โดย พลเดช ปิ่นประทีป
สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา
Table of Contents
1. พัฒนาการแนวความคิดประชาสังคม
แนวความคิดประชาสังคมเป็นทฤษฎีทางสังคม-การเมืองที่มักจะหาคำจำกัดความที่ชัดเจนเป็นหนึ่งเดียวกันได้ยาก เพราะนักคิดนักฏิบัติการทางการเมืองเศรษฐกิจ และสังคมที่เกี่ยวข้องในแต่ละยุคสมัยต่างใช้แง่คิดมุมมองของตนมาอธิบายและขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงสังคมซึ่งภาวะแวดล้อมมีความแตกต่างและผันแปรตามกาลเวลา บ่อยครั้งนักคิดจากสำนักเดียวกันในยุคเดียวกันก็ยังตีความไม่เหมือนกันเสียทีเดียว
เพื่อความเข้าใจเบื้องต้น แนวความคิดประชาสังคมได้แก่กลุ่มแนวคิดที่เน้นเกี่ยวกับการคานอำนาจระหว่างรัฐกับสังคม ระหว่างรัฐกับกิจกรรมการรวมกลุ่มและการแสดงความคิดเห็นของสังคม ประชาสังคม คือสังคมที่สมาชิกมีความกระตือรือร้น เอาการเอางาน ถกเถียงกันในประเด็นร่วมกันของสังคมในสิ่งที่เป็นผลประโยชน์โดยรวมของสาธารณะหรือส่วนรวม (ธีรยุทธ บุญมี: 2547)
การทำงานของแนวความคิดประชาสังคมเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อสังคมนั้นมีการถ่วงดุลอำนาจอย่างเพียงพอที่จะระงับยับยั้งการใช้กำลังของฝ่ายรัฐได้ การแสดงความคิดเห็นจึงเป็นอาวุธสำคัญของชนชั้นกลางและภาคสังคมมาตั้งแต่ต้นและเป็นเครื่องมือที่ทำให้เกิดการเมืองแบบ “ประชาธิปไตย” มาจนถึงยุคปัจจุบัน ดังนั้นสิ่งที่เรียกว่าประชาสังคมจึงมีลักษณะเป็นกลุ่มหรือสังคมวาทกรรม และสังคมสื่อสารมาตั้งแต่ต้น ส่วนประเทศใดที่ประชาสังคมยังไม่ทำงานหรือยังทำงานไม่เข้มแข็งเพียงพอ คณะผู้ถืออาวุธยังคงดำรงตนเองเป็น “ชมรมผู้ถืออาวุธ” และใช้อำนาจอาวุธเป็นเครื่องตัดสิน ประเทศนั้นมักมีการปกครองแบบเผด็จการตำรวจ ทหาร หรือเผด็จการรูปแบบอื่น
วัตถุประสงค์ที่นักคิดตัวแทนกระฎุมพีและชนชั้นกลางเสนอแนวคิดประชาสังคมคือเพื่อปกป้องสังคมจากอำนาจการใช้อาวุธและความรุนแรงจากรัฐ เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมของตน และเพื่อสร้างเสริมศักยภาพโดยรวมของสังคม รวมทั้งสร้างความเป็นอารยะหรือวัฒนธรรมใหม่ขึ้นแทนที่
อันที่จริงแล้วอาจกล่าวได้ว่า ทฤษฎีการเมืองทั้งหลายตั้งแต่ศตวรรษที่ 14 เป็นต้นมา ล้วนเป็นผลผลิตของ “สังคมวาทกรรม” หรือ “ประชาสังคม” ทั้งสิ้น ดังนั้นในมุมมองของ ธีรยุทธ บุญมี นักคิดแนวประชาสังคมแห่งยุคสมัยจึงเห็นว่า ถ้าไม่มองว่าทฤษฎีเหล่านี้เป็นความรู้ที่เป็นกลางแล้ว ทั้งหมดล้วนเป็นแนวความคิดประชาสังคมที่มุ่งทำหน้าที่กดดันชมรมผู้ถืออาวุธออกไปจากวงจรอำนาจการเมืองนั่นเอง
