จังหวัดอำนาจเจริญมีพื้นที่ทั้งสิ้นจำนวน 19,795,780 ไร่ ซึ่งมีพื้นที่ทำการเกษตรกรรม 937,692 ไร่ คิดเป็น 47 % ของพื้นที่จังหวัดอำนาจเจริญ มีสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศที่เหมาะสมกับการทำเกษตรกรรม โดยเฉพาะกับการเพาะปลูกข้าวหอมมะลิ 105 และข้าวพันธุ์พื้นเมืองท้องถิ่นได้เป็นอย่างดี
มีเม็ดดินและอากาศที่เหมาะสมกระจายไปเกือบทุกพื้นที่ ตอนกลางวันแดดจะร้อนให้แสงอัลตราไวโอเลตให้ข้าวเจริญเติบโตได้ดี ตกบ่ายตะวันคล้อยอากาศจะเย็นลง ลมโปร่งพัดถ่ายเทหมุนเวียนไม่อบอ้าว ซึ่งลักษณะเช่นนี้ชาวบ้านในท้องถิ่นบอกว่าเป็นช่วง “ตะวันอ้อมข้าว” กลางคืนอากาศเย็นลมนิ่งรับความชุ่มชื่นที่ถ่ายเทโดยธรรมชาติจากแอ่งลุ่มน้ำโขงชายแดนไทย-ลาว บรรยากาศเช่นนี้ช่วยให้ต้นข้าวเจริญเติบโตสมบูรณ์ แข็งแรง ต้านทานต่อโรค น้ำในเม็ดข้าวจะเหนียว ช่วงเวลาที่ต้นข้าวเริ่มสะสมความหอมมีระยะเวลาที่ยาวนาน โดยเฉพาะพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 และพันธุ์ข้าว กข. 15
เป้าประสงค์ร่วมของเครือข่าย
เครือข่ายวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์จังหวัดอำนาจเจริญ[1] มีเป้าประสงค์ร่วมกันของเครือข่าย
เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่เครือข่ายข้าวอินทรีย์ในการผลิต การแปรรูปและการตลาด อีกทั้งยังเป็นการลดต้นทุนเพื่อเพิ่มผลิต โดยเครือข่ายได้มีโครงการ “เกษตรอินทรีย์ วิถีพอเพียง” ตามแนวทางพระราชดำริปรัชญาพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ปัจจุบันเครือข่ายมีสมาชิก 425 ราย ในพื้นที่ 36 หมู่บ้าน 16 ตำบล และ 6 อำเภอ ประกอบด้วย อำเภอเมือง อำเภอหัวตะพาน อำเภอลืออำนาจ อำเภอพนา อำเภอปทุมราชวงศา และอำเภอเสนานิคม จังหวัดอำนาจเจริญ มีพื้นที่ปลูกข้าวอินทรีย์และทำเกษตรระบบอินทรีย์ 10,344 ไร่ ข้าวอินทรีย์ได้ผ่านการรับรองมาตรฐานอินทรีย์จำนวน 2,834 ตัน (ข้อมูล; สำนักงานเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์จังหวัดอำนาจเจริญ , วันที่ 10 ต.ค. 2559)
จากการที่จังหวัดอำนาจเจริญมีสภาพพื้นที่และภูมิอากาศเหมาะสมต่อการทำเกษตรกรรม ที่ผ่านมาในอดีตมาการทำเกษตรทำนาข้าว ปลูกปอ และมันสำปะหลัง มีการใช้สารเคมีเข้ามาใช้ทำเกษตรกรรม ความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ทำการเกษตรเปลี่ยนไป เป็นจุดปรับเปลี่ยนของเกษตรกรที่เข้ามาร่วมกลุ่มกันเป็นเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์จังหวัดอำนาจเจริญ ผ่านมาตามช่วงเวลาและสถานการณ์กล่าวได้คือ
