(ตอนที่ 1) เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกฉะเชิงเทรา

เครือข่ายเกษตรอินทรีย์ จ.ฉะเชิงเทรา นับได้ว่าเป็นเครือข่ายเกษตรกรที่รวมกลุ่มขนาดใหญ่ สร้างพลังการผลิต การตลาด และการขับเคลื่อนสังคมที่เข้มแข็งที่สุดกลุ่มหนึ่งของขบวนการเกษตรยั่งยืนของไทย

จนสามารถทำให้จังหวัดฉะเชิงเทราและจังหวัดใกล้เคียงในภาคตะวันออกมีฐานการผลิตเกษตรอินทรีย์ที่เข้มแข็ง สร้างความยั่งยืนของนิเวศ ทรัพยากร สร้างเศรษฐกิจชุมชนที่เข้มแข็ง และมีบทบาทในการขับเคลื่อนนโยบายการปกป้องพื้นที่อาหาร และนโยบายเกษตรที่ยั่งยืนตลอดมา เรื่องราวของพวกเขาเป็นสิ่งที่น่าสนใจเรียนรู้

จุดเริ่มต้น

ในพื้นที่ฉะเชิงเทรา แห่งภาคตะวันออก พื้นที่แห่งนี้เคยเป็นป่าอุดมสมบูรณ์ จนภายหลังผ่านการสัมปทานไม้ และการขยายตัวพืชไร่ เช่น มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์  ถั่วเหลือง ฝ้าย เป็นต้น ทำให้ผืนดินที่มั่นคงด้วยอาหาร ชุมชนที่เคยพึ่งพาฐานทรัพยากรเปลี่ยนไปสู่การพึ่งพาตลาด ประสบปัญหาความไม่มั่นคง ไม่ยั่งยืน มีการใช้สารเคมีอย่างกว้างขวาง พื้นที่ดินถูกแย่งยึดด้วยการปลูกยูคาลิปตัส อันนำไปสู่นิเวศเสื่อม หนี้สินเพิ่มขึ้น และชีวิตเกษตรที่ถูกกดขี่ ขาดความมั่นคงในศักดิ์ศรี

จนเมื่อคุณเกษม เพชรนที นักพัฒนาที่เคยทำงานกับมูลนิธิบูรณะชนบท (บชท.) เข้ามาทำงานในพื้นที่ราวปี 2525 เข้ามาส่งเสริมการพึ่งตนเองของชุมชนด้วยการทำกลุ่มออมทรัพย์เริ่มต้นจากที่บ้านยางแดง

คุณนันทวัน หาญดี นักพัฒนารุ่นแรกๆ ที่เข้ามาทำงานกับพี่เกษม ได้เล่าว่า

“ ในยุคนั้นปี 2520 ไม่ทำนา ปลูกแต่มัน และมีปัญหาว่าเด็กไม่มีอาหารกลางวันไปกินที่โรงเรียน เด็กเกือบ 50% ไม่มีอาหารกลางวัน คนที่เอาข้าวไปก็เป็นข้าวเปล่า มีน้อยมากที่จะมีข้าว มีไข่เจียว  ถือว่าสุดยอดแล้ว

อาหารกลางวันของเด็กๆ จะไปเก็บลูกกระถินยักษ์ ลูกมะม่วงหิมพานต์กิน แล้วก็กินน้ำเยอะๆ   เป็นเหตุให้ชวนชาวบ้านที่ยางแดง  ปลูกมันสำปะหลัง 100% จึงชวนผู้ปกครองคุยกัน  ทำอย่างไรให้เด็กมีอาหารกลางวันพอเพียง ปัญหาว่าทำไมครอบครัวไม่สามารถจัดอาหารกลางวันให้เด็กได้ ”

