วันเวลาตามโรดแม็พการทำงานของสภาปฏิรูปเคลื่อนไปไม่มีหยุด สมาชิก ๒๕๐ คนต่างเร่งทำงานเพื่อตอบสนองความคาดหวังของสังคมภายนอกอย่างไม่ย่อท้อ โดยเฉพาะกลุ่ม ๒๐ คนที่ขันอาสาเข้าไปทำงานในคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญซึ่งดูเหมือนว่าจะหนักกว่าเพื่อน แต่งานก็มีความก้าวหน้าไปมากดังที่มีรายงานข่าวทางสื่อมวลชนออกมาให้ได้ติดตามกันเกือบทุกวัน จึงเป็นที่มั่นใจได้ในระดับที่แน่นอนว่ารัฐธรรมนูญใหม่ที่ประชาชนรอคอยจะเสร็จทันตามกำหนดเวลา
สำหรับการปฏิรูปประเทศในด้านอื่นๆ ที่มีคณะกรรมาธิการวิสามัญประจำ สปช.(กมธ.) อีก ๑๘ คณะแบ่งกันดูแลนั้น บัดนี้ผลการประชุมเชิงปฏิบัติการของ สปช.เมื่อวันที่ ๑๙-๒๐ ม.ค.ได้กำหนดเป้าหมายร่วมกันชัดเจนแล้วว่า ทุกมาตรการการปฏิรูปจะต้องมุ่งคุณภาพทรัพยากรมนุษย์และคุณภาพชีวิตของคนไทยเป็นศูนย์กลาง โดยจะต้องนำไปสู่ความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ ความมั่นคงทางการเมืองและความสันติสุขยั่งยืนของสังคม ทั้งนี้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ทรัพยากรและคนไทยคือปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญ
ภายหลังการสัมมนา คณะกรรมการที่รับผิดชอบได้สรุปภาพรวมภารกิจการปฏิรูปว่าประกอบด้วยสิ่งที่เรียก “วาระการปฏิรูป”จำนวน ๓๔ วาระ มี๗๙ ประเด็นย่อย และ “วาระการพัฒนาสำคัญ” อีก ๗ วาระ มี ๒๐ ประเด็นย่อย
สภาปฏิรูปแห่งชาติได้จัดให้สมาชิกได้อภิปรายและลงมติรับรองไปเรียบร้อยแล้ว ส่วนรายละเอียดว่าจะบริหารจัดการกระบวนการทำงานอย่างไรนั้น สปช.คงจะได้หารือในการจัดลำดับความสำคัญและตกลงในวิธีการขั้นตอนทำงานให้แล้วเสร็จตามระยะเวลาต่อไป
ในโอกาสนี้ ผมในฐานะสมาชิกสปช.คนหนึ่งที่สนใจปัญหาเป็นพิเศษในด้านสังคมและการพัฒนาประเทศแบบยั่งยืน ขอทดลองเลือกหยิบเอาวาระการปฏิรูปและวาระการพัฒนาที่สำคัญออกมาจากตะกร้าของสภาปฏิรูป เพียงจำนวน ๑๕ เรื่อง เท่าที่คิดว่าสปช.ควรจะต้องรวมพลังกันทำงานให้สำเร็จ โดยอาจจัดรูปแบบการทำงานทางวิชาการเชิงลึกเป็นคณะกรรมการพิเศษเฉพาะเรื่อง ที่ทำงานแบบข้ามกรรมาธิการและมีความคล่องตัวคล่องตัวกว่า และสามารถเชิญผู้รู้จริงรู้ลึกในเรื่องนั้นๆ เข้ามาเสริมทีมได้ ทั้งนี้ก็เพื่อทำการออกแบบการปฏิรูปในเชิงความคิดรวบยอดในแต่ละเรื่องให้เสร็จภายใน ๑ เดือน จากนั้นออกแบบเชิงกระบวนการและองค์กรภายในเดือนที่ ๓ และออกแบบการปฏิรูปในเชิงกฎหมาย รวมทั้งทำแผนดำเนินการเปลี่ยนผ่านให้เสร็จภายในเดือนที่ ๖ ดังนี้
๑.วาระปฏิรูปการป้องกันทุจริต – ออกแบบให้ครอบคลุมประเด็นการเอาผิดกับผู้ทุจริตอย่างเฉียบขาดจริงจัง ลดกฎระเบียบของราชการที่หยุมหยิมแต่ไร้น้ำยา ลดการใช้ดุลยพินิจส่วนตัวของเจ้าหน้าที่ กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างที่โปร่งใส การเข้าถึงข้อมูลของประชาชน สร้างระบบบริหารราชการที่เปิดเผย (open government)
๒.วาระปฏิรูประบบงบประมาณ – ครอบคลุมในประเด็นการจัดงบประมาณแบบฐานพื้นที่ (area based) ระบบตรวจสอบและประเมินผลความคุ้มค่า (result based) รวมทั้งการกำหนดขอบเขตอำนาจและความสัมพันธ์ที่ชัดเจนและเหมาะสมระหว่างส่วนกลาง ภูมิภาค ท้องถิ่นและประชาชน
