นายแพทย์พลเดช ปิ่นประทีป
(คำบรรยายของนายแพทย์พลเดช ปิ่นประทีป สมาชิกวุฒิสภา ในการประชุมออนไลน์สมาชิกเครือข่ายพลเมืองวิถีใหม่ ของภาคประชาสังคม วันที่ 26 สิงหาคม 2564)
การปฏิรูปการเมืองในประเทศไทย อาจเริ่มนับได้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540 หรือเมื่อประมาณ 24 ปีที่ผ่านมาแล้ว สามารถสรุปได้ว่าเป็นแนวทางของการปฏิรูปการเมือง “จากข้างบนลงข้างล่าง” เป็นการปฏิรูปโดยกลุ่มชนชั้นนำ หรือ Elite แต่สิ่งที่เรากำลังจะทำ เป็นเรื่องแนวคิดและแนวทางการปฏิรูปการเมืองโดยมีเป้าหมายเช่นเดียวกัน แต่เป็นการปฏิรูปโดยประชาชนและเราทำจากฐานล่างขึ้นไป เรียกว่า “จากล่างขึ้นบน” และขอวางเป้าหมายเบื้องต้นไว้ 12 ปีครับ
สิ่งที่จะทำตรงนี้ เป็นการบูรณาการงาน 3 อย่างเข้าด้วยกัน คือ งานพัฒนาชุมชน งานบริหารท้องถิ่น และงานการเมืองการระดับชาติ งานทั้ง 3 อย่างจากอดีตถึงปัจจุบันต่างคนต่างทำต่างคนต่างอยู่ จึงมีพลังการขับเคลื่อนที่จำกัด บัดนี้จึงต้องนำมาประกอบเครื่องเพื่อให้สามารถเสริมซึ่งกันและกัน แต่ทั้งหมดนี้ก็ต้องนำไปสู่การแก้ไขปัญหาของประชาชนและสังคมคนส่วนใหญ่ ทั้งในเรื่องของความยากจน และการพัฒนาชุมชนเข้มแข็ง
เราจะมาทำความเข้าใจกับสภาวะทางการเมืองในระดับชาติ เพื่อที่เราจะได้นำกลับไปใช้ในการทำงานการเมืองและการพัฒนาในระดับพื้นที่กันด้วย
Table of Contents
สถานการณ์การแก้ไขรัฐธรรมนูญ
การเมืองไทยในขณะนี้ มีเรื่องใหญ่ๆ เอาเป็นว่าเรื่องเฉพาะหน้าก็แล้วกัน เท่าที่เห็นอยู่คือ เรื่องของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งรัฐสภามีมติรับรองในวาระที่ 2 ไปเรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 2 สิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งมาตราสำคัญที่แก้ไขมีอยู่ 2 มาตรา คือ มาตรา 83 ให้เปลี่ยนจากเดิม สส.เขต 350 คนและ สส.บัญชีรายชื่อ 150 เปลี่ยนเป็น สส.เขต 400 คนกับสส.บัญชีรายชื่อ 100 คน ใครที่ติดตามอยู่ก็คงทราบดีอยู่แล้ว
ส่วนอีกมาตราหนึ่ง คือ มาตรา 91 พูดถึงระบบบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ กับบัตร 1 ใบ แต่เดิมมันเป็นบัตร 1 ใบ ยึดหลักการ “ไม่มีเสียงที่ตกน้ำ” คือนำคะแนนที่แพ้สส.แบบเขตมาคิดคำนวณด้วย ซึ่งเราเพิ่งนำมาใช้ในการเลือกตั้งปี พ.ศ. 2562 โดยรัฐธรรมนูญก่อนหน้านี้ คือ ปี 2540 และ 2550 ใช้ระบบการเลือกตั้งแบบบัตร 2 ใบ แต่พอมาเปลี่ยนเป็นบัตรเลือกตั้ง 1 ใบและเสียงไม่ทิ้งน้ำจึงทำให้พรรคเล็กๆเกิดขึ้นมาได้ แต่ทางพรรคใหญ่เกิดไม่พอใจที่ถูกลดทอนความได้เปรียบของตน เลยต้องการให้นำการเลือกตั้งแบบปี 2540 และ 2550 มาใช้ใหม่
การโหวตเสียงลงคะแนนเพื่อจะแก้ไขระบบการเลือกตั้งในคราวนี้ จึงไม่ใช่การต่อสู้กันระหว่างพรรคฝ่ายรัฐบาลกับพรรคฝ่ายค้าน แต่กลายเป็นการต่อสู้กันระหว่างพรรคใหญ่กับพรรคเล็ก
พรรคการเมืองใหญ่ ซึ่งมี 3 พรรค คือ ประชาธิปัตย์ พลังประชารัฐ และเพื่อไทย ทั้ง 3 พรรคนี้พยายามที่จะแก้กลับคืน ส่วนพรรคอื่นๆพยายามแค่ไหนก็สู้เสียงข้างมากไม่ได้ เพราะฉะนั้นเวลาโหวต ในวาระที่ 2 จะเป็นการโหวตทีละมาตรา โหวตเมื่อไรพรรคใหญ่ก็ชนะ แม้พรรคเล็กจะได้เสียง สว.บางส่วนไปสนับสนุนก็ไม่สามารถสู้ได้ ในที่สุดแล้วโดยภาพรวม ฝ่ายพรรคใหญ่ชนะทุกมาตรา
ฝ่ายพรรคเล็ก ซึ่งมีพรรคการเมือง อย่างพรรคอนาคตใหม่ พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนาพัฒนา เป็น 3 พรรคเป็นหลัก ส่วนพรรคเล็กหรือพรรคจิ๋วนั้นไม่ต้องพูดถึง พากันมารวมอยู่ฝั่งทางนี้หมด ในระบบนี้ จะทำให้พรรคใหญ่สามารถกินรวบหมด ทำให้พรรคใหญ่มี ส.ส. มากเกินกว่าคะแนนนิยมจริง ตรงนี้ทำให้ฝ่ายพรรคเล็กก็ต้องพยายามสู้สุดฤทธิ์ แต่สุดท้ายก็ต้องแพ้
โดยสรุปแล้วการโหวตในวาระ 2 จบไปแล้ว กติกาใหม่ก็จะเป็นสัดส่วนสส. 400 ต่อ 100 ส่วนระบบบัตรเลือกตั้งก็จะเป็นบัตร 2 ใบ แยกระบบกัน เป็นระบบ 2 ใบ 2 ระบบ คำถามคือว่า การเลือกตั้งครั้งต่อไป ถ้าใครจะคิดที่จะลงการเมืองในระดับชาติ คือ ส.ส. สมมุติว่าเดือนมีนาคม 2566 จะมีการเลือกตั้งครั้งใหม่ ถ้าเป็นตามระบบนี้ก็ต้องคิดใหม่แล้ว เขตเลือกตั้งเป็น 400 เขตแน่นอน
โอกาสที่จะมีการเปลี่ยนแปลงไปจากนี้มีเงื่อนไขเดียว เงื่อนไขที่จะไม่เป็นไปตามมติในวาระที่ 2 เมื่อวานนี้ ท่านทราบไหมว่าคืออะไร ท่านประธานรัฐสภาคือคุณชวน หลีกภัย นัดหมายไว้แล้วว่าจะมีการลงมติโหวตวาระที่ 3 ในวันที่ 10 กันยายน เพื่อรับรองการแก้ไขเพิ่มเติมทั้งฉบับ
ในการโหวตวาระที่ 3 นี้ จะต้องมีคะแนนเสียงของ ส.ว. สนับสนุนให้มากถึง 83 คนจึงจะถือว่าผ่าน ถ้าไม่ถึงก็ถือว่าเป็นคว่ำการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หมายความว่าถ้าเกิดในวันนั้น มี ส.ว.สนับสนุนไม่ถึง 83 คน อันนี้เป็นการจบเลย ต้องกลับไปใช้ระบบแบบแบบเลือกตั้งปี 2562
นี่คือสถานการณ์ที่เป็นจริง อย่างนี้ก็ต้องตามดูกัน แต่ว่าผมคิดว่ามีแนวโน้มที่ ส.ว.จะยกมือโหวตให้แน่นอน เพราะ ส.ว.เขาไม่ได้ไปลงเลือกตั้งส.ส.แข่งกับใคร เพราะฉะนั้น ถ้าพวกคุณคิดส่วนใหญ่คิดแบบนั้น ก็แล้วแต่ ขอเพียงแต่ ทำให้การเลือกตั้งมันบริสุทธิ์ยุติธรรมตามกติกาก็เท่านั้นเอง แล้วก็ใครจะมาเป็นรัฐบาลต่อไป มันก็เป็นเรื่องข้างหน้า นี่คือสถานการณ์ของการเมืองเรื่องเลือกตั้ง.
สถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง
ในสถานการณ์ที่มีความขัดแย้งทางการเมือง ในเวลานี้ยังคงเกิดการก่อความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นรายวันนี้ เช่นวันนี้ก็มีการนัดคาร์ม็อบอีกแล้ว
ตรงนี้จะมีผลอะไรต่อการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลอย่างที่พวกเขาเรียกร้องไหม ในสายตาของผมตามที่ติดตามดูมาตลอด ผมคิดว่าไม่น่ามีผลที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรได้ จุดมุ่งหมายที่จะให้นายกรัฐมนตรีถอดใจลาออก
ผมค่อนข้างมั่นใจว่าท่านจะไม่ลาออก เพราะท่านได้พูดในหลายโอกาส หลายสถานที่ รวมทั้งพูดในรัฐสภาด้วย เพราะฉะนั้น ดูแล้วจะยั่วยุอะไรต่างๆเพื่อให้ท่านลาออก ท่านคงไม่ลาออกหรอก นอกจากนั้นยังเชื่อว่าท่านยังสามารถจะอยู่ต่อไปได้จนถึงการเลือกตั้งครั้งหน้าแน่นอน ถึงแม้ว่าจะไม่ยุบสภาก่อน ในที่สุดก็ต้องยุบสภาเมื่อครบวาระ 4 ปีอยู่แล้ว
แต่ว่าโอกาสที่จะยุบสภาก่อนถึง 2566 มีไหม อันนี้ก็มีเหมือนกัน ตัวแปรอยู่ตรงสถานการณ์โควิด 19 ซึ่งปัจจุบันก็เริ่มมีสัญญาณที่ดีขึ้นบ้างแล้ว ที่เริ่มดีขึ้นก็ขึ้นอยู่กับความครอบคลุมของการรับวัคซีนของประชากร ขณะนี้ได้ฉีดไปประมาณเกือบ 30 ล้านโดสเข้าไปแล้ว และมาตรการกระจายคนออกไปอยู่ต่างจังหวัด เพื่อแก้ปัญหาเรื่องของเตียงโรงพยาบาลในกรุงเทพฯที่ล้นทะลัก ไม่มีพอรองรับผู้ป่วย ตรงนี้ก็ทำให้สถานการณ์กดดันค่อยๆคลี่คลายลง
เราเริ่มเห็นกร้าฟสถิติการป่วยรายวันมันเริ่มลดลงติดต่อกันมาประมาณเกือบ 2 สัปดาห์แล้ว ตรงนี้ก็ค่อยๆลงมาทีละน้อย ถ้าหากว่าเปอร์เซ็นต์ของการฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้นอย่างสม่ำเสมอแบบนี้ จนเมื่อถึงปลายปีนี้ สถานการณ์มันน่าจะดีขึ้นกว่านี้เยอะพอสมควร และก็วิถีชีวิตในทางเศรษฐกิจ เดินทาง ท่องเที่ยว และอะไรต่างๆก็น่าจะค่อยๆกลับฟื้นคืนมาสู่ระดับปกติใหม่.
