กลุ่มดอกไม้และนกกระดาษเพื่อสันติภาพ

“เราคือผู้ที่อยากเห็นสันติภาพใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ “ กระดาษเก่าๆถูกนำมาปัดฝุ่นพร้อมใจพับเป็นดอกไม้ นก หัวใจ เรือกอและ อาจไร้ค่าทางทุนนิยม แต่…

 

กลุ่มดอกไม้และนกกระดาษเพื่อสันติภาพ
เราไม่ใช่ NGOsหรือ Greenpeace” คำกล่าวอันหนักแน่นจากกลุ่มดอกไม้และนกกระดาษเพื่อสันติภาพ เพื่อแสดงให้เห็นว่าพวกเขาไม่ใช่องค์กรที่จัดตั้งมา ไม่มีนักการเมืองหรือองค์กรใดหนุนหลัง หากแต่เกิดจากการรวมตัวกันของเพื่อนผู้รักสันติภาพ ใคร่สัมผัสชีวิตที่ดีงามของมวลมนุษย์ ภาพแห่งความหลังของสมาชิกบางคนอาจเป็นภาพแห่งความบอบช้ำจากเหตุการณ์เดือนตุลาฯ แต่สิ่งที่พวกเขาต้องทำงานหนักในเวลานี้คือเก็บฝันร้ายเหล่านั้นไว้ แล้วหันมาสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นทุกผองชน โดยเฉพาะเหตุการณ์ที่ตากใบที่มักเกิดคำถามขึ้นว่า “นั่งพับนกให้เสียเวลาทำไม สู้เอาเงินไปให้เขาไม่ดีกว่าหรือ?” ทีมงานไทยเอ็นจีโอได้ติดตามไปที่จังหวัดอุบลราชธานี เพื่อเจาะข้อมูลเรื่องนี้มาฝากกันครับ
บทพิสูจน์ครั้งสำคัญถือกำเนิดขึ้นพร้อมกับการแปรสภาพ “กลุ่มดอกไม้และนกกระดาษเพื่อสันติภาพ” เป็นมูลนิธิ หนึ่งเดือนครึ่งกับการทำงานแบบ”ควักเนื้อตัวเอง กินมาม่าแทนข้าว”ได้ประจักษ์ชัดแล้วว่า มีผู้ที่เห็นด้วยกับกิจกรรมดังกล่าวจนเกิดการชักจูงเพื่อนฝูง ลูกหลาน ออกมาแสดงจุดยืนภายใต้แนวคิดเดียวกันว่า “เราคือผู้ที่อยากเห็นสันติภาพใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ “ กระดาษเก่าๆถูกนำมาปัดฝุ่นพร้อมใจพับเป็นดอกไม้ นก หัวใจ เรือกอและ อาจไร้ค่าทางทุนนิยม แต่กลายเป็นคุณค่าทางจิตใจคอยปลอบประโลมให้พี่น้องทางใต้อุ่นใจ และรับรู้ว่าคนไทยทั่วทุกภาค เชื้อชาติ ศาสนาไม่เคยทอดทิ้งพวกเขา
คุณสุมิท แช่มประสิทธิ์ ประธานมูลนิธิ ให้ข้อมูลว่า ตัวมูลนิธิเกิดจากกลุ่มเล็กๆกลุ่มหนึ่งด้วยอารมณ์เป็นห่วงสถานการณ์ใต้ และคนไทยมักได้ข้อมูลมาไม่ครบ ไม่สามารถชี้ได้ว่าใครถูกใครผิด แต่สิ่งที่เรารู้คือจุดแข็งของประเทศไทยรักสันติและอยู่ด้วยสันติภาพมาโดยตลอดแม้ต่างชาติ ศาสนาก็อยู่ด้วยกันมาตลอด แรกเริ่มคิดว่า น่าจะมีวิธีการสื่อสารวิธีอื่นกับคนที่อยู่ในเหตุการณ์ เช่นดนตรี แล้วหาแนวร่วมจากสามเป็นสิบและหลายร้อยคน แนวทางของมูลนิธิชัดเจนว่า รณรงค์เอาจุดแข็งของประเทศกลับคืนมา สร้างองค์ความรู้ภูมิปัญญาของการอยู่อย่างสันติ เชื่อว่าความขัดแย้งไม่มีทางหมดแต่เราจะแก้ปัญหาแนวทางแบบคนไทย ในอนาคตอาจมีการรวบรวมเว็บไซต์ความรู้เกี่ยวกับเรื่องสันติภาพ ปลูกฝังการแก้ปัญหาอย่างสันติให้กับเด็กๆ

