รายงานประชาชน โดย ส.ว.พลเดช (ฉบับที่ 29/2566)
ในคราวหนึ่ง คณะอนุกรรมาธิการติดตาม เสนอแนะและเร่งรัดการแก้ปัญหาความยากจนฯ
ได้เชิญนายสะอาด เนาวราช ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านสร้างมิ่งมิตรภาพที่ 191 อำเภอเลิงนกทา จังหวัดยโสธร มารายงานความก้าวหน้าและปัญหาอุปสรรค ภายหลังจากการเข้าร่วมโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนาตาม MOU

โรงเรียนแห่งนี้เป็นโรงเรียนขนาดเล็ก มีนักเรียน 95 คน บุคลากรครูจำนวน 7 คน ได้ริเริ่มการพัฒนาโรงเรียนด้วยหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง นำพื้นที่ว่างเปล่าจำนวน 7 ไร่ มาก่อสร้างเป็นศูนย์การเรียนรู้ภายในโรงเรียน ประกอบด้วยแปลงเกษตรผักสวนครัว โรงปลูกเมล่อน โรงเพาะเห็ดนางฟ้า และการเลี้ยงสัตว์ (หมูขุน หมูป่า ไก่ไข่ ปลากินพืช ตั๊กแตน) เพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้ทักษะชีวิตและทักษะอาชีพ เน้นเรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติและการมีส่วนร่วมกับชุมชน นักเรียนนำผลผลิตไปจำหน่ายในชุมชน ได้รับความสนใจจากชุมชน มีเครือข่ายภาคประชาสังคมเข้ามาช่วยสนับสนุนด้วย
ในระหว่างการรับฟังรายงาน พลเอกธงชัย สาระสุข รองประธานอนุกรรมาธิการ ท่านเกิดไอเดียบางประการจึงยกหูโทรศัทพ์ประสานกับหน่วยทหารพัฒนาในพื้นที่ใกล้เคียงกับโรงเรียนเพื่อหาข้อมูลเพิ่มเติมว่าจะมีบทบาทสนับสนุนอะไรได้บ้าง
รวดเร็วเหมือนสายฟ้าแลบ หลังจากวันนั้นไม่ถึงสัปดาห์ พวกเราได้รับแจ้งว่าหน่วย นพค.(หน่วยพัฒนาเคลื่อนที่)ลงสำรวจพื้นที่โรงเรียนในโครงการจำนวน 20 แห่ง โดยพบว่าอยู่ในวิสัยที่จะร่วมสนับสนุนโครงการเช่นนี้ได้ จำนวน 9 โรงเรียน เนื่องจากมีแผนงานโครงการ “1 นพค. 1 ฟาร์ม 1 โรงเรียน 1 ชุมชน” อยู่พอดี ทั้งยังได้เตรียมบรรจุเป็นแผนของหน่วยงานที่จะสนับสนุนอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 3 ปีอีกด้วย
หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา (นทพ.) เป็นหน่วยทหารที่เน้นการพัฒนาเพื่อความมั่นคงด้วยการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และจิตวิทยาของประเทศในพื้นที่ที่กําหนด มุ่งหวังให้คน ชุมชนและพื้นที่มีความเข้มแข็ง ส่งผลให้เกิดความมั่นคงของประเทศ ภารกิจการทำงานจะครอบคลุมหลากหลายมิติ ในการปฏิบัติงานในพื้นที่มักใส่ชุดปฏิบัติงานสีน้ำเงิน จึงเป็นที่มาของฉายา “นักรบสีน้ำเงิน”
นทพ. อยู่ในสังกัดกองทัพไทย เป็น 1 ใน 5 ของส่วนปฏิบัติการ มีสำนักงานพัฒนาภาค 5 แห่งและหน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่(นพค.) ร่วม 40 แห่งเป็นหน่วยปฏิบัติ กระจายอยู่ตามภูมิภาค หน่วยงานเหล่านี้มีหน่วยช่างพัฒนาเป็นแกนหลัก(ทหารช่าง) มีทั้งเครื่องจักรกล กำลังพลและสถานีวิทยุกระจายเสียงเป็นกลไกในการทำงาน จึงมีความพร้อมในการสนับสนุนงานพัฒนาชุมชนท้องถิ่นโดยเฉพาะในกรณีที่หน่วยงานปกติมีข้อจำกัด ทั้งยังสามารถช่วยพื้นที่รับมือกับพิบัติภัยธรรมชาติทุกรูปแบบ ในขอบเขตพื้นที่และกรอบอำนาจหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดเท่านั้น

