ป่วนใต้- เจ้าหน้าที่ชุดเก็บกู้ระเบิดใช้ปืนน้ำยิงใส่กล่องไปรษณีย์ต้องสงสัยว่าซุกซ่อนวัตถุระเบิดที่วางอยู่ใต้สะพานถนนสายนราธิวาส-ปัตตานี แยกศูนย์ราชการจังหวัด อ.เมือง จ.นราธิวาส แต่เมื่อตรวจสอบพบว่ามีแค่ก้อนหิน
|
||||||
ผู้สื่อข่าวถามว่าสิ่งที่กลุ่มนักวิชาการยังเข้าใจผิดอยู่จะดำเนินการอย่างไร นายกฯกล่าวว่า เป็นเรื่องที่จริงๆแล้วไม่ใช่เรื่องเข้าใจผิดหรือไม่เข้าใจผิด แต่มองภาพเหตุการณ์โดยที่ไม่มีข้อมูลเชิงลึก ก็มองถูกในหลักการที่ว่าต้องใช้ความอดทนก็เป็นเรื่องที่ถูกและดี
“ผมยังบอกว่าอาจารย์มหาวิทยาลัยคงไม่ใช่เรื่องนี้เรื่องเดียวในหลายเรื่อง จริงๆแล้วผมได้พูดกับที่ประชุมอธิการบดีมารอบ 1 แล้วว่าอยากให้อาจารย์มาช่วยกันคิดในเรื่องของปัญหาประเทศ ปัญหาที่เป็นปัญหาเรื้อรังของประเทศช่วยกันคิดให้ตกผลึก แล้วรวมกลุ่มกันมาคุยกับฝ่ายปฏิบัติเพื่อจะได้แนวทางมาช่วยกันทำงาน เพราะเวลานี้ต้องช่วยกันคิดเนื่องจากเรื่องมันเยอะ ถ้าเราจะต้องทำทุกเรื่องในเวลาเดียวกันมันต้องมีถังความคิดอยู่หลายๆถังแล้วเอามารวมกัน ทางสถาบันการศึกษาต่างๆระยะหลังก็ไม่คอยได้เจอกันเพราะเรื่องมันเยอะ พอดีเขาเสนอขึ้นมาผมก็เห็นว่าดีเหมือนกันจะได้ช่วยกันคิดเลยเชิญมา ซึ่งเมื่อวาน(14 พ.ย.)เขาก็ไม่แน่ใจว่าจะมาดีหรือไม่มาดี ก็มากันแค่ 22 คน ก็ได้ข้อคิดเห็นดีๆ ซึ่งมักจะมีการทำงานร่วมกันระหว่างรัฐกับอาจารย์ ในที่ประชุมนายสุวิชัย หวันแก้ว กับนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เลขาธิการครม.ก็จะประสานกันเรื่องตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์แห่งชาติ”พ.ต.ท.ทักษิณกล่าว ยันต้องแยกกฎหมายกับการจัดระเบียบ ผู้สื่อข่าวถามว่ารูปแบบคณะกรรมการจะเป็นอย่างไร พ.ต.ท.ทักษิณกล่าวว่า ตนให้ไปกำหนดแนวทางและรูปแบบโดยให้ไปคุยกันให้เข้าใจในรายละเอียด แต่หลักการเราเห็นด้วย ซึ่งกรอบระยะเวลาในการทำงานคงไม่ช้า เมื่อถามว่ากรณีความรุนแรงจะทำในรูปแบบไหนเพื่อทำให้เกิดความนุ่มนวล นายกฯกล่าวว่า เข้าใจกันว่าคนต้องแยก 2 ภาพอยู่แล้ว คือ ภาพเกี่ยวกับเรื่องกฎหมายและการจัดระเบียบ ซึ่งพวกนี้เป็นเทคนิคปฏิบัติ แต่เป็นเรื่องของการให้ความเป็นธรรม และภาพเกี่ยวกับการรักษาสิทธิประชาชนอะไรต่างๆนั้นต้องเป็นอีกส่วนหนึ่งที่ต้องทำไปพร้อมๆกัน และเรื่องของการพัฒนาการช่วยเหลือการสร้างสังคมที่เข้มแข็งเป็นอีกส่วนที่ต้องแยกกันทำ แต่ในส่วนของการรักษากฎหมายสำหรับผู้ที่กระทำความผิดไปฆ่าคน ไปคิดจะแยกดินแดน พวกนี้บรรดานักวิชาการไม่ได้ติดใจอยู่แล้ว แต่ติดใจวิธีการที่จะต้องดูแลให้เกิดความเรียบร้อยนุ่มนวล แต่นักวิชาการก็เข้าใจว่าเรื่องของการปราบปรามพวกนี้มันก็ยากเหมือนกันในการหาพยานหลักฐาน ซึ่งนักวิชาการก็เข้าใจเมื่อมีการพูดคุยกันก็เกิดความเข้าใจ ผู้สื่อข่าวถามว่ามีการก่อเหตุรุนแรงตลอดต่อเนื่องจะแก้ตรงนี้อย่างไร พ.ต.ท.ทักษิณกล่าวว่า เราต้องแยกให้ออก 2 ภาพ คือ ภาพที่ 1 คนส่วนใหญ่ต้องการโอกาสในการพัฒนา อาชีพ และการศึกษา ต้องการให้ชีวิตมีความปกติสุข และภาพที่ 2 เป็นคนที่ทำผิดกฎหมายอยู่ตลอด ด้วยความมีวัตถุประสงค์ส่วนตัวเท่านั้นเองซึ่งก็ต้องทำทางใดทางหนึ่ง เมื่อถามว่าจะพบกับนักวิชาการอื่นๆหรือไม่ พ.ต.ท.ทักษิณกล่าวว่า แล้วแต่กลุ่มไหนที่อยากเสนอเช่นเมื่อวันที่ 14 พ.ย. ตนบอกว่าเรื่องเด็กเยาวชนถ้าใครช่วยกันคิดเรื่องของครอบครัวคิดกันแล้วจะรวมกลุ่มมาพบตนหรือไปทำวิจัยเพิ่มเติมตนยินดีสนับสนุน เพราะอยากได้ข้อมูลที่ถูกต้องในการกำหนดนโยบาย “ตุ้ย”โวยไม่ให้ทหารสลายม็อบแล้วใครจะทำ ด้านพล.อ.ชัยสิทธิ์ ชินวัตร ผบ.สส.ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่นักวิชาการเสนอให้นายกฯห้ามใช้กำลังทหารเข้าสลายการชุมนุมในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า เป็นความคิดของนักวิชาการถือว่าถูกต้องที่จะได้ช่วยกันแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ แต่จะต้องฟังเหตุผลไม่ใช่ของคุณจะถูกอย่างเดียว แต่ในเมื่อเหตุการณ์ตอนนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจเอาไม่อยู่คุณคิดว่ายอมแพ้หรือไม่ “ผมไม่ได้ว่าใคร แต่สถานการณ์ในขณะนั้นตำรวจรับไม่อยู่แล้ว ไม่ใช่ว่าตำรวจไม่ทำหน้าที่ แต่ทำไปแล้วไม่ไหวเนื่องจากกำลังพลไม่พอ เพราะม็อบชุมนุมเป็นพันๆคน เมื่อตำรวจรับไม่อยู่ก็จะต้องเป็นทหารเป็นเรื่องปกติห้ามกันไม่ได้ หากทหารไม่ทำหน้าที่แล้วใครจะดูแลลองไปคิดดู อย่างไรก็ตามทุกคนมีสิทธิ์คิดได้ทุกอย่าง แต่ทำได้หรือเปล่า หากคิดได้ก็จะต้องทำให้ได้ ไม่ใช่ว่าคิดแล้วจะเป็นไปอย่างที่คิดหมด ทั้งนี้ขอให้เห็นใจทหาร เพราะได้ทำไปตามหน้าที่ ไม่ใช่ว่ามีทหารไว้สำหรับเข้ายามอย่างเดียว”ผบ.สส.กล่าว ผู้สื่อข่าวถามว่านักวิชาการควรจะลงไปหาข้อมูลในพื้นที่ก่อนเสนอห้ามใช้ทหารสลายม็อบในพื้นที่หรือไม่ พล.อ.ชัยสิทธิ์กล่าวว่า มีนักวิชาการคนไหนลงไป แต่ใครอยากจะได้ข้อเท็จจริงจะต้องลงไปดูในพื้นที่ แต่ไม่เป็นไรสามารถเสนอแนะได้ ซึ่งรัฐบาลคงจะไปปรับปรุงแก้ไข เมื่อถามว่าขบวนการยุวชนมุสลิมของพรรคองค์การสามัคคีมาเลเซีย(อาร์บิม) ระดมเงินช่วยเหลือครอบครัวผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ตากใบ พล.อ.ชัยสิทธิ์กล่าวว่า อยากเอามาให้คนไทยก็เอามา ส่วนกรณีที่นักวิชาการต้องการให้นายกฯขอโทษกับเหตุการณ์การสลายม็อบนั้น ถ้าขอโทษแล้วยุติได้หมดท่านขอโทษ 10 ครั้งท่านก็ขอโทษ แต่ขอโทษแล้วไม่หยุดก็ไม่มีประโยชน์ จะไปบังคับท่านหรือขอร้องท่าน เพราะท่านเป็นผู้นำยินดีเสียสละ หากขอโทษทุกสิ่งทุกอย่างยุติหมด แต่หากขอโทษไปยังเกิดเหตุการณ์อยู่ก็ไม่มีประโยชน์จะไปบังคับทำไม ลั่นพวกไม่เห็นแก่ชาติต้องหมดไป “ต้องกระชากหน้ากากผู้อยู่เบื้องหลังออกมาทั้งหมด เพื่อหยุดพวกนี้ให้ได้ ขณะนี้รู้ตัวหมดแล้ว เพราะมันโยนเงินไปก้อนหนึ่ง พวกที่ไม่มีอุดมการณ์ทั้งหลายก็ไปทำ เหมือนมือปืนที่รับเงินไปแล้วก็ต้องทำ ไม่มีความคิดว่าจะเป็นพี่น้อง หรือประเทศของเขาหรือเปล่า มันไม่สนใจเพราะอยากได้เงินอย่างเดียว พวกนี้จะต้องหมดไปจากแผ่นดิน พวกเราจะต้องประณามเพราะพวกนี้ไม่คิดถึงประเทศชาติ เจ้าหน้าที่ทำก็ด่าอย่างเดียวยุติธรรมมั้ย ส่วนพวกนี้ก็ลอยหน้าลอยตาอยู่”พล.อ.ชัยสิทธิ์กล่าว ผบ.สส.กล่าวด้วยว่า “ส่วนแนวความคิดตั้งรัฐปัตตานีเป็นความคิดที่ล้าสมัยที่สุด เป็นไปไม่ได้ เพราะมุสลิมที่อยู่ในเมืองไทยมีความสุขที่สุดในโลก มุสลิมส่วนใหญ่ดีมากๆ เหลือเพียงเศษๆไม่กี่คนที่หวังผลประโยชน์ของตัวเองไม่นึกถึงอุดมการณ์ อ้างเฉยๆ นอกลู่นอกทาง นอกแถว มีผลประโยชน์ส่วนตัว จะสร้างปัญหาให้กับประเทศชาติ อย่าไปสนับสนุนโจร จะต้องสนับสนุนคนดีหรือเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงาน” สั่งเช็คชื่อขจก.ฝังตัวที่หาดใหญ่ เวลา 10.50 น.ที่บน.6 นายโภคิน พลกุล รมว.มหาดไทย ให้สัมภาษณ์ถึงข่าวแกนนำขจก.ฝังตัวอยู่ที่หาดใหญ่ จ.สงขลา ประมาณ 7-10 คนว่า ได้ให้ส่วนหน้าซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบตรวจสอบก่อนและฝ่ายปกครองมีข่าวก็ให้ดูแลตรวจสอบและประสานกับส่วนหน้า ซึ่งที่ผ่านมาฝ่ายปกครองและส่วนหน้ามีอะไรก็ประสานด้วยข้อมูลด้วยการข่าวกันตลอด ซึ่งขจก.เหล่านี้คงไม่หวังที่จะทำลายด้านเศรษฐกิจ แต่ก็ได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปสำรวจแล้ว ผู้สื่อข่าวถามถึงผลการหารือกับ 22 นักวิชาการ นายโภคินกล่าวว่า ทัศนคติที่ออกมาน่าจะทำให้อะไรดีขึ้น ส่วนหน้าก็เผชิญปัญหาอย่างที่นายกฯเรียกว่าบารมีชน จะเป็นส.ส. ส.