ทำไม ‘ชาวนา’ ต้องเข้า ‘โรงเรียนชาวนา’ ?

เกษตรกรจำนวน ๑๖๐ คน ซึ่งเกือบทั้งหมดอยู่ในอำเภอเขมราฐ วันนี้ขอเรียกตัวเองว่าเป็น ‘นักเรียน’ แทนอาชีพ ‘ชาวนา’ เหตุเพราะการสมัครใจเข้าร่วมอบรมในหลักสูตรเกษตรกรรมพึ่งตนเอง..

 

 

ทำไม ชาวนา ต้องเข้า โรงเรียนชาวนา ?


โดย ณัฐวัณย์

 

        หลังสงกรานต์มาแล้วหลายวัน  แต่ทว่าไอร้อนที่ยังระอุอยู่เหนือผืนดินยังคงทำหน้าที่อย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ต้นฤดูร้อนของปี  ไกลออกไปทางทิศเหนือจากตัวเมืองอุบลเกือบร้อยกิโล ที่บ้านเหมือดแอ่ อำเภอเขมราฐ แม้ลมที่พัดแรงจะพอทุเลาไอร้อนลงไปได้บ้าง  แต่สิ่งที่พบเห็นและได้ฟังตลอดสองวันที่อยู่ที่นั่นกลับทำให้รู้สึกร้อนในใจขึ้นยิ่งกว่า
        เกษตรกรจำนวน ๑๖๐ คน ซึ่งเกือบทั้งหมดอยู่ในอำเภอเขมราฐ  วันนี้ขอเรียกตัวเองว่าเป็น นักเรียน แทนอาชีพ ชาวนา เหตุเพราะการสมัครใจเข้าร่วมอบรมในหลักสูตรเกษตรกรรมพึ่งตนเอง ซึ่งจัดขึ้นโดยเครือข่ายคนปลูกข้าวลุ่มแม่น้ำโขง ที่มีอาจารย์ทองสวน  โสดาภักดิ์ เป็นแกนนำคนสำคัญดูแลอยู่ ด้วยการสนับสนุนด้านงบประมาณจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน


ถามว่าสิ่งที่
นักเรียนชาวนา กำลังหน้าดำคร่ำเคร่งเรียนกันในวันนี้ ใช่สิ่งที่ไม่เคยรู้จักมาก่อนไหมในชีวิต  ก็คงจะตอบได้โดยทันทีว่า…ไม่ใช่  แต่หากลองเปลี่ยนคำถามใหม่เป็นว่า… ทำไมเขาเหล่านี้ต้องมานั่งอยู่ท่ามกลางอากาศร้อนเกือบ ๔๐ องศาเซลเซียส เพื่อเรียนรู้วิชาที่คนรุ่นพ่อรุ่นแม่หรือบรรพบุรุษเคยบ่มเพาะไว้ให้แล้วในวันนี้ด้วย  ดูจะมีคำตอบให้ฟังอยู่มากมิใช่น้อย

 

          ลองเปลี่ยนคำตอบที่ถามให้เป็นสิ่งดี ๆ ที่นักเรียนชาวนาทั้งห้องเคยมีความประทับใจกับภาพในอดีตที่ตนเองเคยมีประสบการณ์มาก่อน  เราจะได้ฟังคำตอบมากมายชนิดที่จดตามไม่ทันกันเลย  เป็นต้นว่า

          …ในอดีตมีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรอย่างล้นเหลือ

          …ผู้คนมีอะไรก็แบ่งปันกันกิน เอื้ออาทรต่อกัน

          …อาหารการกินอุดมสมบูรณ์ ไม่ต้องซื้อ ไม่ต้องกลัวสารพิษเจือปน

          …มีความร่ำรวยทางวัฒนธรรม งานบุญประเพณีไม่มีเว้นไปตลอดปี

          ย้อนรอยจากอดีตมาถึงความจริงในปัจจุบัน ชาวนาแห่งยุคสมัยมีคำตอบสำหรับสิ่งดี ๆ จากการทำนาในทุกวันนี้ไม่น้อยไปกว่าคำถามข้อแรกที่เจอ