พี่เกษมและคุณนันทวันจึงมีแนวคิดเศรษฐกิจชุมชนเพื่อการพึ่งตนเอง  ทั้งการทำเกษตรเพื่อบริโภค การใช้ทรัพยากรธรรมชาติสร้างรายได้อย่างยั่นยืน เช่น ปลูกข้าว  ปลูกผักสวนครัว  เลี้ยงไก่  เลี้ยงแม่หมูไว้ขายลูกหมูเป็นหมูออมสิน เริ่มเห็นเส้นทางชาวบ้านว่ามีรายได้จากอาหารจากป่า ดูรายได้ตั้งแต่เดือนเมษายน ถึงกันยายน เป็นช่วงที่หน่อไม้ลดลง รายได้ที่หมุนเวียนในชุมชนตอนนั้นกิโลละ 1 สลึง ถึง 50 สตางค์ รายได้หมุนเวียนเป็นแสน สะพัดมาก เลยทำข้อมูลเรื่องหน่อไม้เพื่อให้ชาวบ้านวิเคราะห์ศักยภาพผักพื้นบ้านว่าเป็นเหตุผลที่ทำให้อยู่ได้ มีอาหารกิน และมีรายได้หมุนเวียน

 

กระบวนการขับเคลื่อนเกษตรกรรมยั่งยืน

ด้วยแนวคิดการพึ่งตนเองของชุมชนที่เริ่มลงรากปักฐาน จึงได้พัฒนาสู่เกษตรกรรมยั่งยืน ด้วยการส่งเสริมเกษตรยั่งยืน เช่น เกษตรผสมผสาน เกษตรอินทรีย์  เกษตรธรรมชาติ  แต่ยังไม่รวมเป็นกลุ่มผู้ผลิต เป็นเพียงการส่งเสริมความรู้ในการปรับเปลี่ยนระบบ ต่อมาจึงจัดตั้งเป็นเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกจังหวัดฉะเชิงเทรา ที่ตั้งขึ้นมาในปี 2532 แล้วจึงเริ่มขับเคลื่อนจากการผลิตขยายมาสู่การจัดการตลาดอย่างบูรณาการ

จากนั้นจึงพัฒนาต่อมาด้วยการจัดตั้งกลุ่มเกษตรอินทรีย์สนามชัยเขต ตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2544

โดยมีเป้าหมายในการสนับสนุนและส่งเสริมให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนระบบการผลิตเป็นเกษตรอินทรีย์ที่มีความยั่งยืน โดยให้ความสำคัญกับการจัดตั้งระบบควบคุมการผลิตภายในกลุ่มและการขอรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์สากล

ปัจจุบันมีสมาชิกกว่า 120 ราย ครอบคลุมพื้นที่หลายตำบล มีสมาชิกขยายเพิ่มขึ้นในทุกปี ฉะเชิงเทรามี 3-4 อำเภอ ได้แก่ อ.สนามชัยเขต, อ.ท่าตะเกียบ อ.พนม  และอ.บางน้ำเปรี้ยว อำเภอที่มีเครือข่ายอยู่  ส่วนที่ปราจีนบุรี มี อ.กบินทร์,  อ.ประจันตคาม, อ.ศรีมหาโพธิ์  สมาชิกจำนวนรายนั้นจะกระจุกตัวที่ปราจีนบุรี  หากนับเป็นตำบล 26 ตำบล ค่อม 2 จังหวัด  เดิมมีพื้นที่หนองจอก และสระแก้ว กำลังปักธงสร้างศูนย์เรียนรู้ ขยายผล มีสมาชิก

แนวทางการทำงานของกลุ่ม ให้ความสำคัญในการส่งเสริมการผลิตแบบเกษตรอินทรีย์แบบหลากหลายและอนุรักษ์พันธุกรรมพืชท้องถิ่น พัฒนาระบบการผลิตโดยจัดกระบวนการเรียนรู้ในรูปแบบโรงเรียนเกษตรกรเกษตรอินทรีย์ รวมทั้งวางแผนและจัดการตลาดผลผลิตโดยกลุ่มให้กับสมาชิก ด้วยการประกันราคารับซื้อผลผลิตทุกรายการที่กลุ่มฯได้ทำการส่งเสริมซึ่งปัจจุบันมีประมาณ 100 รายการพืช ประกอบด้วยข้าว พืชผักและไม้ผล