ว. ข้าราชการระดับจังหวัด อำเภอ ก็ช่วยกัน ซึ่งประชาชนต้องการอะไรมองอะไรก็ช่วยกันทุกฝ่าย ประชาชนหรือนักวิชาการ ครู อาจารย์ ส่วนหนึ่งอยู่ในพื้นที่ ส่วนหนึ่งอยู่ในกทม. หรืออยู่ที่อื่น ก็มองปัญหาจากองค์รวม พื้นที่มองอย่างไรเราช่วยเสริม ซึ่งเป็นสิ่งที่น่ายินดีเพราะไม่เช่นนั้นการแก้ไขปัญหาไม่สามารถแก้ไขได้ บางที่ไม่ได้คุยกันยิ่งมองคนละมุมอาจทำให้เกิดความไม่เข้าใจกลายเป็นความขัดแย้ง ยิ่งทำให้สถานการณ์สับสน แต่เมื่อทุกฝ่ายช่วยกันคิดหาทางออกรวมกันก็เป็นนิมิตที่ดีมากๆ ส.ว.จวก122อจ.ที่ไม่กล้าเสนอหน้า ที่รัฐสภา นายวิทยา มะเสนา ส.ว.มหาสารคาม ให้สัมภาษณ์ตำหนินักวิชาการ 144 คนที่ลงชื่อในจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรีว่า ในฐานะที่เป็นส.ว.มาจากอาจารย์มหาวิทยาลัยขอชื่นชมอาจารย์และนักวิชาการ 22 คน ที่ไปร่วมประชุมเพื่อเสนอแนะรัฐบาล ถือเป็นนักวิชาการที่เสียสละ กล้าคิด กล้าพูดและกล้าเผชิญกับความจริง ขณะเดียวกันขอตำหนินักวิชาการที่ลงชื่ออีก 122 คนที่ไม่กล้าเสนอหน้าไปแนะนำรัฐบาลเกี่ยวกับการแก้ปัญหาภาคใต้ตามที่เคยเรียกร้อง สะท้อนให้เห็นว่านักวิชาการทั้ง 122 คนเป็นพวกล่องหนไม่มีตัวตน ไม่กล้าเผชิญกับความจริง เป็นพวกที่ทำลายเครดิตของนักวิชาการดีๆให้เสียหาย “ในสังคมมหาวิทยาลัยจะมีนักวิชาการอยู่หลายประเภท เช่น พวกที่ชอบคิดชอบทำ พวกที่ชอบคิดและชอบพูดอย่างเดียว พูดที่ไม่ชอบพูดแต่ชอบทำ กับพวกที่ชอบพูดแต่ไม่ค่อยชอบทำอะไร ซึ่งนักวิชาการกลุ่มหลังจะตำหนิและด่าคนอื่นอย่างเดียว และเวลาเลือกตั้งไม่ว่าระดับไหนจะไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งด้วย อย่างไรก็ตามรัฐบาลไม่ควรไปใส่ใจกับนักวิชาการที่ลงชื่อในจดหมายเปิดผนึก ซึ่งมีนักวิชาการบางคนลงชื่อโดยไม่ได้อ่านว่ามีเนื้อหาอย่างไร เพราะนักวิชาการที่สนใจแก้ปัญหาบ้านเมืองจริงๆมีไม่มากนัก ส่วนใหญ่ชอบด่าคนอื่น ถือว่าตัวเองเก่งเลอเลิศเป็นพวกนักวิชาเกินไม่ใช่นักวิชาการ ดังนั้นไม่ควรไปเสียเวลากับคนพวกนี้ รัฐบาลควรเอาเวลาไปแก้ปัญหาให้เกษตรกรคนยากจนทั่วประเทศจะดีกว่า” ส.ว.มหาสารคามกล่าว พุทธ-คริสต์-อิสลามทำบุญอุทิศใต้ เมื่อเวลา 09.00 น. ที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิฯ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติไทยจัดทำบุญอุทิศส่วนกุศลแก่ประชาชนคนไทยที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์ความรุนแรงในภาคใต้ โดยได้มีการเชิญผู้นำศาสนาทั้งพุทธ คริสต์และอิสลาม เข้าร่วมกล่าวคำไว้อาลัย จากนั้นได้มีการเสวนาต่อในหัวข้อ ” เข้าถึง เข้าใจ พัฒนา : มุ่งเยียวยาสังคมไทย โดยมีผู้เข้าร่วมเสวนาประกอบด้วย นายโสภณ สุภาพงษ์ ส.ว.กทม. นายศรีสมพล จิตร์ภิรมย์ศรี ตัวแทนกลุ่มนักวิชาการเพื่อนศานติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ นางเสาวณีย์ จิตหมวด นักวิชาการด้านผู้หญิงกับสันติภาพ มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี นายโสภณ กล่าวว่า ส่วนตัวเห็นว่าทุกคนควรได้เข้าร่วมคิดว่าจะแก้ปัญหาอย่างไรโดยไม่ต้องรอให้รัฐบาลหรือใครเป็นผู้เริ่ม เพราะหากยังปล่อยให้เหตุการณ์ดำเนินต่อไปก็ยิ่งทำให้เกิดวิกฤตมากขึ้นทุกที ตนอยากจะเสนอรวม 3 ข้อ 1. ให้องค์กรพัฒนาเอกชน มูลนิธิทั้งหลายรวมตัวกันอย่างเป็นระบบลงพื้นที่เพื่อทำการเยียวยา สงเคราะห์แก่ผู้หญิง เด็กกำพร้าที่เวลานี้มีมากว่า 1 พันคนที่ไร้ที่พึ่งได้รับการดูแลโดยด่วน เพราะทุกคนอยู่ในภาวะของความหดหู่ คับแค้นใจ สิ่งนี้สะสมและเปรียบเหมือนระเบิดเวลาที่รอวันระเบิด “ขณะนี้รัฐบาลมีคาราวานแก้จนออกไปแก้ปัญหาความยากจนให้ประชาชน เราก็ควรมีคาราวานของความเมตตาลงไปฝังตัวอยู่ที่นั่น พบปะเยี่ยมเยือนประชาชน เพื่อทำให้ที่นั่นสว่างขึ้นทั้งทางจิตใจและกายภาพ ให้เขารู้ว่ามันยังมีอำนาจแห่งน้ำใจอยู่มากมาย