ผ่าตัดใหญ่ประเทศไทย (1) : ปฏิรูประบบบริหารราชการแผ่นดิน

 

หมอพลเดช : ความคิดอิสระ เพื่อสังคมเข้มแข็ง ด้วยพลังชุมชนท้องถิ่น

……………………………………………………….

Posted by หมอพลเดช , ผู้อ่าน : 743, 12:11:00 น.หมวด : การเมือง

วันพฤหัสบดีที่ 10 กรกฎาคม 2551
http://www.oknation.net/blog/myvision
 

Table of Contents

 

ทันทีที่เวทีพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเปิดประเด็น “การเมืองใหม่” กระแสความสนใจเกิดขึ้นอย่างกว้างขวางทั้งส่วนที่สนับสนุน ส่วนที่ต่อต้าน และส่วนที่สงวนท่าที ซึ่งนับเป็นเรื่องที่น่ายินดี แต่วันนี้ผมจะขอข้ามไปมองประเด็นการผ่าตัดระบบรัฐที่สำคัญมากส่วนหนึ่งเป็นการนำร่อง คือ การปฏิรูประบบบริหารราชการแผ่นดิน ทั้งในระดับส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่นที่เชื่อมโยงกัน

 

 

 

 ระบบราชการเป็นกลไกสำคัญในการบริหารงานของประเทศ มีส่วนกลาง 20 กระทรวง 145 กรม ส่วนภูมิภาค 75 จังหวัด และส่วนท้องถิ่นร่วมหมื่นแห่ง มีข้าราชการกว่าล้านคนปฏิบัติงานอยู่ทุกวันในสถานการณ์ต่าง ๆ ถ้าการเมืองใหม่ที่ว่ากันไม่สามารถนำไปสู่การผ่าตัดระบบราชการอย่างจริงจังก็คงไม่อาจหวังได้เลยว่าจะทำให้สังคมและประเทศไทยดีขึ้นกว่าเดิม

 

 

 

 ด้วยความสนใจและประสบการณ์ส่วนตัว ผมขอนำเสนอกรอบประเด็นและแนวคิดเบื้องต้นสำหรับการนี้ไว้พอเป็นสังเขป เพื่อเป็นบัตรเชิญสำหรับท่านผู้สนใจและผู้เชี่ยวชาญมาร่วมวงระดมความคิดและร่วมแรงร่วมใจนำสู่การเปลี่ยนแปลงตามจังหวะโอกาสต่อไป

ประการแรก : ปฏิรูปบทบาทและภารกิจส่วนราชการ

ควรปรับบทบาทของหน่วยงานส่วนกลาง (กระทรวง, กรม) ให้ทำงานเฉพาะด้านนโยบาย ยุทธศาสตร์ และวิชาการเป็นหลัก ให้ส่วนภูมิภาค (จังหวัด อำเภอ) มีภารกิจในการส่งเสริมบทบาทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและชุมชน แทนที่จะเป็นผู้ดำเนินการด้วยตนเองอย่างเดิม รวมทั้งมีบทบาทในการสนับสนุนชุมชนและภาคประชาสังคมในการตรวจสอบการทำงานของท้องถิ่น กระจายอำนาจและภารกิจในงานบริการสาธารณะให้ท้องถิ่นเป็นผู้ดำเนินการทั้งหมด พร้อมด้วยการถ่ายโอนกำลังคนและงบประมาณตามไปด้วยอย่างจริงจังและสมเหตุสมผลตามหลักวิชาการ ไม่ใช่มัวเกรงใจข้าราชการด้วยเหตุผลทางการเมืองอย่างที่ผ่านมา

ในด้านการพัฒนาประเทศ หากเห็นว่าไม่มีความจำเป็นอีกต่อไปก็อาจยุติการทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติอย่างที่เคยใช้มา 50 ปี โดยเปลี่ยนมาให้ความสำคัญกับแนวนโยบายแห่งรัฐตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ นโยบายของรัฐบาลและแผนพัฒนาภูมิภาคแทน ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เป็นหน่วยงานที่ต้องทำหน้าที่สนับสนุนการพัฒนานโยบายของรัฐบาลและการจัดทำแผนพัฒนาภูมิภาคอย่างจริงจัง ส่วนสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สป.) ให้ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาและข้อเสนอแนะต่อรัฐบาล และองค์กรปกครองท้องถิ่นให้เป็นไปตามแนวนโยบายแห่งรัฐที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญและสอดคล้องกับแผนแม่บทของชุมชน