จากการผลิตก้าวต่อมาคือการตลาด ในปี 2553 เป็นต้นมา เครือข่ายได้ทำตลาดเขียว เช่น การเปิดพื้นที่ตลาดในโรงพยาบาล จากนั้นก็ขายพื้นที่ทำงานไปยังพื้นที่จังหวัดปราจีนบุรี ที่ อ.กบินทร์ ไปทำตลาดสีเขียว ที่ รพ.กบินทร์ ปีนี้เข้าปีที่ 2  มีโครงการอบรมเกษตรมาต่อเนื่องเป็นปีที่สอง

ความสำเร็จ

จากความสำเร็จระดับเครือข่าย เมื่อหันมามองความสำเร็จของเกษตรกร ผู้นำเกษตรกรท่านหนึ่งเล่าว่า

แรกๆ เปลี่ยนจากเคมีทำอินทรีย์แรก ๆ ทำแค่ 8 ไร่ จาก 50 กว่าไร่  เมื่อก่อนไม่ได้ทำเองทั้งหมด ก็ขยายมาเรื่อยทุกปี  ปัจจุบันเป็นอินทรีย์  สวนผสมผสานและที่พักด้วย 10 ไร่  แต่ไม่ได้ขอรับรองหรือปลูกผักที่หลากหลาย ปล่อย ๆ ไว้ เหมือนป่า  พอมารับโครงการก็ปลูกไม้ผสมผสาน เมื่อก่อนมีแต่มะม่วงเป็นหลัก ปลูกทิ้ง  แต่ไม่มีเงาะ ไม่มีกระท้อน  ตอนนี้ร่วมเรียนรู้แล้วก็เปลี่ยน  มีส้ม มีมะพร้าว  อันไหนที่เกิดขึ้นเองง่าย ๆ ไม่ต้องจัดการ

เมื่อก่อนมีกินก็กินไม่มีกินก็ออกไปซื้อตลาด   ชีวิตเปลี่ยนไปได้มาร่วมกิจกรรมและเรียนรู้ มีการออม มีเงินฝากออม มีแหล่งทุนลงทุนทำนา

10 ปี ทดลองทำนาอินทรีย์ครั้งแรกปี 2544 เข้าไปเรียนรู้กับกลุ่มปี 2545  พอปี 2550 ก็ทำอินทรีย์หมดประมาณ 10 ปี  พอทำเอง เมื่อก่อนให้เช่า  ปี 2550  ไม่ให้เช่าทำเองหมดเลย

หรือที่แม่ปองแกนนำอีกคนหนึ่งเล่าว่า

เมื่อก่อนใช้เคมีฉีดยาฆ่าหญ้าเป็นข่าวและภาพที่เห็นคนที่ใช้บางคนผิวหนังพอง และเป็นโรคเจ็บป่วย เขาบอกเกิดมาจากสารเคมี ถ้าใช้ไม่ระวัง แต่ก่อนมีนา 5 ไร่ ทำนาได้ปีละครั้งเมื่อก่อนใช้น้ำฝน ยังไม่มีนาปรัง ทำนาได้ข้าวอย่างเดียว

พอมารู้ตรงนี้เปลี่ยนจากที่นาเป็นที่สวนผสมผสาน ทำสวนมีกินทุกอย่างได้ตลอดทั้งปี ปลูกผัก ต้นไม้ กินหมุนเวียนได้ตลอดทั้งปี ถ้าทำนาทำได้ครั้งเดียว เสร็จจากนาก็เข้าโรงงาน หางานข้างนอก ทำสวนอยู่ตรงนี้ไม่ต้องไปไหน มีงานให้ทำตลอดในสวนเรา ปลูกผัก  ผลไม้ มีรายได้ตลอด จาก 5 ไร่ ใช้เวลา 13 ปี   เริ่มเปลี่ยนเป็นเกษตรอินทรีย์หมดตั้งแต่ปีแรก