ไม่ใช่มีแต่ความขมขื่นอยู่ที่นั่น เวลานี้คนที่เสียชีวิตจากเหตุความรุนแรงในภาคใต้มีมากกว่า 540 คน แต่รัฐบาลพูดเพียงว่ามีคนเสียชีวิตไปกว่า 200 คนเท่านั้น ถามว่าส่วนที่เหลือไม่ใช่คนไทยหรืออย่างไร การจะพูดอะไรควรระมัดระวัง ตอนที่ผมลงพื้นที่ได้เจอเด็กอายุ 16 เรียนไม่จบป. 6 เพราะพ่อเสียชีวิตในเหตุการณ์ที่กรือเซะ แม่ก็เสียสติ ต้องเลี้ยงน้อง 4 คน ผมถามว่าโกรธไหมที่พ่อต้องตาย เขาบอกว่าไม่โกรธ แต่เขาบอกกลับมาว่า พ่อผมไม่ได้ติดยา ดังนั้นเรื่องนี้มันขมขื่นที่ผู้นำประเทศบอกว่าคนพวกนี้ติดยา ดังนั้นผมอยากบอกว่า ไม่มีความสามัคคีใดตั้งอยู่บนความอยุติธรรม จึงอย่าเรียกร้องให้คนสามัคคีขณะที่อยุติธรรมยังอยู่เต็มไปหมด” ส.ว.กทม. กล่าว แนะรัฐบาลยกเลิกกฎอัยการศึก 2. ขอให้คณะกรรมการสิทธิฯตั้งคณะกรรมการพิเศษ 2 คณะคือ คณะกรรมการหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการเสียชีวิตของผู้บริสุทธิ์ 78 คนในเหตุการณ์ที่อ.ตากใบว่าเกิดขึ้นเพราะอะไร เพื่อให้ทุกอย่างคลี่คลายลง และตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบการสลายการชุมนุมว่าเป็นการล้อมจับหรือเป็นล้อมยิงกันแน่ โดยองค์ประกอบของคณะกรรมการให้เป็นในพื้นที่ เนื่องจากเห็นว่าผลการตรวจสอบของคณะกรรมการชุดนายพิเชต สุนทรพิพิธ ที่จะออกมา มีแนวโน้มว่าจะไม่ตรงกับความเป็นจริง เพราะอย่าลืมว่าคณะกรรมการชุดนี้แต่งตั้งมาโดยรัฐบาล และนายกฯก็อยู่ข้างเดียวกับปัญหา ดังนั้นข้อสรุปของคณะกรรมการชุดนี้ถ้าออกมาแล้วไม่ตรงกับข้อเท็จจริง ก็เหมือนกับระเบิดเวลา 3. ให้รัฐบาลยกเลิกกฎอัยการศึก ซึ่งจำเป็นต้องเร่งสร้างกระบวนการยุติธรรมที่ยุติธรรมอย่างแท้จริงให้เกิดขึ้น รวมทั้งประชาชนในพื้นที่ก็อยากมีชีวิตที่ปกติ ดังนั้นหากเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปอยู่ที่โดยไม่มีอาวุธก็น่าจะได้อะไรบางอย่างมากขึ้น และควรนำข้อเสนอของนายจาตุรนต์ ฉายแสง รองนายกฯที่เคยเสนอไว้มาปฏิบัติเชื่อว่า จะสามารถลดเหตุความรุนแรงที่เกิดขึ้นในเวลานี้ได้ไม่น้อยกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ เมื่อยกเลิกกฎอัยการศึกแล้ว ควรให้การศึกษารู้แจ้ง-รู้จริง ด้านนางเสาวณีย์ กล่าวว่า การจะแก้ไขปัญหาได้รัฐบาลต้องตั้งโจทย์ในการตอบคำถามให้ถูกต้อง ถ้าตั้งผิดแนวทางการแก้ไขปัญหาก็ไม่เกิด ซ้ำร้ายยิ่งเป็นการสร้างรอยร้าวให้เพิ่มขึ้นอีก ตัวอย่างถ้ารัฐเข้าใจว่า เขาเป็นแขก อาศัยแผ่นดินอยู่ ยากจน มีลูกมาก แล้วแก้ปัญหาแบบเอาเงินไปทุ่ม เป็นการแก้ไขปัญหาแบบผิดๆ แต่ขณะนี้ยอมรับว่ามีทหารบางส่วนที่พยายามจะแก้ไขปัญหาด้วยแนวทางสันติ โดยได้มีทำโครงการพัฒนาแล้วให้นักวิชาการด้านมุสลิมเข้าไปมีส่วนร่วมในการพิจารณาว่าโครงดังกล่าวมีความเหมาะสมหรือไม่ ซึ่งเราต้องการให้มีการดำเนินการในแนวทางนี้ให้มาก ” ปัญหาที่เกิดเวลานี้การเยียวยาถือเป็นสิ่งสำคัญแต่เราไม่ต้องการให้มีการมุ่งเน้นเยียวยาเฉพาะปัญหาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เท่านั้น แต่จำเป็นต้องเยียวยาคนทั้งชาติที่ถือเป็นคนส่วนใหญ่ให้มีความเข้าใจ และเข้าถึง ส่วนในเรื่องของอคติ จำเป็นต้องให้การศึกษาให้รู้แจ้ง รู้จริงและสามารถนำไปปฏิบัติได้ ขณะที่สื่อก็ถือเป็นกลไกหลักที่สำคัญแต่ปัญหาคือสื่อได้เข้าถึงและเข้าใจเพียงใด รวมทั้งมีอิสระในการที่เสนอความจริงที่ไม่ได้เป็นความเท็จแค่ไหน” ส.ส.-ส.ว.ยินดีที่อจ.เข้าพบรัฐบาล ที่รัฐสภา น.พ.เปรมศักดิ์ เพียยุระ ส.ส.ขอนแก่น พรรคไทยรักไทย กล่าวถึงกรณีที่นายกรัฐมนตรีเปิดโอกาสให้นักวิชาการ 22 คนเข้าหารือเรื่องปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้จนนำไปสู่การตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์แห่งชาติว่า ถือเป็นการแก้ปัญหาภาคใต้อย่างยั่งยืนร่วมกัน แสดงให้เห็นว่านายกรัฐมนตรีเห็นแก่ประโยชน์ของประเทศชาติ จึงน่าจะได้ความร่วมมือกับจากทุกฝ่ายดีขึ้น ทั้งนี้ตนขอเชิญชวน ส.