ในช่วงปี พ.ศ. 2530 – 2537 เกษตรกรสังเกตสภาพดินที่ใช้ทำเกษตรกรรมเสื่อมโทรมลง จากการใช้สารเคมีในระบบเกษตรกรรม ทั้งปุ๋ยเคมีบำรุงพืช สารเคมีกำจัดวัชพืชและสารเคมีกำจัดโรคแมลง จนกระทั้งในปีพ.ศ. 2537 สารเคมีเข้ามาระบาดหนักในการทำเกษตรกรรม มีการปนเปื้อนสารเคมีในแหล่งน้ำ ปลาธรรมชาติติดโรคและตาย ห่วงโซอาหารคนในท้องถิ่นถูกทำลาย ระบบนิเวศสภาพแวดล้อมเกิดความเสื่อมโทรม เกษตรกรมีปัญหาด้านสุขภาพเป็นโรคเรื้อรังที่เกิดจากการทำเกษตรกรรรม
จนกระทั้งในปี พ.ศ. 2541 – 2542 เกษตรกร 3 รายของบ้านหนองตาใกล้ ได้รับผลกระทบด้านสุขภาพจากการเกษตรกรรมที่ใช้สารเคมี และปัญหาการเสื่อมโทรมของระบบนิเวศ ผลผลิตข้าวได้ลดน้อยลงกว่าเดิม จึง ริเริ่มปลูกผักปลอดสารพิษหลังจากการเก็บเกี่ยวผลิตข้าวในนา ได้นำผลผลิตผักปลอดสารไปขายส่งในตลาดจังหวัดอำนาจเจริญ ผลผลิตผักปลอดสารไม่เพียงพอต่อความต้องการของลูกค้า และเกษตรกรในชุมชนเห็นความต้องการบริโภคผักปลอดสารมากขึ้นของลูกค้าในตลาด และกลุ่มเกษตรกรที่ปลูกผักปลอดสารมีรายได้เสริมหลังจากฤดูทำนา จึงได้มีเกษตรกรในชุมชนหันมาทำผักปลอดสารเพิ่มเป็น 30 ราย ได้ผลผลิตผักปลอดสารเป็นจำนวนมากจึงมีแม่ค้าเข้ามารับซื้อถึงในหมู่บ้านเพื่อเอาไปขายต่อที่ตลาดอำนาจเจริญ
ในปี พ.ศ.2542 เกษตรจังหวัดอำนาจเจริญได้เข้ามาส่งเสริมเกษตรกรกลุ่มที่ปลูกผักปลอดสารอยู่แล้วจำนวน 13 ราย โดยให้ความรู้การปลูกผักปลอดสารเคมีเพิ่มเติม และสนับสนุนอุปกรณ์ (ตาข่ายมุ้ง) ในการทำเพาะปลูกผักปลอดสาร จนสมาชิกกลุ่มเกษตรกรที่ทำผักปลอดสารประสบความสำเร็จในการทำผักปลอดสาร เป็นแหล่งปลูกผักรายใหญ่ของจังหวัดอำนาจเจริญ และสมาชิกกลุ่มมีความชำนาญและประสบการณ์ที่ถ่ายทอดไปสู่บ้านใกล้เคียงอื่นๆ และสมาชิกมีชื่อเสียงให้แปลงผักเป็นที่ศึกษาดูงานของกลุ่มคนสนในการทำเกษตรปลอดสาร ในขณะนั้นสมาชิกกลุ่มทำผักปลอดสารก็เริ่มหันมาทำนาข้าวอินทรีย์ควบคู่กันไปด้วย
ปี พ.ศ. 2547 – 2548 กลุ่มเกษตรกรที่ทำข้าวอินทรีย์ (ข้าวหอมมะลิ 105) ได้รับมาตรฐาน GAP (Good Agricultural Practice) จากกรมวิชาการเกษตร สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช) ทำให้ผลผลิตข้าวอินทรีย์ของสมาชิกมีความต้องการของตลาด จึงได้ร่วมมือกับเครือข่าวข้าวอินทรีย์น้ำอ้อม จังหวัดยโสธรทำตลาดข้าวอินทรีย์ร่วมกัน ช่วงปีพ.ศ. 2548 ทางเกษตรจังหวัดมีแนวทางสนับสนุนกลุ่มสมาชิกทำข้าวอินทรีย์และกลุ่มปลูกผักอินทรีย์อย่างต่อเนื่อง นอนกจากนี้ยังใช้สมาชิกของกลุ่มเป็นวิทยากรและใช้แปลงเกษตรอินทรีย์สำหรับการศึกษาดูงาน ขยายผลส่งเสริมเกษตรกรให้ทำนาข้าวอินทรีย์ทั่วจังหวัดอำนาจเจริญ มีการสนับสนุนให้ทำนาข้าวอินทรีย์พันธุ์ ข้าว กข 15 ข้าวหอมมะลิ 105 ข้าวหอมมะลิแดง ข้าวเหนียว กข 6 และข้าวเหนียวสันป่าตอง และจัดตั้งศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวอินทรีย์ชุมชนตามมาด้วย จนกลุ่มเกษตรข้าวอินทรีย์ได้ขอรับตรวจมาตรฐานรับรอง ผ่านมาตรฐาน GAP ของกรมการข้าว มาตรฐาน CERES / NOP และ EU มาตรฐานสากลจากประเทศเยอรมัน