เพื่อความเข้าใจประวัติพัฒนาการของแนวความคิดประชาสังคมในโลกตะวันตกได้ง่ายขึ้น อาจแบ่งช่วงเวลาเป็น 3 ยุค โดยพิจารณาจากแนวความคิดของปราชญ์สำนักคิดต่างๆ และบริบทแวดล้อมในช่วงเวลาเป็นส่วนประกอบ ได้แก่ ยุคก่อตัว ยุครัฐชาติสมัยใหม่ และยุคร่วมสมัย
2. ยุคก่อตัวแนวความคิดประชาสังคม (ก่อนศตวรรษที่ 18)
ยุโรปในยุคนั้นและก่อนหน้า ล้วนเป็นสังคมในระบอบฟิวดัลและสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งอยู่ภายใต้การปกครองของกษัตริย์ เหล่าอัศวินนักรบ ขุนนางและศาสนจักร ชนชั้นปกครองเหล่านี้เป็นผู้กำหนดกฎเกณฑ์ ระบบคุณค่า และระเบียบสังคมทุกประการ พื้นที่สาธารณะในยุคนั้นได้แก่ เทศกาล งานเลี้ยง พระราชพิธี ศาสนพิธี ซึ่งกระทำกันในพระราชวัง โบสถ์ วิหาร
ต่อมาเกิดการขยายตัวของชนชั้นกลาง และกระฎุมพีเนื่องมาจากการเกษตรกรรมที่พบเทคโนโลยีผลาญไถหลายหัว (คศ.1200) หัตถอุตสาหกรรม และการค้าพาณิชย์เติบโตภายหลังสงครามครูเสด (คศ.1095-1291) ทำให้เมืองการค้าใหญ่ๆ เกิดขึ้นอย่างมากมายทางตอนเหนือของอิตาลี ในผรั่งเศส ลุ่มน้ำเรน์ เยอรมันตอนเหนือ และอังกฤษ ขณะเดียวกันจำนวนชนชั้นกลางและความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจของพวกเขาที่เพิ่มพูนขึ้นทำให้เกิดอำนาจต่อรองทางการเมือง กษัตริย์และขุนนางบางกลุ่มต้องกู้เงินพวกเขาเพื่อกิจกรรมสงครามและกิจการอื่นๆ บางทีกษัตริย์ต้องตั้งพวกเขาเป็นสภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดินซึ่งเทียบเคียงได้กับพระและขุนนาง บางเมืองเกิดรูปแบบการปกครองนครรัฐเป็นแบบสาธารณรัฐหรือกึ่งสาธารณรัฐขึ้นแล้ว เช่น เวนิส ฟลอเรนซ์ เนเธอร์แลนด์ ปริมณฑล และพื้นที่สาธารณะของชนชั้นกลางและปัญญาชนปรากฎขึ้นตามห้องโถงรับแขกของผู้มีอันจะกิน ตามซาลอน ร้านกาแฟ ชมรม สโมสรที่ตั้งขึ้นเองโดยไม่เกี่ยวข้องกับพระราชพิธีและศาสนา ชนชั้นกลางและกระฎุมพีเหล่านี้ได้สร้างวัฒนธรรมแบบใหม่ สังคมแบบใหม่ และการเมืองแบบใหม่ขึ้นแล้ว และเป็นหน่ออ่อนของประชาสังคมในยุคต่อๆมา
ในช่วงนี้มีเหตุการณ์ใหญ่ทางประวัติศาสตร์ที่ส่งผลกระทบต่อพัฒนาการของแนวความคิดประชาสังคมหลายเหตุการณ์ ได้แก่ การเกิดระบบเศรษฐกิจยุคพาณิชยนิยม (Mercantilism) ซึ่งเป็นทุนนิยมยุคก่อนอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้รัฐสมัยนั้นต้องพึ่งพารายได้จากภาษีการค้าและการเงินแทนที่จะเป็นภาษีจากภาคเกษตรกรรมอย่างแต่ก่อน การเกิดระบอบอาณานิคมที่เป็นพลังค้ำจุนรัฐของกษัตริย์ ขุนนาง และพระผู้มีอำนาจ การประดิษฐ์แท่นพิมพ์ของกูเต็นเบิร์กในปี คศ. 1452 ทำให้เกิดการขยายตัวของการศึกษา การอ่าน การเขียนในหมู่ประชาชนอย่างกว้างขวางแทนที่จะถูกจำกัดอยู่แต่ในวังและวัดอย่างแต่ก่อน มหาวิทยาลัยในยุโรปได้ก่อตั้งขึ้นมากมาย คนหนุ่มสาวที่ได้รับการศึกษาเป็นรากฐานสำคัญสำหรับประชาสังคมที่ต้องอาศัยการถกเถียงและกิจกรรมทางปัญญา