ประการที่สอง : ปฏิรูประบบกำลังคนภาครัฐ

อันที่จริงความพยายามของ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (กพ.) ในการปฏิรูประบบกำลังคนภาคราชการนั้น ได้มีมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2545 โดยมีความคืบหน้ามาตามลำดับ จนล่าสุดในยุครัฐบาล พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ได้ออก พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือนพ.ศ.2551 ซึ่งเป็นเครื่องมือที่เป็นประโยชน์มาก แต่กระนั้นยังต้องอาศัยพลังทางสังคมมาช่วยสนับสนุนและติดตามประเมินผลเพื่อเป็นหลักประกันว่าไม่ใช่ปฏิรูปเพื่อข้าราชการ แต่ปฏิรูปเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเป็นสำคัญ 

ควรสนับสนุนการดำเนินเปลี่ยนผ่านจากระบบ Position Classification (ซี1-11) ไปสู่ระบบ Multi Classification Scheme (4 กลุ่มตำแหน่ง : ภารกิจทั่วไป วิชาการ อำนวยการ และบริหาร) ให้ลุล่วงในทุกกระทรวง และส่งเสริมให้ กค.,กถ. และ กตร. นำกฎหมายดังกล่าวไปประยุกต์ใช้

สำหรับตำแหน่งปลัดกระทรวง อธิบดี และผู้ว่าราชการจังหวัด ควรใช้ระบบข้าราชการพลเรือนพิเศษ ที่เปิดโอกาสให้มีกระบวนการสรรหาที่เปิดกว้างให้ผู้มีความรู้ความสามารถและความเหมาะสมจากต่างส่วนราชการ ตลอดจนนักวิชาการและนักวิชาชีพจากสถาบันนอกราชการ เข้ามาสู่ระบบการสรรหาที่โปร่งใสโดยการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม โดยคำนึงถึงมิติของพื้นที่และความเสมอภาคหญิง-ชายด้วย นอกจากนั้นควรต้องมีคำสัญญาการปฏิบัติราชการ 4 ปี มีระบบประเมินและการให้เงินรางวัลเข้ามาเสริม

ในด้านคุณธรรม จริยธรรม เพื่อป้องกันการรวบบทบาทและอำนาจการบริหารบุคคลภาครัฐไว้ที่ กพ.ควรเร่งรัดจัดตั้ง คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม (ก.พ.ค.) ขึ้นมาเสริมโดยให้มีภาคประชาสังคมเข้าร่วมอย่างจริงจังด้วย เพราะบทเรียนที่ผ่านมามักจะมีแต่อดีตข้าราชการผู้ใหญ่เป็นกรรมการและพบปัญหาผู้ใหญ่ลำเอียงเข้าข้างกันเองอยู่บ่อยๆ ทำให้ข้าราชการผู้น้อยไม่ได้รับความเป็นธรรมและเป็นช่องทางให้ถูกนักการเมืองแทรกแซงได้ง่าย

 

 

*****

 

ตำแหน่งปลัดกระทรวง อธิบดี และผู้ว่าราชการจังหวัด ควรใช้ระบบข้าราชการพลเรือนพิเศษ

ที่เปิดโอกาสให้มีกระบวนการสรรหาที่เปิดกว้างให้ผู้มีความรู้ความสามารถ

และความเหมาะสมจากต่างส่วนราชการ ตลอดจนนักวิชาการและนักวิชาชีพจาก

สถาบันนอกราชการ เข้ามาสู่ระบบการสรรหาที่โปร่งใสโดยการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม

*****
ประการที่สาม : ปฏิรูประบบงบประมาณ

งบประมาณรายจ่ายของประเทศที่เคยตั้งเป้าหมายว่า ร้อยละ 35 จะจัดสรรให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแต่ทำไม่สำเร็จนั้น หากมีการถ่ายโอนกำลังคนและเงินเดือนข้าราชการไปสู่ท้องถิ่นจะแก้ได้ทันที แต่ที่ผ่านมามักมีการประนีประนอมกับข้าราชการที่ไม่ยอมไปอยู่ท้องถิ่นจนเสียหลักการ ดังนั้นควรต้องทบทวนและเปลี่ยนแปลงอย่างจริงจังแล้ว เพราะความเจริญและความเข้มแข็งมั่นคงของท้องถิ่นและชุมชนเป็นรากฐานความแข็งแรงของประเทศในทุกๆ ด้าน ในทางอุดมคติจึงควรกระจายงบประมาณรายจ่ายของประเทศให้ท้องถิ่นดูแลอย่างน้อยร้อยละ 80 ก็ยิ่งดี ในรัฐบาล พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ได้ริเริ่มให้จังหวัด (โดยผู้ว่าราชการจังหวัด) สามารถตั้งงบประมาณพัฒนาภูมิภาคได้เอง โดยมีกฎหมายรองรับเรียบร้อยแล้ว เรื่องนี้ควรสนับสนุนให้ดำเนินการอย่างจริงจัง โดยมีการสร้างระบบภูมิคุ้มกันมิให้ ส.ส.และพรรคการเมืองมาแทรกแซงได้ และการสนับสนุนให้ภาคประชาชน (ชุมชนท้องถิ่นและประชาสังคม) มีส่วนร่วมอย่างเป็นอิสระถือเป็นปัจจัยสำคัญ

นอกจากนี้ควรแก้ไขปรับปรุงระเบียบพัสดุในการจัดซื้อจัดจ้างของราชการ ให้ส่วนราชการสามารถว่าจ้างองค์กรชุมชนและองค์กรสาธารณประโยชน์ในงานบริการสังคม บริการวิชาการ หรือการจัดซื้อจัดหาที่ไม่ยุ่งยากซับซ้อน ทั้งนี้ เป็นการเสริมบทบาทของภาคประชาสังคมและสร้างความเข้มแข็งให้องค์กรภาคประชาชนอีกทางหนึ่งด้วย

สำหรับสำนักงบประมาณซึ่งเป็นส่วนราชการที่ดูแลการใช้จ่ายเงินงบประมาณของประเทศนับล้านล้านบาท ในแต่ละปี ควรจัดให้มีคณะกรรมการนโยบายงบประมาณขึ้นมาเป็นกลไกกำกับดูแล เป็นองค์คณะเช่นเดียวกับ สศช.,สมช.,สคก.แทนที่จะปล่อยให้ผู้อำนวยการแบกรับอยู่ตามลำพังอย่างทุกวันนี้

ประการที่สี่ : ปฏิรูปกฏหมายที่เกี่ยวข้องทั้งระบบ

กฎหมายที่มีอยู่เดิมเป็นจำนวนมากนั้นขัดแย้งกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ 2550 ซึ่งรัฐบาลชุดที่แล้วได้ตั้ง คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย เพื่อทำการทบทวนอย่างเป็นระบบแล้ว แต่รัฐบาลชุดปัจจุบันไม่สนใจรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว จึงเฉยชาและตกอยู่ในความประมาทจนกระทั่งทำผิดรัฐธรรมนูญเข้าจนได้

ดังนั้น จึงควรสนับสนุนการทำงานของคณะกรรมการชุดดังกล่าวอย่างจริงจัง นอกจากนี้พระราชบัญญัติ กฎกระทรวง ระเบียบและคำสั่งของส่วนราชการ ที่ไม่เอื้อต่อการปฏิรูประบบรัฐดังที่กล่าวมาข้างต้นนั้น ก็จำเป็นจะต้องได้รับการปรับปรุงแก้ไขอย่างเร่งด่วนเช่นกัน

พลเดช ปิ่นประทีป (10/07/2551)  

email : ppoldej@yahoo.com

 

 

*****

 

 

รัฐบาล พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ได้ริเริ่มให้จังหวัด (โดยผู้ว่าราชการจังหวัด)

สามารถตั้งงบประมาณพัฒนาภูมิภาคได้เอง โดยมีกฎหมายรองรับเรียบร้อยแล้ว

เรื่องนี้ควรสนับสนุนให้ดำเนินการอย่างจริงจัง โดยมีการสร้างระบบภูมิคุ้มกัน

มิให้ ส.ส.และพรรคการเมืองมาแทรกแซงได้

*****

Be the first to comment on "ผ่าตัดใหญ่ประเทศไทย (1) : ปฏิรูประบบบริหารราชการแผ่นดิน"

Leave a comment

Your email address will not be published.