชนคนเล็กคนน้อยที่ไม่ได้เข้าร่วมการชุมนุมได้กว้างขวางขึ้น มีปรากการณ์ที่ประชาชนเป้นกลุ่มๆ รวมตัว เผาซิมการ์ด และเปลี่ยนโทรศัพท์มือถือกันจนทำให้สิงคโปร์ผู้เพิ่งซื้อกิจการเกิดอาการหวั่นไหว

การฟื้นบทบาทกลุ่มการะเกดและการขับเคลื่อนอารยะแข็งขืน 10 ประการ มีบทเรียนรู้อะไรที่น่าสนใจ

 

1. แนวทางสันติวิธีที่สร้างสรรค์

 

 

 

แนวทางการต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงอย่างสันติ มิใช่มีแค่เพียงการชุมนุมเรียกร้องแบบสันติอหิงสาที่เราคุ้นเคยกันเท่านั้น ยังมีรูปแบบวิธีการอันหลากหลายซึ่งรอการคิดค้นสร้างสรรค์อีกมาก

การชุมนุมทางการเมืองตามท้องถนน หรือในพื้นที่สาธารณะเป็นรูปแบบที่ซึ่งหน้าและทรงพลัง ซึ่งได้ก่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์เชิงประจักษ์แล้ว แม้ส่วนที่ล้มเหลวก็ไม่น้อยและบางคราวเป็นเหตุให้เกิดความสูญเสีย ที่มาพร้อมกับชัยชนะบ้าง พ่ายแพ้บ้าง ตามสภาพของเหตุปัจจัยและภาวะแวดล้อม

การชุมนุมเป็นรูปแบบที่เหมาะสำหรับผู้มีความพร้อมเสียสละและกล้าหาญในการเผชิญหน้ากับคู่ต่อสู้ในระดับหนึ่ง จึงมักขับเคลื่อนด้วยพลังกลุ่ม หรือพลังเครือข่ายที่มีความรู้สึกหรืออุดมการณ์แรงกล้า จนเมื่อสถานการณ์ถึงจุดหนึ่งที่ชนะใจหรือเรียกความสนใจจากสาธารณชนได้ ก็จะมีคนภายนอกทั่ว ๆ ไปในสังคมเข้าร่วมกิจกรรมด้วย ซึ่งกลายเป็นพลังสังคมหรือพลังสาธารณะ ที่หนุนเนื่องเข้ามา อย่างหลังนี้แหละที่เป็นปัจจัยชี้ขาดชัยชนะ

การริเริ่มรูปแบบอารยะแข็งขืน 10 ประการครั้งนี้ เป็นความพยายามที่จะหาวิธีการให้คนทั่วไปที่อยู่ตามบ้านช่องและสถานที่ทำงานต่าง ๆ สามารถเข้าร่วมปฏิบัติการได้โดยมิต้องมาร่วมชุมนุมตามท้องถนน

เป็นปฏิบัติการส่วนตัว (Do It Yourself :DIY) ที่สามารถลงมือทำได้ด้วยตนเองในทันที และส่งผลต่อส่วนรวมได้เช่นกัน หากมีความถึงพร้อมในเชิงปริมาณ คุณภาพและจังหวะเวลา

รูปแบบอารยะแข็งขืนเช่นนี้ อาจใช้เป็นแนวทางการต่อสู้ที่เสริมหนุนการชุมนุมทางการเมืองหรือจะเป็นการต่อสู้แบบเดี่ยว ๆ ตามลำพังก็ได้

 

2. แนวปฏิบัติที่ชัดเจน มีหลายอย่างให้เลือก

 

 

 

กลุ่มการะเกด’49 ขับเคลื่อนอารยะแข็งขืน 10 ประการในลักษณะเป็นชุดมาตรการ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อคว่ำบาตรสินค้าและบริการของกลุ่มธุรกิจการเมืองฝ่ายตรงข้าม (1,2,3), เพื่อแสดงการแข็งขืนต่อรัฐบาลที่ไม่ชอบธรรม (4,5,6) และเพื่อสำแดงพลังพลเมืองหนุนประชาธิปไตยจริยธรรม (7,8,9,10)

3 วัตถุประสงค์ 10 มาตรการสำหรับการณรงค์ครั้งหนึ่งอาจดูมากไปจนลายตา แต่มองอีกแง่หนึ่งเป็นความหลากหลายให้สามารถเลือกได้ตามความสนใจหรือความเป็นไปได้ของแต่ละบุคคล เราพบว่าสิ่งสำคัญยิ่งกว่าจำนวนมาตรการที่นำเสนอ คือความเป็นไปได้และความสะดวกที่จะร่วมปฏิบัติการในแต่ละมาตรการ

ในการเคลื่อนไหวสังคมหรือเครือข่ายที่มีผู้คนจำนวนมากและหลากหลายระดับความเข้าใจ มาตรการหรือคำสั่งหรือโจทย์ที่ตั้งขึ้นมา ควรต้องมีความสั้น กระชับ เข้าใจง่าย ตรงนี้เป็นศาสตร์และศิลป์ที่ภาคประชาชนควรต้องพัฒนาขีดความสามารถและยกระดับกันต่อไป

 

3. ผลประโยชน์ทางธุรกิจเปราะบางอ่อนไหวกว่าเพื่อน

 

 

 

เมื่อมาตรการอารยะแข็งขืน 10 ประการเริ่มออกตัว กระแสการตอบรับจากสังคมขยายวงออกไปได้ระยะหนึ่ง สังเกตได้ว่า 3 มาตรการแรกที่มุ่งคว่ำบาตรสินค้าและบริการของกลุ่มธุรกิจการเมืองและพวกพ้องบริวารเกิดผลสะเทือนก่อนเพื่อน ยิ่งเป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของสาธารณชนด้วยแล้วยิ่งอ่อนไหวมากที่สุด

ที่ผ่านมาธุรกิจเหล่านี้มักซ่อนตัวอยู่ข้างหลังนักการเมืองและกลุ่มการเมือง อาศัยเป็นบารมีคุ้มครองและทำมาหากันร่วมกัน ไม่เดือดเนื้อร้อนใจต่อปัญหาของสังคมและประเทศชาติโดยส่วนรวมใด ๆ ต่อเมื่อถูกจับตาและลากออกมาสู่สายตาสาธารณชนแบบนี้ มักทนได้ไม่นาน

บางทีเราควรต้องสนใจผู้อยู่หลังฉาก (Person behind the scene) และเรื่องเบื้องหลังเบื้องลึก (Story behind the story) กันให้มากขึ้น นะครับ

Be the first to comment on "ประสบการณ์ประชาสังคม (35) การะเกด 49 กับอารยะแข็งขืน"

Leave a comment

Your email address will not be published.