กล่าวกันว่าการปฏิวัติการพิมพ์ดังกล่าวได้นำไปสู่การปฏิรูปศาสนาซึ่งเป็นผลจากความขัดแย้งภายในกลุ่มประเทศวัฒนธรรมคริสเตียน โดยคริสต์ศาสนาโปรเตสแตนท์ที่คัดค้านการคอร์รัปชัน ความฟุ่มเฟือยในชีวิตความเป็นอยู่ พิธีกรรม และสถาปัตยกรรมของนิกายคาทอลิก จึงเป็นที่ดึงดูดใจแก่พ่อค้า ชาวเมือง ชนชั้นกลาง และช่างฝีมือที่ดำรงชีพด้วยการทำอาชีพการงานต่างๆ เศรษฐกิจทุนนิยมและความคิดการเมืองแบบประชาธิปไตยและประชาสังคมจึงขยายตัวอย่างรวดเร็ว รวมทั้งเกิดการปฏิวัติใหญ่ในอังกฤษ ในปี คศ.1688
ในยุคนี้มีนักปราชญ์และสำนักคิดสำคัญมากมาย อาทิ:
Saint Thomas Aquinas (1225-1274)
เป็นนักบุญและนักปรัชญาชาวอิตาเลี่ยนที่ได้นำเอาแนวคิดของอริสโตเติลซึ่งเป็นนักปราชญ์กรีกโบราณผู้วางรากฐานของศาสตร์หลายสาขาทั้งด้านรัฐศาสตร์ การปกครอง จิตวิทยา จริยธรรม ฟิสิกซ์ วาทศาสตร์ และตรรกศาสตร์ ฯลฯ โดยเฉพาะทางด้านการเมืองการปกครองมาประสานกับคำสอนของคริสต์ศาสนาที่เน้นความศรัทธาที่มนุษย์พึงมีต่อพระเจ้า เขาพัฒนาระบบคิดของคริสต์ศาสนาว่าความจริงบางอย่างเข้าถึงได้ด้วยเหตุผล แต่บางอย่างเข้าถึงได้ด้วยศรัทธา
Niccolo Machiavelli (1469-1527)
เป็นชาวเมืองฟลอเรนซ มีบทบาทพัฒนาแนวคิดมนุษยนิยมซึ่งเชื่อมั่นในมนุษย์และคุณค่าของมนุษย์ มีอิทธิพลทางความคิดในยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการของกรีกโบราณ (Renaissance) และยุคที่การค้าทางไกลเจริญเติบโต หนังสือชื่อ The Prince ของเขาสะท้อนวิธีการของชนชั้นสูงที่ใช้เล่ห์เหลี่ยมอำพราง หลอกลวง เพื่อรักษาความมั่นคงทางอำนาจ
Thomas Hobbes (1588-1679)
เป็นนักปรัชญาทางการเมืองชาวอังกฤษในตระกูลชนชั้นสูง ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นแนวกษัตริย์นิยม ทฤษฎีสัญญาประชาคมของเขาถือว่าประชาชนมอบอำนาจทั้งหมดของตนให้กับรัฐหรือผู้ปกครอง เป็นการมอบอำนาจสิทธิเด็ดขาดให้ ยกเว้นสิ่งเดียวคือสิทธิในชีวิตของตนซึ่งมีความศักดิ์สิทธิ์ซึ่งใครจะละเมิดไม่ได้
John Locke (1632-1704)
เป็นนักปรัชญาเสรีนิยมชาวอังกฤษ จากตระกูลสามัญชนนักกฎหมายในชนบทที่เชื่อมั่นในการทำงานหนักและรักความเรียบง่าย เป็นอาจารย์ที่ออกซ์ฟอร์ด เป็นที่ปรึกษาการค้าในอาณานิคม เขาเป็นฝ่ายเสรีนิยมในยุคความขัดแย้งรุนแรงระหว่างรัฐสภากับกษัตริย์
3. แนวความคิดประชาสังคมในยุครัฐชาติสมัยใหม่ (สตวรรษ 18-19)