ปี พ.ศ. 2550 – 2552 เครือข่ายสภาองค์กรชุมชนจังหวัดอำนาจเจริญ มีการนำเรื่องเกษตรอินทรีย์ไปขายผลในจังหวัดอำนาจเจริญ มีสมาชิกเข้ามาทำเกษตรอินทรีย์ จำนวน 2.000 กว่าราย กระจายออกไป 36 หมู่บ้าน 16 ตำบล 6 อำเภอ ประกอบไปด้วย อำเภอเมือง อำเภอหัวตะพาน อำเภอลืออำนาจ อำเภอพนา อำเภอปทุมราชวงศา และอำเภอเสนานิคม ของจังหวัดอำนาจเจริญ มีพื้นที่ทำเกษตรอินทรีย์จำนวน 30,000 – 40,000 ไร่ ขายข้าวอินทรีย์ได้ประมาณเดือนละ 2 คันรถสิบล้อ ราวจำนวน 40 ตัน จากความร่วมมือของเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนจังหวัดอำนาจเจริญขยายเครือข่ายมีเกษตรกรเข้ามาเป็นสมาชิกเครือข่ายเกษตรอินทรีย์เพิ่มมากขึ้น
แกนนำในระดับตำบลใช้วิธีการขยายผลคือ 1:3:5 คือ มีแกนนำตำบล 1 คน ไปขยายผลหาแกนนำเกษตรอินทรีย์อีก 3 คน และแกนนำเกษตรอินทรีย์แต่ละคนไปขยายผลส่งเสริมให้เกษตรกรทำเกษตรอินทรีย์คนละ 5 ราย และสมาชิกแกนนำเกษตรอินทรีย์ยังได้แบ่งบทบาทหน้าที่ร่วมกันขยายหาสมาชิกส่งเสริมการทำเกษตรอินทรีย์ และร่วมกับตรวจแปลงเกษตรอินทรีย์ ในปีพ.ศ.2551 เกษตรกรจังหวัดอำนาจเจริญจึงได้รวมตัวกันเพื่อขับเคลื่อนการทำเกษตรกรรมแบบยังยืน ไปจดทะเบียนตาม พรบ.วิสาหกิจชุมชน ภายใต้ชื่อ เครือข่ายวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์จังหวัดอำนาจเจริญ
ปี พ.ศ. 2554 – 2555 เนื่องด้วยรัฐบาลในขณะนั้นดำเนินนโยบายการประกันราคาผลผลิตด้วยวิธีการจำนำข้าวทำให้สมาชิกเกษตรกรอินทรีย์บางส่วนเปลี่ยนวิธีการทำนาข้าวโดยใช้สารเคมี เพื่อเร่งผลผลิตตามนโยบายความต้องการราคาผลผลิตข้าวเร็วขึ้น เกษตรกรประสพปัญหาผลผลิตข้าวจำนำไม่ได้ ราคาข้าวตกต่ำ ผลผลิตข้าวล้นตลาดและสร้างปัญหาหนี้สินแก่เกษตรกรทั่วไป สมาชิกเกษตรกรอินทรีย์จึงได้ร่วมกันหาทางออกโดยร่วมมือกับเครือข่ายข้าวเกษตรอินทรียืน้ำอ้อมจังหวัดยโสธร และร้านข้าวหอมจังหวัดสุรินทร์ ร่วมกันหาตลาดข้าวเพื่อระบายขายข้าวให้แก่กลุ่มสมาชิก นอกจากนี้เกษตรกรที่ประสพปัญหาจากนโยบายรับจำนำข้าวและเกษตรกรที่มีความมั่นคง มั่นใจในวิถีเกษตรอินทรีย์จึงได้รวมตัวกันอีกครั้ง กอปรกับพัฒนายุทธศาสตร์การขับเคลื่อนธรรมนูญประชาชนฅนอำนาจเจริญสู่เมืองธรรมเกษตรในปีพ.ศ.2555 เป็นต้นมา