โควิดกับผลกระทบทางสังคม และการช่วยเหลือประชาชนฐานล่าง
อย่างไรก็ตาม การระบาดใหญ่ทั่วโลกของโควิด 19 ในคราวนี้ มีผลกระทบที่ค่อนข้างกว้างขวาง อีกทั้งรุนแรงและซึมลึกมาก ประเมินกันว่าความรุนแรงของผลกระทบครั้งนี้ จะรุนแรงกว่าวิกฤตเศรษฐกิจ 2540 แล้วก็ทำให้คนจน คนที่ใกล้จน หรือว่าคนที่ฐานะปานกลาง บางทีก็ล้มลงไปเลย บางคนอาจล้มลงไปแล้วลุกไม่ขึ้นอีกเลย อันนี้ก็คือว่าจำนวนคนจนจะมีจำนวนมากขึ้น
ปัญหาเรื่องของคนจนและใครก็ตามที่ล้มแล้วก็ต้องพยายามลุกขึ้นให้ได้ โอกาสที่คนจน “ล้มแล้วลุกได้” จะมีน้อยกว่าคนที่มีเงินประมาณ 14 เท่า หมายถึงว่าโอกาสในการที่คนที่มีเงินแล้ว เมื่อล้มแล้วสามารถลุกขึ้นได้นั้นมีมากกว่าคนจนประมาณ 14 เท่า นี่เป็นงานวิจัยขององค์กรระหว่างประเทศที่ชื่อ Oxfam หมายความว่า คนจนที่ล้มลงในคราวนี้ คืออ่อนแออยู่แล้ว ล้มคราวนี้โอกาสลุกขึ้นอาจจะไม่มีเลย หรือว่ามีน้อยมาก นี่ก็เป็นสถานการณ์จริง
ดังนั้น พวกเรา ส.ว.ในกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำของวุฒิสภา จึงคิดถึงเรื่องของการทำงานของพวกเราที่ฐานล่างของสังคมทั่วประเทศ คือคิดถึงเรื่องของการฟื้นฟูสังคมและเศรษฐกิจฐานล่างอย่างจริงจัง แล้วก็หนึ่งในระบบที่ผมได้ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีโดยผ่าน รศ.ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์ ประธานกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ เพื่อให้เสนอไปถึงนายกรัฐมนตรีก็คือโครงการจัดตั้งกองทุน SIF (Social Investment Fund) หรือ กองทุนเพื่อการลงทุนทางสังคม ใดยในวันนี้เองที่เจ้าหน้าที่ประจำหน้าห้องของนายกรัฐมนตรีโทรศัพท์กลับมาที่วุฒิสภา เจ้าหน้าที่วุฒิสภาแจ้งประสานกับผม เขากำลังซักซ้อมความเข้าใจอยู่ว่า ความหมายที่ผมเสนอไปในหนังสือนี้คืออะไร เพื่อจะได้สรุปประเด็นนำเรียนนายกรัฐมนตรี
ผมเสนอให้นำโมเดลกองทุนเพื่อการลงทุนทางสังคม ที่ประเทศไทยเคยใช้และประสบความสำเร็จมาแล้วเมื่อปี 2540- 2544 ให้นำกลับมาปรับประยุกต์ใช้ใหม่ ขณะนี้เขากำลังศึกษาอยู่ จะชงให้กับทางนายกรัฐมนตรี เราก็คอยติดตามดูกัน ถ้าไม่ได้ผลก็ไม่เป็นไร ผมก็รอการเลือกตั้งคราวหน้าได้ เพราะคิดว่าคงจะมีหลายพรรคการเมืองที่จะนำนโยบายนี้ไปขายกับประชาชน
เราจะฟื้นฟูสังคมและเศรษฐกิจฐานรากโดยใช้กระบวนการ “การลงทุนทางสังคม” อันนี้ก็จะเป็นไปตามแนวคิดที่ท่านอาจารย์หมอประเวศ วะสี พูดว่าต้องใช้ระบบ Big Bang คือการระเบิดตูมใหญ่ แล้วใช้พลังทางสังคมทั้งหมดทั้งมวลเข้ามาช่วยเยียวยาและฟื้นฟูกัน วิธีที่จะทำให้พลังทางสังคมเข้ามามีบทบาทนี้ได้ ก็ต้องใช้รูปแบบของกองทุน SIF โครงการที่เราเคยใช้เมื่อปี 2540 นั่นแหละ เป็นรูปแบบที่ดีที่สุด ควรทำอย่างนั้น
ทางเจ้าหน้าที่ World Bank ทราบข่าวนี้จึงมาคุยกับผม เขาเองก็ประสานงานกับทางฝ่ายราชการและฝ่ายรัฐบาล เขาบอกว่าสถานการณ์วันนี้มันไม่เหมือนปี 2540 ซึ่งสมัยนั้นประเทศไทย “ขาดเงิน” จึงต้องใช้เงินกู้เงินจาก World Bank และ World Bank ก็แนะนำให้ประเทศไทยกู้จาก IMF ด้วยเงื่อนไขว่าคุณจะเอาเงินกู้ไปได้ คุณจะต้องมีโครงการ SIF ด้วย
แต่วันนี้ World Bank สารภาพกับผมว่า เขาคุยกับทางรัฐบาลตรงนี้ยากมาก เพราะว่าวันนี้เงินรัฐบาลก็ท่วม ไม่เหมือนตอนปี 2540 ตอนนั้นเงินขาดมือ แต่วันนี้งบประมาณโครงการของรัฐบาล เขาว่ากันแต่ละทีเป็นหมื่นล้านเป็นแสนล้านเลย World Bank จึงจ๋อยไปเลย เพราะว่าเงินธนาคารโลกที่จะมาช่วยเป็นเงินระดับร้อยล้าน พันล้าน อย่ามาคุยกับรัฐบาลเลยในตอนนี้
อันนี้ก็เป็นความแตกต่างจากยุคก่อน ก็ไม่เป็นไรครับ ก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ แต่ผมกำลังคิดถึงว่า ถ้าหากว่าการเลือกตั้งมันจะเร็วหรือช้าก็ตาม อาจจะเกิดขึ้นในปี 2565 หรือ 2566 ก็ตาม ผมเชื่อว่าจะมีนโยบายของพรรคการเมืองหลายพรรคที่จะประชันขันแข่ง สู้กันในเรื่องนี้ ก็คือเรื่องของกองทุน SIF นี่แหละ เพราะผมโยนความคิดอันนี้สู่สาธารณะ เชื่อว่ามีคนสนใจ สื่อก็สนใจไม่น้อย ผมเชื่อว่าพรรคการเมืองหลายพรรคก็สนใจ
อีกเรื่องที่สำคัญ ก็คือ เรื่องของการแก้ปัญหาความยากจน ที่พวกเราเคยใช้เวทีประชุมระดมความคิดของเครือข่ายสภาประชาสังคม นำเอากรณีศึกษาของจีน ของอินเดีย และ 9 กรณีศึกษาในประเทศไทยมาเป็นสารตั้งต้น ในที่สุดเราก็ได้จัดทำและนำเสนอโครงการแก้ปัญหาความยากจนแบบพุ่งเป้า
อันนี้ก็เหมือนกัน คนที่มาขานรับเรื่องนี้กลายเป็นพวกคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ผู้ที่เคยทำยุทธศาสตร์ชาติ และ แผนแม่บทยุทธศาสตร์ชาติ เขามาสนใจเรื่องนี้และก็นำไปพูดคุยกัยผู้บริหารประเทศ ในจำนวนนี้รวมทั้งประธานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติท่านปัจจุบัน คือ ศ.ดร.สนิท แสงแก้ว ท่านก็เอาไอเดียนี้ไปผลักดันกับทางสภาพัฒน์ฯ แต่ว่าถึงตอนนี้ผลการตัดสินใจทางนโยบายก็ยังไม่ออกมา
ผมเชื่อว่า 2 โครงการนี้ อาจจะเป็นโครงการที่เป็นนโยบายหาเสียงของพรรคการเมือง ในการต่อสู้ศึกเลือกตั้งในครั้งหน้า.