เป็นช่วงที่ระบบศักดินาของกษัตริย์และพระเริ่มอ่อนกำลังลงและเกิดรัฐชาติสมัยใหม่ แต่เดิมสถานที่แสดงอำนาจเหนือสาธารณะหรือการเป็นบุคคลสาธารณะคือวังและวัดซึ่งแสดงออกในรูปของงานพิธีต่างๆ ที่เน้นความหรูหรา สถานะที่สูงส่งและทรงอำนาจของผู้เข้าร่วมงาน ส่วนประชาชนทั่วไปมีฐานะเป็นเพียงบุคคลสามัญและเป็นเพียงผู้ดูชมเท่านั้น มาในยุคนี้อำนาจความเป็นสาธารณะของทั้งวังและวัดค่อยๆสลายตัวหรือเปลี่ยนรูปไป ภายหลังการปฏิรูปศาสนาเกิดเสรีภาพทางศาสนา ประชาชนสามารถเลือกนับถือศาสนาได้เอง ไม่ใช่อำนาจกำหนดของศาสนจักรอีกต่อไป สถาบันทางศาสนจักรดำรงอำนาจและสถานะสาธารณะของตนไว้ได้ด้วยการลดบทบาทลงมาเป็นเพียงหนึ่งในหลายๆสถาบันเท่านั้น
ทางด้านราชสำนัก เกิดกระบวนการแยกตัวของระบบงบประมาณส่วนบุคคลของพระมหากษัตริย์(ทรัพย์สินส่วนพระองค์) ออกจากงบประมาณสาธารณะของหน่วยราชการต่างๆ กองทัพและสถาบันยุติธรรมแยกตัวจากราชสำนักมาเป็นอำนาจราชการต่างหาก
ทางด้านสังคมครอบครัวของชาวเมือง มีการปรับตัวตามภาวะแวดล้อมในยุคเปลี่ยนผ่านทางเศรษฐกิจการค้า ผู้ชายที่เป็นหัวหน้าครอบครัวต้องกลายเป็นผู้อุตสาหะวิริยะในอาชีพการงานอย่างใหม่ๆของตนซึ่งอาจจะเป็นงานหัตถกรรม ค้าขาย บริการ ส่วนภรรยาต้องทำหน้าที่ผลิตซ้ำทางสังคม คือ การอบรมสั่งสอนขนบธรรมเนียมประเพณี มารยาทสังคม ทัศนคติ และการศึกษาแก่ลูกเพื่อให้สามารถประกอบอาชีพตามรอยพ่อของตนได้ ครอบครัวชาวเมืองจึงต้องสนใจต่อกิจการสาธารณะ เช่น การจัดการสุขภาพอนามัย การศึกษา หรือการจัดหาอาหารยามที่เกิดภัยพิบัติต่างๆ สังคมเป็นรูปแบบของการพึ่งพาซึ่งกันและกันที่ชัดเจนยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตาม แม้ในช่วงต้นนี้ระบบทุนนิยมที่เกิดขึ้นยังมีความจำเป็นให้รัฐดูแลกิจการสาธารณะบางด้านอยู่ จะเห็นการแยกตัวชัดเจนระหว่างกิจการสาธารณะที่รัฐดูแล กับอำนาจสาธารณะที่ชาวเมืองดูแล ความคิดเรื่องสังคมแยกตัวออกจากรัฐเริ่มเกิดขึ้นแล้ว รัฐถูกทำให้ต้องขยายหน้าที่ของตนออกไปใน 3 ด้านคือ การสร้างโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ถนน การคมนาคมทางน้ำ และรถไฟในยุคต่อมา การปกป้องเครือข่ายการค้าต่างๆ โดยกำลังทหารและตำราจ และการกระจายตัวและหมุนเวียนของความรู้และข้อมูลข่าวสารในระบบธุรกิจแบบการค้าทางไกล
มีเหตุการณ์ประวัติศาสตร์โลกที่เกี่ยวพันหลายเหตุการณ์ในช่วงนี้ได้แก่ การปฏิวัติอุตสาหกรรมในอังกฤษ (…), สงครามปฏิวัติอเมริกา (1776), และการปฏิวัติฝรั่งเศส (1789) ส่วนนักคิดคนสำคัญมีหลายคน อาทิ:
Voltaire(1694-1778)
เป็นนามปากกาของนักคิดนักเขียนชาวปารีสโดยกำเนิด เขาเป็นนักต่อสู้ผู้ใช้คำพูดและข้อเขียนเป็นอาวุธฟาดฟันอย่างซึ่งหน้ากับฝ่ายบ้านเมืองและอคติของฝ่ายศาสนจักร หนังสือ”ก็องดีด” ”ขันติธรรม” และ “กฎแห่งธรรมชาติ” ของเขา เป็นพลังที่เรียกร้องให้มีเสรีภาพในการนับถือศาสนา เขาถูกจับเข้าคุกและหลบหนีออกนอกประเทศหลายครั้ง ความคิดของเขามีอิทธิพลทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อการเปลี่ยนแปลงสังคมฝรั่งเศสจากระบบฟิวดัลที่มีอภิสิทธิชนเป็นผู้ปกครองไปสู่ระบอบการปกครองของชนชั้นกลาง
