การเมืองวิถีใหม่ เพื่ออนาคตประเทศไทย

นพ.พลเดช ปิ่นประทีป

( **บันทึกการสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของ ส.ว. พลเดช  ปิ่นประทีป กับเครือข่ายภาคประชาสังคม กลุ่มผู้สนใจสมัครแข่งขันเลือกตั้งทั่วไป  เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2564 )

อ่านในรูปแบบ PDF file

วันนี้เป็นการรวมตัวกันของพวกท่านทั้งหลายที่อยู่ในเครือข่ายการเมืองวิถีใหม่ จำนวน 3 สาย คือ สายท้องถิ่น-ท้องที่วิถีใหม่ โดยคุณสรณะ เทพเนาว์  สายการเมืองวิถีใหม่ โดยคุณบรรหาร บุญเขต  และสายสภาประชาสังคมไทยหรือพลเมืองวิถีใหม่ โดยคุณสุรพงษ์ พรมเท้า

ทั้ง 3 สายนี้ได้ไปชวนเชิญเฉพาะคนที่สนใจและตั้งใจจะลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น สส.ระดับเขตในการเลือกตั้งครั้งหน้า ส่วนใครที่มีแผนจะลงปาร์ตี้ลิสหรือบัญชีรายชื่อ ยังไม่ได้ชวนกันมาพูดคุยแลกเปลี่ยนกันในคราวนี้

เราเป็นใคร จะทำอะไร 

เบื้องต้น ผมได้รับการประสานจากคุณสุรพงษ์  คุณบรรหาร และคุณสรณะ ซึ่งเป็นหัวหน้าคณะทำงานของผมที่ช่วยดูแลประสานงานใน 3 ขบวนนี้ เราทำงานพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของวุฒิสภาร่วมกันมาตั้งแต่ต้นในฐานะผู้ช่วย ส.ว.  บัดนี้ทราบว่าทั้ง 3 ท่าน รวมทั้งอาจารย์ ดร.ศักดิ์ ประสานดี  กำลังมีความพยายามที่จะเตรียมความพร้อมของกลุ่มคนที่ประสงค์จะเข้าไปสู่การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในครั้งต่อไป ซึ่งเราถือว่าเป็นงานการเปลี่ยนแปลงที่ในระดับยอดของพระเจดีย์  อันเป็นงานที่ยากและท้าทายที่สุด

งานข้างล่าง บางทีมันกว้างกว่า งานหนักกว่า เพราะฐานและองค์พระเจดีย์มีพื้นที่กว้างใหญ่ อย่างเช่นงานชุมชนที่ฐานล่าง มีเป้าหมายนับเป็นหมื่นเป็นแสนองค์กรและชุมชน  หรืองานบริหารท้องถิ่นเป้าหมายอยู่ที่ 7,800 ท้องถิ่น ตรงนั้นเราสามารถทำของเราไปได้เรื่อยๆไม่ต้องเร่งร้อนอะไรมาก  แต่ว่างานการเมืองระดับชาติ ตรงนี้เป็นการแข่งขันช่วงชิงตำแหน่งและอำนาจรัฐ การต่อสู้แย่งชิงค่อนข้างสูง เรียกว่าเป็นเวทีที่ชี้เป็นชี้ตายทางการเมืองกันทีเดียว เพื่อตัดสินว่าใครจะได้เข้าไปเป็นตัวแทนของประชาชนทั่วประเทศ 500 ที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎร  ไปใช้อำนาจรัฐ ไม่ว่าจะเป็นอำนาจทางด้านนิติบัญญัติ หรือว่าอำนาจในทางบริหาร การรณรงค์ให้ชนะการเลือกตั้งจึงเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญ

ผมได้ทราบจากทั้ง 4 ท่านว่า บัดนี้ได้สอบถามความสมัครใจและความสนใจของพวกท่านทั้งหลายแล้ว ทุกท่านเป็นคนที่มีความสนใจ มีความสมัครใจที่จะลงเลือกตั้ง ผมจึงให้คำแนะนำไปว่า อันดับต้นนี้ควรต้องคิดถึงการลงส.ส.เขตก่อน อย่าเพิ่งไปคิดถึงส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ เพราะว่าเขตจะเป็นพื้นที่สำคัญที่ผู้สมัครจะต้องไปเสนอตัวต่อประชาชน และต้องรวบรวมคะแนนมาจากพี่น้องประชาชนจากทุกหน่วยเลือกตั้งขึ้นมา จึงเป็นพื้นที่ปะทะที่ตัดสินส่วนทั้งหมดว่าใครจะอยู่ใครจะไป

 เพราะฉะนั้น ใครได้คะแนนจากประชาชนเท่าไร ไม่ว่าจะเป็นคะแนนที่เลือกพรรคหรือว่าเลือกคนก็ล้วนได้มาจากพื้นที่ คือหน่วยเลือกตั้งและเขตเลือกตั้ง  คำแนะนำคือ ต้องรู้เสียก่อนว่าจะมีใครบ้างที่สนใจและตั้งใจจริง เพราะว่าการตัดสินใจของคนคนหนึ่งที่จะลงสมัครรณรงค์แข่งขันเลือกตั้ง มันเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายนักสำหรับคนทั่วไปอย่างพวกเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าสมมติว่าเป็นตัวผมเอง ผมจะตัดสินใจได้อย่างลำบากมาก  เช่นเดียวกัน หลายท่านก็คงจะคล้ายกับผม เพราะฉะนั้นต้องเอาตรงนี้ให้ชัดก่อน เอาเป็นว่าใครที่สมัครใจ ตัดสินใจแล้ว ลองดูซิว่าจะมีพวกเราสักกี่คน อยู่ในกี่จังหวัด จะลงกี่เขต ที่ไหนบ้าง เพื่อท่านจะได้วางข้อมูลลงในแผนที่ เรียกว่า mapping ลงไป  จากนั้นพวกท่านจะได้ประสานสนับสนุนกันระหว่างกันได้อย่างสะดวกชัดเจน

ผู้กล้าท้าประลอง

เรื่องของการประชุมในวันนี้ เป็นการประชุมของท่านทั้งหลายที่แจ้งความจำนงกันมาตามสายต่างๆ รวม 3-4 สาย  เท่าที่ผมได้รับทราบข้อมูล มีประมาณ 125 ท่าน กระจายอยู่ตามจังหวัดต่างๆ 45 จังหวัด  หมายความว่ายังมีไม่ครบทุกจังหวัด แต่ก็ถือว่าเป็นความครอบคลุมที่สูงมาก แม้ยังมีจังหวัดฟันหรออยู่ประมาณ 20-25 จังหวัด อันนี้เป็นสถานการณ์เบื้องต้น

เท่านี้ก็เก่งมากแล้ว ดีมากแล้ว สำหรับบันไดขั้นที่ 2  ถ้าจำได้พวกเราเคยคุยกันคราวบันไดขั้นแรก เราลองหาค้นหาคนที่สมัครใจ สายละ 10 คนรวมเป็น 30 คนแรก  เราได้คุยสร้างความเข้าใจให้ตรงกันไปรอบหนึ่งแล้ว  ที่นี้ในบันไดขั้นที่ 2 ลองขยายจาก 30 คนแรก คราวนี้ขอรายละเอียดลึกลงไปด้วยว่า ใครตั้งใจจะลงสมัครเขตไหน จังหวัดไหน ปรากฏว่ามี 125 คนมาจาก 45 จังหวัด จะมีบางเขต ที่มีคนลงซ้ำเขตกัน เนื่องจากเป็นการรวบรวมความสนใจมาจาก 3 สาย ต่างคนต่างทำ ไม่รู้ว่าใครจะมาทางไหนหรอก แม้แต่สายเดียวกันยังซ้ำเขตกันก็มี  จึงเป็นเรื่องธรรมดา เดี๋ยวก็จัดระเบียบได้  ไม่ต้องตกใจ อันนี้เป็นข้อมูลเบื้องต้นที่ช่วยทำกันมา  เรียกว่าสำรวจข้อมูลเบื้องต้นกันก่อน เพื่อจะนำมาสู่การประสานงานหรือการวางแผนต่อไป

เมื่อทั้ง 4 ท่านมาปรึกษาอยากให้คุยกับพวกท่านทั้งหลายผ่านระบบออนไลน์ ผมยินดีรับเชิญเข้ามาพูดคุย ในฐานะที่ผมเป็นคนริเริ่มจุดประกายความคิดในเรื่องนี้และอยากจะรับฟัง-แลกเปลี่ยนข้อมูล ความคิดเห็น ข้อเสนอแนะต่างๆ ที่อาจจะเป็นประโยชน์สำหรับทุกท่าน รวมทั้งคุณบรรหาร คุณสรณะ คุณสุรพงษ์  และอาจารย์ศักดิ์  เพื่อจะได้นำไปพัฒนาทางวิชาการและคิดอ่านทำอะไรให้รัดกุมรอบคอบกันต่อไป

การประชุมวันนี้ ผมจึงมีเรื่องที่อยากจะเป็นให้ข้อคิดในฐานะที่เป็นคนบุกเบิกและจุดประกายในเรื่องนี้ บางเรื่องบางส่วนท่านอาจได้ฟังมาแล้วหลายครั้ง ผมถือว่าทุกท่านในที่นี้เป็นผู้ที่ต้องการจะลงเลือกตั้ง พร้อมจะลงสมัครแข่งขันเสนอตัวให้ประชาชนเลือก  ส่วนว่าจะได้ลงจริงหรือไม่ จะลงพรรคไหน อันนั้นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งในอนาคต

กล่าวคือ ท่านที่ตั้งใจจะลงเชียงใหม่เขตนั้น ลำพูนเขตนี้ อันนี้เป็นความตั้งใจของตัวท่าน ผมเองแม้จะทำอะไรไม่ได้มากนัก อยากสนับสนุนหมดทุกท่านเลย อยากให้เป็นไปอย่างที่ท่านทั้งหลายปรารถนา แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เราไม่มีพรรคของตัวเราเอง ผมเองก็ไม่ได้ทำพรรค ผมไม่มีพรรค ผมไปยุ่งแบบนั้นไม่ได้ ทำพรรคไม่ได้ แต่ว่าทั้ง 4 ท่านจะช่วยเป็นผู้ประสานงานแนะนำกับพรรคการเมืองต่างๆที่มีแนวคิดแนวทางการเมืองในวิถีใหม่ หรือการเมืองเชิงศีลธรรม ที่เหมือนหรือใกล้เคียงกับเรา

Table of Contents

พรรคการเมืองในวิถีใหม่

ขณะนี้ เราขยายแนวคิดแนวทางในเรื่องการเมืองเชิงศีลธรรม-การเมืองวิถีใหม่ไปในหมู่สมาชิกวุฒิสภา ผมคิดว่าขณะนี้ในวุฒิสภาส่วนใหญ่จะรู้กันหมดว่าพวกเรากำลังขับเคลื่อนการเมืองศีลธรรม -การเมืองวิถีใหม่ เชื่อว่ารู้กันหมดตั้งแต่ประธานวุฒิสภาลงมาเลย รวมทั้งระดับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติด้วย เพราะทางสำนักประชาสัมพันธ์ที่เขาทำรายการวิทยุรัฐสภา ยังขอสัมภาษณ์ท่านบรรหาร ท่านสรณะ ท่านสุรพงษ์ ออกรายการต่อเนื่องกันไปแล้ว อันนี้แสดงว่ามีความสนใจว่าเรากำลังขับเคลื่อนอะไรที่แตกต่าง