เมื่อเกิดความขัดแย้งทั้งในประเทศหรือที่อื่นๆ เราจะส่งนกกระดาษไปเพราะเป็นเรื่องง่ายๆ เป็นสัญลักษณ์ที่มีความหมาย จากการศึกษาทางภาคใต้ทำให้เราเรียนรู้ว่า คนที่เคร่งศาสนาจริงๆจะมองเรื่องสัตว์เป็นเรื่องละเอียดอ่อนมาก ชาวบ้านจึงขอเป็นเรือกอและ อย่างภาคเหนือกับอีสานไม่มีปัญหาเรื่องดังกล่าวก็จัดกิจกรรมกันไป เพราะเราอยากเห็นความรู้สึกที่ดีต่อกันตั้งแต่ก้าวแรก

หลังเกิดความขัดแย้งและช่วยไม่ได้ มีครอบครัวที่เดือดร้อน เราก็จะเยียวยา รวบรวมความช่วยเหลือจากทุกส่วนให้ครอบครัวที่เดือดร้อน ตรงนี้จะเป็นปณิธานของเราต่อไป เราจะค่อยๆเกิดอย่างเป็นธรรมชาติ การรณรงค์ด้วยวิธีนี้อาจถูกมองว่าไม่สามารถสื่อไปถึงคนที่ด้อยโอกาสในการทำความดี (ผู้ก่อความไม่สงบ) แต่เราอยากให้มองตัวเองก่อนว่า เราก็ด้อยโอกาสในการแสดงออกเหมือนกัน เพราะเราเป็นคนไทยเหมือนกัน แต่ไม่รู้ไปแสดงออกที่ไหนจึงต้องพับกระดาษด้วยวิธีการง่ายๆ ขณะที่พับคุณก็ได้ความรู้สึกถึงการเรียกร้องสันติภาพแล้ว เด็กที่มาวาดรูปขณะที่เขาวาดไป ใจเขาคิดอย่างไรเราก็จะรู้ เมื่อเราจากไปในโลกนี้ รุ่นใหม่เติบโตขึ้นมาด้วยความรู้สึกนี้ มันสวยงาม มีพลัง เขามาวาดรูป มาพับนกแสดงว่าเขามีจิตใจใฝ่สันติแล้ว

อรุณศักดิ์ อ่องลออ รองประธานมูลนิธิ ผู้เคยผ่านงานในแวดวงสื่อมวลชน ปัจจุบันเป็น Art Director อยู่ช่อง 11และผู้ร่วมสร้างภาพยนตร์เรื่อง “เสียงเพลงแห่งเสรีภาพ” เมื่อหลายสิบปีก่อน เป็นผู้คิดรูปแบบ Web site และ Logo ของกลุ่ม คุณอรุณศักดิ์กล่าวว่า คนไทยทุกคนควรมีความรู้สึกร่วมกันและไม่อยากเห็นความรุนแรง ถ้าเราไม่คิดริเริ่มโครงการนี้ขึ้นมาก็จะไม่เกิดสิ่งนี้ ถือเป็นการจุดประกายขึ้นมา อีกสิ่งที่คนไทยมีคือ หากเกิดอะไรขึ้นคนไทยทุกคนก็เจ็บปวดร่วมกันมาตลอด เช่นเกิดภัยพิบัติน้ำท่วม ไฟไหม้ เราจะเห็นภาพการช่วยเหลือด้วยน้ำใจคนไทย เช่นเดียวกับกรณีที่ภาคใต้ คนที่รับกรรมคือคนบริสุทธิ์ ที่ไม่รู้เรื่องราว เป็นชาวบ้านตาดำๆ เราไม่อยากเห็นความรุนแรง เราอยากอยู่ตรงกลาง ให้หันหน้าเข้าหากันและใช้แนวทางสันติวิธี

