ปฏิรูปโหวต 2566 เลือกปฏิรูปการเมือง เลือกเศรษฐกิจฐานราก | รายงานประชาชน โดย ส.ว.พลเดช (ฉบับที่ 12/2566)

ในฐานะที่มีส่วนในดูแลประเด็นงานการมีส่วนร่วมของประชาชนและพัฒนาการเมืองของวุฒิสภา มีผู้ถามว่าในการเลือกตั้ง ส.ส. 2566 นี้ กรรมาธิการมีแนวทางการทำงานอย่างไรบ้าง ผมขออนุญาตแสดงความคิดเห็นประกอบการรายงานการดำเนินงานต่อพี่น้องประชาชนในโอกาสนี้

ตั้งแต่มีการตั้งคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชนเมื่อปลายปี 2562   อนุกรรมาธิการการมีส่วนร่วมฯได้ศึกษาแผนปฏิรูปประเทศด้านการเมืองอย่างจริงจัง พยายามดูว่าสถานการณ์ปัญหาระบบการเมืองไทยเป็นอย่างไร และจะทำอะไรกันได้บ้าง

ปฏิรูปโหวต 2566 เลือกปฏิรูปการเมือง เลือกเศรษฐกิจฐานราก | รายงานประชาชน โดย ส.ว.พลเดช (ฉบับที่ 12/2566)

ปัญหาใหญ่ 3 ประเด็นที่พบ ได้แก่  

เรื่องการเมืองใช้เงินเป็นใหญ่ ทุจริตเลือกตั้ง ซื้อสิทธิ์ขายเสียงกันอย่างโจ่งแจ้ง เป็นกันไปในทุกระดับการเลือกตั้ง ทุกหย่อมหญ้า ในคราวนี้หลายฝ่ายต่างคาดว่าจะรุนแรงที่สุด

เรื่องการเมืองทำลายล้าง ไม่สร้างสรรค์ เต็มไปด้วยข่าวปลอมและวาทกรรมสร้างความเกลียดชัง ดูหมิ่น หยามเกียรติกันซึ่งหน้า ทั้งรุนแรงและเรื้อรังมานานกว่า 20 ปี จนสังคมไทยถูกแยกเป็นขั้วเป็นฝ่ายตามแบบอย่างจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ทรงเกียรติ ทำทุกเรื่องให้เป็นการเมืองไปเสียหมด บ่อนทำลายฐานทุนทางวัฒนธรรมของสังคมและประเทศชาติอย่างซึมลึก จนยากที่จะดึงให้กลับมาและยึดเหนี่ยวเป็นปึกแผ่นมั่นคง.

เรื่องจิตสำนึกและคุณภาพของพลเมือง  ผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ขาดความตื่นรู้ ยังใช้สิทธิ์โดยเห็นแก่อามิสสินจ้างที่เขาหยิบยื่น ขาดจิตสำนึกสาธารณะ ละเลยประโยชน์ส่วนรวมในระยะยาว.

คณะกรรมาธิการฯ จึงได้ริเริ่มสนับสนุนการขับเคลื่อนเครือข่าย “การเมืองวิถีใหม่” อันเป็นแนวคิดแนวทางการเมืองในเชิงศีลธรรม เน้นการทำงานการเมืองในเชิงคุณธรรม จริยธรรม รวมทั้งรณรงค์เผยแพร่ความคิดความเข้าใจกันไปภายในเครือข่ายผู้นำชุมชนท้องถิ่นและประชาสังคมทั่วประเทศแบบเงียบๆ

จนบัดนี้ถึงเวลาของการเลือกตั้ง ส.ส. ครั้งใหญ่ เครือข่ายฯ ประเมินสถานการณ์ว่าการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อทางการเมืองช่วงสำคัญสำหรับประเทศชาติ เพราะเต็มไปด้วยความเสี่ยง ทั้งปัจจัยภายในและภายนอก  จึงตัดสินใจขับเคลื่อน “ขบวนการเมืองภาคพลเมือง” เพื่อร่วมประคับประคองระบบการเมืองใหญ่ ให้เป็นไปในทิศทางที่สร้างสรรค์ เท่าที่มีกำลังวังชากัน

การเมืองวิถีใหม่เป็นการเมืองแบบจิตอาสา ผู้แทนราษฎรและคนที่มาทำงานการเมืองต้องมีจิตสาธารณะ เสียสละเพื่อส่วนรวม มาเพื่อให้ไม่ใช่มาเพื่อเอา ไม่เข้ามาเพื่อหวังทุจริตกอบโกย ผู้ปฏิบัติงานการเมืองควรเป็นคนที่มีความแข็งแรงเพียงพอและพร้อมที่จะมาทำงานเพื่อคนอื่น ให้คนเล็กคนน้อยสามารถอยู่รอดร่วมกัน ต้องเป็นคนที่สัตย์ซื่อถือคุณธรรม มีสัจจะวาจา มีความเป็นสุภาพชน สร้างความรักสามัคคีในหมู่คนไทย ภาคภูมิใจในวัฒนธรรมอันดีงามของชาติ และมีสปิริตความเป็นนักกีฬา.

