โดย นพ.พลเดช ปิ่นประทีป สมาชิกวุฒิสภา, 9 มกราคม 2563
การรวมตัวเป็นสหพันธ์สื่อมวลชนอาเซียนของ UMA เช่นนี้ อาจจะเป็นจุดเริ่มของเครือข่ายภาคประชาสังคม
เหตุการณ์ความขัดแย้งด้านชายแดนระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน เกิดขึ้นจากความไม่เข้าใจกันและการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนในลักษณะไร้ทิศทาง ไม่ยึดข้อเท็จจริง ไม่มีเอกภาพ เป็นส่วนสำคัญในการกระพือความมีอคติและยั่วยุให้เกิดความเกลียดชังระหว่างชาติ
จนบางครั้งถึงขั้นนำมาสู่ความรุนแรงและสงคราม มีการปะทะกันด้วยกำลังทหารที่ชายแดน เกิดผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนทั้งสองฝั่งอย่างรุนแรง ต้องประสบภัยสงครามที่ตัวเองไม่ได้มีส่วนรับรู้ เสียหายต่อเศรษฐกิจการค้าขาย การลงทุน และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
ประกอบกับในช่วงเวลานั้น มีเหตุการณ์ความขัดแย้งและสงครามสู้รบชายแดนระหว่างไทยกับกัมพูชาเกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง รวมทั้งกรณีที่มีกระแสข่าวว่าดาราสาวยอดนิยมชาวไทยคนหนึ่งได้กล่าวคำสัมภาษณ์ในเชิงดูถูกเหยียดหยามชาวกัมพูชา จนเป็นเหตุความไม่พอใจที่กระพือออกไปอย่างรวดเร็ว
ชาวเขมรหลายร้อยคนชุมนุมกันที่หน้าสถานฑูตไทยในกรุงพนมเปญ ประท้วงประเทศไทยและนางเอกสาว มีการเผาธงชาติไทยและชูแผ่นป้าย “เกลียดไทย” การประท้วงลุกลามรุนแรงกลายเป็นการจราจล สถานฑูตไทยถูกเผา ทรัพย์สินของบริษัทธุรกิจที่มีเจ้าของเป็นคนไทยถูกบุกทำลาย รวมมูลค่าความเสียหายหลายพันล้านบาท
นายกรัฐมนตรีไทย แถลงลดความสัมพันธ์ทางการฑูตกับประเทศกัมพูชา เหลือแค่ระดับอุปฑูต เรียกเอกอัครราชฑูตไทยกลับประเทศ และยื่นหนังสือประท้วงรัฐบาลกัมพูชาอย่างรุนแรง พร้อมให้เอกอัครราชฑูตกัมพูชากัมพูชาออกจากประเทศไทย
ทางด้านกรุงเทพฯเองก็มีกลุ่มคนไทยเดินทางมาประท้วงที่หน้าสถานฑูตกัมพูชาประจำประเทศไทย ขับไล่คนเขมรและเจ้าหน้าที่ฑูตออกไปจากประเทศไทย มีการวางหรีดและนำโลงศพมาใส่สัญญลักษณ์ของประเทศกัมพูชา ฉีกธงชาตินำมาเผาไฟ มีการกรีดเลือด ร้องเพลงชาติไทยและเพลงสรรเสริญพระบารมีไปด้วย
ในส่วนของรัฐบาล มีการตอบโต้กันด้วยมาตรการทางการฑูตและการเมืองระหว่างประเทศ ประกอบกับการตระเตรียมปฏิบัติการทางการทหารที่จำเป็น ในที่สุดค่ำวันถัดมา รัฐบาลกัมพูชากล่าวขอโทษต่อเหตุการณ์และให้คำมั่นว่าจะชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นโดยไม่มีเงื่อนไข เรื่องจึงยุติ
สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ภูมิภาคแห่งประเทศไทย(สนพท.) ซึ่งผ่านประสบการณ์การทำข่าวสงครามระหว่างชายแดนมายาวนาน เกิดความตระหนักในปัญหาดังกล่าวและเล็งเห็นถึงผลของสงครามว่าจะก่อให้เกิดความทุกข์ยากแก่ประชาชนที่แสนสาหัส
จึงได้ก่อตัวขึ้นที่จังหวัดสุรินทร์เมื่อปี 2553 เพื่อร่วมกันหาคำตอบให้เกิดสันติภาพ รื้อรั้วแห่งความขัดแย้งชายแดน ทำหน้าที่เป็นสื่อเพื่อสร้างสรรค์สันติภาพ สันติสุข ให้เกิดความเข้าใจที่ดีต่อกันในหมู่สาธารณชน วางรากฐานวัตถุประสงค์และเป้าหมายการทำงานร่วมกันในหมู่สมาชิกสื่อมวลชน จากสามประเทศ คือ ไทย กัมพูชาและเมียนมาร์