          …มีควายเหล็กก็ดี ทำนาได้เสร็จเร็วขึ้น

          …มีปุ๋ยเคมีไว้ใช้ หว่านแล้วก็ให้ผลดี ยิ่งยาฆ่าหญ้า…ตายเร็ว เห็นผลทันตา

          …การคมนาคมขนส่งสะดวกรวดเร็ว ไม่ลำบากเหมือนแต่ก่อน     


ในความดีที่เขาต่างชื่นชม  สิ่งไม่ดีที่เขาพร้อมจะเปิดเผยก็มีอยู่เช่นกัน

          …ข้าวของแต่ละอย่างแพงเหลือเกิน  เสียเงินเยอะไปหมด

          …สารพิษเต็มไปหมด จะกินอะไรทีก็ต้องระวังไปหมดทุกอย่าง   

          มองให้ลึกลงไปถึงผลกระทบที่แต่ละคนเจอเข้ากับตัว ก็เป็นอีกโจทย์ที่พวกเขาช่วยกันระดมออกมาได้อย่างพรั่งพรูเต็มไปหมด

          …สินค้าเกษตรราคาถูก แต่เครื่องอุปโภคราคาแพง…สุดท้ายก็เป็นหนี้กันเต็มไปหมด

          …ต้องดิ้นรนเยอะ…เหนื่อย….สุขภาพจิตแย่

          …คนเห็นแก่ตัวกันมากขึ้น แตกความสามัคคี ทำใครทำมัน

          นี่แค่เป็นการระดมความคิดเห็นจากผู้เข้าอบรมเพียงกลุ่มเดียวยังขนาดนี้  ถ้าครบหมดทุกกลุ่มมันจะขนาดไหน  แค่เริ่มต้นคิด อุณหภูมิในร่างกายก็ดูจะยิ่งสูงขึ้นอีกเกือบเท่าตัว

          แต่สิ่งที่พอช่วยให้คลายร้อนลงได้บ้าง ยังคงมาจากเสียงความคิดของ นักเรียนชาวนา กลุ่มเดิม

          …เราต้องทำเกษตรอินทรีย์ สัก ๕ ไร่ก็พอเพียงแล้ว

          …พวกเราต้องรวมกันให้ได้ ต้องช่วยกัน

          …ต้องรักษาความเป็นชาวนาไว้ เพราะเป็นอาชีพที่พ่อแม่สร้างไว้ให้

        อาจจะเป็นไปด้วยเหตุผลทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้น  ทำให้ชาวนาแห่งลุ่มน้ำโขงยอมหยุดงานวางจอบเสียมหรือคันไถลงชั่วขณะ แล้วเปลี่ยนมาจับด้ามปากกา นั่งหลังแข็งบนเก้าอี้ ปรับบทบาทตัวเองมาเป็นนักเรียนตัวน้อยในวัยอันใกล้แก่ชรา  อาศัยบทเรียน ประสบการณ์ และตัวอย่างดี ๆ จากเพื่อนชาวนาบางคนที่กล้าตัดสินใจและเลือกที่จะทำในสิ่งที่สวนทางกับความคิดและระบบทุนในกระแสหลัก  ลำพังเท่านี้ก็คงเพียงพอสำหรับการยึดเป็นขุมทรัพย์ทางปัญญา  บวกกับการผสมผสานเข้ากับความกล้าที่จะก้าวไปสู่การเปลี่ยนแปลงของอาชีพชาวนาในอนาคตซึ่ง นักเรียนชาวนา เท่านั้นคือผู้ที่จะกำหนดขึ้นด้วยตนเอง

ที่มา : จดหมายข่าว ฮักแพง แปงอุบล

ปีที่ 2 ฉบับที่ 15 เดือนพฤษภาคม 2548  คอลัมน์  หอมกลิ่นอุบล

Be the first to comment on "ทำไม ‘ชาวนา’ ต้องเข้า ‘โรงเรียนชาวนา’ ?"

Leave a comment

Your email address will not be published.