การกระจายอำนาจการปกครองส่วนท้องถิ่น
ส่วนเรื่องอื่นๆ มีเรื่องของท้องถิ่น เราอยากให้มีการกระจายอำนาจ แต่ว่าในความเป็นจริง ตั้งแต่การยึดอำนาจ 2557 เป็นต้นมาจนถึงวันนี้ ท่านนายกรัฐมนตรีเองเป็นคนเบรกผมในที่ประชุมกรรมการรัฐร่วมเอกชน (กรอ.) ที่ทำเนียบรัฐบาล ประมาณปี 2558 ผมร่วมประชุมในฐานะเป็นกรรมการยุทธศาสตร์ชาติที่ได้รับเชิญ มีท่านอื่นๆอีกหลายคนได้เข้าไปประชุมด้วย เมื่อผมได้แสดงความคิดเห็นในเรื่องบทบาทของภาคประชาสังคมในการทำงานร่วมกันแบบ “สานพลังประชารัฐ”
ท่านนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ท่านได้พูดในที่ประชุมเลยว่า คุณหมอช่วยกันพูดเรื่องอื่นอะไรก็ได้ แต่ว่าขอร้องอย่างหนึ่ง อย่าเพิ่งพูดเรื่องกระจายอำนาจนะครับ ในที่ประชุมวันนั้นมี อาจารย์ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ นั่งอยู่ตรงนั้นด้วย นี่ก็ชัดเจนครับว่าเรื่องกระจายอำนาจน่าจะไม่มีนโยบายเลยในยุคนี้ แต่ว่าผมก็ไม่ได้รู้สึกผิดหวังอะไร
เรื่องนโยบายการกระจายอำนาจในวันนี้ การหาเสียงของพรรคการเมืองทุกพรรคล้วนพูดกันหมด แต่ผลักดันยังไม่สำเร็จ เพราะว่านายกรัฐมนตรีท่านเดิมยังยืนอยู่ตรงนั้น เพราะเขาเติบโตมาในทางราชการสายทหารที่เน้นการรวมศูนย์อำนาจ ไม่เข้าใจเรื่องการกระจายอำนาจ ประกอบกับมีการดิสเครดิตองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในเรื่องของการทุจริตคอรัปชั่น ซึ่งมันก็จริงส่วนหนึ่ง แต่ว่าการพูดเหมารวมแบบนั้น ยิ่งทำให้ทำให้น้ำหนักความชอบธรรมของพลังท้องถิ่นลดน้อยลงไป
แต่อย่างไรก็ตาม สมาชิกทุกคนในรัฐสภาของเรา ก็พูดกันครึ่งค่อนข้างสภา เห็นด้วยว่าเรื่องของการกระจายอำนาจ มันเป็นทางเดียวที่จะแก้ปัญหาต่างๆทั้งหลายได้ทันท่วงที แต่ว่าก็รู้ว่ายังทำไม่สำเร็จในยุคนี้ ผมคิดว่านโยบายการกระจายอำนาจก็น่าจะเป็นอีกนโยบายหนึ่งที่จะเกิดการแข่งขันกันในการเลือกตั้งครั้งต่อไป แล้วก็มีโอกาสที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงได้ เมื่อเปลี่ยนรัฐบาลและเปลี่ยนผู้นำรัฐบาลไป มีโอกาสที่นโยบายกระจายอำนาจจะมาแรงกว่าเดิม จะมาอีกครั้ง แล้วจะมีโอกาสสำเร็จในรัฐบาลที่นำโดยพลเรือน
อันนี้จึงเป็นงาน เป็นสถานการณ์ และเป็นแนวทางการเมือง รวมถึงการทำงานพัฒนาของเรา ว่าต่อไปนี้เราจะทำงานโดยบูรณาการงาน 3 อย่างเข้ามาด้วยกัน ทั้งงานพัฒนาชุมชน งานบริหารท้องถิ่น และก็งานการเมืองระดับชาติ ประกอบเครื่องและเสริมพลังไปด้วยกัน.
เป้าหมายของการเมืองวิถีใหม่
การทำงานของเรา มีเป้าหมายว่าเป็นการปฏิรูปการเมืองโดยประชาชนจากฐานล่าง มีเป้าหมายที่เป็นรูปธรรมอย่างไร ผมคิดว่าเรามี 5 เป้าหมาย ผมจะลองเล่าให้ฟังอย่างโดยย่อ ขอให้มองภาพของระบบการเมือง จำลองเป็นภาพพระเจดีย์ หรือ สามเหลี่ยมพีระมิดก็ได้ เอาเป็นรูปพระเจดีย์ก็แล้วกัน เพราะเข้าใจได้ง่ายดี เป็นมหาเจดีย์ประชาธิปไตย
ระดับที่ 1 คือ ฐานของพระเจดีย์ ที่ฐานล่างสุดจะต้องดีและมีความแข็งแรง เช่นเดียวกัน สังคมของเราจะดีหรือแข็งแรง ต้องขึ้นอยู่กับฐานชุมชนท้องถิ่น ชุมชนทั่วประเทศจะต้องดีและแข็งแรงด้วย
ระดับที่ 2 คือ องค์พระเจดีย์ องค์พระเจดีย์เป็นโครงสร้างส่วนกลาง ที่เชื่อมฐานกับยอด เป็นเรื่องของการปกครองท้องถิ่น เป็นเรื่องของประชาธิปไตยท้องถิ่น
ระดับที่ 3 คือ ยอดพระเจดีย์ ก็คือระบบการเมืองตัวแทนในระดับชาติ
ระดับที่ 1 คือ ฐานของสามเหลี่ยมหรือฐานของพระเจดีย์ ที่เรียกว่าประชาธิปไตยชุมชน เป็นเรื่องเดียวกับการสร้างชุมชนเข้มแข็ง ตรงนี้มีเป้าหมายอยู่ 2 อย่าง เป้าหมายที่ 1 คือ “เปลี่ยนประชาชนให้เป็นพลเมือง” อันนี้เป็นไปตามแผนปฏิรูปประเทศด้านการเมืองเลย คือต้องการเปลี่ยนประชาชนให้มีคุณภาพใหม่ คุณภาพที่เรียกว่ามีความเป็นพลเมือง คุณภาพของความเป็นพลเมือง อยู่ตรงที่การมีจิตสำนึกส่วนรวม ไม่ใช่จิตสำนึกเพื่อเอาตัวเองเป็นใหญ่ แต่ต้องเป็นจิตสาธารณะ จิตสำนึกเพื่อส่วนรวมเป็นใหญ่ แล้วก็เรื่องของจิตอาสา เรื่องของการเอื้อเฟื้อเกื้อกูลกันต่างๆ เรื่องของความรักความสามัคคี
การเปลี่ยนคุณภาพของประชาชนตรงนี้ มันไม่ใช่เรื่องง่ายๆ แต่ว่าเราต้องพยายามทำให้ประชาชนค่อยๆเปลี่ยน ประชาชนสามารถเปลี่ยนจิตสำนึก วิธีคิดและพฤติกรรมได้ด้วยตัวเขาเอง ใครจะบังคับก็ไม่สำเร็จ จะทำแทนกันก็ไม่ได้
อย่างเช่นวันนี้เป็นการเมืองที่ใช้เงินเป็นใหญ่ ใช้เงินเป็นหลักในทุกระดับ ในทุกประเภทของการเลือกตั้ง และมีความรุนแรงที่สุด ในการเลือกตั้งครั้งล่าสุดที่เป็นการเลือกตั้งซ่อมที่นครศรีธรรมราช มีการใช้เงินรุนแรงที่สุด ตอนนี้มันแพร่ระบาดไปหมดทั้งประเทศแล้ว ไม่ใช่อีสานอย่างเดียว ทั้งภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคใต้ เป็นกันไปทั้งหมด รวมทั้งองค์กรปกครองท้องถิ่น ทุ่มใช้เงินระดับ 10 ล้าน สู้กันไปสู้กันมาโดยใช้เงินแข่งกัน คนแพ้ก็ใช้เงิน คนชนะก็ใช้เงิน แต่อาจใช้แล้วได้ผลมากกว่า จ่ายมากกว่า หรือมีวิธีจ่ายที่ฉลาดล้ำลึกกว่าก็สุดแล้วแต่
เมื่อเลือกวิธีใช้เงินสู้กันแบบนี้ ทำให้บาดเจ็บกันไปทั้งหมดทุกฝ่าย เคลื่อนกันจนมาถึงทางตัน เราจึงเสนอว่ามันถึงเวลาที่จะต้องมาสร้างการเมืองในแบบใหม่แล้ว ความศรัทธาต่อการเมืองในระบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้มันดิ่งลง ๆ จนกระทั่งเราประเมินว่าจวนกระแทกก้นเหวแล้ว ก็หมายความว่าต้องเร่งปรับตัวกันได้แล้ว ถ้าจับทางได้ถูก แล้วสามารถสร้างกระแสการเมืองในวิถีใหม่ขึ้นมาทดแทน อย่างเช่นในสมัยของมหาจำลอง ศรีเมือง มหาจำลองชนะการเลือกตั้งในกรุงเทพฯจาก 35 ที่นั่งเขากวาดไป 33 เหลือ 2 ที่นั่งให้กับประชาธิปัตย์ และประชากรไทยคนละ 1 ที่นั่ง ไม่เคยมีใครที่ชนะกันในแบบนั้นมาก่อนเลย หนังสือพิมพ์เดลินิวส์วันรุ่งขึ้นพาดหัวว่า “พลังผักชนะพลังเงิน” เป็นตัวอย่างมาแล้ว เมื่อกระแสของการเบื่อการเมืองแบบเก่า มหาจำลองจึงกลายเป็นตัวเลือกใหม่ในเวลานั้น ถ้าวันนี้ประชาชนเขาต้องการของใหม่ มีใครที่เขาพอใจ เขาจะคว้าสิ่งที่พอไขว่คว้าได้ กระแสมันจะช่วยได้ส่วนหนึ่งนะครับ
พรรคอนาคตใหม่ก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่ง เขาสามารถดึงคนรุ่นใหม่ที่เพิ่งจะมีสิทธิ์ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งเป็นครั้งแรก ตรงนี้สิ่งที่เขาทำสำเร็จนั้นก็คือการสร้างกระแสในหมู่ New Voter ว่า คนเก่านักการเมืองเก่าๆ ทั้งหลาย เป็นคนรุ่นลุง รุ่นปู่ รุ่นอะไรต่างๆที่กำลังปกครองประเทศหรือเป็นนักการเมืองปัจจุบันนี้ ล้วนแล้วแต่ไดโนเสาร์ เต่าล้านปี ฉะนั้นเราต้องเลือกคนรุ่นใหม่ ให้คนรุ่นใหม่ รุ่นเราเข้าไปบริหารบ้านเมือง เขาพูดปั่นกระแสจนในที่สุดสามารถคลิกได้เหมือนกัน นี่ก็เกิดจากกระแสที่คนเขาเบื่อนักการเมืองรุ่นเก่า เขาก็เลยมาลงให้รุ่นใหม่ รุ่นใหม่จึงชนะ บางคนเป็นคนขายล็อตเตอรีหน้าโรงพยาบาล บางคนเพิ่งจบการศึกษายังไม่ได้ทำงานอาชีพใดเลย ไม่คิดว่าตัวเองจะได้มาเป็น ส.ส. แต่ก็ได้เป็น ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ กระแสมันพาเข้ามาได้ อย่างนี้เป็นต้น
เพราะฉะนั้น ถ้าเราประเมินว่าการเมืองวิถีเก่า การเมืองน้ำเน่า และการเมืองที่ใช้เงินเป็นใหญ่ กำลังจมดิ่ง รัฐสภากำลังจมดิ่งลงสุดๆ ถ้าเราสามารถทำให้เกิดกระแสต้องการของใหม่ เกิดความหวัง มีความฝันใหม่เกิดขึ้นได้ ว่าอันนี้คือทางเลือกใหม่ของเขา ตรงนี้ผมคิดว่าบางทีอาจจะเอาชนะเงินได้ การเลือกตั้งปี 2565 อาจจะเกิดปรากฏการณ์ที่ประชาชนสอนนักการเมืองครั้งใหญ่ ไม่รู้จะเกิดขึ้นกี่จังหวัด อาจจะทั้งประเทศก็ได้ เพราะฉะนั้น ใครที่คิดจะไปลงการเมือง หรือสร้างพรรคการเมืองในวิถีใหม่ ก็ต้องคิดตรงนี้กันให้ดี