ตอนแรกทีมสมาชิกตั้งชื่อโครงการว่า “เด็ดดอกไม้เสียบปลายปืน” พอเริ่มถามความเห็นกับคนทางใต้ก็ดูรุนแรงเกินไป จึงเปลี่ยนใหม่และในช่วงนี้เองที่หงา สุรชัย จันธิมาธร เข้ามามีบทบาทเสนอให้มีการพับนก เปลี่ยนจากการจัดดนตรีเป็นการทำกิจกรรม แล้วเปลี่ยนเป็น “ดอกไม้และนกกระดาษเพื่อสันติภาพ” มีการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2547 เรารวมตัวกันต้นเดือนตุลาคม แค่เดือนเศษเท่านั้นที่เราสามารถขับเคลื่อนมวลชนได้มากขนาดนี้ บางคนบอกว่าการพับนกเป็นวัฒนธรรมญี่ปุ่น อยากบอกว่า การพับกระดาษมีกันมาตั้งแต่เด็กๆแล้ว เพียงแต่เพิ่งเป็นรูปแบบมากขึ้นที่ญี่ปุ่นคือวัฒนธรรมการพับนกกระเรียน เป็นความเชื่อ แต่ของเราไม่ใช่ความเชื่อแบบนั้น ในความหมายของเราคือนกสันติภาพ ทางมูลนิธิได้รณรงค์ 2 เรื่องคือ ดอกไม้คือความรัก นกคือ สันติภาพอย่างชัดเจน เพียงแต่เสริมขึ้นมาว่าให้เป็นรูปแบบการพับกระดาษอะไรก็ได้ เราไม่ผูกขาด พับอะไรก็ได้ที่เป็นกระดาษ เราต้องการสร้างกิจกรรมขึ้นมา จากนามธรรมเป็นรูปธรรม เช่นบอกว่า “ฉันรักเธอ แล้วมอบดอกไม้ให้ ดังนั้นดอกไม้ก็แทนความรัก” กิจกรรมที่ต้องทำในตอนนี้คือ รวมใจคนไทย 60 ล้านดวง สานสายใย เพื่อต้องการบอกกับพี่น้องทางใต้ที่อยู่ในสถานการณ์ว่า คนไทยทั้งประเทศห่วงใย

ความหลากหลายทางด้านเชื้อชาติ ศาสนาไม่ได้เกี่ยวอะไรเลยกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทั้งที่เราอยู่ด้วยกันได้ สิ่งที่เราขับเคลื่อนอยู่เป็นการแสดงออกของคนทั้งชาติ ใครที่คิดแบ่งแยกดินแดนคงต้องคิดมากหน่อย เราต้องยอมรับกับความเป็นปัจจุบันและอยู่อย่างไรให้มีความสุข เราไม่ได้บอกว่าต้องการแก้ปัญหาอย่างที่สื่อมวลชนนำไปลง ในความเป็นจริงเราต้องการแสดงพลังว่า คนไทยห่วงใยในเหตุการณ์นี้ เราเป็นภาคประชาชนทำเท่าที่ทำได้ จึงคิดกันว่าจะไม่ทำที่ประเทศไทยที่เดียว แต่ในอนาคตเราจะขับเคลื่อนไปทั่วโลก ณ.เบื้องต้นเราต้องการแสดงให้เห็นก่อนว่า สามารถทำได้ในเมืองไทยและเราคือองค์กรเมืองไทยที่จุนเจือถึงพี่น้องทั้งโลก

เดิมทีทางมูลนิธิตั้งใจว่า ปลายเดือนจะลงไปที่ปัตตานี แต่พอเริ่มมีคนมากมายอยากเข้ามาร่วม จังหวัดต่างๆเริ่มตื่นตัวขึ้น อาจมีการเลื่อนกำหนดการที่ใต้ไปก่อน เพื่อเปิดทางให้กับจังหวัดต่างๆได้เกิดกิจกรรมตัวนี้ขึ้นมา หลังจากนี้คงเกิดขึ้นที่ ราชบุรี ลพบุรี ชลบุรีและอีกหลายจังหวัด เป็นกลุ่มของภาคประชาชนและตามมหาวิทยาลัยต่างๆ “ทางเรายินดีที่จะทำงานร่วมกับองค์กรอื่นๆหากรูปแบบกิจกรรมไปด้วยกันได้ เพราะเราไม่ต้องการความขัดแย้ง เราสามารถร่วมกับองค์กรพัฒนาเอกชน ภาคธุรกิจหรือแม้แต่รัฐบาลด้วยกันทั้งหมด หากไม่ขัดกับเจตนาของเรา แต่ก็ต้องระวังเรื่องจุดยืนของตัวเองให้มาก เพราะเราไม่ใช่องค์กรที่มีใครมาหนุนหลัง”