เมื่อดูถึงจำนวนสมาชิกหลายยุค ตอนที่เริ่มโครงการ ช่วงแรก 5 ชุมชนกว่าจะมาขยาย นี่เป็นรุ่นกลาง  รุ่นแรกตายไปหลายคน รุ่นนี้หลัง 35 รุ่นที่ 1 คือ รุ่นยางแดง ปี 21-22   พี่เสนมาเป็นป่าไม้ที่นี่    รุ่นที่ 2 ประมาณ 28  บ้านเอื้อง ยังเป็นกรรมการชุดเดิมแต่มีการขยายพื้นที่ รุ่นที่ 3 ประมาณ 32  บางพะเนียงก็ขึ้นแล้ว 32 เริ่มมีผู้นำรุ่นกลาง

การบุกเบิกตลาดทางเลือก หรือตลาดสีเขียว ก็เป็นตัวอย่างความตื่นตัวและความสำรวจทุกวันพฤหัสตอนตี 5 รถจะไปส่งผักที่โรงพยาบาลสนามชัย ผอ.เป็นผู้บริโภค  ซื้อข้าวเพื่อจัดเป็นของชำร่วย เวลามีผู้ใหญ่มาตรวจงานโรงพยาบาลให้เอาข้าวกลุ่มไป จัดกระเช้า หมอรับผักเองสัปดาห์ละครั้ง   คนในท้องถิ่นขยายมากขึ้น แต่การขยายแบบนี้รู้สึกว่ายังไม่อยากขยายเยอะ หย่อนตามเส้นทางรถผ่าน กว่าจะถึงกรุงเทพฯ มีลูกค้าประจำที่หัวใจอินทรีย์แล้ว แต่มีคนต่อเข้ามาแต่อยู่นอกเส้นทางไม่สามารถ แต่บางคนรับ แต่มีนิสัยการกินผักที่ไม่ปรับตัวต้องการผักจีน จะส่งผักอื่นให้กินก็ไม่ปรับ ไม่เรียนรู้ เราจะส่งเป็นช่วงของผัก เช่นมีผักจีน ลูกค้าชอบก็จัดให้ แต่พอหมดช่วงนี้

มาถึงวันนี้ เครือข่ายสามารถขยายพื้นที่การผลิตปีนี้กระโดดเป็น 6,000 กว่าไร่ ครอบคลุม 4 จังหวัด 7-8 อำเภอ  โครงสร้างการทำงานเป็นเกษตรทางเลือกภายใต้เครือข่ายจะมีทั้งงานที่ส่งเสริมเรื่องเกษตรอินทรีย์และเรื่องออมทรัพย์ใช้กระบวนการพัฒนา  บริหารกลุ่มเกษตรอินทรีย์มีการควบคุมการผลิตภายในตามมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ มีฝ่ายจัดการผลผลิต เรื่องตรวจสอบข้าว

ทิศทางของเครือข่ายฯ มุ่งส่งเสริมให้สมาชิกปรับเปลี่ยนระบบเกษตรเข้าสู่เกษตรอินทรีย์ที่มีความยั่งยืน และสร้างให้เกิดความมั่นคงทางอาหารมีรายได้ ฟื้นฟูรักษาสภาพแวดล้อมและเรื่องรักษาพันธุกรรมท้องถิ่น

รูปแบบการทำงานของกลุ่มเน้นพึ่งพาตนเองบนฐานการผลิตภาคเกษตร ส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ สร้างความมั่นคงทางด้านอาหาร และรายได้  เพิ่มขึ้นมาคือระบบการผลิตลดปัญหาโรคร้อน ลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มีกิจกรรมระดมทุนช่วยเหลือกันภายใน เน้นการพัฒนาองค์กรชุมชนที่เป็นต้นแบบในการขยายงาน  พัฒนาตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำตั้งแต่ระบบการส่งเสริมให้ผลิตได้ จนถึงการสามารถจัดการตลาดผลผลิตในระบบกลุ่ม   ส่วนระบบควบคุมภายในถ้าเป็นระบบมาตรฐานรับรองเกษตรอินทรีย์จะมีองค์ประกอบหลักสองเรื่องคือการมีคณะกรรมการตรวจฟาร์ม