สิ่งที่เครือข่ายดำเนินการในช่วง 45 วันของการเลือกตั้ง มี 5 แนวทาง ดังนี้

1.เปิดตัวการเมืองวิถีใหม่   ก่อการขับเคลื่อนขบวนการการเมืองภาคพลเมือง มุ่งปรากฏตัวเพื่อให้สังคมไทย โดยเฉพาะชุมชนท้องถิ่นและประชาสังคมทั่วประเทศ ได้รู้จักและจดจำ“กลุ่มการเมืองวิถีใหม่” ในสถานะของขบวนการการเมืองเชิงศีลธรรม ที่เป็นความริเริ่มและดำเนินการโดยภาคประชาชน.

2.ส่งสัญญาณถึงผู้รักชาติรักแผ่นดิน   การเคลื่อนไหวครั้งนี้ต้องการส่งสัญญาณให้คนไทยที่รักชาติรักแผ่นดิน บังเกิดมีความหวังต่ออนาคตของประเทศชาติและมีกำลังใจในการปฏิรูปเปลี่ยนแปลง นำพาสังคมไทยให้หลุดพ้นจากระบบการเมืองน้ำเน่า ทุจริต และสร้างความแตกแยก.

3.สนับสนุนพรรคการเมืองวิถีใหม่   แสวงหาพรรคการเมืองที่มีคุณสมบัติแบบการเมืองวิถีใหม่หรือใกล้เคียง มีนโยบายมุ่งมั่นในการปฏิรูปการเมืองและสร้างสรรค์ระบบเศรษฐกิจฐานราก  สัตย์ซื่อถือคุณธรรม สุจริตโปร่งใส น่าเชื่อว่าจะรับใช้ผลประโยชน์ของประเทศชาติและประโยชน์สุขของประชาชนอย่างแท้จริง.

4.ปลุกพลังพลเมือง  มุ่งปลุกพลังพลเมืองผู้ใช้สิทธิ์เลือกตั้ง ให้ลุกขึ้นมาทำการเมืองไทยให้หลุดพ้นจากวงจรอุบาทว์ ทุจริตน้ำเน่า ความแตกแยก ความรุนแรง และป้องกันการรัฐประหารยึดอำนาจ ด้วยการ“โหวตเชิงยุทธศาสตร์” เลือกสนับสนุนพรรคการเมืองวิถีใหม่ ร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงการเมืองไทยด้วยอำนาจในมือของคนเล็กคนน้อย.

5.พัฒนาโครงข่ายข้อมูลข่าวสารและการพัฒนา   มุ่งวางระบบโครงข่ายข้อมูลดิจิทัลและการสื่อสารเพื่อการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นและปฏิรูปการเมืองของประเทศในระยะยาว โดยดำเนินการร่วมไปกับการรณรงค์ ให้มีความพร้อมในการทำงานพัฒนาระบบประชาธิปไตยชุมชน ประชาธิปไตยท้องถิ่น และประชาธิปไตยตัวแทนระดับชาติอย่างบูรณาการ ภายหลังเลือกตั้ง.

บัดนี้เครือข่ายการเมืองภาคประชาชนส่วนหนึ่งได้ก้าวนำออกไปแล้ว จึงขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนผู้ห่วงใยต่อปัญหาบ้านเมืองโปรดได้ให้ความสำคัญและมาร่วมกันรณรงค์การเลือกตั้งครั้งนี้  

ขอเรียกร้องให้หน่วยงานภาครัฐและเอกชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งองค์กรอิสระที่ทำหน้าที่กำกับดูแลการเลือกตั้งและระบบการเมืองการปกครอง ร่วมสร้างการเมืองในวิถีใหม่ แสดงบทบาทอย่างแข็งขัน ตีบทให้แตก และทำงานเชิงรุก

“โหวตยุทธศาสตร์ โหวตเพื่อเปลี่ยนการเมืองไทย”.

ส.ว.พลเดช  ปิ่นประทีป / 17 เมษายน 2566