๓.ปฏิรูปกิจการตำรวจ – ครอบคลุมประเด็นโครงสร้างกิจการตำรวจ และการกระจายอำนาจการบริหารจัดการกิจการตำรวจ
๔.ปฏิรูปโครงสร้างภาษี – ครอบคลุมประเด็นระบบภาษีที่เป็นธรรม ภาษีระดับชาติ ภาษีระดับท้องถิ่น ความซ้ำซ้อนและช่องโหว่ของระบบภาษี
๕.ปฏิรูปที่ดินและการจัดการที่ดิน – ครอบคลุมประเด็นสิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากร ระบบกรรมสิทธิ์และการถือครอง ที่ดิน สปก. และธนาคารที่ดิน
๖.ปฏิรูประบบการเรียนรู้ – ครอบคลุมประเด็นการปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรมและหลักศาสนา การเตรียมพร้อมด้านสุขภาพและสมรรถนะทางร่างกาย การคิดวิเคราะห์ การศึกษาเพื่อความเป็นพลเมือง
๗.ปฏิรูประบบวิจัยเพื่อเป็นโครงสร้างพื้นฐานทางปัญญาของประเทศ – ครอบคลุมประเด็นส่งเสริมการวิจัยวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรม การพัฒนาระบบข้อมูลประเทศ (Big Data) และการต่อยอดการวิจัยสู่เชิงพาณิชย์
๘.ปฏิรูประบบการเงินการคลังด้านสุขภาพ – ครอบคลุมประเด็นการบริหารจัดการ๓กองทุนสุขภาพ การร่วมจ่ายบริการสุขภาพระหว่างรัฐกับผู้ใช้บริการตามเศรษฐฐานะ
๙.ปฏิรูประบบการเตรียมรับมือวิกฤติการณ์”กรุงเทพฯจม” – ครอบคลุมประเด็นระบบการป้องกันและระบบการปรับตัว
๑๐.ปฏิรูปศิลปวัฒนธรรมเพื่อเป็นทุนทางสังคมของประเทศ – ครอบคลุมประเด็นการธำรงรักษา สร้างแรงบันดาลใจและส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม เปิดพื้นที่สำหรับศิลปวัฒนธรรม การใช้หลักศาสนาเป็นหลักในการดำรงชีวิต การมีส่วนร่วมของภาคประชาชน และสร้างค่านิยมที่พึงประสงค์
๑๑.พัฒนาระบบแรงงานข้ามชาติ – ครอบคลุมประเด็นการจัดระบบว่าด้วยเรื่องแรงงานข้ามชาติ การดูแล การจัดสวัสดิการและ การเสียภาษี
๑๒.พัฒนาระบบศูนย์ร่วมแห่งความเป็นเลิศ – ครอบคลุมประเด็น center of excellence ในด้านเกษตรและอาหาร ด้านท่องเที่ยว ด้านสุขภาพ ด้านยานยนต์ และด้านชาติการค้า
๑๓.พัฒนาหัวรถจักรขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่ๆ – ครอบคลุมประเด็นการวิจัยและนวัตกรรม การบ่มเพาะผู้ประกอบการและการริเริ่มลงทุนใหม่ๆ
๑๔.พัฒนาระบบโลจิสติคส์ – ครอบคลุมประเด็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำหรับยุคใหม่ พัฒนาไทยเป็น Logistic Hub การพัฒนาเป็นประตูการค้าสู่อาเซียนและจีนภาคตะวันตก
๑๕.พัฒนาเศรษฐกิจเชิงพื้นที่ – ครอบคลุมประเด็นเขตเศรษฐกิจพิเศษใหม่และเมืองราชการ
๑๕ วาระสำคัญนี้มิใช่ทั้งหมดของการทำงานในช่วงที่เหลืออยู่ของสภาปฏิรูปแห่งชาติ เพราะยังมีประเด็นการปฏิรูปเรื่องอื่นๆ อีกเป็นจำนวนมาก ที่ไม่ได้มีความซับซ้อนหรือเกี่ยวพันข้าม กมธ.แบบที่หยิบยกมา ซึ่งกรรมาธิการแต่ละชุดกำลังดำเนินการออกแบบวางแผนในรายละเอียดกันอยู่
อย่างไรก็ตาม เมื่อล่วงไปถึงเดือนเมษายน ประเด็นร่างรัฐธรรมนูญคงจะกลายเป็นจุดสนใจที่สุดของสังคม และสมาชิก สปช.ทุกคนก็ต้องมีภารกิจในการร่วมกันพิจารณาให้ความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวเช่นกัน จึงนับเป็นเรื่องที่ท้าทายการทำงานของ สปช.ทั้งสภาเป็นอย่างยิ่งครับ.
Be the first to comment on "๑๕ วาระการปฏิรูปต้องผนึกกำลัง"