Jean Jacque Rousseau (1712-1778)
เป็นชาวฝรั่งเศสที่เกิดที่เจนีวาในตระกูลพ่อค้า งานเขียนและความคิดของเขาถูกผู้ปกครองในยุโรปสมัยนั้นกาหัวว่าเป็นอันตรายต่อเสถียรภาพการปกครอง เนื่องจากเน้นว่าอำนาจอันชอบธรรมมาจากประชาชน ซึ่งเป็นการท้าทายอำนาจการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ หนังสือของเขาเรื่อง “สัญญาประชาคม” แตกต่างจากของ Hobbes แบบคนละขั้ว และมีอิทธิพลต่อนักคิดและนักการเมืองในฝรั่งเศสและปรระเทศยุโรปอื่นๆ กระทั่งเป็นที่กล่าวกันว่าการปฏิวัติฝรั่งเศสครั้งใหญ่เมื่อปี 1789 เกิดจากอิทธิพลความคิดนี้ ถึงขั้นยกย่องว่าเขาเป็นศาสดาแห่งการปฏิวัติทีเดียว
Adam Smith (1723-1790)
เป็นชาวสก็อตแลนด์ที่สร้างผลงานทางความคิดวางรากฐานเศรษฐศาสตร์คนสำคัญ หนังสือ 2 เล่มของเขา คือ“The Theory of Moral Sentiment” และ “The Wealth of Nations” นั้นทรงอิทธิพลทางความคิดมาก, “กฎของตลาด”, “การแบ่งงานกันทำ”, “กฎแห่งการสะสม”, “มือที่มองไม่เห็น”, “กฎเรื่องประชากร” ฯลฯ ล้วนมีบทบาทมาจนถึงปัจจุบัน สมิธเห็นว่ารัฐบาลที่ดีคือ รัฐบาลที่มีการปกครองน้อยที่สุด และสิ่งที่เขากลัวมากที่สุดคือ “การผูกขาด” ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบใด อาจเรียกได้ว่าแนวคิดของเขาเป็นประชาสังคมเชิงพาณิชยกรรม
Thomas Robert Malthus (1766-1834)
เป็นชาวอังกฤษผู้บุกเบิกทฤษฎีด้านประชากร เขาเสนอว่าความพยายามที่จะทำให้สังคมมนุษย์มีความสมบูรณ์โดยไม่มีที่ติอย่างที่นักคิดในยุคนั้นต้องการ ในที่สุดแล้วก็จะต้องประสบความล้มเหลวเพราะแนวโน้มของจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นมีมากกว่าปริมาณอาหารที่ผลิตได้ แต่ความก้าวหน้าทางวิทยาการในเรื่องการคุมกำเนิดและการผลิตอาหารที่เกิดขึ้นในเวลาต่อมาได้ทำให้ทฤษฎีประชากรของมัลธัส ถูกลืมเลือนไปชั่วขณะ กระทั่งหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ปัญหาประชากรในประเทศกำลังพัฒนาทำให้ทฤษฎีประชากรของเขาได้รับความสำคัญอีกครั้ง
John Stuat Mill (1806-1873)
เป็นชาวลอนดอน ในยุคที่อังกฤษมีอาณานิคมทั่วโลกแต่ระบบการเมืองภายในประเทศยังล้าหลัง รัฐสภาอังกฤษยังไม่เป็นประชาธิปไตยที่แท้ มหากษัตริย์ยังคงไว้ซึ่งอำนาจค่อนข้างเด็ดขาด แนวคิดของเขาเด่นมากในเรื่องประโยชน์นิยม(Utilitarianism) หนังสือที่ทรงอิทธิพลของเขาคือ “ว่าด้วยเสรีภาพ”(On Liberty) นอกจากนั้นยังมี “ระบบตรรกวิทยา”, “หลักเศรษฐศาสตร์การเมือง”, “ว่าด้วยการปกครองโดยระบอบผู้แทน” และ “ประโยชน์นิยม” เขาห่วงใยต่อปัญหาที่สังคมกดขี่ข่มเหงสังคมด้วยกันเองหากน้ำหนักของมติมหาชนมีมากกว่าน้ำหนักของกฎหมาย เขายืนยันหลักการคำนึงถึงเสียงส่วนมากโดยควบคู่ไปกับการเคารพศักดิ์ศรีของปัจเจกแต่ละคน เขาแนะนำให้รัฐเข้าแทรกแซงสังคมเพื่อให้มนุษย์มีความสุขมากขึ้น เรียกร้องให้สตรีและคนจนมีสิทธิทางการเมือง ให้รัฐดำเนินการด้านการศึกษา สุขภาพอนามัย ความมั่นคงของกรรมกร ซึ่งเหล่านี้มีส่วนทำให้แนวคิดรัฐสวัสดิการปักหลักมั่นคงขึ้น
Karl Marx (1818-1883)
เป็นชาวยิว เกิดในปรัสเซีย สภาพเศรษฐกิจและสังคมที่เขามีชีวิตอยู่เป็นระยะที่อุตสาหกรรมกำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว มีการประดิษฐ์เครื่องจักรไอน้ำ เครื่องจักรทอผ้า เกิดชนชั้นกรรมาชีพมากมาย ซึ่งไม่มีกรรมสิทธิ์ในปัจจัยการผลิต ต้องขายแรงงานราคาถูก ชีวิตความเป็นอยู่เลวร้ายสุดขีด ไม่มีสวัสดิการใดๆ เขาเสนอทฤษฎีวัตถุนิยมประวัติศาสตร์และการปฏิวัติทางชนชั้น หนังสือที่โด่งดังของเขาคือ “ทุน”(Capital) และ “คำประกาศคอมมิวนิสต์”(The Communist Manifesto) ซึ่งนำมาสู่การปฏิวัติบอลเชวิคในรัสเซีย(1917) และการปฏิวัติจีน(1949) เขามองประชาสังคมเป็นสังคมของพวกนายทุนหรือกระฎุมพีซึ่งมีหน้าที่ผลิตอุดมการณ์ครอบงำความคิดของชาวบ้าน ผู้ใช้แรงงาน เพื่อปิดบังอำพรางการเอารัดเอาเปรียบของชนชั้นนายทุนและถ่วงรั้งการปฏิวัติของชนชั้นกรรมาชีพ
Bukanin (1814-1876)
เป็นชาวรัสเซียผู้มีแนวคิดเรื่องเครือข่ายและอนาธิปัตย์ (Anarchism) ที่ชัดเจนที่สุดคนหนึ่ง เขาเชื่อว่าเสรีภาพที่ปราศจากสังคมนิยมคือ อภิสิทธิ์และความอยุติธรรม ส่วนสังคมนิยมที่ปราศจากเสรีภาพคือความเป็นทาสและความโหดร้ายป่าเถื่อน แนวคิดอนาธิปัตย์เกิดขึ้นมาจากการต่อสู้ของขบวนการกรรมการเช่นเดียวกับสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ แนวคิดว่าด้วยเครือข่ายเป็นหัวใจของอนาธิปัตย์ อนาธิปัตย์คือแนวคิดสังคมนิยมอิสระ หรือสังคมนิยมแบบสมัครใจ ไม่ใช่สังคมนิยมโดยรัฐใช้อำนาจบีบบังคับและกลายเป็นผู้ปกครองใหม่เสียเอง น่าเสียดายที่แนวคิดอนาธิปัตย์ถูกบิดเบือนให้เกิดความสับสนจนผู้คนทั่วไปเข้าใจผิดคิดว่าเป็นพวกที่ปฏิเสธอำนาจรัฐทุกรูปแบบ เป็นพวกที่ต้องการให้เกิดความโกลาหลไร้ระเบียบ ชอบใช้ความรุนแรง ฯลฯ
Antonio Gramsci (1891-1937)
เป็นปัญญาชนฝ่ายซ้ายชาวอิตาเลี่ยนที่มีบทบาทสำคัญต่อขบวนการกรรมการ เคยถูกจับและจำคุก 11 ปี จากประสบการณ์จัดตั้งสหภาพแรงงานและล้มเหลวในการต่อสู้ เขาจึงกลับไปสนใจปัญหาอุดมการณ์จริงจัง ในขณะที่ Marx ถือว่าระบบเศรษฐกิจเป็นโครงสร้างพื้นฐาน (Base) ส่วนความคิดและสังคมเป็นโครงสร้างส่วนบน(Superstructure) ซึ่งเกิดขึ้นเพื่อรับใช้เศรษฐกิจนั้น Gramsci