คนต่างวัย หัวใจเดียวกัน…การกลับมาของตลาดน้ำอัมพวา

ใครเลยจะคิดบ้างว่า ตลาดน้ำอัมพวา อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม ที่เคยมีตำนานความยิ่งใหญ่ เมื่อหลายสิบปีก่อน และเลิกราไปเมื่อประมาณปี ๒๕๐๑ หรือเมื่อ ๔๖ ปีที่แล้วมา จะหวนกลับมาอีกครั้งบนความท้าทายและแตกต่างจากเมื่อครั้งอดีต ในยุคที่ผู้คนหลากหลายมีวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปภายใต้กระแส “ยุคโลกาภิวัฒน์”

 

 

 

อาสาสมัครนักสื่อสาร จ.สระบุรี

ใครเลยจะคิดบ้างว่า  ตลาดน้ำอัมพวา อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม ที่เคยมีตำนานความยิ่งใหญ่ เมื่อหลายสิบปีก่อน และเลิกราไปเมื่อประมาณปี ๒๕๐๑ หรือเมื่อ ๔๖ ปีที่แล้วมา จะหวนกลับมาอีกครั้งบนความท้าทายและแตกต่างจากเมื่อครั้งอดีต ในยุคที่ผู้คนหลากหลายมีวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปภายใต้กระแส ยุคโลกาภิวัฒน์

             แล้วเมื่อวันที่ ๑๒ สิงหาคม  ๒๕๔๗ ที่ผ่านมา อันเป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษา ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิตต์ พระบรมราชินีนาถ ในวโรกาสทรงมีพระชนมายุครบ ๗๒ พรรษา หรือครบ ๖ รอบ  ซึ่งถือว่าเป็นปีมหามงคล ทางเทศบาลตำบลอัมพวา จึงได้ฤกษ์งามยามดี ริเริ่มฟื้นฟูตลาดน้ำขึ้นมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ทั้งนี้โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเทอดพระเกียรติพระองค์ท่าน ส่งเสริมการท่องเที่ยว การเพิ่มรายได้และการส่งเสริมอาชีพให้กับประชาชน โดยได้ร่วมกับชมรมร้านค้าแผงลอยในตลาด จัดให้มีการพัฒนาบริเวณถนนหน้าเทศบาล เป็นสถานที่จำหน่ายอาหาร เครื่องดื่ม หลากหลายชนิดไปพร้อมด้วยและได้กำหนดให้มีติดต่อกันมา สัปดาห์ละ ๓ วัน  ในทุกวันศุกร์ -เสาร์ และอาทิตย์ ช่วงเวลาบ่ายสี่โมงเย็นถึงเวลาประมาณสามทุ่มซึ่งเป็นช่วงเวลาที่น้ำในคลองอัมพวากำลังขึ้น เหมาะแก่การทำกิจกรรมของตลาดน้ำได้เป็นอย่างดี เพราะทำให้เรือสามารถวิ่งผ่านไปมาได้อย่างสะดวก  ซึ่งเวลาที่ตลาดวาย เร็วหรือช้านั้น ท้งนี้ขึ้นอยู่กับลูกค้าหรือผู้ที่เดินทางมาจับจ่ายใช้สอยเพื่อซื้ออาหารการกิน ในยามเย็นไม่ว่าจะเป็นผู้คนในท้องถิ่นหรือนักท่องเที่ยวที่มาเยือน จะมีปริมาณมากน้อยเพียงใด ของแต่ละวัน

 

