ป.ป.ส. ปราบปรามยาเสพติด

โดย นพ.พลเดช ปิ่นประทีป สมาชิกวุฒิสภา

บทบาทของชุมชนเป็นศูนย์กลางในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด 4 โมเดล ที่น่าสนใจดังนี้

เริ่มต้นปี 2563  ผู้เขียน ยังคงนำเรื่องราวต่างๆ ผ่านการติดตามตรวจสอบจากเวทีวุฒิสภา และการลงไปสัมผัสพบเห็นจริงมารายงานให้คุณผู้อ่านได้รับสาระประโยชน์ ไม่มากก็น้อยต่อไป  โดยรอบนี้ จะขอรายงานการทำงานของ ป.ป.ส. หน่วยงานที่ทำหน้าที่ป้องกันและปราบปรามยาเสพติด

เจ้าพนักงาน ป.ป.ส. มีอำนาจในการเข้าไปในเคหะสถานหรือสถานที่ใดๆ ค้นบุคคลหรือยานพาหนะ จับกุมผู้ต้องหาคดียาเสพติด ยึดหรืออายัดยาเสพติด สอบสวนผู้ต้องหาในคดียาเสพติดและมีหนังสือสอบถามหรือเรียกบุคคลใดๆมาให้ถ้อยคำ หรือให้ส่งบัญชีหรือเอกสารหรือวัตถุใดๆมาเพื่อตรวจสอบหรือประกอบการพิจารณาตามมาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พ.ศ.2519

กฎหมายกำหนดให้เลขาธิการ ป.ป.ส. จัดทำรายงานผลการปฏิบัติเสนอต่อคณะรัฐมนตรีรับทราบและพิจารณา เพื่อเสนอรายงานดังกล่าวพร้อมข้อสังเกตุต่อสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา จึงเป็นที่มาของการพิจารณารายงานการปราบปรามยาเสพติด ประจำ 2560 ในคราวประชุมวุฒิสภาสามัญครั้งที่ 6 วันที่ 8 กรกฎาคม 2562

ผลงานปราบปรามโดยสรุป ป.ป.ส. มีอัตรากำลังเจ้าหน้าที่ประจำของสำนักงานประมาณ 800 คน  แต่มีพนักงานป.ป.ส. ที่ร่วมปฏิบัติงานที่มาจากหน่วยงานอื่นๆรวม 17,000 คน ใช้งบประมาณปีละ 2,600 ล้านบาท ปี 2560 จับกุมยาบ้าได้ 248 ล้านเม็ด  มีผู้เสพยาเสพติดรวม 204,646 คน แยกเป็นผู้เสพรายเก่า 14.42% และผู้เสพรายใหม่ 85.58%

เนื่องจากการรายงานครั้งนี้เป็นแค่เพียงผลงานด้านการปราบปรามเท่านั้น จึงไม่สามารถมองเห็นภาพงานด้านการป้องกันซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ที่ควรให้ความสำคัญมากขึ้น รวมทั้งมองไม่เห็นบทบาทของภาคีอื่นๆโดยเฉพาะภาคประชาสังคมและภาคธุรกิจว่าเป็นอย่างไร

ในคราวการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 10 เมื่อเดือนธันวาคม 2560 มีระเบียบวาระการประชุมหนึ่งที่ว่าด้วยเรื่อง “ชุมชนเป็นศูนย์กลางในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด” เข้ามาสู่การพิจารณาเป็นฉันทมติของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติในคราวนั้น

สมัชชาสุขภาพแห่งชาติและภาคีเครือข่าย มีข้อตระหนัก 5 ประการ ได้แก่ 

1) สถานการณ์ยาเสพติดทั่วโลกเพิ่มขึ้น ระหว่าง ปี 2549-2558 จาก 208 ล้านคนเป็น 255 ล้านคน  สำหรับในประเทศไทยในปี 2559 มีผู้ติดยาเสพติด 1.4 ล้านคน ในจำนวนนี้ต้องบำบัดรักษา 300,000 คน ส่วนใหญ่มีอายุระหว่าง 14-40 ปี 

2) นโยบายและมาตรการเน้นการปราบปราม มักส่งผลกระทบทางสังคมและไม่ยั่งยืน 

3) ทิศทางนโยบายการแก้ปัญหาทั่วโลกปรับเปลี่ยนตามองค์การสหประชาชาติ UNGASS 2016 คือ “ลดทอนความเป็นอาญา เพิ่มการดูแลด้านสุขภาพ” หรือ “ผู้เสพเป็นผู้ป่วย” 

4) งานป้องกัน เสริมสร้าง ฟื้นฟูยาเสพติดของประเทศ ในระยะหลังอ่อนแรงลงไปมาก ความเข้าใจของสังคมในเรื่องนี้ยังขาดการสื่อสารอย่างมีทิศทาง 

5) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและชุมชน เป็นหัวใจในงานป้องกัน เสริมสร้าง ฟื้นฟูและการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน

ในเวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติในครั้งนั้น ภาคีเครือข่ายได้นำเสนอรูปแบบการใช้บทบาทของชุมชนเป็นศูนย์กลางในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด 4 โมเดล