ส.ฝ่ายค้าน และ ส.ว.ที่เคยมีความเห็นแตกต่างกับรัฐบาลในการแก้ปัญหาภาคใต้ มาร่วมมือกันในคณะกรรมการสมานฉันท์แห่งชาติ ตนเชื่อว่าฝ่ายค้านก็รักชาติ และไม่น่าจะนำความขัดแย้งทางการเมืองมาข้องเกี่ยว อย่างไรก็ตามปัญหาความไม่สงบในภาคใต้ กระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศเป็นอย่างมาก ดังนั้นปัจจัยทางการเมืองทุกส่วน จึงควรร่วมมือกันและละผลประโยชน์ส่วนตัวไว้ชั่วคราว ไม่มีเวลามาทะเลาะกันอีกแล้ว ถ้ามัวทะเลาะกันอยู่อาจจะไม่มีประเทศให้ทะเลาะกัน นายทองใบ ทองเปาด์ ส.ว.มหาสารคาม กล่าวว่า เป็นเรื่องดีที่นายกฯยอมให้นักวิชาการเข้าพบเพื่อรับฟังความเห็น เพราะนักวิชาการไม่สังกัดพรรคการเมือง และยังเห็นด้วยจะมีการตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์แห่งชาติขึ้นมา หากตั้งได้สำเร็จจะเป็นเรื่องที่ดีมาก ภาครัฐเองควรเร่งปฏิบัติให้เกิดเป็นรูปธรรมอย่าปล่อยให้ล่าช้า เพราะหน่วยงานนี้น่าไปช่วยลดเรื่องเหตุความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ ส่วนกรณีที่นายกฯยังไม่ขอโทษญาติผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ความไม่สงบ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ตามที่นักวิชาการเสนอโดยอ้างว่ามีภารกิจอย่างอื่นที่สำคัญกว่าต้องทำก่อนนั้น หากมีงานอย่างอื่นที่สำคัญก็ทำไปก่อน การขอโทษรอไว้ทีหลังก็ได้ นอกจากนั้นยังเห็นด้วยที่จะให้ตำรวจมาดูแลการชุมนุมแทนทหาร เพราะหากทหารเข้ามาดูแลจะทำให้เหตุการณ์บานปลายรุนแรงมากขึ้น เลขา.ปปง.ชี้แจงส่งนิติกร8ไปอยู่ใต้ พล.ต.ต.พีรพันธุ์ เปรมภูติ เลขาธิการสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ชี้แจงคำสั่งส่งตัวพ.ต.ท.บุญมี จิระเรืองวัฒนา นิติกร 8 สำนักตรวจสอบและคดี ไปประจำกองอำนวยการเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กอ.สสส.จชต.) ว่า คำสั่งมอบหมายให้พ.ต.ท.บุญมี ไปสนับสนุนการปฏิบัติงานของกอ.สสส.จชต. ไม่เกี่ยวข้องกับการยื่นเรื่องร้องเรียนขอให้กระทรวงยุติธรรมตั้งกรรมการวินิจฉัยการจ่ายเงินสินบนและเงินรางวัลของปปง. แต่ปปง.จำเป็นต้องส่งข้าราชการไปอยู่ประจำในกอ.สสส.จชต. เนื่องจากนโยบายรัฐบาลที่ต้องการให้มีเจ้าหน้าที่ปปง.ลงไปประจำในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อสามารถประสานความร่วมมือกับกอ.สสส.จชต.ได้อย่างใกล้ชิด พล.ต.ต.พีรพันธุ์ กล่าวอีกว่า ภายหลังได้รับมอบนโยบายจากรัฐบาล จึงเรียกประชุมผู้บริหารปปง.เพื่อขอความสมัครใจในการลงไปปฏิบัติภารกิจในภาคใต้ แต่ผู้ที่สมัครใจ กลับมีแต่เจ้าหน้าที่ระดับบริหาร เช่น ผอ.กองกลางมีหน้าที่ต้องเบิกจ่ายเงินเดือนและงบประมาณ ไม่สามารถไปอยู่ประจำได้ พนักงานสอบสวนอีก 4-5 คนก็มีสำนวนค้างการพิจารณา พ.ต.อ.ยุทธบูล ดิสสะมาน รองเลขาธิการ ปปง. จึงเสนอชื่อ พ.ต.ท.บุญมีเพราะเป็นคนเดียวที่ไม่มีสำนวนค้างการพิจารณา อีกทั้งพ.ต.ท.บุญมียังผ่านการฝึกยุทธวิธีการป้องกันตัวมาแล้วน่าจะใช้ประสบการณ์ช่วยแก้ไขปัญหาในจังหวัดชายแดนได้เป็นอย่างดี ที่กระทรวงยุติธรรม นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รมว.ยุติธรรม กล่าวว่า ตนได้สอบถามเหตุผลในการโยกย้ายครั้งนี้แล้ว ทราบว่า ปปง.มีความจำเป็นต้องส่งข้าราชการของปปง.ที่เคยเป็นตำรวจและมีระดับซีสูง เพื่อเพื่อไปประสานงานความร่วมมือกับกอ.สสส.จชต.ได้อย่างใกล้ชิด และทางปปง.ก็เปิดรับสมัครเจ้าหน้าที่ปปง.แต่ไม่มีใครอาสาสมัคร ปปง.จึงเห็นว่า พ.ต.ท.บุญมี น่าจะมีความเหมาะสม เพราะเคยเป็นตำรวจและมีประสบการณ์ในการพิจารณาสำนวน และข้าราชการระดับสูงหลายคนของปปง.