เทคโนโลยีการจัดการน้ำโดยชุมชน

โคก-หนอง-นา โมเดล
“โคก-หนอง-นา โมเดล” เป็นโมเดลต้นแบบที่สถาบันเศรษฐกิจพอเพียงและมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติได้น้อมนำพระราชดำรัสของในหลวงรัชกาลที่9 ในเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่มาใช้บริหารจัดการน้ำและพื้นที่ทำการเกษตร โดยมุ่งหวังที่จะสร้างจุดเปลี่ยนให้กับชุมชน
แบ่งพื้นที่เป็นสัดส่วน 30 : 30 : 30 : 10 กล่าวคือ 30% แรกสำหรับแหล่งน้ำ ทั้งการขุดบ่อทำหนองและการขุดคลองไส้ไก่ที่ช่วยระบายน้ำรอบพื้นที่ อีก 30% สำหรับปลูกข้าว และอีก 30% สำหรับไว้ทำโคกหรือป่า โดยปลูกผักไว้เป็นอาหาร ปลูกไม้ใช้สอย ปลูกยาสมุนไพร ส่วน 10% ที่เหลือ สำหรับเป็นที่อยู่อาศัยและเลี้ยงสัตว์
ปัจจุบันรูปแบบนี้ได้รับความนิยมและขยายตัวไปตามเครือข่ายเศรษฐกิจพอเพียงอย่างรวดเร็ว การลงมือทำลักษณะจุดเล็กๆ เช่นนี้ในหลายภูมิภาคของประเทศ โคก-หนอง-นา โมเดล จะช่วยได้มากกว่าการบริหารจัดการน้ำและพื้นที่ทำการเกษตร เพราะยังจะช่วยแก้ปัญหาโลกร้อนและลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้
ฝายมีชีวิต
“โครงการฝายมีชีวิต” เป็นความคิดริเริ่มของชาวบ้านที่รัฐควรสนับสนุน เพราะเป็นตัวอย่างของ “การจัดการตนเองโดยชุมชน” กล่าวคือ ฝายมีชีวิตเป็นกระบวนการให้ชุมชนลุกขึ้นมาเรียนรู้ข้อมูลน้ำของชุมชน โดยชุมชน จนชุมชนสามารถจัดการน้ำของเขาได้เอง และสามารถกำหนดทิศทางของเขาเองได้ อีกทั้งมีแผนการจัดการอย่างเป็นระบบ โดยมีภาคีเครือข่ายภายนอกเป็นพี่เลี้ยง สนับสนุน
รายงานข่าวจากสยามรัฐออนไลน์ (7 พฤศจิกายน 2561) ระบุว่า ประโยชน์จากฝายมีชีวิต ในชั้นต้น สรุปได้ดังนี้
- ในช่วงหน้าน้ำหลาก ฝายมีชีวิตจะชะลอ กักเก็บน้ำไม่ให้ปริมาณน้ำไปท่วมในพื้นที่ชุมชนเมือง แต่ในขณะเดียวกันปริมาณน้ำของฝายมีชีวิตจะซึมไปช่วยให้ระบบนิเวศในพื้นที่มีความชุ่มชื้นตลอดเวลา
- ในช่วงหน้าแล้ง ฝายมีชีวิตจะช่วยระบายน้ำออกมาให้ชาวเมือง ชาวบ้านได้ใช้ตลอดช่วงหน้าแล้ง
- ปัจจุบันน้ำใต้ดินลดปริมาณลงอย่างมาก เพราะเรามักแก้ปัญหาน้ำมาก โดยการผันน้ำลงสู่ทะเลให้เร็ว จนน้ำไม่สามารถซึมผ่านลงใต้ดิน ปัญหานี้ฝายมีชีวิตสามารถช่วยได้ เพราะสามารถกักน้ำไว้ ทำให้น้ำมีเวลาซึมลงสู่ใต้ดิน
- ฝายมีชีวิตไม่ตัดวงจรทางระบบนิเวศทั้งสัตว์ พืช น้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตะกอนทรายสามารถไหลข้ามผ่านไปได้ทางบันไดหน้าหลัง รวมตลอดจนถึงสัตว์น้ำทุกชนิด โดยเฉพาะปลาสามารถขึ้นลงวางไข่ได้ตามธรรมชาติ
- ฝายมีชีวิตสามารถสร้างวังน้ำตามธรรมชาติที่หายไปจากการขุดลอก ทำให้วิถีชีวิตริมคลองกลับคืนมา เช่น ปลา นก ต้นไม้
- ฝายมีชีวิตสร้างความสมานฉันท์ให้เกิดขึ้นในชุมชนอย่างยั่งยืน
- เมื่อดิน น้ำ ป่าสมบูรณ์ ฝายมีชีวิตสร้างเศรษฐกิจชุมชนให้เข้มแข็ง
ฝายมีชีวิตเป็นโครงการของชุมชน โดยรัฐบาลสนับสนุนงบระมาณ ฝายละห้าหมื่นบาท ปัจจุบันทำไปแล้ว 815 ฝาย รัฐบาลมีเป้าหมายจะสนับสนุนให้สร้างฝายมีชีวิตจำนวน 6,000 ฝาย ในปี 2562
แผนที่น้ำและผังน้ำชุมชน
จากรายงานประจำปี 2561 ของสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) สสน. กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พบว่า ประเทศไทยมีพื้นที่การเกษตรที่อยู่นอกเขตชลประทาน จำนวน 128.05 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 80
ในจำนวนนี้เป็นพื้นที่ที่ สสน. ดำเนินการจัดทำแผนที่น้ำและผังน้ำร่วมกับชุมชนแล้ว 3.10 ล้านไร่ ส่วนที่ยังไม่ได้ดำเนินการ 124.95 ล้านไร่
มองในมิติของหมู่บ้านและชุมชน ประเทศไทยมีหมู่บ้านและชุมชน 70,129 แห่ง ดำเนินการแล้ว 33,500 แห่ง (แบ่งเป็น เขตเมือง อุตสาหกรรมและป่า 24,059 หมู่บ้าน, กรมทรัพยากรน้ำดำเนินการแล้ว 7,963 หมู่บ้าน, สสน. ดำเนินการแล้ว 1,478 หมู่บ้าน) สสน. มีแผนดำเนินการ ปี 2561 อีก 481 หมู่บ้าน ส่วนที่ยังไม่ได้ดำเนินการ 36,148 หมู่บ้าน (คิดเป็นร้อยละ 52)
สสน. มีเป้าหมายการจัดการทรัพยากรน้ำโดยชุมชนเชิงพื้นที่ แบบเบ็ดเสร็จ ปี 2562-2565 จำนวน 4,800 หมู่บ้าน
จากรายงานประจำปีของมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้ดำเนินการขยายผลการจัดการทรัพยากรน้ำโดยชุมชน สร้างเครือข่ายชุมชน 1,659 หมู่บ้าน และกลุ่มเยาวชน 318 กลุ่ม มีพื้นที่ตัวอย่างในระดับที่เป็นพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติการจัดการน้ำชุมชนตามแนวพระราชดำริ 22 แห่ง ตัวอย่างดำเนินการทฤษฎีใหม่ 1,022 ครัวเรือน พื้นที่ 3,210 ไร่.
นพ.พลเดช ปิ่นประทีป / 12 กรกฏาคม 2563