เครือข่ายฯ ยังส่งเสริมพืชผักพื้นบ้าน คุณสมบัติเป็นผักที่ชาวบ้านนิยมกินเอง มีการหมุนเวียนให้สามารถกินได้ตามฤดูกาลที่หลากหลาย ปลูกพืชผักที่ปลูกครั้งเดียวและประหยัดต้นทุน แต่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้นาน ช่วยประหยัดแรงงาน เป็นพืชที่มีความเหมาะสมกับนิเวศ ผักพื้นบ้านที่ปลูกในแปลงประมาณ 200 กว่าชนิด  และขึ้นทะเบียนขอรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์แล้ว 115 ชนิด แต่เวลาขายในตลาดก็จะมีหมุนเวียน ต่อครั้งที่ไปถ้าอย่างตลาดนัดสีเขียวก็จะอยู่ประมาณ 70 ชนิดผัก  ตามฤดูกาล เคยนับมากสุดประมาณ 70 รายการที่ไปในตลาดครั้งนึ่ง  คือผักแต่ละชนิดหมุนเวียน

ปัจจัยความสำเร็จที่สำคัญที่สุดที่แกนนำเครือข่ายทุกคนยืนยัน คือ พลังของการรวมกลุ่มที่เข้มแข็ง ที่ร่วมทุกข์ร่วมสุข ร่วมมือกันขับเคลื่อนอย่างแข็งขัน โดยมีแรงสนับสนุนจากนักพัฒนาเอกชน กลุ่มประชาสังคมต่างๆ จนทำให้พวกเขาสามารถสร้างพื้นที่ทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองของตนเองได้อย่างสง่างาม

ทิศทางแห่งความเชื่อมั่น

เราเชื่อว่าเกษตรกรทุกคนมีความรู้ เพียงแต่ว่าความรู้นั้นไม่ได้แบ่งปันกัน ขณะเดียวกันในแง่ของการเอาโจทย์หรือปัญหาที่เจอมาเป็นหัวข้อในการสร้างความรู้จากการทดลองจริงในแปลง หรือมีแปลงในตรงกลางที่จะเป็นห้องเรียนสร้างความรู้ด้วยกัน เสร็จแล้วเอาความรู้ในแปลงโรงเรียนกลับไปทดสอบปฏิบัติกันที่บ้าน และสรุปเป็นความรู้ทำให้ต่อยอดสร้างความรู้ใหม่ๆ ขึ้นมารับมือ

นี่คือคำยืนยันถึงหลักการ วิธีคิดอันแน่วแน่ของคุณนันทวัน และพี่น้องเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ว่า ความสำเร็จของพวกเขามาจากการพึ่งตนเองด้วยฐานความรู้ และใช้กระบวนการเรียนรู้ในการสร้างความเข้มแข็งไห้กลุ่มหรือเครือข่ายในการพัฒนาการผลิต

จากการผลิตก้าวสู่การสร้างตลาด และการสร้างการยอมรับทางสังคม จนปัจจุบันผลิตภัณฑ์อาหารของเครือข่ายฯ เช่น ข้าว พืชผัก ล้วนเป็นที่ยอมรับจากผู้บริโภคและหน่วยงานต่างๆ ที่ให้ความเชื่อมั่นในคุณภาพ ความปลอดภัยของอาหาร อันหมายถึงความเชื่อมั่น สนับสนุนต่อวิถีเกษตรกรรมยั่งยืนของเกษตรกรอินทรีย์แห่งฉะเชิงเทราด้วย

พวกเขาไม่เพียงผลิตอาหารที่ดีเพื่อผู้บริโภคได้บริโภค แต่เครือข่ายฯ ยังมีบทบาทการเคลื่อนไหวทางสังคมในประเด็นนโยบายหลายเรื่อง เช่น การร่วมปกป้องพื้นที่อาหารจากโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเขาหินซ้อน การสร้างเครือข่ายปกป้องลุ่มน้ำบางปะกง ที่กำลังเผชิญผลกระทบโครงการพัฒนา นอกจากนี้พวกเขายังเป็นกลุ่มหลักในการผลักดันนโยบายเกษตรยั่งยืน การคัดค้านไม่ให้มีการอนุญาตปลูกพืชจีเอ็มโอ และอื่นๆ