กติกาการเลือกตั้งใหม่คือ สส.เขต 400 กับ สส.บัญชีรายชื่อ 100 และ บัตรเลือกตั้งแบบ 2 ใบ 2 ระบบแยกกัน ตามที่โหวตไปแล้วในวาระ2 พรรคการเมืองขนาดเล็กที่มีสส.ไม่ถึง 10 คนอาจจะสูญพันธุ์ พรรคการเมืองขนาดจิ๋วยิ่งไม่ต้องถึงพูดเลย จะเหลือก็แต่พรรคการเมืองขนาดกลาง กับพรรคการเมืองขนาดใหญ่ ผมไม่เชื่อว่าพรรคการเมือง 3 พรรคที่เป็นพรรคขนาดใหญ่อยู่ในขณะนี้ การเลือกตั้งคราวหน้าจะยังคงเป็นพรรคใหญ่อยู่หรือเปล่า อาจจะหล่นลงมาเป็นพรรคขนาดกลาง ผมเชื่ออย่างนั้น เพราะว่าเมื่อดูแต่ละพรรคแต่ละพรรคแล้ว มีทั้งมีจุดแข็งและข้อข้อจำกัด มีจุดอ่อนในตัวเอง มีความไม่แน่นอนอยู่ในตัวด้วยกันทั้งนั้น ส่วนพรรคการเมืองที่กำลังจะตั้งขึ้นใหม่ก็มีอีกหลายพรรค แต่ว่าพรรคไหนจะประสบความสำเร็จผมไม่รู้ อันนี้ก็ต้องดูกันต่อไป
สร้างท้องถิ่น-ท้องที่ให้เข้มแข็ง
เป้าหมายที่ 2 เปลี่ยนชุมชนท้องถิ่นให้เป็นชุมชนเข้มแข็ง ชุมชนท้องถิ่นคืออะไร ก็คือตำบล ประมาณ 8,000 ตำบล หรือในระดับหมู่บ้านก็มีประมาณ 80,000 หมู่บ้าน ยังมีหน่วยนับในระดับที่เล็กกว่านั้น คือระดับองค์กรชุมชน มีประมาณ 260,000 องค์กรชุมชน
เราอยากเห็นความเข้มแข็งของชุมชน ท้องถิ่น ท้องที่ในทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นตำบล หรือชุมชนหมู่บ้าน หรือว่าจะเป็นองค์กรชุมชน ที่มีความเข้มแข็งในเชิงคุณภาพให้ได้อย่างน้อยสักประมาณ 50 – 60 % ของทั้งประเทศ อย่างที่พวกเราเคยมีมติไว้ในเรื่องของยุทธศาสตร์รวมแสงเลเซอร์เพื่อสนับสนุนให้เกิดชุมชนเข้มแข็ง เป็นมติของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติตั้งแต่ปี 2556 ทุกวันนี้เรายังคงเดินตามมตินั้นอยู่ และผมเองก็พยายามติดตามรวบรวมข้อมูลเหล่านี้มาใช้ประกอบการประเมินความก้าวหน้าอยู่ทุกปี
เป้าหมายที่ 3 อยู่ที่องค์พระเจดีย์ คือตรงกลาง หมายถึงประชาธิปไตยท้องถิ่น คือกระบวนการเลือกตัวแทนที่เป็นลูกหลานของเรา เข้าไปบริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น คือ อบต. อบจ. เทศบาล รวมทั้ง กทม.และพัทยา องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.)เหล่านี้ มีประมาณ 7,800 กว่าองค์กร ทำอย่างไรจะทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเหล่านี้ เป็นท้องถิ่นที่มีธรรมาภิบาลเป็นส่วนใหญ่ ต่อไปนี้ประชาชนอาจเข้าไปมีบทบาทในการค้นหาหรือว่าประเมินดูว่า ที่ไหนมีเขามีธรรมาภิบาลสมควรจะไปให้รางวัลยกย่องชมเชย
เราต้องใช้มาตรการในทางบวก ความจริงประชาชนไม่ได้ไปทำให้อปท.เป็นธรรมาภิบาล เขาเป็นธรรมาภิบาลด้วยการพัฒนาโดยสำนึกของผู้นำและบุคลากรของเขาเอง ภาคประชาชนจึงควรที่จะไปค้นหาเรื่องดี คนดี ของดี แทนที่จะไปค้นหาตัวอย่างในทางลบ ในทางที่จะจับผิดเอามาลงโทษหรือประนามกัน เรามุ่งไปหาค้นหาในทางบวก คือคนทำดี เรื่องดี เอามายกย่องเชิดชู ชื่นชมกันแบบนี้ ก็จะเป็นแรงจูงใจและเป็นแรงบันดาลใจให้คนอื่นๆได้ทำตาม
ตรงนี้ก็เราอยากเห็นอปท. 7,800 กว่าท้องถิ่น อย่างน้อยสัก 1,000 -2,000 แห่งจะได้ไหม ที่สามารถพูดได้เต็มปากเต็มคำว่าเป็นท้องถิ่นธรรมาภิบาล โดยเครือข่ายภาคประชาชนเป็นผู้รับรองและก็ให้รางวัลกัน อาจเรียกชื่อรางวัลว่าเป็น Citizen Awards หรือ “รางวัลประชาธรรมภิบาล” เป็นการกลับกัน จากเดิมมีแต่หน่วยงานระดับสูงหรือว่าทางราชการ หน่วยงานรัฐไปให้รางวัลกับประชาชน องค์หรือหน่วยงานระดับล่าง แต่วันนี้ประชาชนเราจะเป็นฝ่ายไปให้รางวัลหน่วยงานราชการ ตรงนี้กะว่าจะลองทำดู
ให้รางวัลกับใครบ้าง (1)รางวัลท้องถิ่นธรรมาภิบาล อย่างที่กล่าวมาแล้ว (2)รางวัลโรงพักของประชาชน ค้นหาสถานีตำรวจที่ดี โรงพักที่ดีมีไหม ประชาชนจะเป็นผู้รับรองแล้ว นำมาให้รางวัลยกย่องชื่นชมกัน (3) รางวัลอำเภอสู้โควิด เราอยากค้นหาตัวอย่างของพื้นที่ในระดับอำเภอ ที่สามารถเป็นต้นแบบหรือตัวอย่างในการสู้ภัยโควิดในคราวนี้ได้ดี เช่น เมื่อวันก่อนอ่านข่าวที่จังหวัดเพชรบูรณ์ อำเภอบึงสามพัน มีโรงงานสหฟาร์ม มีโควิดระบาดหนัก คนงานติดเชื้อไปค่อนโรงงาน รวมกว่าสามพันคน ที่นั่นเขาประสานงานกันอย่างเข้มแข็ง ทำระบบ Community Isolation ตั้งขึ้นในบริเวณโรงงานเลย แล้วก็ประสานกับทางสาธารณสุขจังหวัด และโรงพยาบาลอำเภอ แล้วเขาใช้ใช้ฟ้าทะลายโจรในการดูแลรักษาเป็นหลัก ภายใต้การดูแลของแพทย์พยาบาลโรงพยาบาลชุมชนประจำอำเภอ จนกระทั่งสามารถเอาชนะได้ แก้ปัญหาได้เป็นที่เรียบร้อย แต่ความจริงแล้ว อาจมีปัจจัยส่วนหนึ่งมาจากแรงงานส่วนใหญ่เป็นคนหนุ่มสาว มีความแข็งแรง ไม่มีโรคประจำตัว อาการโควิดจึงไม่รุนแรงมาก ไม่ถึงกับลงปอด เมื่อใช้ฟ้าทะลายโจรเข้าไปช่วยเสริม มีระบบดูแลกันเองที่ดี ภายใต้คำแนะนำของแพทย์จากโรงพยาบาลชุมชน เป็นการผนึกกำลังกันของผู้ปฏิบัติงานระดับล่างร่วมกับประชาคมในท้องถิ่น
เราอยากให้เห็นทุกจังหวัด มีหน่วยงานหรือพื้นที่ระดับอำเภอที่มีการบูรณาการ รวมพลังกัน และสามารถจัดการปัญหาของตัวเองได้ แบบนี้จังหวัดพิษณุโลกมีไหม จังหวัดจันทบุรีมีที่ไหนบ้าง ผมเชื่อมั่นว่าจะมีนะครับ แต่ว่าเราอาจจะต้องลงทุนลงแรงไปค้นหากัน เมื่อมั่นใจว่าดีจริงจึงไปให้รางวัลเพื่อชื่นชมกัน อันนี้ก็เป็นเป้าหมายงานในระดับที่องค์พระเจดีย์
เปลี่ยนคุณภาพการเมืองในองค์ประกอบ
ในระดับยอดพระเจดีย์ มี 2 เป้าหมาย คือ
เป้าหมายที่ 4 เสริมสร้างพรรคการเมืองในวิถีใหม่ ผมเชื่อว่าแนวคิดของการเมืองในวิถีใหม่ หรือการเมืองในเชิงศีลธรรม จะมีกระแสตอบรับค่อนข้างสูง กระแสปฏิเสธน้อยมาก นั่นก็เพราะว่ามันเป็นเรื่องดี ปฏิเสธได้ยาก แต่ว่าแน่นอน จะมีคนที่ไม่เชื่อมั่นและคิดว่าเป็นเรื่องเพ้อฝัน ตรงนี้จะมีเยอะมาก แล้วแอบดูถูกดูแคลนเสียด้วย ไม่กล้าที่จะพูดแบบเปิดเผยเพราะว่ามันเป็นเรื่องดี
ในขณะเดียวกัน สำหรับแนวคิดแบบนี้ ผมเชื่อว่าจะมีพรรคการเมืองบางพรรค ก็อยากจะสร้างพรรคการเมืองแบบวิถีใหม่ เป็นการเมืองในเชิงศีลธรรม อยากทำแบบนี้เลยทั้งระบบ ในขณะเดียวกันก็มีนักการเมืองบางคนที่อยู่ในพรรคการเมืองเก่าหรือพรรคขนาดใหญ่บางพรรคที่มีระบบระเบียบของเขาอยู่แล้วและมีความสุขสบายและลงตัวดีอยู่แล้ว เช่นบางคนอยู่ในพรรคประชาธิปัตย์ บางคนอยู่พรรคเพื่อไทย พรรคพลังประชารัฐ พรรคอนาคตใหม่ พรรคภูมิใจไทย หรือพรรคอื่น ๆ เขาก็อาจทำงานการเมืองในฐานเดิมต่อไป โดยนำเอาแนวคิดแนวทางของการเมืองวิถีใหม่หรือการเมืองเชิงศีลธรรมไปใช้ เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงในพรรคการเมืองและสถาบันการเมืองของเขา คงจะมีได้หลากหลายรูปแบบ
ทั้งหมดนี้ ไม่ว่าจะเป็นพรรคการเมืองที่เกิดใหม่ด้วยแนวคิดแบบนี้ หรืออาจจะเป็นพรรคการเมืองเก่า แต่ว่ามีนักการเมืองแบบใหม่ในเข้าไปอยู่ในนั้น ในที่สุดจะก่อตัวเป็นสิ่งที่เรียกว่า “เครือข่าย” หรือ “พันธมิตร” ของการเมืองวิถีใหม่ โดยเฉพาะเมื่อหลายพรรคการเมืองมาร่วมทำงานกันแบบพันธมิตร ทั้งก่อนเลือกตั้ง ระหว่างเลือกตั้ง และหลังเลือกตั้ง เป็นไปได้ที่จะเกิดแบบนี้ สำหรับการเลือกตั้งครั้งต่อไปในปี 2565 หรือ 2566 ผมคาดหวังที่จะเห็นพรรคการเมืองในวิถีใหม่แบบนี้อย่างน้อยสัก 2 – 3 พรรค เกิดขึ้น
เป้าหมายที่ 5 คือการเปลี่ยนรัฐสภาไทยให้เป็นรัฐสภาวิถีใหม่ ตรงนี้ต้องดูว่ารัฐสภาประกอบไปด้วยอะไร เรามีระบบ 2 สภา คือ ส.ส. กับ ส.ว.