กลับเห็นว่านั่นเป็นการแบ่งอย่างแข็งทื่อและจอมปลอมเพราะมองข้ามการต่อสู้ในปริมณฑล,ของความคิดในภาคสังคมที่เรียกว่าประชาสังคม เขาเสนอความคิดเรื่อง Hegemony (หรือการครอบนำ) ซึ่งหมายถึงการยกตัวเองให้อยู่ในฐานะที่ได้เปรียบ ขณะเดียวกันก็ได้รับการยอมรับว่าเป็นความคิดที่ถูกต้องชอบธรรมจนมีฐานเป็นความคิดนำในสังคมได้ เขาอธิบายว่าการปฏิวัติรัสเซียเกิดได้เพราะไม่มีประชาสังคมเป็นตัวกลาง รัฐจึงกระทำการกดขี่อย่างเปิดเผย การต่อต้านจึงรุนแรง แต่การปฏิวัติเกิดยากในยุโรปตะวันตกเพราะมีประชาสังคมเป็นกันชน ทฤษฎีประชาสังคมของเขาสร้างผลสะเทือนที่โปแลนด์โดยขบวนการโซลิดาริตี้ที่อยู่นอกภาครัฐ ไม่ได้มุ่งยึดอำนาจรัฐ แต่เคลื่อนไหวเพื่อสร้างความคิดนำ จนได้รับการยอมรับในภาคประชาสังคมและเกิดการเปลี่ยนแปลงใหญ่ตามมา
4. แนวความคิดประชาสังคมร่วมสมัย (ศตวรรษที่ 20)
ตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 19 จนถึงปลายศตวรรษที่ 20 มีความผันผวนมากมายเกิดขึ้นกับแนวความคิดประชาสังคมเนื่องมาจากปัจจัยทางประวัติศาสตร์ ได้แก่การจราจลลุกฮือใหญ่ของผู้ใช้แรงงานในหลายประเทศจากอิทธิพลแนวคิดลัทธิมาร์กซ ซึ่งเน้นการปฏิวัติช่วงชิงอำนาจรัฐโดยชนชั้นกรรมาชีพ, การเกิดรัฐสวัสดิการในยุโรปอันเป็นผลสะเทือนมาจากปรัชญาอรรถประโยชน์นิยมของ Jeremy Bentham และ John Stuart Mill อันนำไปสู่การปฏิรูปกฎหมายและขยายสิทธิของประชาชน, และการเกิดศาสตร์ด้านสังคมวิทยาซึ่งมีส่วนลดทอนความสนใจและความสำคัญของประชาสังคมลงไประยะหนึ่ง
ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มีการเปลี่ยนแปลงเชิงภววิสัยหลายอย่างที่กระทบต่อแนวความคิดประชาสังคม เช่น กระแสสังคมบริโภคนิยมมาแรงเนื่องจากพัฒนาการทางเทคโนโลยีทำให้เกิดความสะดวกสบาย ปรากฎการณ์เช่นนี้ทำให้ความเป็นปัจเจกชนเพิ่มมากขึ้น สนใจเรื่องสังคมส่วนรวมน้อยลง. การเกิดทฤษฎีวิชาการเกี่ยวกับการทำให้ทันสมัย(Modernization) และทฤษฎีการพัฒนา (Development) ขึ้นมามีบทบาท แต่ในที่สุดความซับซ้อนของระบบการเมืองหลังสงครามได้ทำให้การทำให้ทันสมัยและการพัฒนาประสบความล้มเหลวทั้งการสร้างอุตสาหกรรมในอาฟริกา และการสร้างประชาธิปไตยในละตินอเมริกา. เกิดการกัดเซาะจากแนวคิดแบบหลังสมัยใหม่ (Post Modern) ซึ่งมุ่งวิพากษ์โลกสมัยใหม่ทุกๆมิติ รวมทั้งความเป็นสังคม รัฐ ชาติ และอื่นๆ. เกิดกระแสความคิดหลังลัทธิมาร์กซได้ก่อตัวเป็นการเคลื่อนไหวทางสังคมแบบใหม่ (New Social Movement) ซึ่งส่งผลสะเทือนอย่างสูงต่อการเคลื่อนไหวด้านสตรี สิ่งแวดล้อม สิทธิมนุษยชน สิทธิชุมชน ฯลฯ. เกิดกระแสโลกที่หักเหสู่ปัญหาจริยธรรมและคุณธรรม (Ethical Turn). เกิดกระบวนการรื้อฟื้นความสนใจภาคสาธารณะ ประชาสังคม และทุนทางสังคม (Social Capital) ทั้งในระดับชุมชนท้องถิ่น ระดับชาติ และระดับภูมิภาค นักคิดสำคัญที่ปรากฎขึ้นในช่วงนี้ ได้แก่ :