คุณนันทวัน และแกนนำวิเคราะห์กันว่ามีหลายปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อเกษตรกร หนึ่งในนั้นคือเรื่องสารเคมีอันตรายที่ให้มีการส่งอย่างเสรี เกษตรอินทรีย์เป็นพื้นที่ไม่ถึง 1% ของประเทศไทย มีผลทำให้โจทย์เรื่องอาหารปลอดภัยเป็นประเด็นสำคัญ ขณะนี้ถ้าผู้บริโภคใส่ใจ เราคิดว่า 1% ขณะนี้อีก 5-10 ปีข้างหน้า ที่เรามองภาครัฐและพยายามขายองค์ความรู้ต้นแบบที่เราสามารถตอบโจทย์ 2 โจทย์ไปด้วยกันคือเรื่องความรู้ของเกษตรอินทรีย์ว่าทำได้จริง

การเสริมสร้างเกษตรกรควรต้องมีการส่งเสริมขยายผลเกษตรอินทรีย์และขยายผลสร้างความเข้มแข็งของเกษตรกร ผู้ผลิตซึ่งส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรายย่อย  อยู่ในฐานทรัพยากรความหลากหลาย พืชพื้นบ้านมีความรู้ในการกิน เป็นฐานที่เชื่อมกันหมด ถ้าไม่ทำให้เติบโตแข็งแรงหมายถึงฐานทรัพยากรเหล่านี้มีโอกาสที่จะถูกทำลายถูกครอบงำกับการเจริญเติบโตของเกษตรกรรายย่อยที่จะรักษาฐานที่ดิน การผลิตอาหารของตัวเองเลี้ยงครอบครัว ชุมชน และสังคมก็ไม่สามารถเดินหน้า

สังคมขณะนี้ยังสับสนเรื่องเกษตรอินทรีย์ ผู้บริโภคไม่รู้ว่าอาหารปลอดสารคืออะไร  เกษตรอินทรีย์คืออะไร ทำให้อาหารที่ผลิตในระบบเคมี บอกว่าปลอดภัยกับผู้บริโภค กระบวนกาผลิตไม่มีการควบคุมดูแลเพียงแต่ใช้มาตรฐานมาติด  การบังคับติดเกษตรอินทรีย์ไม่จำเป็น สร้างอุปสรรคเหล่านี้แล้วทำให้กลุ่มที่กำลังเติบโตเจอปัญหา

แม้ว่าหนทางข้างหน้ายังมีอุปสรรคอยู่ไม่น้อย แต่ด้วยพลังของเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ฉะเชิงเทราได้สร้างบทเรียนให้สังคมตระหนักถึงสิทธิเกษตรกรที่จะมีความมั่นคงอาหาร สิทธิผู้บริโภคที่จะได้รับอาหารปลอดภัย สิทธิชุมชนที่จะปกป้องฐานทรัพยากรธรรมชาติ และสิทธิพลเมืองที่ตื่นตัวสร้างสรรค์ประชาธิปไตยจากรากหญ้า ก้าวต่อไปสังคมควรใช้บทเรียนของเครือข่ายฯ ร่วมขับเคลื่อนให้เกิดเครือข่ายกว้างขวางไปทั่วประเทศไทยให้เป็นสังคมแห่งความมั่นคงและปลอดภัยด้านอาหารตลอดห่วงโซ่ บนฐานเกษตรกร ชุมชน ผู้บริโภคอย่างแท้จริง

 


ขอบคุณข้อมูลจาก

  • เครือข่ายเกษมกรรมทางเลือกฉะเชิงเทรา
  • กลุ่มเกษตรอินทรีย์อำเภอสนามชัยเขต

(ตอนที่ 1) เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกฉะเชิงเทรา

(ตอนที่ 2) เครือข่ายวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์จังหวัดอำนาจเจริญ

(ตอนที่ 3) โครงการพัฒนาอาหารปลอดภัยต่อสุขภาพด้วยระบบอินทรีย์ นครปฐม (สามพรานโมเดล)