โมเดล 1 ตำบลแม่เปา อ.พญาเม็งราย จ.เชียงราย  –  ที่นั่นมีปัญหาคุณภาพของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กอยู่ในสถานะ “ตกเกณฑ์” ในปี 2547 จึงทำให้เกิดการรวมตัวกันของหน่วยงาน องค์กรในพื้นที่ หันมาทำงานช่วยกันแบบเครือข่าย ทั้งในเรื่องนี้และทุกๆเรื่อง รวมทั้งยาเสพติดในชุมชน โดยโรงพยาบาลชุมชน รพ.สต. อบต. กำนัน ทำหน้าที่ป้องกัน ส่วนผู้ใหญ่บ้าน โรงเรียน วัด และสภาเด็กและเยาวชนทำหน้าที่เฝ้าระวังปัญหา นายอำเภอและกลไกคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตอำเภอ คณะกรรมการ ป.ป.ส.อำเภอ ทำหน้าที่บำบัดดูแลและฟื้นฟูอย่างต่อเนื่อง

โมเดล 2 ตำบลเขื่อนผาก อ.พร้าว จ.เชียงใหม่  –  เป็นพื้นที่ติดชายแดน เป็นเส้นทางผ่านของยาเสพติด เป็นที่พักยา มีกระบวนการทำงานโดยฝ่ายท้องที่และรพ.สต.เข้าถึงผู้มีปัญหา ฝ่ายท้องถิ่นช่วยสนับสนุนทรพยากรและงบประมาณ ปี 2559 มีผู้เสพ 124 คน สามารถหยุดเสพได้ 99 คน อีก 25 คนมีการดูแลอย่างต่อเนื่อง

โมเดล 3 ตำบลท่าฉนวน อ.กงไกรลาศ จ.สุโขทัย  –  เป็นชุมชนที่มีปัญหายาเสพติดชุกชุมมาก สารวัตรใหญ่และกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อสม.จึงริเริ่มการสร้างความเป็นประชาคม ทำงานโดยใช้ข้อมูลความจริงในพื้นที่ ทั้งด้านการคัดแยก เฝ้าระวัง ป้องกัน บำบัด ฟื้นฟู

โมเดล 4 โรงพยาบาลเพชรบูรณ์ อ.เมือง จ.เพชรบูรณ์  –  เมื่อโรงพยาบาลพบว่าการบำบัดรักษาที่โรงพยาบาลเป็นการจัดการปัญหาที่ปลายทาง จึงได้ร่วมกับหน่วยงานภาคี 8 หน่วยงาน ใช้แนวทาง 1)ความรัก 2)การให้อภัย 3)การค้นหาศักยภาพ 4)การสร้างคุณค่าชีวิต ผลงานคือ มีเด็กติดยาที่ดูแลอยู่ 927 ราย  สามารถลดการเสพติดซ้ำจาก ร้อยละ 20 เหลือเพียงร้อยละ 5

ในชั้นนี้ จึงมีข้อเสนอแนะต่อ ป.ป.ส.ไว้ 4 ประการ ดังนี้

1.ควรเพิ่มความสำคัญของยุทธศาสตร์ “การป้องกัน” โดยส่งเสริมบทบาทของท้องถิ่น ชุมชน เยาวชน ภาคประชาสังคม และภาคเอกชน ซึ่งภารกิจรูปธรรมคือการจัดให้มีงบประมาณสนับสนุนการทำงานอย่างสมเหตุสมผล

2.ควรใช้ตำบลเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ในด้านปฏิบัติการ ใช้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นเจ้าภาพหลักในการประสานเชื่อมโยง ใช้อำเภอเป็นจุดยุทธศาสตร์ในด้านบูรณาการ ประสานงาน แผนงานและการประเมินผล ซึ่งกลไกคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตอำเภอ (พชอ.) และป.ป.ส.อำเภอสามารถเป็นกลไกทำงานได้

3.ปรับยุทธศาสตร์การสนับสนุนงบประมาณอย่างจริงจัง ควรจัดให้มีสัดส่วนของงบประมาณด้านการป้องกันและแก้ปัญหาโดยชุมชนเป็นศูนย์กลางให้เพิ่มมากขึ้นจากของเดิมอย่างก้าวกระโดด 10-20 เท่าตัว จึงจะเท่าทันต่อสถานการณ์

4.ในระดับชาติ ควรมีการผนึกกำลังทำงานเป็นพันธมิตรเชิงยุทธศาสตร์ที่เข้มแข็งในด้านป้องกันและแก้ปัญหา ระหว่าง ป.ป.ส. หน่วยงานผู้มีอำนาจหน้าที่  สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) หน่วยงานผู้มีเครือข่ายและเทคนิคกระบวนการ และ สสส. หน่วยงานผู้มีระบบการสนับสนุนกิจกรรมโครงการของภาคประชาชนที่มีประสิทธิภาพ.

ขอบคุณรูปปกจาก https://www.nationweekend.com/columnist/28/4652?utm_source=bottom_relate&utm_medium=internal_referral