ต่อมา การประชุมที่จังหวัดสระแก้วในปี 2546 ประกาศก่อตั้งองค์กรที่มุ่งเชื่อมโยงความสัมพันธ์และประสานการทำงานระหว่างนักข่าวกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านขึ้น ชื่อสหพันธ์สื่อมวลชนอาเซียน The Union Media of ASEAN (UMA) มีองค์กรสื่อมวลชนและนักข่าวนักหนังสือพิมพ์จากไทย กัมพูชา เมียนมาร์ ลาว และเวียดนาม เป็นผู้ร่วมก่อตั้งและดำเนินการ
ในประเทศกัมพูชา องค์กร UMA ได้รับความเชื่อถื่อไว้วางใจอย่างสูงจากรัฐบาลและประชาชนที่นั่น เนื่องจากเป็นผู้ทำงานสันติภาพที่อยู่เบื้องหลัง ช่วยคลี่คลายเหตุการณ์ความขัดแย้งชายแดนไทย-กัมพูชาในหลายๆครั้ง รวมทั้งในกรณีแรงงานกัมพูชาสามแสนคนแตกตื่นหนีกลับประเทศในครั้งจราจลกลางกรุงพนมเปญ และกรณีช่วยเหลือคนไทย 7 คนที่ถูกจับข้อหาบุกรุกดินแดนเขาพระวิหารในกรณีวีระ-ราตรี
ปัจจุบัน เมื่อประชาคมอาเซียนมีการรวมตัวเป็นเอกภาพและมีความเข้มแข็งมากขึ้น ก็ยิ่งทำให้ภูมิภาคมีบทบาทและสถานะความสำคัญในเวทีโลกเพิ่มขึ้น ทั้งในด้านการเมือง และด้านเศรษฐกิจ
ในแนวนโยบายการพัฒนาของประชาคมอาเซียน เวทีประชุมสุดยอดผู้นำสิบประเทศสมาชิกได้กำหนดให้มีการดำเนินงานในลักษณะของ 3 เสาหลัก ประกอบด้วย เสาการเมืองและความมั่นคง เสาเศรษฐกิจ และเสาสังคมวัฒนธรรม
สองเสาแรกมีความชัดเจนว่าเป็นเรื่องของภาครัฐและภาคธุรกิจอาเซียน ซึ่งแข็งแรงและมีองค์กรตัวแทนที่ชัดเจนอยู่แล้วมาทำงานร่วมกัน แต่ในเสาที่สามนี่แหละที่ยังอ่อนแอมาก เพราะขาดองค์กรภาคประชาสังคมตัวจริงจากประเทศต่างๆที่จะมาร่วมเป็นเจ้าภาพขับเคลื่อน จึงมักเป็นเรื่องที่รัฐต้องเข้าไปดำเนินการแทนอยู่ตลอดมา
มองในแง่นี้ ดูเหมือนว่าการรวมตัวเป็นสหพันธ์สื่อมวลชนอาเซียนของ UMA เช่นนี้ อาจจะเป็นจุดเริ่มของเครือข่ายภาคประชาสังคมที่ควรจะมาเป็นผู้แสดงหลักในเสาที่สามของประชาคมอาเซียนดังที่กล่าวข้างต้น
นอกจากนั้น ยังมีประดากลุ่มสมาคมมิตรภาพที่เกิดจากความริเริ่มของประชาชนชายแดนทั้งสองฝั่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ เช่นสมาคมมิตรภาพไทย-กัมพูชา, ไทย-เวียดนาม, ไทย-ลาว, และไทย-พม่า อีกทั้งบริษัทท่องเที่ยวระหว่างประเทศและทัวร์ท้องถิ่นที่มีอยู่มากมาย ก็น่าจะเป็นฐานทุนสำคัญของเสาสังคมวัฒนธรรมอาเซียนได้เป็นอย่างดี
ปัจจุบันการขนส่งสินค้าและการเดินทางไปมาหาสู่กันของประชาชนมีความสะดวกสบายมาก ทั้งทางบก ทางเรือ และทางอากาศ จึงเป็นปัจจัยและโครงสร้างพื้นฐานที่จะเกิดกิจกรรมและกิจการของประชาชนกับประชาชนจะเกิดขึ้นเองได้ง่ายขึ้น
โดยเฉพาะเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor) ที่เชื่อมสองฝั่งมหาสมุทร โดยพาดผ่านแผ่นดินใหญ่กลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขง ตั้งแต่เมืองดานัง สุวรรณเขต มุกดาหาร ขอนแก่น พิษณุโลก แม่สอด เมียวดี และเมาะละแหม่ง ก็น่าจะเป็นเส้นทางยุทธศาสตร์ที่มีความสำคัญต่อเสาหลักของอาเซียนทั้งสามเสา

ผมอยาก เรียกว่า ASEAN Landbridge หรือ “สะพานเศรฐกิจทางบกแห่งอาเซียน” ซึ่งน่าจะเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ด้านสังคมและวัฒนธรรมให้กับสหพันธ์สื่อมวลชนอาเซียน สมาคมมิตรภาพ และธุรกิจท่องเที่ยวภูมิภาคได้เป็นอย่างดี.
ขอบคุณภาพหน้าปกจาก nationweekend.com