ถักทอเครือข่ายจิตอาสา “คนที่ใช่”
เริ่มต้นจาก กระบวนการถักทอเครือข่ายจิตอาสาโดยใช้พื้นที่อำเภอเป็นฐานหรือเป็นตัวตั้ง ก่อตัวเป็นเครือข่ายจิตอาสาชุมชนของอำเภอที่เชื่อมโยงงานของทุกกระทรวง ไม่ใช่เครือข่ายอาสาสมัครของหน่วยงานใดเป็นการเฉพาะ
จัดทีมจิตอาสาสำหรับการปฏิบัติการในระดับตำบล-หมู่บ้านหรือชุมชนเมือง ทีมละ 3-5 คน โดยปฏิบัติการร่วมกัน “เป็นทีม” ไม่มีการทำงานแบบ “ฉายเดี่ยว”
องค์ประกอบของทีมล้วนเป็น “ผู้ที่แข็งแรง” พึ่งตนเองได้แล้ว ภารกิจคือการพุ่งเป้านำพาครัวเรือนยากจนในพื้นที่ของตนให้หลุดพ้นจากความยากลำบากให้ได้ภายในระยะเวลา 5 ปี
กระบวนการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ สร้างเครือข่ายการเรียนรู้และสนับสนุนกันและกัน
- ทำความเข้าใจต่อ “ภารกิจ เป้าหมายและหลักการร่วม” ที่ต้องยึดถือในการทำงานร่วมกัน
- ปรับจูนทัศนคติ มุมมองและแนวทางการวางตัวที่เหมาะสม
- สร้างทีมปฏิบัติการที่เป็นอิสระในระดับหน่วย กำหนดพื้นที่รับผิดชอบที่ชัดเจนในระดับตำบล ร่วมกันวางแผนปฏิบัติการในภาคสนาม
- ฝึกฝนทักษะในการใช้เครื่องมือและแบบฟอร์มในการเก็บบันทึกข้อมูล ทั้งในรูปแบบดิจิทัลและแบบแมนวล (Digital/Manual) เรียนรู้วิธีใช้แอพลิเคชั่นและโปรแกรม GPS พื้นฐานสำหรับการปฏิบัติงาน.
ค้นหากลุ่มเป้าหมาย “ที่ใช่”
“ทีมจิตอาสาชุมชน” ลงพื้นที่จริง เดินเท้าสำรวจครัวเรือนยากจนที่ถูกทอดทิ้งในพื้นที่รับผิดชอบแบบ“ทุกตารางเมตร” นำข้อมูลชุมชน ข้อมูลของท้องถิ่นและหน่วยงานรัฐในพื้นที่ประกอบการทำงาน
ช่วยกันเก็บข้อมูลจากการสอบถาม การสังเกตและการค้นหาอื่นๆ เพื่อนำมาใช้ในการวิเคราะห์ในภายหลัง พึงหลีกเลี่ยงการอภิปรายแลกเปลี่ยนหรือแสดงความคิดเห็นโต้แย้งกันต่อหน้ากลุ่มเป้าหมาย
เมื่อผ่านการสัมผัสสถานการณ์จริงและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันโดยใช้“ตัวชี้วัดขาเข้า”เป็นแนวทางแล้ว ลงความเห็นร่วมกันว่า มีรายไหนบ้างที่ “เข้าข่าย”เป็นกลุ่มครัวเรือนยากจน รายไหนไม่ใช่ และ”ปักหมุด”ไว้ใช้สำหรับการปฏิบัติงานต่อไป
วิเคราะห์กลุ่มเป้าหมาย
จากข้อมูลงานวิจัยของ TDRI ชี้ว่า ในกลุ่มประชากรยากจนนั้น พบว่า 1 ใน 3 ไม่ได้เป็นผู้ปฏิบัติการทางเศรษฐกิจ นั่นหมายความว่าประชากรกลุ่มนี้กำลังอยู่ในสถานภาพที่“พึ่งพิง” หรือไม่ก็ “ถูกทอดทิ้ง”