ในขณะเดียวกัน ทางฝั่งของพวก สส. เขาก็คงสนใจ แม้เราพยายามทำงานกันแบบเงียบๆ แต่เมื่อถึงจุดหนึ่ง ข้อมูลมันกระจายไปในทางลึกและมีคนรู้ข่าวความเคลื่อนไหวมากขึ้น หมายถึง สส. และแวดวงพรรคการเมือง เขาจับความเคลื่อนไหวอันนี้ได้  แน่นอนเขาต้องจับตาดูทุกความเคลื่อนไหวทางการเมืองในฐานะคู่แข่งขัน เขาต้องระวังระแวงเอาไว้ก่อนใช่ไหม อันนี้ถือเป็นเรื่องธรรมดา ไม่ใช่ความผิดอะไรของใคร ดังนั้น ต่อไปนี้เราจึงต้องขับเคลื่อนแต่ละย่างก้าวไปด้วยความด้วยความสุขุมรอบคอบและระมัดระวัง

ส่วนเรื่องการที่จะพวกท่านทั้งหลายจะไปร่วมงานกับพรรคการเมืองไหน หรือจะไปลุยตั้งพรรคการเมืองกันเอง อันนี้เป็นเรื่องที่นอกเหนือไปจากบทบาทหน้าที่ของผม ผมจะไม่สามารถไปยุ่งตรงนั้นได้ เพราะว่าบทบาทและอำนาจหน้าที่ของ ส.ว. มันมีกรอบตามรัฐธรรมนูญกำหนดไว้  ผมจึงทำหน้าที่ในแง่ของงานทางวิชาการ ให้แง่คิดความเห็นต่างๆได้ สนับสนุนให้กำลังใจได้ แต่ว่าจะไปลงมือทำเองอะไรไม่ได้  

ในประเด็นที่ท่านตั้งใจมาคุยกันตรงนี้  ผมมีสิ่งที่จะ “ให้คำแนะนำ” แยกเป็น 2 แบบ

แบบที่ 1  ทำงานวิถีใหม่ในพรรคการเมืองเก่า

ถ้าหากว่าท่านต้องการที่จะนำเอาแนวคิดแนวทางของการเมืองวิถีใหม่  นำหลักการของการเมืองวิถีใหม่ กลับไปทำงานการเมืองในพรรคเดิมของท่าน หมายความว่าท่านมีพรรคการเมืองที่สังกัดอยู่แล้วและอยากจะเอาแนวคิดนี้ไปทำงานในพรรคของท่าน โดยไม่ย้ายพรรคไปไหน นี่ก็เป็นแนวทางที่ดี

ตรงนี้ขอให้เป็นวิจารณญาณอิสระของท่านเอง ขอให้ท่านคิดอย่างรอบคอบรอบด้าน ใช้วิจารณญาณที่เป็นอิสระของตนเอง  ถ้าท่านตัดสินใจแบบนั้น พวกเราควรต้องให้กำลังใจกัน และหากมีอะไรที่เราจะช่วยกันได้ ขอให้บอกมา  เราจะต้องช่วยกัน เพราะงานปฏิรูปการเมืองโดยประชาชนฯตรงเป้าหมายที่ 5 ที่เราเคยคุยกัน คือ “มุ่งเปลี่ยนรัฐสภาไทยให้เป็นรัฐสภาวิถีใหม่”  ตรงนั้นต้องการพันธมิตรความร่วมมือระหว่างพรรคการเมืองและนักการเมืองต่างพรรค ในการทำงานเพื่อที่จะเปลี่ยนคุณภาพของสภาให้ได้ทั้งสภา

เพราะฉะนั้น ท่านจะอยู่พรรคเดียวกันหรือว่าแยกกระจายกันไปอยู่พรรคนั้นบ้างพรรคนี้บ้าง  เรายังคงสามารถเป็นพันธมิตรกันในขับเคลื่อนการเมืองวิถีใหม่ เป้าหมายการเปลี่ยนแปลงรัฐสภา เปลี่ยนแปลงการเมืองไทย จึงขอให้ท่านได้เลือกเอาสิ่งที่ท่านสบายใจและเอาที่มั่นใจว่าจะไปถึงเป้าหมายได้จริง

 ในด้านหนึ่ง พรรคเดิม พรรคเก่ามักจะมีเจ้าของ มีคณะผู้นำ คณะผู้บริหาร และมีวัฒนธรรมองค์กรของเขาอยู่แล้ว การที่เราจะไปเปลี่ยนจึงไม่ง่ายนัก แต่ว่ามันเป็นเรื่องที่ต้องชั่งน้ำหนัก เพราะว่าถ้าเราอยู่บ้านนั้นมานาน เราเคยชินเคยกับภูมิประเทศในบ้านหลังนั้นมาก เรารู้แบบแปลน โครงสร้างห้องหับต่างๆ รู้ประตูหน้าต่าง ทางเข้าออก เพราะฉะนั้น ตัวท่านเองนั่นแหละที่น่าจะรู้ดีที่สุด เมื่อท่านชั่งใจจะกลับเข้าไปเปลี่ยนเพื่อนนักการเมืองและพรรคการเมืองเดิมของท่าน อันนี้ต้องเชียร์กันอย่างเต็มที่

แบบที่ 2  ร่วมกันสร้างพรรคใหม่ในวิถีใหม่

ถ้าท่านยังไม่มีพรรคการเมืองสังกัดที่มั่นคงแน่นอน และต้องการจะมาร่วมกันสร้างพรรคการเมืองให้เป็นพรรคแบบใหม่ขึ้นมาเลย  อันนี้ท่านต้องแสวงหาเพื่อนร่วมอุดมการณ์ หาคนที่เขากำลังจะจัดตั้งพรรคขึ้นใหม่ หรืออาจเป็นพรรคเล็กพรรคน้อยที่เพิ่งเกิด อาจเคยผ่านการเลือกตั้งมาบ้างแล้วแต่ยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร ถ้าแนวความคิดและเป้าหมายการทำงานพอไปกันได้  ต่างฝ่ายต่างรับเงื่อนและข้อจำกัดของกันและกันได้ เราอยากจะเปลี่ยนแปลงอะไรต่าง ๆมากมาย เขาอาจไม่มุ่งมั่นเด็ดเดี่ยวมากขนาดนั้นแต่ก็ยอมรับเราได้  จึงเป็นเงื่อนไขตั้งต้นที่ดีสำหรับการร่วมกันสร้างสรรค์พรรคใหม่ขึ้นมา  สร้างวัฒนธรรมองค์กรใหม่ทั้งชุด

ตรงนี้คือเรื่องที่ผมจะพูดในรายละเอียด ต่อไป 

สร้างสถาบันทางการเมือง

ท่านทั้งหลาย โดยเฉพาะผู้ที่ขันอาสาลงสู้ศึกเพื่อปฏิรูปเปลี่ยนแปลงการเมืองไทย ในอีกฐานะหนึ่งท่านเป็นผู้นำ ผู้บุกเบิก ในการสร้างพรรคสร้างสถาบันการเมืองในยุคใหม่ สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของแผนปฏิรูปประเทศด้านการเมือง ต่อไปท่านอาจต้องร่วมบริหารองค์กรที่ท่านสร้างขึ้นให้เติบใหญ่กล้าแกร่ง

ผมมีข้อแนะนำเบื้องต้นสำหรับทุกท่าน  5 ประการ ดังนี้

ข้อที่ 1   ตั้งเป้าหมายให้ใหญ่

ถ้าคิดว่าท่านจะร่วมกันสร้างพรรคใหม่ขึ้นมาสักพรรคหนึ่งสำหรับการต่อสู้ทางการเมืองโดยเริ่มต้นในการเลือกตั้งคราวนี้  ผมเสนอจะต้องมีเป้าหมายใหญ่ร่วมกันเสียก่อน

คำว่า เป้าหมายใหญ่ มีความหมายอยู่ 2 นัย คือ นัยแรก ท่านต้องมีเป้าหมายใหญ่ที่จะชนะการเลือกตั้งให้ได้  มีที่นั่งจำนวนมากเพียงพอ และเข้าเป็นรัฐบาลบริหารประเทศ

จะเป็นอย่างนั้นได้ ท่านต้องชนะในเขตเลือกตั้งให้ได้จำนวนหนึ่ง เพราะระบบบัตร 2 ใบแยกกัน ตรงนี้มันหมายความว่าถ้าเราแพ้ในเขตไหน คะแนนเสียงที่ได้ทั้งหมดจะตกน้ำหมดเลย  ผู้ชนะมีได้คนเดียว  1 คน 1 เขต  เพราะฉะนั้นเสียงของผู้แพ้จะตกน้ำหมดเลย เอาไปรวมเพื่อคำนวณ สส. ปาร์ตี้ลิสต์อีกไม่ได้

ส่วน สส.ปาร์ตี้ลิสต์ ก็เป็นอีกระบบหนึ่ง ซึ่งหมายความว่า พรรคการเมืองที่เขาแข็งแรง เขาก็มีสิทธิ์ที่จะได้ปาร์ตี้ลิสต์อีกจำนวนมาก  เพราะประชาชนนิยมทั้งพรรค นิยมทั้งคน อย่างนี้ก็มีสิทธิ์ที่จะทำให้พรรคใหญ่นั้นมีโอกาสที่จะมีที่นั่งเกินกว่าคะแนนนิยมจริง ทำให้ยิ่งใหญ่โตมากขึ้น เป็นแบบที่เขาเรียกกันว่า “พรรคใหญ่กินรวบ”

ส่วนพรรคเล็กนั้นมีโอกาสที่จะสูญพันธุ์ โอกาสเกิดใหม่มีน้อย ดังนั้นถ้าหากว่าท่านจะไปสร้างพรรคใหม่ ข้อแรกเลย ต้องตั้งเป้าหมายที่ใหญ่ ถ้าคิดว่าจะขอแค่เป้าหมายเล็กๆเท่านั้น โอกาสจะล้มเหลวสูง แต่ถ้าตั้งเป้าหมายใหญ่ คำถามคือเราจะมีความสามารถไหมล่ะ  เรามีศักยภาพมากพอที่เราจะสร้างพรรคการเมืองให้เป็นพรรคการเมืองขนาดใหญ่ได้หรือไม่

อะไรคือพรรคใหญ่หรือพรรคเล็ก ผมจะลองวางเกณฑ์ให้ดู  อย่างในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาในปี 2562  มีระบบปาร์ตี้ลิสต์ กับระบบ สส.เขต โดยเอาจำนวนที่นั่งทั้ง 2 อย่างมารวมกันเพื่อดูภาพรวมของดุลอำนาจในสภา จะเห็นว่ามีพรรคการเมืองทั้งหมดในรัฐสภา รวม 27 พรรค  พรรคขนาดใหญ่ มีที่นั่งเกิน 80 ขึ้นไปมีจำนวน 3 พรรคคือเพื่อไทย พลังประชารัฐ และอนาคตใหม่   ส่วนพรรคขนาดกลาง มีที่นั่งระหว่าง 10-79 มีจำนวน 4 พรรคได้แก่ ประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทย ชาติไทยพัฒนาและเสรีรวมไทย  ที่เหลือเป็นพรรคขนาดเล็ก มีที่นั่ง 1-9  (พรรคต่ำสิบ) มีจำนวน 20 พรรค และในจำนวนนี้เป็นพรรคขนาดจิ๋ว  มี 1-3 ที่นั่ง อยู่มากถึง 16 พรรค