ปรัชญา ศรีธัญรัตน์ กล่าวว่า ในนามของผมที่เป็นรองประธานและฝ่ายประสานองค์กร รับอุดมการณ์ 2 ประการ อย่างแรกคือ ทำให้เป็นธรรมชาติ โดยปราศจากการจัดตั้ง ปราศจากการบังคับหรือสัญญาที่จะให้จากองค์กร พูดง่ายๆคือ เป็นอาสาสมัครที่มาจากใจ ประการที่2 คือ ทำโดยประชาชนเพื่อประชาชน นั่นหมายความว่า ทำโดยภาคประชาชนองค์กรอิสระที่ไม่ขึ้นกับพรรคหรือฝ่ายการเมืองใดๆ ไม่รองรับการได้การเสียของการเมืองใดๆ หรือแม้แต่เศรษฐกิจของบุคคลของผู้ใด นี่คือจุดยืนที่เรายืนยันมั่นคง

ประการต่อไปคือเงื่อนไขของเวลา ตั้งแต่เดือนตุลาคมจนถึงวันนี้ ภารภิจของอุบลราชธานี เรามองถึงบุคลากรที่มีคุณสมบัติเพรียบพร้อมในการทำงานในเรื่องสันติภาพ ที่จะเผยแพร่ความรู้ในเรืองข้อมูลทั้งหมดอย่างกว้างขวางในจังหวัดอุบลราชธานีได้ เราก็มองไปถึงพันโทชาญชาติ เฟื่องงาม ซึ่งท่านมีอดีตความเป็นนักต่อสู้กรณีแสวงหาความยุติธรรมในวิชาชีพของท่าน และคนในสังคมด้วย ท่านจึงรับเป็นประธานคณะอนุกรรมการอุบลราชธานี โดยการดำเนินภารกิจตามลำดับขั้นตอน กระจายข่าวข้อมูลต่างๆทางวิทยุกระจายเสียง หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นอย่างเป็นขั้นตอนและรูปธรรม จึงให้วันที่ 12-14 พฤศจิกายน 2547 เป็นวันรณรงค์ให้เยาวชนตั้งแต่อนุบาลถึงอุดมศึกษา ได้มีโอกาสใช้เวทีของมูลนิธิและประสบความสำเร็จอย่างที่สุด เช่น ชมรมฮักแพง แปงอุบล รับทราบข้อมูลจากสื่อมวลชนและโทรศัพท์เข้ามาหา และนำคณะทำงานเยาวชน 20 กว่ากลุ่มมาร่วมพับนก ดอกไม้ เรือกระดาษ ขณะเดียวกันสถานพินิจ ได้รับทราบข้อมูลจากสื่อก็แสดงเจตจำนงมาว่า “นกของเด็กๆพับเสร็จเรียบร้อยแล้ว “ ท่านพันโทชาญชาติจึงเดินทางพร้อมกับสื่อมวลชนเพื่อไปเห็นกับตา สิ่งที่เกิดขึ้นคือภาพที่สวยงามของเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปีทั้งชายและหญิง พับนกอย่างประณีตงดงาม เขาได้ส่งกระแสจิตไปหาคนภาคใต้ด้วยใจศิวิไลซ์”