ส.ส. มี 500 คน เมื่อสภาเก่าหมดวาระ หรือ อาจจะมีการยุบสภา ส.ส. ก็หมดสภาพลงทันที แล้วทุกคนก็ต้องกลับไปสู้กันเพื่อให้เข้ามาใหม่ การสู้กันในครั้งใหม่นี้ ทำอย่างไรจะทำให้คนที่เลวร้าย น้ำเน่า คนที่ไม่ดี คนที่เป็นนักการเมืองแบบเก่า ไม่ให้กลับเข้ามา ขณะเดียวกันก็ต้องทำให้มี ส.ส.วิถีใหม่เข้ามาแทนที่ให้มากที่สุด
สัดส่วนของ ส.ส.วิถีใหม่กับ ส.ส.วิถีเก่า น่าจะเป็นตัวชี้วัด เหมือนกับมีร้อนมาก ก็มีเย็นน้อย ถ้ามีเย็นมากมันก็ร้อนน้อย ต้องเป็นดุลกับแบบนี้ ที่เก่ามากก็มีใหม่น้อย ถ้ามีใหม่มากก็มีเก่าน้อย คุณภาพของวัตถุสิ่งของก็แปรตามองค์ประกอบเช่นนี้
สำหรับวุฒิสภา ในการเลือกตั้งกันเองในครั้งหน้า จะมาจากฐาน 20 กลุ่มอาชีพ เลือกให้ได้ 200 คน ได้ก็ได้เลย ไม่มีคนมาคอยมาคอยหยิบออกเหมือนยุค คสช.อีกแล้ว เพราะฉะนั้นตรงนี้ ผมจึงคิดว่าอยู่ในวิสัยที่ผู้นำภาคประชาสังคมอย่างพวกท่านที่มีอยู่ทั่วประเทศ คนที่พร้อมและสนใจ ก็น่าจะเข้ามาจากการทำงานตรงนี้
ตัวผมเอง เมื่อถึงปี 2567 เมื่อหมดวาระก็หมดสภาพเลย แล้วเขาก็ห้ามไปเป็นอะไรอีกแล้ว ผมตั้งใจจะไม่เป็นอะไรอีกแล้ว พอแล้ว อายุใกล้ 70 เต็มที จึงอยากเห็นพวกเราส่วนหนึ่งเข้ามาเป็น ส.ว. ในรุ่นถัดไป และช่วยรับไม้ต่อ
ที่เราพูดกันมาทั้งหมดนี้ เป็นปฏิรูปการเมืองโดยประชาชนจากฐานล่าง เราไม่ได้พูดแค่ปีเดียว 2 ปี เราต้องวางแผนไว้ประมาณอย่างน้อย 10 – 12 ปี ในช่วงดังกล่าวจะมีการเลือกตั้งทั่วไปประมาณ 2-3 รอบ ทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น เราจึงต้องคิดถึงกระบวนการรับไม้ต่อมือกันอย่างจริงจังด้วย
เมื่อพวกเราจำนวนหนึ่ง ใครที่เข้ามารับไม้เป็น ส.ว. ก็ต้องทำต่อไป ส่วนผมเมื่อไปอยู่ข้างนอกก็แสดงอีกบทบาทหนึ่ง ทำกันไปจนกระทั่งหมดแรงก็หยุด งานสาธารณะไม่มีวันเกษียณอายุ ผมจึงบอกย้ำอยู่เสมอว่าสิ่งที่เรากำลังจะทำนี้ ไม่ใช่แค่งานพัฒนาชุมชนท้องถิ่น ไม่ใช่แค่เรื่องการบริหารท้องถิ่น ไม่ใช่เรื่องของการเมืองระดับชาติอย่างใดอย่างเดียว แต่มันเป็นการยกระดับและบูรณาการสู่สิ่งที่มีความหมายใหญ่กว่านั้น
การปฏิรูปเปลี่ยนแปลงระบบการเมืองของประเทศไทย ที่คนรุ่นก่อนพยายามทำกันมาแล้ว อย่างน้อย 24 ปีของการปฏิรูปการเมือง ที่ทำแบบ top-down โดยกลุ่มชนชั้นนำ หรือ Elite มันยังไม่สำเร็จ เราจึงหาญกล้าที่จะลุกขึ้นยืนและชูมือขอขันอาสาทำวิธีใหม่ โดยจะไม่ขอร้องความเมตตาสงสารจากใคร เราจะลงมือทำงานด้วยตัวเราเอง จะไม่เสียเวลาถกเถียงทางทฤษฎีกับใคร แต่จะลงมือปฏิบัติการเพื่อเปลี่ยนจริง ก็แค่นี้เอง ใครเห็นด้วยก็เร่เข้ามา ใครไม่เห็นด้วยก็ไม่เป็นไร
งานนี้เป็นเรื่องของการขันอาสา ใครพร้อมก็มา ใครไม่พร้อมก็ยืนดูอยู่เฉยๆ เราไม่ว่ากัน เราทุกคนยังคงเป็นเพื่อนกันเหมือนเดิม สำหรับคนที่ก้าวเข้ามา ใครถนัดทำตรงไหนก็ทำตรงนั้น จะทำที่ฐานพระเจดีย์ไหม มีงานให้คุณทำเยอะนะ หรือที่ยอดพระเจดีย์ก็ได้ มีงานให้ทำเยอะเช่นกัน รสชาติแตกต่างกันไป ไม่จำเป็นที่ใครจะต้องรับเหมาทำทั้งหมด ใครทำตรงไหน ใครมีสถานะอะไร มีบทบาทตรงไหน ก็ทำตรงนั้นให้ดีที่สุด ผลสุดท้ายจะประกอบเครื่องเข้าด้วยกัน เป็นองค์พระเจดีย์องค์ใหม่ เป็นระบบการเมืองไทยในวิถีใหม่.