ในกติกาที่กำลังจะเปลี่ยนไป การเลือกตั้งครั้งหน้า สมมุติว่าเป็นปี 2566  โอกาสของพรรคเล็กกับพรรคจิ๋วอาจจะไม่มีหรือไม่สามารถเกิดได้เลย  จะเหลือก็แต่พรรคใหญ่กับพรรคกลางเท่านั้น เพราะฉะนั้น ผมจึงบอกว่าท่านต้องตั้งเป้าหมายใหญ่ คือต้องมีที่นั่งเกิน 50 คนขึ้นไป เป็นพรรคขนาดกลางหรือขนาดใหญ่เอาไว้ก่อน ถ้าไม่อย่างนั้นแล้วหมดโอกาสที่จะไปร่วมจัดตั้งรัฐบาลบริหารประเทศ  การขับเคลื่อนงานพัฒนาแบบที่เราคิดฝันมีอันจบสิ้น

นัยที่ 2 ที่ท่านต้องคิดใหญ่ คือโดยเจตนารมณ์ของแผนปฏิรูปประเทศด้านการเมือง เขาต้องการสร้างพรรคให้เป็นสถาบันการเมืองที่ถาวร ไม่ใช่เป็นพรรคเฉพาะกิจแบบที่เป็นกันอยู่ในทุกวันนี้ แล้วต้องเป็นสถาบันการเมืองถาวรของประเทศชาติ ไม่ใช่ของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เพราะฉะนั้น เขาจึงมุ่งหวังว่าจะต้องทำให้พรรคการเมืองมีความเป็นประชาธิปไตย

ตรงนี้ ถ้าท่านสร้างพรรคใหม่ขึ้นมา ท่านต้องมุ่งเป้าตรงนี้ด้วย ท่านต้องมุ่งสร้างพรรคใหม่ของท่านเป็นสถาบันการเมืองที่มั่นคงถาวรของประเทศเพื่อทำงานการเมืองในระยะยาว ไม่ใช่เป็นพรรคเฉพาะกิจแบบเลือกตั้งจบก็จบเท่านั้น

อันนี้เป็นเรื่องแรก ท่านต้องมีเป้าหมายใหญ่ ทำพรรคการเมืองให้เป็นสถาบันทางการเมืองที่ถาวร แล้วก็ต้องชนะการเลือกตั้งให้ได้มาก พอที่จะเป็นพรรคการเมืองขนาดใหญ่และก็มีโอกาสในการจัดตั้งรัฐบาลหรือร่วมจัดตั้งรัฐบาลบริหารประเทศ

โครงสร้างฐานรากของพรรค

เรื่องที่ 2  มวลสมาชิกพรรค

ถ้าจะสร้างพรรคการเมืองนั้น เราต้องสร้างพรรคการเมืองจากฐานราก ต้องสร้างฐานรากให้แข็งแรง  ฐานรากของพรรคการเมืองคืออะไร คือมวลสมาชิกพรรค มีความสำคัญ จะสร้างพรรคใหม่ต้องให้ความสำคัญกับมวลสมาชิก ทั้งในเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ

ประการที่ 1 ท่านควรต้องช่วยกันหาคนที่มีคุณภาพ มีแนวคิด มีอุดมการณ์ในเรื่องการเมืองวิถีใหม่ การเมืองเชิงศีลธรรมเข้ามามากๆ วันนี้เครือข่ายผู้สนใจการเมืองวิถีใหม่ขยายตัวไปอย่างรวดเร็ว  แต่ต้องยอมรับความจริงว่าคุณภาพจะปะปนกันมา บางคนเข้ม บางคนก็จาง ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดา  เหมือนคนที่เข้าวัด ไม่ได้หมายความว่าเป็นโสดาบันทุกคน อุบาสก อุบาสิกา ต่างเคร่งในศีลในธรรมไม่เท่ากันหรอก ต่างมาทำบุญที่วัดเดียวกันได้

 เพราะฉะนั้น ในกระบวนของเราก็เช่นกัน ความเข้มข้นในอุดมการณ์ อุดมคติ จะแรงแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับตัวเขาเอง  แต่ละท่านต้องต้องฝึกฝนขัดเกลาตัวเอง ไม่มีใครไปบังคับกันได้หรอก ต้องปฏิบัติกันเอาเองนะครับ แล้วต้องช่วยดูแลกัน เป็นกัลยาณมิตรช่วยให้กำลังใจซึ่งกันและกัน

ประการแรก ทำอย่างไรเราถึงชวนเชิญคนที่มีอุดมการณ์ในเรื่องการเมืองวิถีใหม่ ในเรื่องการเมืองเชิงศีลธรรมเข้ามาให้มาก แต่ไม่ต้องมากจนเกินขนาด มากพอดิบพอดี พอดีที่มันจะขับเคลื่อนได้ ถ้ามากเกินไป บางทีก็ดูแลในเรื่องของคุณภาพได้ลำบาก ถ้าพอเหมาะพอดี เราสามารถจะดูให้ได้ดีทั้งปริมาณและคุณภาพ เกิดความสมดุลและจะมีพลังในการขับเคลื่อน บางทีคนที่มีมากจนเกินไปและแต่คุณภาพไม่ได้ กลับจะกลายเป็นตัวถ่วง เป็นลูกตุ้มถ่วง ทำให้ตรงนั้นก็ติดปัญหา ทำตรงนี้ก็ติดติดขัดไปหมด อันนี้ก็เป็นแง่คิด

ประการที่ 2 สมาชิกจะมากจะน้อยก็ตาม ทำอย่างไรจะทำให้สมาชิกพรรค มีความรักความสามัคคี มีความเป็นปึกแผ่น ไม่ใช่เข้ามาชิงดีชิงเด่นกันจนแตกแยก ไม่จริงใจต่อกัน แทงกันข้างหลัง แบบนี้ไม่นานพรรคการเมืองก็แตก องค์กรไหนก็แตกทั้งนั้น ครอบครัวยังแตกเลย  เพราะฉะนั้นในเรื่องของสมาชิกมีความรักความสามัคคี จะต้องมีงานหนึ่งที่เรียกว่าสมาชิกสัมพันธ์  ต้องทำให้เพื่อนสมาชิกพรรคมีความเข้าใจ มีความมุ่งมั่นในอุดมการณ์อุดมคติขององค์กร ของพรรค มีความรักความสามัคคี ปัญหาอุปสรรคข้างหน้ายังมีมาก เราต้องไปแข่งขันกับคนข้างนอกอีกเยอะ ไม่ใช่มาฟาดฟันและเอาชนะคะคานกันเองภายในจนกระทั่งพรรคแตก

ประการต่อมา สมาชิกพรรคของท่าน ถ้าคิดใหญ่ ท่านต้องทำให้มีสมาชิกครอบคลุมทั้ง 77 จังหวัดเป็นปฐม จังหวัดนี้มี 50 คน จังหวัดนั้นมี 100 คน จังหวัดโน้นมี 200 คน  550 หรือ 1,000 คน  โดยไม่ควรปล่อยให้มีจังหวัดที่ฟันหรอ ต้องหาทางให้มีสมาชิกของเราไปหยั่งรากเอาไว้ในพื้นที่ทุกจังหวัดให้ได้ มีให้ครอบคลุม อันนี้ก็เป็นข้อแนะนำประการที่ 3

ถ้าท่านจะเริ่มต้นสร้างพรรคจากฐาน ฐานคือสมาชิก สมาชิกควรเป็นคนที่มีคุณภาพ ควรเป็นคนที่มีความรักสามัคคี เป็นปึกแผ่น และควรจะมีสมาชิกแผ่ขยายครอบคลุมพื้นที่ครบทั้ง 77 จังหวัด

งานการเมือง งานพัฒนา

เรื่องที่ 3  ฐานที่มั่นในการทำงาน

นอกจากสมาชิกพรรคแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญก็คือ ฐานที่มั่น

ตอนที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนเขาต่อสู้กับกองทัพเจียงไคเชค และต่อสู้กับญี่ปุ่น เขาให้ความสำคัญกับการสร้างฐานที่มั่น  สร้างพื้นที่อำนาจรัฐน้อยๆขึ้น ใช้ฐานที่มั่นเพื่อฝึกฝนทดลองการบริหารประเทศ  ฐานที่มั่นจึงเป็นที่ฟูมฟักและสะสมกำลัง เป็นที่ฝึกปรือ เป็นที่พักและฟื้นฟูกำลังยามเหน็ดเหนื่อย  เพราะฉะนั้นฐานที่มั่นจึงมีความสำคัญต่อการสนับสนุนปฏิบัติการในแนวหน้า

ฐานที่มั่นที่สำคัญของพรรคการเมืองอยู่ที่จังหวัด  จังหวัดควรมีสำนักงานตัวแทนของพรรคประจำจังหวัดครบทุกจังหวัด อันนี้เป็นงานของพรรค ควรจะมีฐานที่มั่นในแต่ละจังหวัด โดยพรรคเป็นคนสนับสนุนและบริหารจัดการ พรรคต้องมีระบบการบริหารจัดการและการกระจายอำนาจไปให้คณะกรรมการหรือคณะทำงาน หรืออะไรต่างๆในแต่ละพื้นที่ อันนั้นก็เป็นเรื่องระบบการบริหารตามปกติขององค์กร  สำนักงานตัวแทนของพรรคประจำจังหวัดจะเป็นมือไม้หรือแขนขาของพรรคในการทำงาน

ยังมีอีกแง่มุมหนึ่ง ถ้าหากว่าพรรคจะแข็งแรงต่อไป คือสาขาพรรคประจำเขต ถ้าหากว่าสาขาพรรคประจำเขตมีครบทุกเขต มันคือ 400 สาขา ตรงนี้สำหรับพรรคการเมืองใหม่ๆ บางทีอาจจะมากเกินจำเป็น พรรคการเมืองใหม่ๆมีสัก 77 สำนักงานตัวแทน ก็เก่งมากและหรูหราแล้ว สามารถทำอะไรได้เยอะ พวกเราที่เป็นสมาชิกที่อยู่ในจังหวัดนั้น จะต้องมาใช้ฐานที่มั่นนี้ในการทำงาน  ทั้งงานรณรงค์เฉพาะหน้า ทั้งงานพัฒนาระยะยาว ทั้งงานส่งเสริมอาชีพ ทั้งงานฝึกอบรมผู้คน

ที่ตรงนี้สามารถใช้พัฒนาศักยภาพของผู้นำ ควรจะมีการใช้งานตรงนี้ตลอดปี ใช้ให้คุ้มค่า ใช้ฐานที่มั่นของจังหวัดให้คุ้มค่า สร้างคน สร้างเครือข่าย ขยายเครือข่าย สร้างงานที่เป็นรูปธรรมให้ประชาชนสัมผัสได้และจดจำ ไม่ว่าจะก่อนการเลือกตั้ง ระหว่างการเลือกตั้ง และหลังการเลือกตั้ง โดยเฉพาะหลังการเลือกตั้งจะเป็นช่วงระยะที่ยาวนาน ช่วงการเลือกอย่างเก่งประมาณ 2-3 เดือน แต่ว่าหลังเลือกตั้งนั้นมันคือ 4 ปี