สิ่งที่น่าประทับใจของชาวอุบลฯเกือบ 2 ล้านชีวิตคือ พ่อบำเพ็ญ ณ.อุบล ปูชนียบุคคลของชาวอุบลฯ ท่านเป็นผู้รู้เรื่องจริงของคนอีสานได้ให้เกียรติมานั่งเขียนความรู้สึกของท่านลงบนกระดาษของมูลนิธิ ท่านให้ความเป็นห่วงอาทร และสิ่งเหล่านี้ได้เป็นประวัติศาสตร์อย่างแท้จริงของนักปราชญ์เมืองอุบลฯ “เมื่อวันที่ 13 ที่ผ่านมาทางสำนักข่าว CNN ได้ติดตามข่าวของเราจากหน้าต่างประเทศ และได้สั่งข่าวช่อง 11 ที่กระจายข่าวทั่วโลก 195 ประเทศ เขาได้สืบต่อว่าเราสามารถทำได้จริงมากแค่ไหน เขาได้ตามมาจากเชียงใหม่มาถึงอุบลฯอย่างเงียบ นี่คือสิ่งที่เราอยากบอกว่า คือรูปธรรมที่จับต้องได้ “

อาจารย์สุริยะ ดวงสุริยะชัย ฝ่ายกิจกรรมพิเศษของมูลนิธิ ให้ข้อมูลว่า “เราไม่อยากออกมาพูดว่าใครผิด ใครถูก” ขนาดกำแพงเบอร์ลินยังทลายด้วยเสียงดนตรี เราไม่ใช่ NGOsหรือ Greenpeace แต่เราเป็นคนที่อยากให้คนในชาติปรองดองกัน เราอยากเข้าไปช่วยเหลือครอบครัวที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ ผมเห็นเด็กที่เชียงใหม่ถือถุงใส่นกกระดาษเข้ามาถามว่า ตรงไหนค่ะที่ใส่นกสันติภาพ โอ้! ตรงนี้แหละครับที่กลายเป็นพลังให้คนทำงานเพื่อสังคม ผมพอใจที่ได้เห็นความน่ารักของพ่อ แม่ลูกจูงมือกันมาร่วมกิจกรรมนี้ เพราะเขามาด้วยจิตใจจริงๆ” กิจกรรมดังกล่าวได้เริ่มต้นที่วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี จังหวัดเชียงราย เป็นโรงเรียนคาทอลิก ผู้ที่มาเรียนหนังสือมีทั้งอาข่า แม้ว ม่ง ไทยใหญ่ ทุกคนพูดคนละภาษา มีทั้งไทยพุทธ มุสลิมหรือพวกถือลัทธิอื่นๆแต่สามารถรวมตัวอาศัยกันได้ นั่นคือภาพที่งดงาม งานในวันนั้นจึงกลายเป็นศูนย์รวมแห่งสันติภาพ มันสะท้อนให้เห็นว่า การอยู่ร่วมกันไม่จำเป็นต้องยึดติดกับความหลากหลาย ขอเพียงเข้าใจกันทุกคนก็เป็นเพื่อนกันได้ การพับนกเราเน้นกระดาษรีไซเคิ้ลเพราะต้องการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และในกระดาษรีไซเคิ้ลมันสามารถสื่อความหมายถึงชีวิตของคนเราที่ผ่านปัญหามามากมาย แล้วมาแชร์มารู้สึกร่วมกันใหม่

ท้ายที่สุดปัญหาภาคใต้ได้กลายเป็นปัญหาระดับชาติ มีแต่พี่น้องสามจังหวัดชายแดนใต้ที่ทราบเรื่องราว ซึมซับความรู้สึกที่หวาดกลัวจากเหตุการณ์อันเลวร้ายที่สุดในรอบหลายสิบปี พวกเขายังรอความช่วยเหลือจากทุกภาคส่วน พี่น้องในภาคอื่นๆสามารถช่วยเหลือพวกเขาเหล่านี้ได้ด้วยการ หันมาแสดงจุดยืนในเรื่องสันติภาพร่วมกันทุกชนชั้น ศาสนา ที่สามารถอยู่ด้วยกันได้อย่างสันติสุข กิจกรรมนกกระดาษจึงเป็นหนึ่งในสันติภาพรูปธรรมที่ทำได้ตั้งแต่สังคมขนาดเล็ก พ่อ แม่ ลูกจูงมือกันมาทำกิจกรรมในยามว่าง

โดย พลกฤษณ์ จริงจิตร เมื่อ : [ 18 พ.ย. 47, 14:45 น. ]

www.thaingo.org

Be the first to comment on "กลุ่มดอกไม้และนกกระดาษเพื่อสันติภาพ"

Leave a comment

Your email address will not be published.