ในขณะที่ผมกำลังเดินศึกษาถึงกิจกรรมตลาดน้ำอัมพวาอยู่นั้น ก็ได้พบกับนายจุ่น  เฮงแซ่หลี อายุ ๕๒ ปี ซึ่งเป็นพ่อค้าขายเนื้อหมูคนหนึ่ง ที่เคยขายของร่วมอยู่ในตลาดน้ำเมื่อครั้งก่อนเล่าให้ฟังว่า เดิมที่ตลาดน้ำแห่งนี้ ตั้งอยู่ที่บริเวณปากน้ำอัมพวาติดกับแม่น้ำแม่กลอง พ่อค้า แม่ขายที่นำสินค้ามาจำหน่ายในสมัยนั้น มีประมาณวันหนึ่งๆเป็นร้อยๆลำเรือ

 

แล้วความยิ่งใหญ่ที่ว่าก็ค่อยๆอันตรธานหายไปในเวลาไม่นานนัก  หลังจากที่ทางราชการได้มีการก่อสร้างถนนเชื่อมต่อระหว่างจังหวัดสมุทรสงครามไปยังจังหวัดราชบุรี เมื่อหนทางสะดวกขึ้นมีการใช้รถยนต์มากขึ้น การเดินทางโดยเรือต่างๆไม่ว่าจะเป็นเรือสินค้า เรือโดยสาร ก็มีความสำคัญลดน้อยลง จึงได้ส่งผลให้ตลาดน้ำอัมพวาที่เคยเป็นแหล่งซื้อ ขาย หรือแลกเปลี่ยนสินค้านานาชนิด มีความสำคัญลดลงตามลงไป   แล้วก็เลิกราในที่สุดเมื่อปี ๒๕๐๑

 

แม้ตลาดน้ำจะหายไป ก็ไม่ได้ทำให้ผมต้องหยุดขายหมูไปด้วย จึงได้เปลี่ยนพายเรือไปเร่ขายตามบ้านชาวสวนที่อยู่ริมคลองต่างๆ จนถึงบันไดบ้านเลยก็ว่าได้ลุงจุ่นกล่าว

 

ในขณะที่ลุงจุ่นกำลังสอดส่ายสายตา สนใจอยู่กับผู้คนที่เดินผ่านไปมาซื้อข้าว ซื้อของอยู่นั้น

 ผมจึงได้ถาม ต่อไปว่า ลุงมีความคิดเห็นอย่างไรกับการที่เทศบาลได้จัดให้มีตลาดน้ำขึ้นมาอีกครั้ง

ลุงจุ่นรีบพูดสวนออกมาทันที ดีใจที่เห็นพ่อค้า แม่ค้ากลับมาขายของเหมือนเดิมอีกครั้งหนึ่ง ถึงจะมีจำนวนไม่มากเหมือนเมื่อก่อน แต่ก็มีการรวมตัว ไม่ว่าจะขายบนถนน หรือในคลองก็ตาม ก็ทำให้ลูกค้าสนใจมาซื้อกินตามริมคลอง คนมาซื้อก็ตื่นเต้น ที่มีตลาดน้ำ อีกนักท่องเที่ยวก็มาดูธรรมชาติ เด็กๆก็ได้มาวิ่งเล่นกันอย่างสนุกสนาน บางคนก็โดดเล่นน้ำ บางคนก็ได้ช่วยพ่อ ช่วยแม่ขายของอีก ทำให้ชาวบ้านไม่ว่างงาน มีรายได้เสริมเพิ่มขึ้น เจอหน้ากันเยอะ เด็กๆก็ไม่ไปติดยาเสพติด เพราะต้องเอาเวลาว่างมาช่วยแม่ทำขนมขายทุกๆเย็น (ลุงจุ่นร่ายยาว

 

 

 

ในขณะที่ผมกำลังสนทนาอยู่กับลุงจุ่นอยู่นั้น ก็มีเด็กชายอนุสรณ์ ซึ่งเดินตัวเปียกจากการเล่นน้ำมาใหม่ๆ

ผมจึงได้มีโอกาสซักถามถึงความรู้สึกในใจ

ผมดีใจที่มีตลาดน้ำและได้มาช่วยแม่ขายของบนเรือ(ก๋วยจั๊บ)ทุกๆเย็น เหมือนกับได้มาเที่ยวเล่นกับเพื่อนๆและยังได้ช่วยแม่หาเงินเพิ่มขึ้นอีก