เพราะฉะนั้น หลังเลือกตั้งแล้ว ข้างบนทำงานอยู่ในสภา  ส่วนข้างล่างในพื้นที่ต้องเกาะติดประชาชน เกาะติดปัญหาของชาวบ้าน สะท้อนปัญหาความต้องการและความเดือดร้อนของชาวบ้าน สื่อสารกับ สส.ของเราที่ปฏิบัติงานอยู่ในสภา ให้รับรู้ รับทราบ แล้วก็เอาไปช่วยแก้ปัญหา ช่วยจัดการเรื่องที่เป็นอุปสรรค

ฐานพื้นที่อาจมี 2 ระดับ ระดับที่ 1 สำนักงานประจำจังหวัด ระดับที่ 2 สำนักงานสาขาพรรคประจำเขตเลือกตั้ง  ในเบื้องต้น สำนักงานสาขาประจำเขตเลือกตั้งอาจจะมอบให้เป็นหน้าที่ของผู้สมัครในเขตนั้น ดูแลกันไปก่อน บางทีอาจดูแลกันแบบบ้านๆก็ยังได้เลย ส่วนพรรคต้องรับรู้และให้การสนับสนุนและเชื่อมโยงกัน

การเคลื่อนไหวคือชีวิต

เรื่องที่ 4  กิจกรรมและความเคลื่อนไหว

เมื่อท่านสร้างพรรคการเมืองใหม่ขึ้นมาแล้ว ท่านต้องสร้างสรรค์กิจกรรมโครงการ ด้านพัฒนาสังคมและชุมชนท้องถิ่นขึ้นมาควบคู่กันไป เพื่อให้สำนักงานสาขาประจำเขตเลือกตั้ง หรือสำนักงานตัวแทนประจำจังหวัดสามารถมีความเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา  ความเคลื่อนไหวเป็นสัญญาณของการมีชีวิต  นั่นก็คือ เมื่อมีพรรค ก็ต้องมีกิจกรรม กิจกรรม และกิจกรรม แต่ต้องเป็นกิจกรรมในเชิงยุทธศาสตร์ มิใช่กิจกรรมกิ๊กๆก็อกๆทั่วไป

ถ้าต้องการให้เกิดกิจกรรมการพัฒนาในเชิงยุทธศาสตร์ที่หลากหลาย เพื่อพรรคกับสังคม-ชุมชนจะได้มีปฏิสัมพันธ์กันอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี จึงต้องมีโครงการ ต้องมีงบประมาณเพื่อรองรับการทำกิจกรรมเหล่านั้น โครงการเป็นเครื่องมือในการทำความฝันหรือสิ่งที่อยู่ในจินตนาการให้กลายเป็นความจริงในชีวิตประจำวันได้  กิจกรรมโครงการควรแตกต่างหลากหลายไปตามสภาพพื้นที่และความสนใจของชุมชนท้องถิ่นและภูมิสังคม รวมทั้งความถนัด ความเชี่ยวชาญ หรือความสนใจของผู้นำของพรรคในที่นั้นๆ

อย่างเช่น สมมุติว่าอาจารย์ศักดิ์ ที่นนทบุรี เก่งในเรื่องของกัญชา เก่งในเรื่องฟ้าทะลายโจรและสมุนไพรไทยอื่นๆ  อาจใช้จุดแข็งนี้เป็นเครื่องมือในการขยายเครือข่ายออกไป โดยเพาะหน่อกัญชา เพาะต้นฟ้าทะลายโจร หรือเพาะต้นกระท่อม เป็นหน่ออ่อนแล้วนำแจกจ่ายกันไป ปลูกกันในเครือข่ายสมาชิก บ้านละ 10 ต้น อะไรอย่างนี้

จุดสำคัญของเรื่องนี้อยู่ตรงที่การสร้างและขยายเครือข่ายที่มีคุณภาพนะครับ  เริ่มจากการทำเพื่อใช้กันเอง พึ่งพากันเอง แล้วพัฒนาไปสู่การแปรรูป ทำวิสาหกิจชุมชน พึ่งตนเองทางด้านสุขภาพ การดูแลรักษา covid หรืออะไรต่าง ๆ อันนี้มีกิจกรรมต่อเนื่องได้ตลอดปี

หรืออย่างคุณเฉลียว ที่ชัยภูมิ และครูละเอียด ที่หนองบัวลำภู เก่งในเรื่องการปลูกขิง หัตถกรรมพื้นบ้าน และเก่งการจัดการตลาดการเกษตรแบบรวมกลุ่ม ก็สร้างและขยายเครือข่ายไปเป็นกลุ่มผลผลิตทางการเกษตรและผลิตภัณฑ์ชุมชน กลุ่มต่างๆตามสภาพพื้นที่ เช่นกลุ่มขิง กลุ่มพริก กลุ่มผลไม้ กลุ่มผู้เลี้ยงปลา กลุ่มเลี้ยงหมู กลุ่มเลี้ยงโค กลุ่มสินค้าชุมชน ใช้หลักรวมกันซื้อรวมกันขาย เพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองและเพิ่มศักยภาพในการจัดการระบบสหกรณ์ ที่มีขนาดใหญ่ที่ขึ้นตามลำดับ

ถ้าพรรคการเมืองไหนมีกิจกรรมแบบนี้ตลอดทั้งปีอย่างต่อเนื่อง ประชาชนเขาจะจดจำ ไม่ต้องไปโฆษณาตัวเองให้เสียเวลา  ของมันเห็นหน้ากันอยู่เป็นประจำ แล้วก็เขาได้ประโยชน์จริง ดังนั้นเรื่องนี้เป็นเรื่องที่เราต้องมองในระยะยาว ไม่ใช่เอาแค่ช่วงฤดูกาลหาเสียงเอาแพ้ชนะในเฉพาะหน้าอย่างเดียว

โครงการจะมีกิจกรรม มีเครือข่ายเกิดขึ้น จะเป็นเวทีการสร้างผู้นำอย่างเป็นธรรมชาติในอีกทางหนึ่งด้วย อันนี้เป็นกิจกรรมการพัฒนาชุมชน พัฒนาท้องถิ่น มันได้ประโยชน์หลายระดับเหลือเกิน เชื่อมโยงทั้งงานพัฒนาชุมชน งานบริหารท้องถิ่นและงานการเมืองระดับชาติเข้าด้วยกัน บูรณาการประชาธิปไตยชุมชน ประชาธิปไตยท้องถิ่นและประชาธิปไตยระดับชาติเข้ามาหากัน ผู้ปฏิบัติงานและนักพัฒนาของพรรคสามารถที่จะทำงานได้อย่างต่อเนื่อง นี่แหละความเป็นสถาบันการเมืองที่ถาวรของประเทศ ไม่ใช่สมบัติของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

ในเยอรมันเขาถึงขั้นที่ให้พรรคการเมืองจัดตั้งมูลนิธิของพรรคการเมืองขึ้นมาทำงานพัฒนา แล้วสามารถของบประมาณประจำปีจากรัฐบาลได้ รัฐบาลจะจัดสรรงบประมาณไปให้กับพรรคการเมือง มากน้อยตามจำนวน ส.ส. ของพรรคการเมืองเหล่านั้น ถ้าพรรคการเมืองไหนมี ส.ส. มาก เขาก็ได้งบประมาณประจำปีไปมาก แต่ว่ามูลนิธิของเยอรมันนั้นจะเอามาเปรียบเทียบกับเมืองไทยไม่ได้นะครับ คนละคอนเซ็ปต์ คนละคุณภาพ

มูลนิธิของเขาเป็นมูลนิธิของพรรคการเมือง ทำงานด้านพัฒนาการเมืองแบบมีส่วนร่วม(participatory democracy)  พัฒนาเศรษฐกิจในระบบการตลาดเพื่อสังคม(social market economy) และพัฒนาการศึกษาเพื่อสร้างความเป็นพลเมือง(civic education)   มูลนิธิของพรรคการเมืองเหล่านี้ รับเงินงบประมาณโดยผ่านพรรค แต่เวลาทำงาน เขาห้ามพรรคการเมืองไปยุ่งเกี่ยวเลยนะครับ  พรรคผ่านเงินอย่างเดียว มูลนิธิเป็นอิสระของตัวเอง มูลนิธิของทุกพรรค จะต้องพัฒนาความเป็นพลเมืองที่เรียกว่า Civic Education สร้างพลเมืองเยอรมันในคุณภาพใหม่ ดังนั้น ในระบบนะมันแตกต่างกับเรามากเหลือเกิน แต่เป็นตัวอย่างกรณีศึกษาได้

ที่นี่เราไม่มีมูลนิธิแบบนั้น เราไม่ได้มีแหล่งทุนที่ถาวรแบบนั้น เราจึงต้องมีโครงการในนามของพรรค หรือเงินที่สนับสนุนพรรคที่ผ่านเข้ามาในรูปแบบต่างๆ  อันนี้ก็เป็นหน้าที่ของผู้บริหารพรรคจะต้องไปคิดว่า จะมีการระดมทุนหารายได้เพื่อมาสนับสนุนกิจการพัฒนาของพรรค ทั้งโครงการการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นและพัฒนาสังคมในพื้นที่ต่างๆได้อย่างไร

นโยบายระยะยาว 

เรื่องที่ 5  สร้างสรรค์นโยบายแบบมีส่วนร่วม

มีอีกเรื่องหนึ่ง  ถ้าเราจะสร้างพรรคใหม่ขึ้นมา พวกเราและมวลสมาชิกต้องมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย ในการเสนอนโยบายของพรรค อย่าลืมว่าเราเป็นพรรคใหม่  ทุกท่านเข้าเป็นสมาชิกพรรค ควรต้องเข้าไปด้วยความมุ่งหมาย มุ่งมาดปรารถนาว่าท่านจะร่วมเป็นเจ้าของพรรค ทำให้พรรคเป็นของมวลสมาชิกพรรค ไม่ใช่ของหลงจู๊ ไม่ใช่ของผู้บริหารพรรคเพียงไม่กี่คน ท่านต้องสร้างระบบประชาธิปไตยภายในพรรคใหม่ของท่านให้เกิดขึ้น สร้างให้เป็นวิถีวัฒนธรรมของพรรคนี้

การสร้างวัฒนธรรมองค์กรให้เข้มแข็งมั่นคง มักจะใช้เวลาที่ต่อเนื่อง  4 ปียังไม่ยังไม่ได้เลย อย่างน้อยต้อง 8 ปี  เพราะฉะนั้น งานการสร้างวัฒนธรรมแบบใหม่ในพรรคการเมืองใหม่ที่ท่านจะไปสร้าง ต้องใช้เวลาอย่างน้อยก็ 8 ปีถึง 10 ปี  ดังนั้นท่านต้องมุ่งมาดปรารถนาที่จะร่วมเป็นเจ้าของพรรคตั้งแต่ต้น ถึงแม้ท่านไม่ได้ลงสมัครเลือกตั้ง หรือลงสมัครแล้วไม่ได้เป็น ส.ส. ท่านยังคงเป็นสมาชิกพรรค ท่านต้องเล่นบทของนักพัฒนาและการเป็นเจ้าของพรรค  และรูปธรรมหนึ่งของการเป็นเจ้าของพรรคคือการมีส่วนร่วมกำหนดนโยบายของพรรค