- จัดทำบัญชีครัวเรือนเป็นรายบุคคลเอาไว้เป็นข้อมูลพื้นฐานเบื้องต้น
- ประเมินศักยภาพของกลุ่มเป้าหมายเป็นรายบุคคล 1)ด้านสุขภาพกาย สังขาร และสุขภาพจิต 2) ด้านศักยภาพในการประกอบอาชีพ หารายได้ 3) ด้านทัศนคติต่อชีวิตและพฤติกรรม
- ในกลุ่มที่ “สุขภายกาย-สุขภาพจิตไม่อำนวย” กับ กลุ่มที่ “สุขภาพกาย-สุขภาพจิตอำนวย แต่ทัศนคติและพฤติกรรมไม่เอื้อ” แนวทางการช่วยเหลือ คือ สำรวจสิทธิ์และสถานการณ์เข้าถึงระบบสวัสดิการแห่งรัฐและสวัสดิการชุมชนท้องถิ่น ทุกประเภททุกอย่างเท่าที่มีอยู่
- ช่วยเป็นพี้เลี้ยง ประสานหน่วยงานและองค์กรวิสาหกิจชุมชนที่เกี่ยวข้อง นำพาพวกเขาให้เข้าถึงบริการสาธารณะและบริการสังคมเหล่านั้นให้ได้มากที่สุด และหมั่นติดตามดูแลมิให้หลุดออกจากระบบอีก
- ส่วนกลุ่มที่ “สุขภาพกาย-สุขภาพจิตอำนวย ทัศนคติและพฤติกรรมก็เอื้อ” ให้นำเข้าสู่แนวทางและโครงการพัฒนาศักยภาพและการประกอบอาชีพเพื่อการเอาชนะความยากจนแบบพุ่งเป้าต่อไป
พี่เลี้ยงจิตอาสา
เมื่อได้ข้อมูลกลุ่มเป้าหมายครัวเรือนที่จะนำเข้าสู่โครงการแล้ว กระบวนการต่อไปคือการค้นหาและเชิญชวน “พี่เลี้ยงที่ใช่” สำหรับทำหน้าที่เป็น “กัลยาณมิตร”ประกบคู่ กับครัวเรือนยากจนแบบ 1 ต่อ 1
พี่เลี้ยงที่จะจับคู่เป็นกัลยาณมิตร ควรเป็นผู้มีจิตอาสา สมัครใจ ขันอาสา มีเวลาให้ มีความมั่นคงแข็งแรงในทางเศรษฐกิจ มีประสบการณ์ความรู้ในการประกอบสัมมาชีพและความสำเร็จในหน้าที่การงาน หรือเป็นผู้มีเกียรติประวัติเป็นที่รู้จักและยอมรับ
- ให้พี่เลี้ยงเป็นฝ่ายเลือกคู่ประกบ โดยคำนึงถึงถิ่นที่อยู่อาศัยและความสะดวกในการเดินทางไปมาหาสู่
- จัดให้มีพิธีกรรม ให้เกิดคำมั่นสัญญาทางจิตใจ และประกาศจุดเริ่มสำหรับการออกเดินทาง ทีมจิตอาสาชุมชนและทีมพี่เลี้ยงกัลยาณมิตร ต้องทำงานร่วมกันไปจนตลอด จนกระทั่งไปถึงจุดหมายปลายทาง
- เริ่มจากการช่วยกันจัดทำบัญชีครัวเรือนที่มีรายละเอียด ทั้งในด้านรายได้ รายจ่าย หนี้สิน เงินออม ที่ดินทำกิน ที่พักอาศัย ปัจจัยสี่ สาธารณูปโภค ความรู้ ความชำนาญ ประสบการณ์ชีวิต สุขภาพ เครือญาติ เพื่อนบ้าน ฯลฯ
- จัดทำโครงการ “ขนาดจิ๋ว” เพื่อพัฒนาศักยภาพในการทำมาหากินและประกอบอาชีพเป็นรายครัวเรือน ที่มีความเป็นไปได้และใช้งบประมาณจำนวนน้อย
- ขอรับการสนับสนุนจากรัฐ ท้องถิ่น หรือระดมทุนรับบริจาคได้ทันที.
นพ.พลเดช ปิ่นประทีป / 5 พ.ค. 2564