งานการเมืองเชิงสร้างสรรค์
ที่ผ่านมา เรามักจะบอกกันว่า เวลาเราทำงานพัฒนาชุมชน ไม่ควรไปยุ่งเกี่ยวกับการเมือง เพราะจะถูกหวาดระแวงว่าลงพื้นที่เพื่อจะหาเสียง ใน 20 – 30 ปีที่ผ่านมา เราจึงพยายามกันตัวเราเองออกจากงานการเมือง ทั้งระดับท้องถิ่นและระดับชาติ
ภายในภาคประชาสังคมของเราเอง เคยมีการถกเถียงพูดคุยเรื่องนี้กันมาโดยตลอด ตั้งแต่ช่วงที่เราทำโครงการวิจัยชีวิตสาธารณะ-ท้องถิ่นน่าอยู่ (ปี 2546-2549) มีสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนาเป็นหน่วยประสานงานกลาง ตอนนั้นพวกเราจำนวนหนึ่งตั้งใจจะลงสมัครเลือกตั้ง จำได้ไหมอย่างเช่น คุณผ่องศรี ธาราภูมิ จากประชาคมจังหวัดลพบุรี พวกเราฝ่ายหนึ่งเห็นด้วย อีกฝ่ายมีข้อวิตกกังวล แต่สุดท้ายเจ้าตัวเป็นผู้ตัดสินใจลงเลือกตั้งในนามพรรคประชาธิปัตย์ และก็ได้เป็น ส.ส.มาตลอดตั้งแต่วันนั้นจนถึงวันนี้ และท่านก็ยังคงมีอุดมการณ์-อุดมคติในการทํางานเรื่องชุมชน ประชาสังคมเสมอมา
แต่คนที่ประสบความสำเร็จแบบคุณผ่องศรี มีไม่มาก โดยส่วนใหญ่แล้วมักจะแพ้เลือกตั้ง เมื่อแพ้แล้วจะเปลี่ยนกลับมาทำงานพัฒนาชุมชนอีกครั้ง ก็มีข้อจำกัดเนื่องจากชุมชนจำภาพการเป็นนักการเมืองไปแล้ว จึงเป็นตัวอย่างที่เตือนสติกันต่อๆมาว่า พวกเราต้อง Social Distance ก็คือรักษาระยะห่างระหว่างตัวเรากับพวกขบวนนักการเมือง ให้ห่างกับการเมืองไว้ก่อน งานพัฒนาชุมชนท้องถิ่นและประชาสังคมจึงกลายเป็นเก้าอี้ขาเดียวตัวหนึ่ง ตั้งได้ นั่งได้ แต่ไม่มั่นคงและรับน้ำหนักได้น้อย
สำหรับพวกเราอีกส่วนหนึ่ง หันไปลงการเลือกตั้งในระดับท้องถิ่น ได้เป็นนายก อบต. เป็นนายกเทศมนตรี เล็กบ้างใหญ่บ้าง กลุ่มนี้ก็เป็นอีกพวกหนึ่งที่มีสภาพเป็นเก้าอี้ขาเดียวอีกตัวหนึ่ง ต่างคนต่างอยู่ ต่างคนต่างแยกกันทำงาน ส่วนอีกพวกหนึ่งที่ขึ้นทำงานการเมืองในระดับชาติ ส.ส.และ ส.ว. นี่ก็เป็นอีกพวกหนึ่ง ซึ่งพวกเราพยายามจะอยู่ให้ห่างมากที่สุด ปล่อยให้เขาเป็นเก้าอี้อีกตัวหนึ่งที่มีขาเดียวเช่นกัน
แต่พอมาถึงวันนี้ เราพบสถานการณ์ใหม่ กล่าวคือบางเรื่องที่เราอยากจะผลักดันให้เป็นนโยบาย เราผลักดันนโยบายผ่านกลไกสมัชชาสุขภาพบ้าง สภาปฏิรูปบ้าง แต่ทำอะไรไม่เคยสำเร็จเลย เปรียบเทียบกับบทเรียนรู้ในสมัยที่คุณสนธิรัตน์ สนธิจิระวงศ์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในตอนนั้น เพียงแค่ ส.ว.คำนูณ สิทธิสมาน เริ่มเปิดประเด็นเงินค่าติดตั้งมิเตอร์ไฟฟ้า ชี้ว่าเป็นเงินของประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าที่ฝากไว้ที่การไฟฟ้า สมควรคืนให้กับประชาชน
พอเสนอแบบนี้ปั๊บ ถ้ามีรัฐมนตรี “ที่ใช่” เป็นผู้คว้าเรื่องนี้ไปแล้วดำเนินการอย่างเอาใจใส่ ทำรายละเอียดเพิ่มเติมแล้วก็นำเข้าสู่การพิจารณาของ ครม. เขาสามารถทำเสร็จได้ภายใน2-3 สัปดาห์ มีมติ ครม.ออกมาเลย ให้คืนค่ามิเตอร์ ประชาชนจึงได้เงินคืนโดยถ้วนหน้า ตัวอย่างนี้ทำให้เราได้เรียนรู้ว่า แม้มีเพียงรัฐมนตรีที่ใช่เพียงคนเดียว ก็สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงทางนโยบายในเรื่องดีๆใหม่ๆได้
เหมือนในสมัยที่ผมเป็นรัฐมนตรีกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ตรงนั้นทำให้ผมเข้าใจกระจ่างเลยว่า เมื่อใครนั่งเป็นรัฐมนตรีอยู่ก็มีโอกาสที่จะเสนอเรื่องเข้า ครม. เมื่อมีมติ ครม.แล้วก็เหมือนเป็นกฎหมายน้อยๆเลย เพราะมีผลบังคับให้เป็นไปตามนั้น ขณะเดียวกันก็นึกสะท้อนใจว่า สิ่งที่เราทำงานเคลื่อนไหวทางปัญญากันมามากมาย เสนอโครงการ เสนอกฎหมาย เสนอยุทธศาสตร์ สารพัดอย่าง มีทั้งใส่มือรัฐมนตรีบ้างนายกรัฐมนตรีบ้าง ประธานรัฐสภาบ้าง สุดท้ายมันไปไม่ถึง ครม. เพราะว่าไม่มีใครที่จะนำเข้าไปให้ถึงตรงนั้น การตัดสินใจทางนโยบายจึงไม่เกิด ตรงนี้ถ้าเรามีรัฐมนตรีที่ใช่ เพียง 1- 2 คน หรือหลายๆคน หรือ ครม.ทั้งคณะ ก็จะยิ่งมีหลักประกันในการผลักดันงานต่างๆได้มากขึ้น
ไปดูกรณีของคุณทักษิณ ชินวัตร ตอนที่เขาชนะการเลือกตั้งครั้งแรก เขาชนะด้วย 2 นโยบายใหญ่ คือกองทุนหมู่บ้าน 1 ล้านบาท และระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (30 บาทรักษาทุกโรค) ผู้คนยังจดจำชื่อเขา ต้องถือว่าเป็นเครดิตของเขาจริง ทำไมเขาทำได้สำเร็จ ก็เพราะว่าเขาขายนโยบายนี้ตั้งแต่การก่อนการเลือกตั้ง เมื่อเขาชนะเสียงข้างมาก เกือบจะเป็นรัฐบาลพรรคเดียว มีพรรคอื่นมาประกอบอีกนิดหน่อย เมื่อเขาจัดตั้งรัฐบาลได้ เขามีความชอบธรรมที่จะรนำนโยบายที่เขาไปหาเสียงให้ให้คำมั่นสัญญากับประชาชนไว้ มาเป็นนโยบายของรัฐบาล แถลงต่อรัฐสภา จากนั้นจึงมีโปรเจค เริ่มจากตั้งสำนักงานชั่วคราว ออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีรองรับไว้ก่อน แล้วจึงค่อยออกพระราชบัญญัติตามมาที่หลัง
ในคราวนี้ก็จะคล้ายๆกัน ถ้าเกิดพรรคใดมีนโยบายหาเสียง แล้วโดนใจชาวบ้าน และชนะเข้ามาเป็นรัฐบาล พรรคการเมืองนั้นย่อมมีสิทธิ์ที่จะทำในเรื่องแบบนี้ได้เช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตอนนี้ ผู้คนยิ่งโหยหาต่อนโยบายใหม่ๆ เป็นนโยบายที่รัฐบาลประยุทธ์อยู่มา 7 ปีแล้วยังไม่มีให้เห็น นโยบายที่มันเกิดขึ้นไม่ได้ในช่วงที่ทหารเข้ามามีอำนาจ แม้ว่าช่วง 4 ปีหลังจะเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ก็ยังเป็นคนเดิม เป็นกลุ่มอำนาจเดิม ทำให้นโยบายบางอย่างไม่สามารถทะลุขึ้นมาได้
อย่างเช่น ที่เราพูดถึงเรื่องของการกระจายอำนาจ แบบนี้ผมเชื่อว่ารัฐบาลสมัยหน้าที่เป็นรัฐบาลใหม่และชุดใหม่ อาจจะเกิดนวัตกรรมได้ ยิ่งสถานการณ์โควิดมาคราวนี้ มันทำให้ภาครัฐทั้งหมดต้องคิดกลับหัวกลับหางกันเลย ปรับพฤติกรรมใหม่ ปรับวิธีคิดใหม่ แม้ทำมาหากินแบบเดิมก็ไม่ได้ ทำงานราชการจะเป็นแบบเดิมก็ไม่ได้ ในที่สุดราชการต้องลดขนาดให้เล็กลงแน่นอน การกระจายอำนาจต้องมีแน่นอน
บูรณาการงานสามอย่าง
ผมจึงอยากจะบอกว่า บัดนี้ถึงเวลาต้องบูรณาการงาน 3 อย่างให้เข้ามาประกอบเครื่องเป็นเก้าอี้ 3 ขาตัวเดียวกัน แทนที่จะเป็นเก้าอี้ 3 ตัวแต่มีเพียงขาเดียว เพื่อให้มันเสริมซึ่งกันและกัน รับน้ำหนักได้ดีขึ้น มีเสถียรภาพมากขึ้น