นโยบายที่อยากพูดถึง  มี 2 ระดับ 2 ประเภท

ประเภทที่ 1  นโยบายสำหรับการพัฒนาในระยะยาว

เวลาที่เรามีเวทีพูดคุยกันอย่างนี้ ในวงไลน์ของพวกเราก็เหมือนกัน เมื่อพูดถึงนโยบาย ส่วนใหญ่แล้วมักจะพูดถึงเรื่องนโยบายการพัฒนาในระยะยาว ซึ่งหมายความว่า มักลงรายละเอียดเป็นสู่เรื่องย่อย เรื่องสาขาความเชี่ยวชาญต่าง ๆ ตามความสนใจ  เช่นทางด้านเกษตรอินทรีย์ก็จะมุ่งลงลึกและแยกย่อยไปทางนั้น ถ้าใครสนใจเรื่องท่องเที่ยวชุมชนก็จะมุ่งไปทางนั้น เป็นสาขาย่อย ๆ 

สิ่งเหล่านี้ไม่เสียหลาย  ท่านคิดไว้ ฝึกซ้อม ฝึกปรือสมองของท่านเอาไว้ อย่าลืมเก็บรวบรวมเอาไว้ ทำเป็น documents หรือว่าเป็นเอกสารเอาไว้  บันทึกเอาไว้ วันหนึ่งข้างหน้า มันอาจจะได้ออกจากลิ้นชัก ควักเอามาใช้ได้  เมื่อไรนะหรือ ก็เมื่อท่านหรือคนในพรรคของท่านได้ไปเป็นนั่งเป็นรัฐมนตรีที่ดูแลในเรื่องนั้นพอดี อันนี้จะมีโอกาสได้ใช้  แต่ถ้าหากว่าคนจากพรรคของท่านไม่ได้เป็นรัฐมนตรี หรือไม่ได้อยู่ในรัฐบาล สิ่งที่คิดไว้ ต้องเก็บในลิ้นชัก  มักจะไม่ได้เปิดเอามาใช้หรอกนะครับ นี่เป็นประสบการณ์จริง  อย่างเก่งก็เอามานำเสนอใส่พานหรือใส่มือนักการเมืองพรรคอื่นเขาไป  ด้วยวิถีทางการเมืองเขาไม่ปฏิเสธหรอกครับ แต่สุดท้ายก็ไปทิ้งลงตะกร้า

แต่ว่าไม่ใช่เรื่องที่เสียหลาย เอาไปเก็บไว้และนำออกมาลองผลักดัน เผื่อบางที่ปลาหุบเบ็ดบ้าง  ตัวผมเอง เวลาผมจะคิดเรื่องใด อยากจะทำเรื่องอะไรใหม่ๆ  คิดขึ้นมาปั๊บ ผมจะคิดไปให้สุด สุดถึงไหนรู้ไหมครับ   คิดถึงระดับโครงการ คือ Project  Project  Project  เพราะนั้นมันคืออะไร มันคือการออกแบบวางแผนที่จะทำความฝันและจินตนาการของเราที่ปิ๊งแว้ปขึ้นมานั้นให้เกิดเป็นจริง

การเขียนโปรเจ็คที่สมบูรณ์ มันจะบอกตั้งแต่เป้าหมาย วัตถุประสงค์ วิธีการทำงานจะทำอย่างไร มีแนวทางอย่างไร ใช้งบประมาณสักเท่าไร จะเอามาจากไหน ทำแล้วจะสำเร็จหรือล้มเหลว วัดได้ด้วยอะไร ผลที่คาดว่าจะได้รับคืออะไร

คือการคิดอะไรสักอย่างมันง่าย แต่การที่จะคิดให้ทะลุไปจนกระทั่งมีโอกาสได้ทำจริง ส่วนใหญ่แล้วจะไปไม่ค่อยถึง เริ่มแรกคือมักไปไม่ถึงโปรเจ็ค จะจบอยู่แค่แนวคิด ข้อเสนอ แนวคิดที่เขียนไว้ทั้งหลายแหล่มักขึ้นหิ้งหมด ยกเว้นส่วนที่คิดเองและลงมือทำเองโดยไม่พึ่งงบประมาณจากใคร  

แม้คิดไปถึงโปรเจ็ค แล้วก็ยังอาจจะขึ้นหิ้ง ถ้าหากว่าพรรคของเราไม่มีโอกาสเข้าไปบริหารงบประมาณ  อย่างไรก็ตาม ถ้าโอกาสเข้ามาเมื่อไหร่ สิ่งที่เรา Project เอาไว้ มันสามารถดึงจากลิ้นชักออกมาได้ทันที เพราะโอกาสมันมักไม่ได้บอกเราก่อนว่าเมื่อไร  บางทีมันเดินมาชนเราเปรี้ยงเลย  จังหวะนั้นถ้าเราสามารถควักออกมาใช้ได้ทันที ก็คว้าใส่มือผู้ตัดสินใจทางนโยบายได้ อันนั้นคือสุดยอด

เรื่องของโครงการ มันจะต้องมีนโยบายการพัฒนาระยะยาวที่หลากหลาย บางคนสนใจเรื่องสาธารณสุข บางคนสนใจเรื่องการศึกษา ทำไปเถอะ คิดไปเถอะ แล้วทดความคิดบันทึกเก็บเอาไว้ ขยันเขียนหน่อย บันทึกความคิดเอาไว้  โปรแกรม SIRI มันสามารถให้เราพูด โดยช่วยพิมพ์ให้เราได้ แล้วเราก็มา Edit หน่อย เก็บเอาไว้เป็นไฟล์เอกสาร

นโยบายที่โดนใจ 

ประเภทที่ 2  นโยบายหาเสียงที่โดนใจ

สิ่งหนึ่งที่ท้าทายมากคือ นโยบายในการหาเสียง ตรงนี้เป็นตัวที่ชี้ชะตาว่าท่านจะได้เข้าสู่การเป็น สส.ได้หรือไม่  จะสามารถเดินผ่านเข้าประตูรัฐสภาเข้าไปได้ไหม ถ้าหาเสียงไม่สำเร็จ ประชาชนไม่ get ไม่ซื้อ ไม่เลือก ก็จบเพียงแค่นั้น สิ่งที่คิดฝันไว้มากมายก็ต้องรอไปก่อน

นโยบายหาเสียงจึงเป็นนโยบายเฉพาะกิจของแต่ละพรรคการเมือง  ต้องปรับไปตามสถานการณ์บ้านเมืองและสภาพปัญหาประชาชน  อย่างเช่นวันนี้มีปัญหาเรื่องโควิด ปัญหาเรื่องความยากจน ปัญหาเรื่องการกระจายอำนาจ มันก็ต้องคิดนโยบายที่จะโดนใจกลุ่มเป้าหมายที่เกี่ยวข้อง  โดยเฉพาะกลุ่มเป้าหมายที่มีประชากรเป็นกลุ่มก้อนใหญ่ๆ  เช่นเป้าหมายที่เป็นเยาวชน วัยรุ่น เป้าหมายกลุ่มคนทำงาน เป้าหมายของนักบริหารท้องถิ่น เป้าหมายอของพวกผู้ประกอบการ SME  ท่านก็ต้องช่วยกันสำรวจปัญหาและความต้องการและขบคิด แล้วก็นำเสนอ

 หมายความว่าต่างคนต่างช่วยกันคิด ต้องมีกลไกที่จะรวบรวมและประสานกับทางผู้บริหารของพรรค  ซึ่งตอนนี้เราไม่รู้ว่าชื่อพรรคอะไร ไม่รู้ว่าใครจะเป็นผู้บริหารพรรค เราต้องมีช่องทางที่จะส่งต่อความคิดไปถึงกลไกลการตัดสินใจของพรรคให้ได้  อันนี้ใช่  อันนี้โดน  บางนโยบายมีการเสนอมาตรงกันทุกสายก็ยิ่งมีน้ำหนัก ไม่ใช่ว่าเราเสนอแล้วต้องเอาของเราเป็นหลัก ไม่งั้นมีเคือง อย่างนี้ไม่ได้ ใจต้องใหญ่  เราไม่ควรจะไปคาดคั้นว่า ต้องเอาของฉัน ไม่งั้นไปด้วยกันไม่ได้ อะไรอย่างนี้ก็ไม่ใช่ประชาธิปไตยแล้ว  กระบวนการทำงานของเราต้องมีความเป็นผู้ใหญ่ มีวุฒิภาวะ และต้องหนักแน่นพอ บางทีเราก็เสนอไปแล้ว เป็นของดีจริงๆ แต่ว่าวิธีการนำเสนออาจยังไม่โดนใจ ยังไม่ทำให้เขาเข้าใจได้ ก็ต้องพยายามใหม่ ตรงนี้ขออย่าลดละ

เรื่องนโยบายเป็นเรื่องสำคัญ จะต้องทำทั้งนโยบายระยะยาวและนโยบายเฉพาะหน้า  เฉพาะหน้าคือนโยบายการหาเสียงเลือกตั้ง ตรงนี้ไม่ควรจะมีนโยบายที่มีหลายข้อนัก คนจะได้จดจำง่าย เคลื่อนไหวสร้างกระแสสังคมได้ง่าย และก็มั่นใจว่าถ้าได้เป็นรัฐบาล เราจะสามารถทำได้ทันที เหมือนคุณทักษิณตอนที่เขาประกาศเรื่องนโยบายกองทุนหมู่บ้าน 1 ล้านบาท กับนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค  เขาทำได้ทันทีที่เป็นรัฐบาล โดยเริ่มจากออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ตั้งกลไกคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านขึ้นมา ผมก็เป็นกรรมาการผู้ทรงคุณวุฒิอยู่ในชุดนั้น อาจารย์ไพบูลย์ วัฒนธรรมก็อยู่ พระอาจารย์สุบิน ปณีโตก็อยู่ 

ส่วนเรื่องของนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค เขาก็ตั้งคณะกรรมการอีกชุดหนึ่งขึ้น หมอสงวน นิตยารัมภ์พงษ์ไปอยู่ชุดนั้น ทำงานกับกระทรวงสาธารณสุข คุณสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ เป็นรัฐมนตรีสาธารณสุข  หมอสุรพงษ์ สืบวงศ์ลี เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการฯ มีระเบียบสำนักนายกฯ ตั้งกลไกคณะทำงานขึ้นมา  จากนั้นมีสำนักงาน มีบุคลากร มีกำลังพล แล้วก็เริ่มมีการเตรียมการประสานหรือทำความเข้าใจกับกระทรวงต่างๆที่เกี่ยวข้อง จนมี พรบ.เฉพาะขึ้นมารองรับ  จึงเป็นนโยบายที่ตั้งมั่นได้และสืบเนื่องการทำงานมาจนถึงปัจจุบัน  เราสามารถเรียนรู้จากเขาว่า ถ้าเราจะสร้างพรรคการเมืองกันขึ้นมาพรรคหนึ่ง เราจะมีเรื่องอะไรบ้างที่เราควรจะต้องทำ  