Talcott Parsons (1902-1979)
เป็นนักคิดร่วมสมัยผู้ตั้งทฤษฎีระบบในสาขาสังคมวิทยา เขาแบ่งสังคมเป็น 4 ระบบย่อย คือ ระบบย่อยทางการเมือง ระบบย่อยทางเศรษฐกิจ ระบบย่อยทางวัฒนธรรม และระบบย่อยทางชุมชนสังคม เขาให้ความสำคัญกับชุมชนสังคม (Societal Community) เพราะเป็นรากฐานของประชาสังคม เขาเน้นความเป็นทุนนิยมหรือความหลากหลาย เขาสนใจเรื่องกฎหมายใหม่โดยมองว่าการเปลี่ยนแปลงของตัวบทกฎหมายจากการเป็นเครื่องมือของรัฐหรือนโยบายแห่งรัฐมาเป็นตัวคลี่คลายประสานระหว่างรัฐกับชุมชนสังคม หรือระหว่างรัฐกับภาคเศรษฐกิจ นอกจากนั้นยังเน้นเรื่องความเป็นพลเมืองด้วย
John Rowls (1921-2002)
เป้าหมายในอุดมคติของเขาคือ สังคมที่ยุติธรรมและมีเสถียรภาพ เขาเป็นนักคิดแนวเสรีนิยมเชิงยุติธรรม งานที่มีอิทธิพลมากที่สุดของเขาคือ “A Theory of Justice” แนวคิดสำคัญๆ ที่เขาเสนอได้แก่ หลักแห่งเสรีภาพที่เท่าเทียมกันมากที่สุด, หลักแห่งความเท่าเทียมทางโอกาสอย่างเป็นธรรม, หลักแห่งความยุติธรรม, หลักแห่งความต่าง, สังคมที่มีระเบียบที่ดี, หลักแห่งทางสายกลาง. กล่าวได้ว่ารากฐานเกี่ยวกับการเมืองประชาธิปไตย หลักความยุติธรรมทางสังคมและ DeliberativeDemocracy ในยุคปัจจุบันล้วนได้รับอิทธิพลจากความคิดและงานของเขา
Jürken Habermas (1929-..)
Habermas มองมนุษย์เป็นสังคมที่อยู่เป็นกลุ่มและต้องติดต่อสื่อสารซึ่งกันและกันโดยผ่านภาษาและวาทกรรม เขาเชื่อว่าคุณธรรมในการสื่อสารเป็นอำนาจทางสังคมที่มีเหนือปัจเจกบุคคล ทฤษฎีของเขาทำให้ภาพของประชาธิปไตยเปลี่ยนไปเป็นระบอบการเมืองของการสื่อสาร กระบวนความชอบธรรมกลายเป็นกระบวนการสนทนาสื่อสาร สิทธิก็มีพื้นฐานจากกระบวนการสนทนาสื่อสาร นอกจากนั้นเขายังเสนอแนวคิด Universal Pragmatism, Discourse Ethics, ทฤษฎีปฏิบัติการทางสังคม, การสร้างอัตลักษณ์, แนวคิดเรื่องอัตวินิจฉัย, กลุ่มสิทธิ 5 กลุ่ม, ระบบกฎหมายและความยุติธรรม
Robert Putnam (1940-…)
เขาศึกษาเศรษฐกิจการเมืองและประชาธิปไตยในอิตาลีโดยสืบสาวพัฒนาการทางประวัติศาสตร์การเมือง และวิเคราะห์โครงสร้างความสัมพันธ์ทางสังคมในภูมิภาคต่างๆ ของอิตาลีในหนังสือชื่อ “Making Democracy Work : Civic Tradition in Modern Italy” พบข้อสรุปว่าการรวมตัวกันในชุมชนในรูปของ กลุ่ม ชมรม สหกรณ์ สมาคม หรือองค์กรต่างๆ ในภาคประชาสังคม เป็นตัวกำหนดที่สำคัญที่สุดต่อความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ ความเป็นประชาธิปไตย และความสงบสุขของสังคม
Be the first to comment on "การเคลื่อนไหวของประชาสังคมในโลกตะวันตก"