หน่วยงานนี้ตั้งขึ้นในสมัยที่มีสงครามคอมมิวนิสต์ (พ.ศ. 2505) โดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรี และผู้บัญชาการทหารสูงสุดในขณะนั้น ตั้งอยู่ที่บริเวณสนามเสือป่า เขตดุสิต กรุงเทพฯ ต่อมาสืบเนื่องจาก รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2517 ได้กำหนดว่า “กำลังทหารพึงใช้เพื่อการรบหรือสงคราม เพื่อป้องกันสถาบันพระมหากษัตริย์ เพื่อการปราบปรามการกบฏและการจลาจล เพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ และเพื่อการพัฒนาประเทศ” ปัจจุบันพัฒนามาเป็นสำนักงานทหารพัฒนาและย้ายมาตั้งอยู่ที่บริเวณทุ่งสีกัน เขตดอนเมือง
การพัฒนาประเทศในยุคกระโน้น โดยเฉพาะการสร้างถนนและสาธารณูปโภคในถิ่นทุรกันดารทำได้ลำบาก เนื่องจากมีกองกำลังติดอาวุธของฝ่ายตรงข้ามรบกวนไม่ยอมให้เข้าไปทำเพื่อผลในการครอบงำประชาชนในพื้นที่ ภายหลังจากหมดความขัดแย้งและการสู้รบ แม้มีหน่วยงานท้องถิ่นและกระทรวงที่เกี่ยวข้องมาดำเนินการ ตามปกติแล้ว ในบางครั้งก็ยังต้องใช้การพัฒนาในเชิงยุทธศาสตร์เข้าเสริม
อย่างเช่น หน่วยงานปกครองท้องถิ่นทำสาธารณูปโภคโดยคำนึงถึงความสะดวกของประชาชน แต่ทางการทหารต้องการถนนเพื่อความต้องการทางยุทธศาสตร์ซึ่งหน่วยงานท้องถิ่นอาจไม่เห็นความจำเป็นที่ต้องทำ รวมทั้งบางครั้งก็เป็นการช่วยสนับสนุนหน่วยงานท้องถิ่นในส่วนที่ขาดงบประมาณหรืออยู่นอกแผน
นพค.จะเน้นไปในทางพัฒนาหมู่บ้านตามเขตแนวชายแดนเป็นหลัก ซึ่งพื้นที่ส่วนมากห่างไกลและทุรกันดาร ถึงมีการประกาศให้ประมูลการก่อสร้างถนนก็ไม่มีผู้รับเหมารายใดมายื่นรับงานไปทำ เพราะไม่คุ้มค่าและเสี่ยงอันตราย ในที่สุดก็ต้องให้ นพค.รับไปดำเนินการ เป็นการช่วยลดช่องว่างในงานพัฒนาท้องถิ่นด้วย
นทพ. และ นพค. มีบทบาทหน้าที่เกี่ยวกับการพัฒนาประเทศเพื่อความมั่นคงของชาติ รวมทั้งการช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับมอบหมาย ด้วยการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมจิตวิทยา ดำเนินการประชาสัมพันธ์ การเสนอข่าวสารและความรู้ความบันเทิงต่อประชาชน การรักษาไว้ซึ่งขนบธรรมเนียม ประเพณี และวัฒนธรรมอันดีงามของท้องถิ่น ส่งเสริมการประกอบอาชีพแก่ราษฎรและหน่วยทหาร รวมทั้งกิจกรรมของหน่วยทหารเพื่อสนับสนุนการพัฒนาประเทศ ตลอดจนภารกิจอื่นตามที่ได้รับมอบหมาย
นพค. ยึดถือภารกิจของ นทพ. และน้อมนำพระราชดำริฯในเรื่องปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มีแผนพัฒนาที่สามารถบูรณาการเข้ากับหน่วยงานท้องถิ่นและองค์กรภาคประชาสังคมในพื้นที่ได้อย่างใกล้ชิด อาทิ 1)แผนงานสร้างเส้นทางคมนาคม 2)แผนงานส่งเสริมการเกษตรและสหกรณ์ 3)แผนงานพัฒนาแหล่งน้ำ 4)แผนงานพัฒนาชุมชนและสาธารณูปโภค 5)แผนงานสาธารณสุข 6)แผนงานประชาสัมพันธ์ 7)แผนงานสังคมสงเคราะห์
ในวุฒิสภาชุดปัจจุบัน มีอดีตผู้บัญชาการ นทพ.เข้ามาร่วมเป็นสมาชิก ได้แก่ พลเอกวัฒนา สรรพานิช พลเอกสมหมาย เกาฎีระ พลเอกทวีป เนตรนิยม และพลเอกธงชัย สาระสุข แต่ละท่านต่างมีบทบาทในการนำความรู้และประสบการณ์มาใช้ในการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศและยุทธศาสตร์ชาติ.
ส.ว.พลเดช ปิ่นประทีป / 14 สิงหาคม 2566