ประชาธิปไตยภายในพรรค

เรื่องที่ 6 วัฒนธรรมประชาธิปไตยในพรรค

ในเฉพาะหน้านี้ ในหมู่ผู้สมัครซึ่งก็เป็นพวกเรากันเอง อาจมีบางเขตบางพื้นที่ มีคนต้องการลงแข่งขันซ้ำกัน มีผู้สมัครมากกว่า 1 คน ถ้าหากว่าปรึกษาหารือ ตกลงกันได้ หลบหลีกพื้นที่กันได้ก็จบไป ไม่ต้องแข่งขันแย่งชิงกัน แต่ถ้าตกลงกันไม่ได้ มีการแข่งกัน ก็ต้องใช้ระบบระบบเลือกตั้งขั้นต้น ( Primary vote)ช่วยชี้ขาด

พวกเราในฐานะผู้ที่จะสร้างพรรคการเมืองใหม่ขึ้นมาก็ต้องช่วยกันสร้างสรรค์ระบบและวิธีการ  เพราะมันไม่เคยมีมาก่อนในประเทศไทยใช่ไหม เราไปเอาตัวอย่างของอเมริกาและที่อื่นเขามา เมื่อมาใช้ในวัฒนธรรมของเรา ยังไม่รู้เหมือนกันว่า มันจะสำเร็จหรือไม่สำเร็จ  แต่รัฐธรรมนูญ  2560 เขาได้ออกแบบเรื่องนี้ไว้  เรื่องนี้น่าสนใจรูปแบบวิธีการที่ผู้นำชุมชนในระดับฐานรากเขาใช้  การคัดสรรผู้นำในระบบประชาธิปไตยชุมชนเขาจะใช้วิธีการ “ฉันทมติ” คือการเห็นพ้องต้องกัน ไม่ใช้วิธีการโหวต หรือ“ประชามติ” จึงไม่เกิดความแตกแยก ไม่มีผู้แพ้ผู้ชนะ มีแต่ความสามัคคีร่วมแรงร่วมใจทำงานกันต่อไป 

ในฐานะที่เราเป็นผู้ปฏิบัติการทางการเมืองในพรรคการเมืองในวิถีใหม่ เราต้องการสร้างสถาบันทางการเมือง มุ่งทำงานพัฒนาการเมืองระยะยาว เพราะฉะนั้น เราก็ต้องสร้างสรรค์นวัตกรรม ช่วยกันบุกเบิก สร้างสรรค์รูปแบบในการทำ Primary Vote ไม่ใช่หลบหลีก ที่ผ่านมามักจะหลบหลีกกัน อ้างว่ามันทำยาก มันเป็นภาระ อย่างนั้นอย่างนี้ ในที่สุดแล้วก็ใช้วิถีเก่าเหมือนเดิม

เพราะฉะนั้นในเรื่องของ Primary Vote ผมฝากไว้ว่าอยากให้ช่วยกันสร้างสรรค์พัฒนาระบบ Primary vote และทดลองใช้กันดูสักพักหนึ่ง ถ้ามันดีก็ทำต่อ ถ้าไม่ดีก็ปรับปรุง ถึงที่สุดแล้วถ้ามันไม่ดีจริง ไม่ได้เรื่องเลย ทั้งเป็นโทษมากกว่าเป็นประโยชน์ก็เลิกกันไป เราก็ต้องหาจุดที่ลงตัวกับวัฒนธรรมวิถีชีวิตของคนไทยให้ได้มากที่สุด

หมั่นหมาย ออกเรือน

ที่กล่าวมาเป็น 6 เรื่อง สำหรับท่านที่จะไปร่วมกันสร้างพรรคการเมืองใหม่ หมายถึง 125 คน ที่กำลังคุยกันอยู่ในห้องประชุมออนไลน์วันนี้  ผมฝากไว้อย่างนี้ ส่วนว่าท่านจะไปขับเคลื่อนอยู่ในพรรคการเมืองเก่าของท่าน หรือว่าจะไปร่วมสร้างพรรคการเมืองแห่งใหม่ ล้วนต้องอาศัยเวลา ต้องอาศัยการประสานงาน ต้องสร้างความยอมรับ และตัดสินใจ

คุณบรรหาร คุณสุรพงษ์ คุณสรณะ และ อ.ศักดิ์  ต้องสร้างการยอมรับและเป็นสะพานเชื่อม ระหว่างพวกเรากับพรรคการเมือง  พรรคไหนที่มีแววดี มีความสนใจเรา และเราก็สนใจเขา  เขารับเราได้ เรารับเขาได้  จนกระทั่งเมื่อถึงจุดหนึ่ง ถ้าตกลงปลงใจที่จะมาร่วมกันสร้างพรรคการเมืองในวิถีใหม่ด้วยกันอย่างนี้ มีคนที่ขันอาสาบุกเบิก มีผู้กล้านับร้อยที่ตัดสินใจบุกหน้า แสดงตัวตนออกมา ตรงนี้ก็ถือเป็นความก้าวหน้าสำคัญ

แต่ว่ายังไรก็ตาม พวกเราทุกท่านต้องเข้าใจ ว่าขณะนี้ยังไม่มีพรรคการเมืองที่ว่านี้เลยนะครับ  ที่เราคุยกันในวันนี้ ยังไม่มีใครเป็นตัวแทนของพรรคการเมืองใด ไม่มีใครเป็นเจ้าของพรรคการเมือง ไม่มีใครสามารถตกปากรับคำกับพวกเราได้  แม้เป็นข้อมูลความพร้อมจากการสำรวจความความต้องการเบื้องต้น เป็นความมุ่งมั่นความสนใจที่ค่อนข้างใกล้เคียงความจริงที่สุด  ผมอยากให้ทุกท่านได้ขึ้นแสดงฝีมือในการแข่งขันเลือกตั้งคราวหน้าครบทุกคน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ไม่มีใครตอบได้ เป็นเรื่องของการประสานงานกัน

ฝ่ายตัวแทนของเราในทางนี้ ผมขอให้ทั้ง 4 ท่าน เป็นตัวแทนของเครือข่ายเราทั้ง 3 เครือข่าย ไปดูซิว่าถ้าพรรคการเมืองไหนเขาอยากจะสร้างพรรคการเมืองในวิถีใหม่ และเขาสนใจ เขายอมรับ มีความศรัทธาในระดับหนึ่งต่อแนวทางของการเมืองวิถีใหม่หรือการเมืองเชิงศีลธรรมแบบที่เราขับเคลื่อนอยู่จริง ตรงนี้ขอให้ช่วยกันตัดสินใจ

เหมือนกับเราเป็นแฟนกัน ยังเป็นแค่คนรัก กำลังดูใจกันอยู่  มีพรรคการเมืองบางพรรคที่จะตั้งขึ้นใหม่ เขาเกิดมีความสนใจที่จะทำงานร่วมกับเรา พวกเราดูเขาว่าเป็นพรรคการเมืองที่น่าสนใจ เมื่อเปรียบเทียบกับบรรดาพรรคการเมืองที่มีอยู่ในตลาดขณะนี้  ซาวเสียงกันแล้ว พวกเราหลายคนบอกว่าอย่างนี้รับได้  ฝั่งหนึ่งเป็นสุภาพบุรุษรูปงาม ฝั่งเราเป็นสุภาพสตรีที่มีคุณสมบัติ  ทั้งคู่รักกันและอยากแต่งงาน แต่ตอนนี้พิธีมั่นหมายยังไม่เกิดขึ้น ยังไม่ได้ร่วมหอลงโรง การตกลงปลงใจจะเริ่มจากการสมัครเป็นสมาชิกพรรค สามารถนับหนึ่งได้ในตอนนั้น ถ้าสมมุติว่า  125 คนของเราในขณะนี้ หลังจากพูดคุยกันแล้ว ดูทางโน้นแล้ว เห็นหน้าเห็นตากันแล้ว ไม่ใช่คลุมถุงชนนะครับ  แต่ผู้ขันอาสาต้องตัดสินใจเอาเอง นี่เป็นขั้นที่ 1

การที่จะตัดสินใจสมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรค บางคนยังติดภาระเก่าอยู่เลย  ใจอยากจะไปแต่ว่ายังติดภาระ เพราะว่าตัวเองเป็นสมาชิกพรรคอีกพรรคหนึ่งอยู่ ต้องไปลาออกซะก่อน  หรือบางคนถึงขั้นเป็นเจ้าของผู้ก่อตั้ง มีพรรคการเมืองส่วนตัวอยู่แล้วพรรคหนึ่ง ถ้าจะเลิกไปมันก็เสียดาย “หัวพรรค” ที่อุตส่าห์จดทะเบียนเอาไว้  มันมีสารพัดเหตุผล  เพราะฉะนั้นใครที่พร้อมก็ไปก็เริ่มต้นนับหนึ่ง เข้าสู่ประตูวิวาห์ ก็ตรงสมัครเป็นสมาชิกพรรค แล้วจากนั้นเป็นต้นไป ท่านต้องเข้าไปในฐานะเจ้าของพรรค ต้องเป็นสมาชิกและเจ้าของตัวจริง ตั้งใจไปร่วมสร้างพรรค สร้างบ้านใหม่ตรงนั้นให้จริงจัง  เอาใจใส่ เอาธุระช่วยกัน รวมทั้งเรื่องของการจัดทำนโยบายเลือกตั้ง การขยายสมาชิก และการพัฒนาระบบ Primary Vote หรืออะไรต่างๆก็จะตามมา

วงเฉพาะ ภารกิจเฉพาะ

อีกอย่างที่อยากจะบอกไว้  จากนี้ไปสำหรับคนในเครือข่ายของเราทั้ง 3 เครือข่าย ถ้าใครตัดสินใจไปร่วมบุกเบิกสร้างพรรคการเมืองวิถีใหม่  ขอให้แยกไปทำภารกิจเป็นอีกกลุ่มหนึ่งต่างหาก จะได้พูดคุยในเรื่องที่เฉพาะเจาะลึกลงไปกันได้อย่างเต็มที่  ส่วนวงคณะทำงานที่มีอยู่เดิมตามบทบาทของอนุกรรมาธิการการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา เราจะไม่คุยเรื่องงานของพรรคการเมือง เราต้องพร้อมที่จะถูกตรวจสอบ และป้องกันมิให้เกิดผลกระทบที่ไม่พึงประสงค์  เพราะคนรักเรามี และคนเขม่นเราก็มาก

แต่อย่าลืมว่าสำหรับพี่น้องทุกคนที่ไปทำงานพรรคการเมือง เรายังถือว่าเป็นคนครอบครัวเดียวกัน เป็นพี่เป็นน้อง เติบโตทางความคิดการเมืองมาด้วยกัน ใครจะแวะเข้ามาเยี่ยมบ้านเมื่อไหร่ก็มาได้ตลอดเวลา  ที่นี่คือบ้านที่อบอุ่นของพวกเรา  ถือเสียว่าเมื่อเติบใหญ่แล้วก็ต้องแยกไปทำงานต่างภารกิจ ต่างพื้นที่เป็นธรรมดา  ทุกท่านยังคงเป็นที่ปรึกษาประจำตัวของผมอยู่เช่นเดิม  เป็นแต่เพียงว่าถ้าจะคุยเรื่องการสร้างพรรคการเมืองและการวางแผนลงแข่งขันเลือกตั้ง กรุณาไปคุยอีกห้องหนึ่ง ต้องตั้งวงขึ้นใหม่และผมจะไม่เป็นสมาชิกประจำของห้องใหม่นั้น  เมื่อใดที่อยากให้ผมมาพูดคุยกับพวกท่านในห้องใหม่  เช่นเดือนละครั้งหรืออะไรก็แล้วแต่ ท่านสามารถเชิญได้เป็นคราวๆไป