ขาที่ 1 คืองานพัฒนาสังคม ชุมชนและประชาสังคม ขาที่ 2 คืองานบริหารท้องถิ่น ทำอย่างไรถึงจะทำให้พวกเราสามารถเข้าไปบริหารในองค์กรปกครองท้องถิ่น แล้วก็ใช้ทรัพยากร และงบประมาณปีละ 7-8 แสนล้านบาทให้เกิดประโยชน์สุขแก่ชุมชนและชาชนในพื้นที่แบบเต็มร้อย
หมายความว่าถ้าพวกเราสามารถเข้าไปบริหารท้องถิ่นได้ ตรงนั้นจะเป็นทรัพยากรที่เราจะสามารถเอามาใช้สนับสนุน งานพัฒนาซึ่งเป็นอีกขาหนึ่งของเก้าอี้แบบเต็มร้อย งบพัฒนาได้มาเท่าไหร่ก็ลงสู่ชุมชนแบบเต็มร้อย จะทำให้ขางานพัฒนาชุมชนเป็นไปได้อย่างรวดเร็วและตรงเป้าหมาย ตรงนี้มันถึงต้องเชื่อมโยงกัน
การเมืองระดับชาติก็เหมือนกัน นั่นเป็นขาที่ 3 เพราะนโยบายการเมืองในระดับชาติ เป็นตัวกำหนดนโยบาย กำหนดกฎหมาย รวมทั้งจัดการทรัพยากร จัดการเรื่องอำนาจ ตรงนี้ถ้ายิ่งได้เป็นรัฐบาลด้วยแล้ว การเมืองระดับชาติจะหนุนการกระจายอำนาจ เรื่องการจัดการตนเอง หนุนเรื่องการสร้างความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่น จัดการทรัพยากร มันจึงต้องเป็นเก้าอี้ตัวเดียวกัน แต่มันมีครบ 3 ขา จึงมั่นคง
วันนี้จึงมาถึงคำตอบว่า ทำแบบเดิมก็ได้ แต่ว่าไม่เพียงพอ ใครยังคิดว่าจะทำแบบเดิมก็ไม่เป็นไร ขอจงทำไปตามความเชื่อความศรัทธา เพราะแบบเดิมมันก็เป็นส่วนหนึ่งของเก้าอี้ จะเป็นขาเดียวแบบเอกเทศก็ไม่เป็นไร แต่เนื่องจากตัวผมเองนั้นสัมพันธ์กับ 3 ส่วน ผมจึงอยู่ในวิสัยที่จะสานสัมพันธ์ได้กับทุกฝ่าย ทั้ง 3 ส่วน
ด้วยความที่เรามีอิสระทางความคิดและวางบทบาทสถานะที่เสมอต้นเสมอปลาย จึงมีเพื่อนทั้งส่วนที่เป็นชุมชน ส่วนที่เป็นท้องถิ่นและที่เป็น ส.ส. ส.ว. ในระดับชาติ รวมทั้งมีเพื่อนที่อยู่ในภาคราชการ ในกองทัพและอะไรต่างๆ เราไม่ได้เป็นพิษเป็นภัยกับใคร เราทำงานในทางบวก คิดทางบวก เดินแนวทางสายกลาง
เพราะฉะนั้น ผมจึงต้องคิดว่าเราก็อายุเกือบ 70 ปีแล้ว ในสถานภาพของ ส.ว. พวกเราตกผลึกกันมาในคณะอนุกรรมาธิการชุดที่ผมดูแลอยู่ แล้วเริ่มขายไอเดียตรงนี้ ในหมู่ ส.ว. 250 คน ถ้าพูดถึงการเมืองวิถีใหม่ เขาจะมองมาที่เรา ถ้าพูดถึงเรื่องชุมชน หรือ งานวิชาการก็เช่นกัน หมายความว่าเราเป็นคนกลุ่มหนึ่งที่อยู่ในวิสัยที่จะทำให้เกิดระบบเก้าอี้สามขาได้
พรรคการเมืองในวิถีใหม่
เมื่อเราเริ่มขับเคลื่อนการเมืองวิถีใหม่มาได้สักพักใหญ่ ระหว่างลงพื้นที่ไปพบปะเครือข่ายฯที่ขอนแก่น หนองคาย และร้อยเอ็ด ทำให้ได้รับทราบถึงกระแสความตื่นตัวและตอบรับแนวคิดการเมืองวิถีใหม่แบบที่ไม่เคยคาดคิดมาก่อน ขณะเดียวกันก็เล็งเห็นปัญหา แนวโน้มและอุปสรรคบางอย่างในการขับเคลื่อนจากแนวคิดสู่การปฏิบัติการจริงในภาคสนาม จึงนึกถึงกลุ่มอดีตรัฐมนตรีชุด “4 กุมาร” และยกหูโทรศัพท์ถามข่าวคราวซึ่งกันและกัน ทำให้ทราบข่าวการตัดสินใจที่จะตั้งพรรคการเมืองเพื่อร่วมแก้ปัญหาบ้านเมืองในวิถีทางรัฐสภาอีกคำรบหนึ่ง
เนื่องจากรู้จักคุ้นเคยกันมานาน ยิ่งได้ทราบว่าพวกเขามีแนวคิดในการสร้างพรรคการเมืองให้เป็นสถาบันพัฒนาการเมืองที่ถาวรของประเทศ มิใช่เพียงเป็นพรรคเฉพาะกิจแบบที่มีดาษดื่น ทำให้เกิดความคิดต่อยอดไปถึงการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การเมืองวิถีใหม่ในส่วนที่ยากที่สุด นั่นคือส่วนยอดของพระเจดีย์ ในเบื้องต้นจึงอยากเห็นพรรคการเมืองในวิถีใหม่เกิดขึ้นจริงสักจำนวนหนึ่ง โดยแสดงบทบาทเป็นส่วนหัวหอกของการขับเคลื่อนการเมืองวิถีใหม่ในอำนาจรัฐส่วนบน
เมื่อเขาได้มีโอกาสได้ฟังแนวคิดแนวทางการเมืองวิถีใหม่มากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องการเมืองเชิงศีลธรรม การเมืองแบบจิตอาสา และแนวทางการทำงานเน้นการปฏิบัติแบบ “พระป่า” พวกเขาตื่นเต้นดีใจมากและอยากสร้างสถาบันถาวรทางการเมืองในแนวทางนี้ด้วย จึงเป็นที่มาของการสอบถามความสนใจของเพื่อนๆในเครือข่ายทั้ง 3 ขบวน
เราก่อตัวกันเป็น 3 ขบวน คือขบวนการเมืองวิถีใหม่ คุณบรรหาร บุญเขตดูแลอยู่ ขบวนพลเมืองวิถีใหม่ คุณสุรพงษ์ พรมเท้าเป็นผู้ดูแล และขบวนท้องถิ่น-ท้องที่วิถีใหม่ คุณสรณะ เทพเนาว์เป็นผู้ดูแล ถือเป็นเป็น 3 ขบวนหลัก
ทางสายการเมืองวิถีใหม่ของคุณบรรหารนั้นชัดเจนอยู่แล้ว พวกเขารวบรวมคนที่เข้ามาในเครือข่ายที่จะทำการเมืองในระดับชาติแทบทั้งนั้น แต่ว่าเราคงต้องมีระบบคัดกรองกันอย่างเหมาะสม ในส่วนเครือข่ายท้องถิ่น-ท้องที่วิถีใหม่ของคุณสรณะ เขาทำเรื่องท้องถิ่นท้องที่วิถีใหม่ก็จริง แต่กลุ่มนี้เขาก็มีส่วนหนึ่งที่ต้องการจะทำงานการเมืองในระดับชาติอยู่ด้วย ส่วนใหญ่ของพวกเขาสนใจทำเรื่องท้องถิ่น บางคนยังเป็นปลัดท้องถิ่น บางคนเป็นนายก อบต. บางคนเป็นนายกเทศมนตรี มีกันหลากหลายมาก สายนี้มีครึ่งต่อครึ่งที่จะลงสมัครการเมืองในระดับชาติ
ส่วนสุดท้ายขบวนพลเมืองวิถีใหม่ หรือเครือข่ายสภาประชาสังคมของคุณสุรพงษ์ ครั้งแรกก็ลังเลที่จะชวนมาขับเคลื่อนงานการเมืองระดับชาติ เพราะแต่ก่อนเราเคยตั้งแง่รังเกียจกันไว้มาก เกรงจะถูกบรรดาพี่น้องมองเจตนาไปเป็นอื่น ในที่สุดทดลองพูดคุยกันดู กลับปรากฏว่า แนวคิดการเมืองวิถีใหม่นี้ไปกระตุ้นต่อมอะไรบางอย่าง จนทำให้ลุกขึ้นมาร่วมวงด้วย ไม่แพ้กันเลยทั้งสามขบวน
มาถึงตอนนี้ ใครที่จะทำการเมืองระดับชาติเราก็สนับสนุนหมดทุกคุณ ขออย่างเดียวคือทำการเมืองในวิถีใหม่ ใครจะอยู่ในพรรคการเมืองใดก็ได้ขอให้มั่นคงในอุดมการณ์แนวคิดการเมืองวิถีใหม่ การเมืองเชิงศีลธรรม หรือใครที่มีกำลังวังชามากจะรวมตัวกันไปตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่เพื่อสานต่ออุดมการณ์ก็ขออวยพรให้โชคดีมีชัย หรือใครที่สนใจจะไปร่วมทำงานกับพรรคการเมืองของกลุ่มสี่กุมารเขา ก็จะช่วยเป็นสะพานเชื่อมให้ จากนั้นต้องไปว่ากันเอง
ทุกอย่างถือตามความสมัครใจและการตัดสินใจที่แน่วแน่ของใครของมัน ผมเป็น ส.ว.ไม่สามารถเล่นเกินบทบาทได้ ไม่ได้ชักชวนใคร แต่สามารถแนะนำเฉพาะคนที่สนใจเท่านั้น รวมทั้งจะคอยให้กำลังใจ เพราะอยากให้ทำการเมืองไทยเป็นการเมืองในเชิงศีลธรรม การเมืองวิถีใหม่ อันเป็นเป้าหมายของการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง ภารกิจที่ต้องติดตาม เสนอแนะและเร่งรัดของวุฒิสภา.