ติดการพิจารณาสำนวนหลายคดี แต่พ.ต.ท.บุญมีไม่มีภารกิจในส่วนนี้จึงให้ปฏิบัติหน้าที่แทน อย่างไรก็ตามตนได้สั่งกำชับให้ปปง.พิจารณาคำสั่งลักษณะนี้ใหม่ ควรมีการหมุนเวียนสลับกันไปปฏิบัติหน้าที่ โดยหมุนเวียนเป็นรอบๆ รอบละ 1 เดือน จะไปบังคับตายตัวว่าคนนี้ต้องอยู่ตลอดไปคงไม่ได้ เพราะมันเป็นเรื่องของความสมัครใจ “อารีย์”แนะอยากเรียกพวกเขาว่า”ไอ้แขก” เมื่อเวลา 09.00 น.ที่สภาการศึกษา นายอารีย์ วงศ์อารยะ รมช.ศึกษาฯ เป็นประธานเปิดประชุมสัมมนาเรื่องนโยบายด้านการศึกษากับการสร้างสันติสุขในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยกล่าวว่า ปัญหาจังหวัดภาคใต้ไม่มีเทคนิคอะไรมาก และไม่น่าจะมีปัญหาถ้าใช้วิธีทำงานกับประชาชนใน 5 จังหวัดภาคใต้ที่นับถือศาสนาอิสลาม โดยเข้าใจลึกซึ้งวัฒนธรรมประเพณีของศาสนาอิสลาม แล้วนำแนววิถีชีวิตในหลักศาสนาที่กำหนดไว้ทุกเรื่อง ทั้งความเป็นอยู่ เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมและการเมืองเข้าไปกำกับ ถ้ายังไม่เข้าใจก็จะลำบากและประชาชนรับไม่ได้ สมัยที่ตนไปรับราชการในพื้นที่ภาคใต้ประมาณ 3 ปี ได้ใช้หลัก 3 คาถาคือ 1.เสมอภาค โดยปฏิบัติต่อประชาชนทุกคนตามกฎหมายเท่าเทียมกัน อย่าไปเรียกพวกเขาว่า “ไอ้แขก” 2.สุจริต ต้องไม่คอร์รัปชั่น ตนได้บอกเจ้าหน้าที่ว่าทำอะไรก็ได้แต่อย่าไปเรียกร้องอะไรจากประชาชน และ3.สามัคคี ข้าราชการที่ลงไปทำงานทั้งหมดจะแบ่งแยกไม่ได้ นายอารีย์ กล่าวด้วยว่า ตั้งแต่มารับตำแหน่งรมต. ได้เข้าไปพูดคุยกับโต๊ะครูในสถาบันศึกษาปอเนาะทั้งเป็นทางการและส่วนตัว จนขณะนี้มีความสมัครใจที่จะช่วยกันเขียนหลักสูตรการเรียนในสถาบันศึกษาปอเนาะแล้ว ซึ่งมีความหวังว่าหลักสูตรที่ออกมาจะเป็นปอเนาะตามที่ทุกคนอยากเห็น “ความเข้าใจหลายรัฐบาลเดิมๆ เชื่อว่าเราสามารถจะค่อยๆ ไปเปลี่ยนเขา ส่งคนไปแต่งงานกับเขา เหล่านี้เป็นความเข้าใจผิด ศาสนาอิสลามทำอย่างไรก็ไปเปลี่ยนเขาไม่ได้ เราไม่มีชาติหน้า เรามีชาติต่อไปข้างหน้าที่จะไปเจอ ดังนั้นคนนับถือศาสนาอิสลามมีชาติปัจจุบันที่ต้องทำดี กับอนาคตไปรับสิ่งที่ทำในปัจจุบัน ถ้าเราเข้าใจวิถีชีวิตของเขาแนวปฏิบัติกับเขาก็เป็นไปตามนี้ ถ้าไม่เข้าใจก็ลำบาก” รมช.ศึกษาฯ กล่าว ให้กศน.เข้าไปสอนภาษาไทย ต่อมานายอารีย์ให้สัมภาษณ์อีกครั้งที่กระทรวงศึกษาฯว่า ขณะนี้เสนอรมว.ศึกษาฯตั้งคณะกรรมการ 3 ชุดเพื่อพัฒนาสถาบันศึกษาปอเนาะคือ คณะกรรมการโครงสร้างทางกายภายภาพ หลักสูตร การปรับปรุงคุณภาพของบุคลากรและครู คาดว่าใน 1-2 วันนี้รมว.จะลงนาม แต่โต๊ะครูของสถาบันศึกษาปอเนาะได้ดำเนินการล่วงหน้าแล้ว นอกจากนี้ได้เสนอรมว.ศึกษาฯว่าควรแก้กฎหมายให้การศึกษานอกโรงเรียนเข้าไปสอนภาษาไทยให้กับประชาชนที่อยู่ในวัยการศึกษาภาคบังคับในสถาบันศึกษาปอเนาะได้ เพราะตอนนี้คนที่ต้องการจะเรียนภาษาไทยมีอยู่ แต่เจ้าหน้าที่กลัวว่าถ้าไปสอนจะขัดกฎหมายการศึกษาภาคบังคับ ที่ไม่ให้สำนักบริหารงานการศึกษานอกโรงเรียน(กศน.)เข้าไปสอนผู้ที่มีอายุ 5-15 ปี “ขณะนี้ทราบว่าปอเนาะเขาอยากจะให้การศึกษานอกโรงเรียนเข้าสอนเด็ก บางแห่งเขาขอมาแต่เราไม่มีให้ เพราะมีข้อกฎหมายปัญหาเด็กอายุตั้งแต่ 5-15 ปีเขาสอนไม่ได้ ผมบอกไปแล้วว่าแม้จะขัดหลักกฎหมายที่ให้เรียนภาษาไทย ก็ให้ทำเพราะเป็นของดี คนเขาต้องการจะเรียนภาษาไทยกลับไปบอกว่าขัดกับกฎหมายอย่างนี้ไม่ใช่วิธีปฏิบัติ จะเอากฎหมายมาเป็นหลักเกณฑ์ไม่ได้ ต้องเอาหลักปฏิบัติมาเป็นหลักเกณฑ์ว่าเมื่อคนเขาอยากจะเรียนรู้ภาษาไทยต้องให้เขาเรียน ผมได้พูดในการประชุม 3 จังหวัดไปแล้วว่าต้องให้เรียน เราอยากให้พี่น้องที่นั่นเขาได้เข้าใจภาษาไทยกลับไม่ให้เรียนไม่ถูกหรอก ผู้ที่ไปทำงานแสดงว่าไม่เข้าใจนโยบาย คนประเภทนี้น่ากลัว” รมช.ศึกษาฯกล่าว ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ หัวหน้าพรรคมหาชน ให้สัมภาษณ์ถึงการที่นายกฯ ยังไม่รับปากขอโทษในเหตุการณ์สลายการชุมนุมประชาชนที่ตากใบว่า หากนายกฯยอมขอโทษสถานการณ์จะดีขึ้นมาก แต่ความจริงมันช้าไปแล้ว เพราะควรจะขอโทษตั้งแต่ที่รู้ว่ากลุ่มผู้ชุมนุมไม่ได้ตายแค่ 6-7 ศพ การตายของผู้ชุมนุมเกิดขึ้นตอนเคลื่อนย้ายที่ทำโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ ดังนั้นในฐานะที่เป็นผู้นำต้องรับผิดชอบ และต้องออกมาขอโทษ ถ้าเป็นนายกฯในประเทศที่มีจิตสำนึกสูงต้องลาออกไปแล้ว ซึ่งคนไทยต้องกลับมาคิดว่า นายกฯเป็นตำแหน่งสูงสุดที่มีเกียรติยศ การจะสง่างามต้องคำนึงถึงคำว่าเกียรติยศและศักดิ์ศรี ไม่ใช่พูดเอาตัวรอดไปวันๆจะขอโทษเมื่อไหร่ก็ยังบอกไม่แน่ว่าจะเป็นวันไหน ทำอย่างนี้ไม่ใช่รัฐบุรุษ ยิงฐานอส.บาเจาะ-ดวลปืนสนั่น เวลา 09.00 น.วันเดียวกัน พล.ต.ต.ปัญญา เทียนศาสตร์ รองผบช.ภ.9 พร้อมด้วยพ.ต.ท.วนา อวภาค รองผกก.สภ.อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส จัดกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจสอบที่เกิดเหตุ หลังคนร้ายไม่ทราบกลุ่มจำนวน 2 คนแต่งกายชุดพราง ขับขี่รถจักรยานยนต์เป็นพาหนะ ฉวยโอกาสขณะไฟฟ้าดับทั่วพื้นที่อ.บาเจาะ กราดอาวุธปืนสงครามยิงฐานบก.ร้อย อส.บาเจาะ ซึ่งอยู่ด้านหลังที่ว่าการอำเภอบาเจาะ ในระหว่างการหลบหนีผ่านบริเวณจุดตรวจหน้าสภ.อ.บาเจาะ ขณะที่เจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจตั้งจุดตรวจ คนร้ายได้กราดอาวุธปืนยิงใส่เจ้าหน้าที่อีกจำนวน 1 ชุด เจ้าหน้าที่จึงตอบโต้ด้วยการยิงปืนขึ้นฟ้า เนื่องจากเป็นย่านชุมชน ทำให้คนร้ายอาศัยความมืดหนีไปทางเส้นทางบ้านทอนหายไปในที่สุด โดยเส้นทางที่คนร้ายใช้เป็นเส้นทางหลบหนีดังกล่าว มีสายเชื่อมโยงแยกหลายสายที่เข้าสู่จังหวัดนราธิวาส และจ.ปัตตานี เหตุเกิดเมื่อเวลา 18.30 น.วันที่ 14 พ.ย.ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามจากการตรวจสอบที่เกิดเหตุเจ้าหน้าที่ ในรอบบริเวณฐานบก.ร้อยอส. พบฝาไม้อัดบ้านพักอส.หลังที่ 1 ซึ่งถูกสร้างด้วยไม้สำหรับเรือนนอนคนเดียว มีร่องรอยคมกระสุนเอ็ม 16 เจาะทะลุฝาจำนวน 2 รู ส่วนหัวกระสุนทะลุฝังในโครงหลังคาบ้านพัก อส.หลังที่ 2 จำนวน 1 หัว ห่างจากจุดแรกประมาณ 20 เมตร จึงเก็บไว้เป็นหลักฐานเพื่อตรวจสอบ จากการสอบปากคำ อส.จักรรินทร์ โต๊ะแม อายุ 25 ปี ประจำบก.ร้อยอส.บาเจาะทราบว่า เรือนพักที่ 1 ที่ถูกคนร้ายกราดยิงเป็นที่พักผ่อนของตน โดยในช่วงเกิดเหตุขณะที่ตนกำลังปฏิบัติหน้าที่เวรยามประจำบังเกอร์ด้านหลังของฐานบก.ร้อย เห็นชายฉกรรจ์แต่งกายชุดพรางจำนวน 2 คนใช้รถจยย.เป็นพาหนะมาจอดที่บริเวณด้านหลังฐาน พร้อมใช้รังปลวกขนาดใหญ่เป็นที่กำบัง ห่างจากฐานประมาณ 100 เมตร คนร้ายเปิดฉากยิงรัวเข้าใส่ฐานจำนวน 2 ชุด ตนจึงยิงตอบโต้คนร้าย 1 นัด เนื่องจากกระสุนปืนติดขัดลำกล้อง ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้ไปตรวจสอบที่บริเวณรังปลวกแต่ไม่พบหลักฐานอะไรในที่เกิดเหตุ ส่วนสาเหตุยังอยู่ระหว่างสอบสวนของเจ้าหน้าที่ กู้ระทึกซุกระเบิดใต้สะพาน ต่อมาเวลา 10.00 น.วันเดียวกัน ที่จวนผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส นายประชา เตรัตน์ ผวจ.นราธิวาส เชิญนายอารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ ส.ส.นราธิวาส พรรคไทยรักไทย นายอับดุลเราะหมาน อดุลสมัด ประธานคณะกรรมการอิสลาม จ.นราธิวาส พระราชคุณาธาร เจ้าคณะจังหวัด รวมถึงหัวหน้าส่วนราชการ ตัวแทนเอกชนประมาณ 30 คน เข้าร่วมประชุมเพื่อถกปัญหาเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จ.