เดี๋ยวนี้ ในโลกยุค social media มันมีเฟกนิวส์ได้ง่ายมาก อย่างเช่นขณะนี้ มีการปล่อยข่าวแล้ว ใครจะมาลงพรรคการเมืองวิถีใหม่ เขาให้หัวละ 30 ล้าน นี่มันเป็นเฟกนิวส์ชัดๆ  เพราะแค่จะหาเงินเลี้ยงกาแฟสมาชิกในขณะประชุมยังลำบาก บางทีมีคนต้องการให้ร้ายป้ายสี ไม่รู้จะห้ามกันได้ด้วยวิธีไหน ไม่มีทางป้องกันได้เลย เพราะฉะนั้นมีทางเดียวคือต้องตั้งสติให้ดี ระมัดระวังทุกฝีก้าว จะพูด จะสื่อสาร จะทำอะไร ต้องระมัดระวังอย่างยิ่ง

อันที่จริงงานของเราไม่ใช่งานความลับ ไม่ใช่งานใต้ดิน เป็นงานเปิดเผยทุกอย่าง แต่ว่าในเรื่องของยุทธศาสตร์ ยุทธวิธี ในบางครั้งมีเรื่องที่ยังไม่ชัดเจน ยังไม่สุกงอม ถ้าออกข่าวไปก่อน เผยแพร่เร็วเกินไป จะถูกบิดเบือนได้ง่าย ทำให้สะดุด  อะไรก็ตามที่สะดุดหกล้มมันเสียพลังงานไปเยอะ เจ็บปวดด้วย บางทีถึงขั้นกระดูกหัก ลุกไม่ขึ้นเลย ดังนั้นต้องระวังอย่าให้ล้ม

ต่อไปนี้การทำงานของเราในเครือข่ายการเมืองวิถีใหม่ของวุฒิสภา  เราจะทำการรณรงค์เรื่องของการเมืองศีลธรรมในภาพรวมทั่วไป  ส่วนรณรงค์แข่งขันเลือกตั้งเป็นหน้าที่ของพรรคการเมืองที่พวกท่านทั้งหลายจะไปอยู่ จะไปสร้าง  ขอจงทำให้เต็มที่ ถ้ามีปัญหาอุปสรรคอะไร อยากจะปรึกษาพวกเราทางนี้ ย่อมได้ทันที ทุกเมื่อ ทุกเวลา บอกไว้ก่อนอย่างนี้ เรายังมีครอบครัว ยังมีความเป็นพี่น้องเหมือนเดิมทุกอย่าง จะคอยเชียร์และให้กำลังใจ  

ของดี เรามีอยู่

 ขอตอบคำถามของพวกเรานิดหนึ่งว่า ตอนนี้ใครที่จะขอความชัดเจนในเรื่องนโยบายของพรรค  บอกว่าไม่รู้ ต้องรอถามเขาดู  เราเป็นคณะทำงานของ ส.ว.ไม่ใช่พรรค ไม่มีพรรค  ส่วนคนที่จะไปสร้างพรรคนั้นเขากำลังดูใจกันอยู่  ต่างฝ่ายต่างต้องดูแลตัวเองไปก่อน จะไปหวังให้เขาสนับสนุนนี่-โน่น-นั่น ยังเร็วเกินไป

พรรคการเมืองที่เขาหมายตากันไว้ มีอยู่จำนวนหนึ่งแล้ว ไม่ใช่พรรคเดียว เรามั่นใจว่าเรามีของดี เราเป็นสาวงาม มีพร้อมทั้งคุณสมบัติ คุณธรรม จริยธรรม จริยวัตรต่างๆ สามารถดำรงรักษาเกียรติศักดิ์แห่งตน  เรามีคุณสมบัติที่เชื่อว่าคนอื่นอาจไม่มีเหมือนเรา แม้พรรคการเมืองที่มองกันอยู่ เขาก็ไม่มีเช่นกัน เขาจึงก็ต้องการมากเสียด้วย  เรามีในสิ่งที่เขาไม่มี

ในการที่จะพูดคุยกับใคร เป็นหน้าที่บทบาทของทีมพ่อสื่อแม่ชักทั้ง 3 ท่าน สถานะตอนนี้ทราบว่ากำลังดูพรรคการเมืองไหนจะจริงจังจริงใจและสามารถไปได้กับเราได้ เพราะการตัดสินใจครั้งนี้ คือเป็นการสร้างครอบครัวใหม่ การร่วมหอลงโรง ต้องดูว่าเขาเป็นสุภาพบุรุษ เป็นคนดี มีสกุลรุนชาติ สามารถสร้างครอบครัวกับเราได้  เราไม่ได้เข้าไปอยู่ในฐานะผู้อาศัย  เราไม่ใช่ทาสทาสี แต่เราจะเป็นผู้ร่วมสร้างครอบครัวและวงศ์ตระกูล

                เรามีสิ่งที่เขาไม่มี แต่ขณะเดียวกันเขาก็มีในสิ่งที่เราไม่มีเหมือนกัน ถ้าหากว่าจะให้พวกเราทั้งหลาย ไปสร้างพรรคการเมืองกันขึ้นมาเอง  คงสร้างได้แค่พรรคการเมืองพรรคขนาดเล็ก พรรคขนาดจิ๋ว แต่ว่าตอนนี้โอกาสของพรรคจิ๋ว พรรคเล็กมันจบไปแล้ว  แต่การสร้างพรรคการเมืองขนาดกลางและขนาดใหญ่ก็หนักเกินไป  เพราะเราไม่มีทุนทางการเงินที่มากเพียงพอ

                 ทุนในที่นี้ไม่ได้หมายความว่า เราจะต้องเอาเงินไปแจกใคร แต่มันต้องมีทุนในการบริหารจัดการองค์กรในเชิงระบบ สมมติว่าเรื่องของการมีออฟฟิศในระดับจังหวัด ที่เราพูดสร้างฐานที่มั่นในจังหวัด มันก็ต้องใช้งบประมาณ  พรรคการเมืองจึงต้องมีระบบในการจัดหาทุนและสนับสนุนทุนให้กับทีมผู้ปฏิบัติงานแนวหน้า ในภาคสนาม  ต้องการระบบจัดการแบบมืออาชีพ 

                  ขณะนี้ทราบว่า ผู้ประสานทั้งสองฝ่าย ต่างมีความมั่นใจในเรื่องของความมีสกุลรุนชาติ ความมีชื่อชั้น และมั่นใจในระดับหนึ่งแล้วว่าเขากับเราน่าจะไปกันได้ ไปแบบพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน จะไม่มีใครข่มใคร เหมือนสามีภรรยาจะสร้างครอบครัวด้วยกัน จะมาข่มกันไม่ได้ สามีไม่ข่มภรรยา ภรรยาไม่ข่มสามี ต้องใช้ท่าทีที่เคารพซึ่งกันและกัน เห็นคุณค่าบทบาทของกันและกัน เอาหลักการตรงนี้ก่อน

                   ดังนั้น ใครที่ถามเรื่องนี้ ต้องบอกให้ชัดเจนว่าวันนี้เรายังไม่ได้แต่งงานกับใคร  เรามีฐานะของสาวงาม มีผู้ขันอาสาชุดแรกกว่าร้อยคน ทั้งยังมีพี่น้องอีกนับแสนทั่วประเทศ ตรงนี้มันเป็นฐานทุนทางสังคม เป็นทุนที่ไม่ใช่เงิน เราไม่มีฐานทุนที่เป็นเงิน แต่เรามีฐานทุนในทางปัญญา ในทางคุณความดี 

รู้กำลัง พึ่งตนเอง

                    การทำงานใหญ่ ต้องใช้งบประมาณใช้เงินในระดับหนึ่ง ตรงนั้นเป็นข้อจำกัดของเรา ต้องตอบตามตรงว่าเราไม่สามารถ  เมื่อสภาพเป็นอย่างนี้ ถึงจะเป็นสาวงาม เรายังต้องสงบเสงี่ยม ระมัดระวังท่าที รักษาความงามสง่า  บางอย่างเร็วเกินไปจะหมดคุณค่า ไม่ใช่การเมืองวิถีใหม่  เราเข้าใจว่า มันต้องใช้งบประมาณ แต่ต้องมีจังหวะเวลา อย่าเอาตัวเราเองเป็นตัวตั้ง อย่าใจร้อน คนอื่นเขาไม่ได้ร้อนแบบเราก็ต้องเข้าใจเขาด้วย  เข้าใจฝั่งเจ้าบ่าว  เข้าใจทีมพ่อสื่อแม่ชักของเราด้วย

                      พวกเรามีการปรึกษาหารือ แลกเปลี่ยนข้อมูล ความคิดความเห็น ควรให้อยู่ในกรอบของความเป็นจริง กรอบของการร่วมทุกข์ร่วมสุขกัน มาร่วมฝ่าฟันอุปสรรคไปด้วยกัน อย่าเริ่มต้นจากการที่จะเรียกร้องให้ผู้บริหารหรือใครมาแก้ปัญหาให้เรา  ถ้าเป็นแบบนั้น ต่างคนต่างเรียกร้อง แล้วใครจะเป็นคนที่จะสนองได้ทั้งหมด ไม่มีหรอกครับ เพราะเราทุกคนต่างก็จิตอาสาเหมือนกันหมด ตรงนี้จึงต้องค่อยๆเรียนรู้และปรับตัวเข้าหากันนะครับ

                     ถ้าเป็นเรื่องของใครคนเดียว เขตเดียว มันง่ายต่อการตัดสินใจ  แต่วันนี้พวกเราคิดการใหญ่  เราทั้งสองฝ่ายคิดจะลงสู้ศึกในทุกสนาม ทั้ง 400 เขต พวกเรามีสถานะอะไร สถานะของเราเป็นผู้ท้าชิงที่ “โนเนม”  แต่หาญกล้าขึ้นต่อกรกับแชมป์จ้าวสังเวียนในทุกเขตเลือกตั้ง  แชมป์เก่าเขาย่อมมีทั้งอิทธิพลท้องถิ่น อำนาจเงินและเครือข่ายหัวคะแนน  เรากำลังท้าชิงแชมป์กับไมค์ ไทสัน มันจึงไม่ง่าย  เราต้องกล้าสู้ในทุกกติกา  350 หรือ 400 เขต  บัตรดียวหรือบัตรสองใบก็จะสู้  เราไม่เกี่ยง ใครจะไปร้องศาลรัฐธรรมนูญก็เป็นเรื่องของเขา ถ้าเขาร้องและได้ผลสำเร็จตามไหน เรายังคงสู้ตามนั้นโดยไม่เกี่ยงกติกา ไม่เกี่ยงพื้นที่ ไม่เกี่ยงสนาม ไม่เกี่ยงคู่แข่งขัน ไม่เกี่ยงกรรมการ  กกต. จะเป็นใครก็ไม่เกี่ยง