บนอัฒจันทร์หรือในสนาม
ปิดท้ายนี้ ผมอยากจะบอกว่า ที่เราพูดว่าเราทำงานมามาก เราสนใจการเมือง ตื่นตัวและเอาธุระกับเรื่องบ้านเมืองมาโดยตลอด แต่ที่ผ่านมาเราต้องสะกดใจตัวเราเองอยู่ตลอดเวลาให้อยู่ห่างการเมืองเข้าไว้ ดังนั้นสิ่งที่เราทำผ่านมา คือขอเป็นผู้ดูผู้ชมที่อยู่หน้าจอทีวี หรือบนอัฒจันทร์ หรืออย่างมากก็แค่ขอบสนาม ก็เป็นแบบนี้กันมาตลอด
แต่วันนี้ปัญหาการเมืองมันวิกฤติ ดำดิ่งลงลึกไปในหุบเหวเรื่อยๆ ทั้งเรื่องของการใช้เงิน เรื่องของการเมืองทุจริต เรื่องของการเมืองที่หยาบคาย การเมืองต้องการที่มุ่งล้มเจ้าเปลี่ยนระบอบ มันทำให้การเมืองไทยมาถึงก้นเหวจวนกระแทกพื้นอยู่แล้ว หรือไปจนสุดทางที่มันตัน ปัญหาว่าเรานั่งจะมองมันอยู่อย่างนี้หรือ ปล่อยให้ลูกหลานมันว่ากันไป เดี๋ยวเราก็จากไปตามวัย จะเอาอย่างนี้ก็ได้ เพราะพวกเราโดยส่วนใหญ่มีความมั่นคงในชีวิตอยู่แล้ว เราไม่ต้องการอะไรอีกแล้ว
แต่ถามว่าปล่อยไปอย่างนี้ ลูกหลานจะอยู่อย่างไร ถ้าหากว่าเราไม่ต้องการที่จะให้มันเป็นอย่างนี้ แล้วถามว่าใครจะเป็นคนเปลี่ยน ลองทอดสายตาดูทั้งประเทศทั้งแผ่นดินนี้ดูซิ คนกลุ่มไหนจะมาเปลี่ยน สถานการณ์วิกฤตทางการเมืองของประเทศในขณะนี้ได้ กลุ่มไหนจงบอกมา เชื่อหรือว่าจะมี ไม่คิดว่าจะมี หรือมีก็มีน้อย เพราะว่าปัญหามันใหญ่เกินตัวซะเหลือเกิน
แม้แต่ตัวผมเอง ตอนแรกก็คิดหนัก คิดอยู่นานเหมือนกัน เรื่มแรกคิดว่าจะทำงานวิชาการในฐานะกรรมาธิการการมีส่วนร่วมของประชาชน มีแง่มุมไหนน่าสนใจก็ทำไปเรื่อยๆ ทำเสร็จก็เสนอรายงานต่อสภาให้เพื่อนสมาชิกช่วยกันอภิปรายเสนอความเห็น รวมรวมเป็นเอกสารเสนอให้รัฐบาลรับทราบ แล้วรายงานก็ถูกเก็บขึ้นหิ้งไปตามระเบียบเหมือนกับเรื่องอื่นๆ ไม่ได้คิดที่จะไปทำอะไรในเชิงรุกแล้ว
แต่ว่าในที่สุดเมื่อมาถึงจุดหนึ่ง เราเริ่มตกผลึกทางความคิด เห็นผู้คนที่เกิดความตื่นตัวภายหลังจากที่พูดคุยแลกเปลี่ยนกัน ทำให้ในที่สุดต้องกลับไปถามตัวเองว่า จะทำไหวหรือไม่ จะบุกงานใหม่อีกหรือเปล่า ในที่สุดก็ได้คำตอบกับตัวเองว่า สุขภาพทั่วไปยังดีอยู่ น่าจะพอมีกำลังวังชาขับเคลื่อนได้ แต่ไม่เหมาะและไม่อยู่ในสถานะที่จะลงไปเล่นในสนาม
บทบาทของ ส.ว.ก็ไปเล่นเองไม่ได้ ตัวส.ว.เองในขณะนี้ก็เป็นนักการเมืองอยู่แล้ว ได้รับการแต่งตั้งมาให้ทำหน้าที่ตามกรอบรัฐธรรมนูญกำหนด ต้องทำหน้าที่ไปตลอดจนกระทั่งครบ 60 เดือนหรือ 5 ปี หลังจากนั้นเขายังห้ามไม่ให้ไปเป็นอะไรอีกเลย 2 ปีเป็นอย่างน้อย ถึงตอนนั้นอายุอานามใกล้ 70 ปีแล้ว จึงไม่คิดว่าตัวเองจะต้องไปแสดงในบทบาทเป็นผู้เล่น แต่ว่าสามารถช่วยทำหน้าที่เป็นโค้ชได้ ให้คำแนะนำได้ เชียร์ได้
ตรงนี้ก็กลับมาดูว่าพอถึงเวลาแล้ว เชียร์อย่างเดียว เป็นโค้ชอย่างเดียว มันคงไม่ทำให้การเมืองไทยเปลี่ยนได้ ทำการเมืองเฉพาะแต่ข้างบนอย่างที่ใครเขาทำกันมาก็ไม่เห็นทางที่จะเปลี่ยนอะไรได้เลย ดังนั้น อย่ากระนั้นเลย จะต้องขับเคลื่อนพลังทั้งสังคมดูกันสักที ดูซิว่ามันจะเขยื้อนภูเขาได้หรือไม่ แนวคิดและแนวทางในการสานพลังทั้ง 3 ขบวนพร้อมกันทั้ง 77 จังหวัดทั่วประเทศจึงเริ่มต้นขึ้น
ผมมีความเชื่อมั่นอย่างหนึ่งว่า ประเทศไทยของเรา คนไทยเรา คนดีมี คนกล้ามี คนจิตอาสาก็มี เพราะเราทำงานกับคนมามาก โดยเฉพาะพวกที่อยู่ฐานล่าง คนที่มีศักยภาพ มีขีดความสามารถมีจริง มีมากด้วย ถ้าเขามีโอกาส
ลำพังตัวคนเดียวแม้มีศักยภาพมากเพียงใด ย่อมไม่สามารถทำอะไรได้มากนัก อย่างเก่งผมก็เห็นว่าแค่สร้างพรรคจิ๋วขึ้นมาได้ แม้แต่เพื่อนผมหลายคนก็แค่สร้างพรรคจิ๋วขึ้นมา ถูกพรรคใหญ่ดูหมิ่นดูแคลนว่าเป็นพรรคปัดเศษก็ต้องจำทน เมื่อมีมติแก้รัฐธรรมนูญเปลี่ยนกติกาใหม่คราวนี้ เป็นอันถึงกาลอวสานของพรรคจิ๋วและพรรคเล็กที่มีอยู่ในรัฐสภาร่วม 20 พรรค
ประเมินกำลังมวลมิตร
เมื่อพูดถึงการสร้างพรรค ด้วยอยากจะทำพรรคตามอุดมการณ์อันบริสุทธิ์ ตามอุดมคติของเรา ถ้าจะทำพรรคเอง วันนี้เรามีทุนอะไรอยู่บ้าง ฐานทุนที่เป็นเงิน และฐานทุนที่ไม่ใช่เงิน อย่างตัวผมก็ได้ ถ้าให้ไปสร้างพรรค ตอบได้ทันที่ว่าไม่สามารถเลย คนที่จะตัดสินใจสร้างพรรคจะต้องทุ่มเทกำลังสติปัญญา กำลังทรัพยากรมากขนาดไหน อย่างเรานี่หมดปัญญา ภาคประชาสังคมก็ไม่ต่างกัน
แต่การณ์กลับกลายเป็นว่า สิ่งที่เรามีเป็นสิ่งที่เขาไม่มี เรามีฐานทุนทางองค์ความรู้ชุมชนท้องถิ่น เรามีฐานทุนทางเครือข่าย เรามีฐานทุนทางด้านปัญญาบารมี เรามีคุณความดีที่สะสมอยู่ในระดับสังคมข้างล่าง กลุ่มสี่กุมารเขาไม่มีอย่างเรา แต่เขาก็มีในสิ่งที่เราไม่มีเหมือนกัน นั่นคือทุนการเงินและระบบบริหารจัดการองค์กรขนาดใหญ่ ดังนั้นเวลาเราจะสร้างพรรคการเมืองแบบใหม่ มันจึงต้องปรึกษาหารือกัน จะเอาเราเป็นใหญ่อย่างเดียว เอาให้ได้อย่างใจท่าเดียวไม่ได้ สร้างพรรคไม่ได้หรอกครับ
ยิ่งถ้าเป็นการสร้างสถาบันการเมืองที่มุ่งทำงานระยะยาวให้กับประเทศ ต้องรู้จักสร้างพันธมิตร เมื่อมีเป้าหมายตรงกันแล้ว ต้องรอมชอม ประนีประนอม ปรับตัวเข้าหากัน ไม่คิดเล็กคิดน้อย เพื่อนของเรา อาจจะเห็นต่างกับเราบ้าง มีนิสัยพฤติกรรมแตกต่างกับเราบ้าง ก็ต้องสามารถทำงานร่วมกันให้ได้ นี่เป็นประชาธิปไตยขั้นต้นเลย เราหรือใครจะเผด็จการเพียงคนเดียวคงไม่ได้ ไปไม่รอดหรอก ดังนั้น จะคิดอะไรที่ดีก็ดีทั้งนั้น ช่วยกันคิดช่วยกันระดมสมอง แต่ในที่สุดแล้ว จะทำอะไรโดยคนหมู่มากก็ต้องใช้ระบบประชาธิปไตยตัดสิน
สำหรับใครที่คิดจะร่วมสร้างพรรคกับเขาในคราวนี้ ข้อแนะนำเบื้องต้นจากผมก็คือ ควรต้องสร้างความเป็นประชาธิปไตยภายในพรรคให้ได้ ฉะนั้นฐานสมาชิกพรรคจึงเป็นเรื่องสำคัญ เรื่องสาขาพรรคหรืออย่างน้อยก็สำนักงานตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดก้ต้องมี แล้วต้องช่วยกันทำให้กลายเป็นฐานที่มั่นในการทำงาน
งานของเราคืองานพัฒนาสังคม พัฒนาชุมชนท้องถิ่น พัฒนาพื้นที่เขตเลือกตั้ง และต้องไม่ใช่แค่ทำงานตามฤดูกาลเฉพาะก่อนเลือกตั้งเท่านั้น หากต้องทำงานทั้งก่อน ระหว่างและหลังเลือกตั้งด้วย ต้องมีกิจกรรม โครงการที่หลากหลายอยู่ตลอดปี ถึงแม้จะได้เป็นสส. หรือเป็นอะไรต่างๆแล้ว ก็ยังต้องทำงานพัฒนาอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี ทำงานวิจัย ทำงานเปิดหลักสูตร พัฒนาศักยภาพ พัฒนาผู้นำ ฯลฯ อาจจะเป็น Academy อย่างที่เสนอมานี่ก็ได้ ต้องส่งเสริมงานพัฒนาชุมชนไม่ว่าจะเป็นเรื่องสมุนไพร เรื่องที่เราทำอยู่ เมื่อมีพรรคก็ต้องทำได้มากขึ้น ดีขึ้น มีพลังขึ้น แล้วก็เชื่อมโยงกับนโยบายส่วนระดับบน ที่เรามีส่วนกำหนดด้วย
ว่าด้วยชัยชนะ
สุดท้ายผมขอพูดถึงชัยชนะสักนิดหนึ่ง สิ่งที่เราเลือกทางเดินในเรื่องของการเมืองเชิงศีลธรรม การเมืองวิถีใหม่ นั้นเป็นชัยชนะในทางยุทธศาสตร์ไปแล้ว แต่การชนะทางยุทธศาสตร์ ไม่ได้หมายความว่าเราต้องชนะทางยุทธวิธีด้วย ในที่สุดเรายังต้องการชัยชนะทางยุทธวิธีอีกด้วย
เพราะฉะนั้น ตรงนี้คิดให้ดี วันนี้เราเลือกทางนี้ เราชนะทางยุทธศาสตร์แล้ว ต่อไปทำอย่างไรเราจะไปชนะในทางยุทธวิธีได้อีก เพื่ออะไร ก็เพื่อจะเดินก้าวต่อไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ใหญ่ยิ่งขึ้นตามลำดับ สุดท้ายคือการเปลี่ยนแปลงคุณภาพของรัฐสภาไทยให้เป็นรัฐสภาวิถีใหม่ทั้งสภา เป็นการปฏิรูปเปลี่ยนแปลงพระเจดีย์ทั้งองค์อย่างที่เราพูดกันตั้งแต่ต้น
ถ้าเราสามารถทำให้กระแสสังคมทนต่อการเมืองน้ำเน่าไม่ไหว อยากได้การเมืองเชิงศีลธรรม จนเกิดกระแสความเรียกร้องต้องการขึ้นได้จริง นั่นหมายความว่า เราน่าจะมีนักการเมืองหน้าใหม่ๆ คนใหม่ๆที่สังคมไม่เคยรู้จักมาก่อน แต่เขาเหล่านั้นมาด้วยกระแสพรรค กระแสนโยบาย และกระแสสถานการณ์บ้านเมือง ก็เป็นได้ .
ขอให้โชคดีทุกคนครับ.
——————————————————
บรรยายให้กับสมาชิกเครือข่ายพลเมือง การเมืองภาคพลเมือง วันที่ 26 สิงหาคม 2564