ผมถามต่อไปอีกว่า ถ้าตลาดน้ำหายไป น้องจะรู้สึกอย่างไร

อนุสรณ์บอกว่าผมคงเสียใจที่แม่ผมไม่ได้ขายของอีกครั้ง ผมก็จะไม่ได้เจอเพื่อนๆอีก และสุดท้ายผมอาจไม่ได้เรียนหนังสือ เพราะแม่คงไม่มีเงินส่ง …อยากให้ผู้ใหญ่ช่วยกันให้มีตลาดน้ำต่อไป อนุสรณ์กล่าวทิ้งท้ายก่อนที่จะวิ่งไปช่วยแม่เก็บจาน ชามล้าง

 ลุงคิดว่าอนาคตตลาดน้ำจะมีความเข้มแข็งและนำไปสู่ความยั่งยืนได้อย่างไรผมถามลุงจุ่นต่อทันที

ลุงจุ่นตอบ ถ้าอยากให้ดีต้องมีการประชาสัมพันธ์ ทางเทศบาลต้องสนับสนุนแม่ค้าหน่อย เช่นมีเรือมาให้เช่าขายของ หรือจัดหาแหล่งทุนให้ เมื่อคนมาเที่ยวมากขึ้น ตลาดน้ำไม่หยุดแน่

ผมแย็บคำถามสั้นๆต่อทันที หากตลาดน้ำหยุดอีกครั้งละ

ลุงจุ่นนิ่งเงียบไป… ก่อนที่จะตอบด้วยใบหน้าน้ำตาคลอเบ้า ที่บ่งบอกถึงความวิตกกังวล พร้อมกับกล่าวออกมาอย่างช้าๆว่า ผมต้องเสียใจมากเลยที่ไม่สามารถรักษา ประเพณี วัฒนธรรม ของชาวอำเภออัมพวาไว้ได้ถึงลูกหลาน

 

นี่คือ…เรื่องราวที่หัวใจดวงน้อย ๆ คน ๒ คน ที่มีวัยต่างกัน ร่ำร้องเรียกหาของ พร้อมกับประสบการณ์ที่ต่างกัน ระหว่างลุงจุ่นที่ผ่านประสบการณ์ที่ยาวนาน  กับเด็กชายนุสรณ์คนหนึ่งซึ่งเพิ่งเกิดมาได้เพียง ๑๒ ปี และได้พบกับตลาดน้ำเป็นครั้งแรกในชีวิต ล้วนมีความห่วงใยที่อยากให้ตลาดน้ำแห่งนี้ได้มีการดำเนินกิจกรรมอย่างต่อเนื่องและนำไปสู่ความยั่งยืน พร้อมๆกับการได้รักษาวัฒนธรรม ประเพณีอันดีงาม โดยชุมชนและเพื่อชุมชนอันเป็นที่รักอย่างแท้จริงตลอดไป……..

แล้วท่านล่ะ!…เห็นควรกับวิถีชีวิตวิถีชุมชน วัฒนธรรม ประเพณี ที่ดีดีเช่นนี้อย่างไร……….

 

 
หมายเหตุ : บทความนี้เกิดจากกิจกรรม “อาสาสมัครนักสื่อสาร” ภาคกลาง ที่ จ.สมุทรสงครม ซึ่งบทความนี้เพื่อนของเราจะปรับปรุงแก้ไขอีกรอบตามข้อเสนอแนะของวิทยากร แต่เราขออนุญาต “โชว์ผลงานของเพื่อน”

โครงการวิจัยและพัฒนาชีวิตสาธารณะ-ท้องถิ่นน่าอยู่

Be the first to comment on "คนต่างวัย หัวใจเดียวกัน…การกลับมาของตลาดน้ำอัมพวา"

Leave a comment

Your email address will not be published.