                       เมื่อคิดอย่างนี้แล้ว มันยากก็รับรู้ว่ายาก  ใครรู้สึกว่าไม่ไหว หรือท้อแท้หมดกำลังใจต่อสู้ ก็ถอยออกไปก่อนไม่มีใครว่า  แต่ถ้ารู้สึกว่าอยากจะสู้อยู่เหมือนกันแต่ต้องเรียกร้องนั่น-นี่-โน่น ตั้งเงื่อนไขว่าผู้บริหารต้องมาช่วยอย่างนั้น อย่างนี้ ตรงนี้ลำบากแล้ว เพราะตอนนี้ไม่มีใครเป็นผู้บริหาร แล้วถึงแม้นจะมีพรรค มีผู้บริหารแล้ว ในวิถีใหม่ก็คงไม่ใช่สไตล์แบบนี้นะครับ ทุกคนต้องช่วยตัวเองด้วยกันทั้งนั้น อีกทั้งยังต้องเสียสละช่วยส่วนรวม ช่วยพรรค ช่วยแบ่งเบาภาระของมิตรร่วมรบ

                        วันนี้ พวกท่านรวบคนที่มีความต้องการและสมัครใจในเบื้องต้น 125 คน จาก 45 จังหวัด นี่เป็นการตั้งต้นที่ดี  ขั้นตอนต่อไปเป็นหน้าที่ของทีมพ่อสื่อแม่ชักทั้ง 3 ท่าน ต้องประสานกับทางฝ่ายพ่อแม่เจ้าบ่าว ว่าบัดนี้ลูกสาวเราน่าจะพร้อมแล้วในเบื้องต้น แต่การตัดสินใจขั้นสุดท้ายอยู่ที่เจ้าตัวเขาแต่ละคน การกรอกใบสมัครเป็นสมาชิกพรรค คือการยินยอมสวมแหวนหมั้นครับ

ชีวิตทางการเมือง

                       เมื่อถึงเวลานั้นจริง  ใน 125 คนอาจจะสมัครเป็นสมาชิกพรรคเพียง 100 คน แค่ไหนก็แค่นั้นเพราะขึ้นอยู่กับใจของแต่ละคน ไม่มีการบังคับกับ เป็นจิตอาสาที่ขับเคลื่อนออกมาจากภายใน  หรือจะสมัครกันแค่ 50 คน จะกี่คนก็เริ่มจากจุดนั้น  ใครไม่พร้อมอย่าเพิ่งเข้าไป งานนี้ไม่ใช่งานง่าย ไม่ใช่การเล่นเรือนน้อย งานนี้ไม่มีใครอุ้มใครได้ ต้องขึ้นเวทีสู้เอง  สู้กับแชมป์เก่าระดับไมค์ ไทสันเสียด้วย 

                        แม้ตัวผมเอง ที่พูดอย่างนี้ก็ไม่ได้เป็นเจ้าของพรรค ไม่เป็นสมาชิก ไม่ได้เป็นกรรมการ ไม่ได้เป็นพ่อสื่อแม่ชัก  แต่เห็นว่าเจ้าบ่าวกับเจ้าสาวเป็นคนดีด้วยกันทั้งคู่  มีความสามารถที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับบ้านเมืองได้  ผมจึงอยากเห็นเขาแต่งงานกัน แต่งงานแล้วต้องมีลูกหลาน คือสร้างผลผลิตการเปลี่ยนแปลง มีนโยบาย มีโครงการ มีแผนงาน และสามารถแก้ปัญหาของประชาชนได้ แก้ปัญหาความยากจนได้อย่างเป็นรูปธรรม อยากเห็นพวกเขาไปแก้ไขปัญหาของบ้านเมือง ไม่ใช่ให้ไปเสพสุข อยู่สบายกันเพียง 2 คน

                      อีกจังหวะหนึ่งจากวันนี้ไป คือการตัดสินใจสมัครเป็นสมาชิกพรรค จะสมัครแข่งขันเลือกตั้งในเขตใดก็ต้องสมัครเป็นสมาชิกเสียก่อนอย่างน้อยให้ทัน 90 วันก่อนการเลือกตั้ง  เร็วๆนี้คงมีข่าวดีจากทีมพ่อสื่อแม่ชัก พวกเราไม่ได้เริ่มจากศูนย์  ถ้าข่าวดีมาถึง พร้อมกับเอาแบบฟอร์มสมาชิกพรรคมาให้กรอกยืนยัน ของใครของมัน  ชำระค่าธรรมเนียมแบบรายปีหรือแบบตลอดชีพก็ว่ากันไปตามระเบียบข้อบังคับ เป็นการประกาศความตั้งใจที่จะเข้าไปช่วยกันสร้างสรรค์พรรคการเมืองให้เป็นสถาบันการเมืองที่มั่นคงแข็งแรง

                      จากนั้นเป็นต้นไป เมื่อท่านเข้าไปสู่เหย้าเรือนของพรรคแล้ว ไม่ว่าจะเป็นสมาชิกพรรคไหน อยู่กับใคร อย่าให้เขาดูถูกได้ ต้องไม่เห็นแก่ตัว หนักเอาเบาสู้  เข้าไปอย่างสง่างาม มีคุณค่าอยู่ในตัวเอง ร่วมเป็นเจ้าของพรรค เป็นเจ้าของครอบครัวเสมอกัน ไม่ควรจะมีใครข่มใคร สายบังคับบัญชาให้เป็นไปตามระเบียบข้อบังคับขององค์กร ต้องมีระเบียบวินัย สร้างความรักสามัคคีในพรรค วันนี้ยังไม่เห็นว่าใครเป็นกรรมการกันบ้าง  ต่อไปถ้าพวกเราเป็นกลุ่มก้อนขนาดใหญ่ภายในพรรค ก็อาจมีตัวแทนของพวกเราเข้าไปนั่งร่วมเป็นกรรมการบริหารกับเขาด้วย จะกี่คนก็ค่อยว่ากัน ใครที่เข้าไปเป็นกรรมการบริหารก็ไปทำงานตรงนั้นให้ดีและมีหน้าที่สะท้อนความต้องการของพวกเรา  อันนี้เป็นกระบวนการบริหารจัดการองค์กรตามปกติ

สัญญาณนัดหมาย

      เมื่อสมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรค  ท่านมีสถานะเป็นผู้ปฏิบัติงานของพรรคแล้ว ยิ่งกว่านั้นท่านยังสมัครเป็นขุนพลที่จะลงสู้ศึกในพื้นที่ที่ระบุชัดเจนว่าเขตไหน จังหวัดไหน พื้นที่เหล่านั้นใครคือแช้มป์คนปัจจุบัน อันนี้อาจเป็นแต้มต่อ แต่อย่างไรก็ตาม ต้องปล่อยให้ทุกอย่างเป็นไปตามกระบวนการขั้นตอนขององค์กร  เราก็ต้องเข้าใจกันอย่างนี้เสียก่อน ถ้าไม่พูดอย่างนี้ เดี๋ยวจะมาโทษกันในภายหลัง

        ขอย้ำว่า งานนี้ไม่มีง่าย งานมันยาก เปรียบเทียบว่าต้องเผชิญหน้ากับไมค์ ไทสันบนเวที  ท่านต้องเอาชนะให้ได้ด้วยสติปัญญาของท่าน การรู้ประชากร รู้ข้อมูลประชาชน รู้ภูมิประเทศ อันนี้เป็นหน้าที่ของผู้สมัครต้องทำการบ้าน ศึกษาค้นคว้า  อย่าเดินดุ่ยๆลงพื้นที่โดยไม่ศึกษาข้อมูล ไม่วางแผนอย่างรอบคอบ เพราะจะมีโอกาสแพ้สูง

      ถ้าท่านต้องการรู้ข้อมูลประชากร รู้ภูมิประเทศ มีเครือข่ายท้องถิ่น-ท้องที่วิถีใหม่ของเราอยู่ในทุกจังหวัด  ขอให้ไปปรึกษากันนะครับ เขาจะช่วยหาข้อมูลให้ได้ว่า ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งในอำเภอนี้ มีกี่คนและมีใครบ้าง มีกี่คน หมู่บ้านไหนมีเท่าไหร่อย่างไร เป็นเด็ก เป็นคนแก่ เป็นวัยรุ่น เป็นอะไรก็หาข้อมูลได้ ท่านต้องเริ่มทำการบ้านตรงนั้นเลย ถ้าท่านออกรบโดยไม่รู้ภูมิประเทศ เอาแต่รอปาฏิหาริย์ ท่านคงแพ้แน่  คนที่จะลงคะแนนให้เรา ระหว่างเงินซื้อกับผลงานความดีของเรา เขาจะเปลี่ยนใจมาเลือกเราไหม มันมีปัจจัยสารพัด ดังนั้นสถานการณ์จริงที่หน้างานเป็นตัวชี้ขาด  คนที่จะตัดสินใจที่หน้างานคือตัวท่าน คือขุนพลทุกคนนี้แหละ เขตใครเขตมัน ไม่มีใครรู้ดีกว่าท่านหรอก แล้วไม่ต้องหันมามองหน้าหาพี่เลี้ยง เพราะท่านจะรู้ดีกว่าพี่เลี้ยง  การตัดสินใจที่หน้างานอยู่ที่ตัวท่าน 

ส่งท้าย

      ผมอยากเห็นพวกท่านทุกคนได้ลงสู่สนามอย่างองอาจกล้าหาญ สามารถชิงแชมป์ได้สำเร็จ  ในแต่ละสนามมันแตกต่างกัน ยากง่ายไม่เหมือนกัน คู่แข่งก็แตกต่าง แข็งแกร่งไม่เท่ากัน ภูมิประเทศยากง่ายไม่เท่ากัน ศักยภาพหรือฐานทุนของขุนศึกฝ่ายเราแต่ละคนไม่เหมือนกัน เวลาขึ้นเวทีนั้นพี่เลี้ยงไม่ได้ขึ้นกับท่าน ตัวท่านเองขึ้นคนเดียว ขึ้นแล้วต้องสู้ สู้แล้วต้องชนะ ประเด็นมันอยู่ตรงนั้น

       แม้เรามุ่งชนะเอาไว้มาก แต่ถ้าเกิดพ่ายแพ้ก็อย่าไปท้อถอย อย่าไปโทษตัวเอง คราวต่อไปถ้ามีโอกาสจะแก้ไขสถานการณ์อย่างไร  อย่างที่มีคนท่องบทกวีปลุกใจบทหนึ่งว่า

        “สู้..พ่ายแพ้.. สู้ใหม่.. พ่ายแพ้.. สู้ใหม่.. จนได้ชัยมา” 

         วันนี้ผมแนะนำท่านในฐานะของ ส.ว. และเป็นผู้ริเริ่มแนวคิดแนวทางในเรื่องนี้ ผมขอสนับสนุนท่านทั้งหลายอย่างเต็มที่ เต็มร้อย เกินร้อย แต่ผมจะเล่นเกินบทบาทและกรอบอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายโดยเฉพาะรัฐธรรมนูญ กำหนดไว้ไม่ได้  อยากจะช่วย อยากจะขึ้นไปเป็นพี่เลี้ยง คอยให้น้ำนักสู้ทุกคน ก็ทำไม่ได้ ทำได้แค่นั่งดูที่หน้าจอทีวี ดูท่านแข่งขันกัน จะเอาใจช่วยในทุกวินาที

          ขอบคุณมากครับ.

………………