นราธิวาส และนำเสนอแนวทางในการแก้ปัญหา ซึ่งหลายฝ่ายมีความเห็นตรงกันว่า กลุ่มคนร้ายก่อเหตุร้ายพยายามเชื่อมโยงให้เกิดความขัดแย้งขึ้นในทางศาสนาอิสลามและศาสนาพุทธ จึงเรียกร้องในการแก้ไขปัญหาเป็นไปในลักษณะละเอียดอ่อนเพื่อป้องกันคนร้ายและมือที่ 3 ก่อเหตุให้ประชาชนทั้ง 2 ศาสนิกต้องบาดหมางอย่างเด็ดขาด ขณะที่นายประชา เตรัฐ นักศาสนากำลังร่วมประชุมที่จวนผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส ในเวลา 10.30 น. ร.ต.ต.วินัย เภาประดิษย์ ร้อยเวร สภ.อ.เมืองนราธิวาส รับแจ้งจากพลเมืองดีว่า พบวัตถุต้องสงสัยเป็นระเบิด บนเส้นทางถนนเพชรเกษม สายนราธิวาส-ปัตตานี ตั้งอยู่ที่ตอม่อใต้สะพานรอยต่อบ้านปลักปลา-เขตเทศบาลเมืองนราธิวาส แยกศูนย์ราชการจังหวัด อ.เมือง จ.นราธิวาส จึงประสานไปยังหน่วยปฏิบัติการพิเศษ(นปพ.) ชุดเก็บกู้และทำลายวัตถุระเบิด แต่เจ้าหน้าที่ชุดดังกล่าวติดภารกิจ เจ้าหน้าที่ตำรวจจากสภ.อ.เมืองนราธิวาส และทหารฉก.นย.กว่า 40 นาย จึงต้องนำแผงเหล็กกั้นมาตั้งไว้โดยรอบห่างจุดที่พบวัตถุต้องสงสัยประมาณ 200 เมตร เพื่อป้องกันอันตรายบุคคลและยานพาหนะที่สัญจรไปในมา ต่อมาเวลา 13.00 น. ร.ต.อ.ไพทูรย์ บัตรสูงเนิน รองสารวัตรนปพ.ชุดเก็บกู้และทำลายวัตถุระเบิด พร้อมกำลังเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบบริเวณใต้สะพาน โดยก่อนตรวจสอบได้ประสานตัดสัญญาณโทรศัพท์มือถือ ขณะเดียวกันกำลังเจ้าหน้าที่ทหารได้เคลียร์พื้นที่รอบบริเวณเพื่อป้องกันคนร้ายแอบซุกซ่อนระเบิดลูกที่ 2 เพื่อลวงดักสังหารเจ้าหน้าที่ในรอบบริเวณ แต่ไม่พบวัตถุระเบิดบริเวณดังกล่าวแต่อย่างใด เจ้าหน้าที่จึงลงไปเก็บกู้ที่ใต้สะพานบริเวณตอม่อ โดยนำเครื่องตรวจสอบวัตถุระเบิดอิเล็กทรอนิกส์ตรวจค้นหาวัตถุระเบิดซึ่งอยู่ในกล่องพัสดุไปรษณีย์สีน้ำตาล ห่อด้วยพลาสติกสีขาวแต่ไม่พบสิ่งผิดปกติใช้เวลา 5 นาทีจึงเก็บกู้ได้ ตรวจสอบในกล่องดังกล่าวพบเป็นอิฐมอญจำนวน 1 ก้อน ซึ่งเจ้าหน้าที่เชื่อว่าคนร้ายตั้งใจมาตั้งไว้ใต้สะพาน เพื่อก่อกวนเจ้าหน้าที่และสร้างสถานการณ์ให้ปั่นป่วนในช่วงวันฮารีรายอของชาวมุสลิม สวนสัตว์นำสิ่งของมอบร.ร.ปอเนาะ รายงานข่าวจากจังหวัดสงขลา นายบัญญัติ อินทร์สุวรรณ์ ผู้อำนวยการสวนสัตว์สงขลาเปิดเผยว่า ทางสวนสัตว์สงขลาได้เป็นตัวแทนสวนสัตว์ของรัฐที่สังกัดองค์การสวนสัตว์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งมีสวนสัตว์ดุสิต สวนสัตว์เชียงใหม่ สวนสัตว์เปิดเขาเขียว และสวนสัตว์นครราชสีมา นำสิ่งของไปมอบให้กับนักเรียนปอเนาะในเขตจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือจังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส “กิจกรรมดังกล่าวเป็นหนึ่งในหลายๆโครงการที่นายโสภณ ดำนุ้ย ผู้อำนวยการองค์การสวนสัตว์ ได้สนับสนุนให้มีขึ้นมา เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างสวนสัตว์กับพี่น้องชาวไทยมุสลิม โดยเฉพาะนักเรียน นักศึกษา และเยาวชน เพื่อนำไปสู่การเสริมสร้างสันติสุขในชุมชน ตามนโยบายของรัฐต่อไป”นายบัญญัติกล่าว นายบัญญัติ อินทร์สุวรรณ์ กล่าวอีกว่าโครงการนี้เป็นการรวมน้ำใจ จากสวนสัตว์ในภูมิภาคต่างๆ ที่จัดสิ่งของ เครื่องใช้ อุปกรณ์ เครื่องเขียน แบบเรียน สมุด ดินสอ อาหารสำเร็จรูป และอีกหลายอย่าง ซึ่งเป็นของใหม่ทั้งหมด โดยสิ่งของเหล่านี้จะส่งมารวมกันที่สวนสัตว์สงขลา ซึ่งตนก็ได้มอบให้นายเฉลิมวุฒิ เกษตรสมบูรณ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสวนสัตว์สงขลา และคณะ นำไปมอบให้กับนายนิเดร์ วาบา นายกสมาคมโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม จังหวัดชายแดนใต้ เพื่อนำไปแจกจ่ายตามโรงเรียนปอเนาะต่างๆในช่วงเปิดภาคเรียนใหม่ |
||||||
วันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ.2547 ปีที่ 14 ฉบับที่ 5101 |
Be the first to comment on "ตุ้ยค้านชนฝาห้ามทหารยุ่งม็อบ"