ปีพ.ศ.2557 ถึงปัจจุบัน สมาชิกเกษตรกรเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์จังหวัดอำนาจเจริญได้รวมตัวกันใหม่ทำนาข้าวอินทรีย์จำนวน 292 รายใน 5 อำเภอ และยืนขอตรวจรับรองมาตรฐาน CERES NOP และ EU มาตรฐานสากลจากประเทศเยอรมัน ในปีพ.ศ.2558 สมาชิกสามารถผลผลิตข้าวสารอินทรีย์ได้ประมาณ 400 ตัน ส่งขายทั้งในและต่างประเทศที่ได้รับรองมาตรฐาน ปีพ.ศ. 2559 ปัจจุบันสมาชิกเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์ มีสมาชิกจำนวน 425 ราย พื้นที่ปลูกข้าวอินทรีย์จำนวน 10,344 ไร่ ข้าวที่ผ่านการรับรองมาตรฐานจำนวน 2,834 ตัน เครือข่ายได้ขายข้าวให้กับบริษัทในประเทศไทยส่งไปขายต่อในตลาด ประเทศเยอรมัน ประเทศสหรัฐอเมริกา และประเทศสิงคโปร์ เป็นต้น
จุดปรับเปลี่ยนการเกษตรและนาข้าวอินทรีย์ของสมาชิกเครือข่าย
- มีสารเคมีเข้ามาระบาดในการทำเกษตรกรรมและทำนา เพื่อใช้สารเคมีในการบำรุงผลผลิต กำจัดวัชพืชและโรคแมลงต่างๆ ส่งผลให้ระบบนิเวศสิ่งแวดล้อมโดนทำลายเสื่อมโทรมลง สารเคมีปนเปื้อนในดินและแหล่งน้ำธรรมชาติ ยังมีแนวโน้มสูงขึ้น ระบบห่วงโซ่อาหารในธรรมชาติโดนทำลาย ปลาติดโรคและตาย พืชผักท้องถิ่นตามธรรมชาติหายไปและคนไม่กล้าเก็บมาบริโภค เกษตรกรมีปัญหาสุขภาพเป็นโรคเรื้อรังจากการทำเกษตรกรรม (ปีพ.ศ.2536 – 2537)
- ตลาดสินค้าอินทรีย์ ผลผลิตอินทรีย์สร้างรายได้ให้เกษตรกรเป็นอย่างดี เกษตรกรมีแรงจูงใจทางด้านรายได้ที่ดีเหมาะต่อระบบการผลิต สมาชิกได้รับผลส่วนต่างจากการขายข้าวอินทรีย์ ซึ่งราคามีความต่างกับข้าวปกติเป็นอย่างมาก คุณภาพชีวิตเกษตรกรดีขึ้น รวมทั้งสุขภาพร่างกาย
- ผลจากราคาข้าวปกติทั่วไปตกต่ำ ตาข้าวที่ผลผลิตด้วยระบบเกษตรอินทรีย์ราคาดีและตลาดยังมีความต้องการสูงจากผู้บริโภครักษาสุขภาพ
- ผลผลิตข้าวอินทรีย์ของสมาชิกได้ยื่นและผ่านการรับรองมาตรฐานอินทรีย์ ทั้งในและต่างประเทศ ได้รับเครื่องหมายระบบการค้าที่เป็นธรรม(Fair trade) เครือข่ายมีการรับซื้อข้าวอินทรีย์ของสมาชิกที่ผ่านมาตรฐานอินทรีย์ ซื้อในราคาประกันกิโลกรัมละ 14 บาท
จุดแข็งและความสำเร็จของเครือข่าย
- สภาพพื้นที่และระบบนิเวศสิ่งแวดล้อมของจังหวัดอำนาจเจริญ เป็นพื้นที่เหมาะสมแก่การทำนาข้าวและเกษตรกรรม
- มีสมาชิกเกษตรกรต้นแบบที่ประสพความสำเร็จในการเกษตรอินทรีย์และทำนาอินทรีย์ ที่สามรถเป็นแหล่งให้ความรู้และแปลงเกษตรกรรมเป็นที่ศึกษาดูงาน แก่เกษตรกรที่สนใจ
- แกนนำมีความคุ้นเคยกันผ่านการทำงานจากโครงการซิป มีการเกาะเกี่ยวช่วยเหลือเอื้อเฟื้อการทำงานร่วมกัน สมาชิกทุกคนเป็นแกนนำ ไม่มีการช่วงชิงการนำ แกนนำมีความสัมพันธ์กับสมาชิกทั้งในระดับชุมชน ระดับตำบล และระดับจังหวัด ผ่านการขับเคลื่อนร่วมกับสภาองค์กรชุมชน และเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนจังหวัดอำนาจเจริญ
- สมาชิกแกนนำของเครือข่ายมีการประชุมแลกเปลี่ยนทุกปี ในการประเมินสถานการณ์ วิเคราะห์สังเคราะห์ถอดบทเรียนร่วมกัน
- การทำงานของเครือข่ายทำงานเชื่อมโยงกับประเด็นอื่นร่วมกันกับเครือข่ายและภาคีอื่นๆ ทำให้เกิดพลังในการขับเคลื่อนและพลังอำนาจในการเจรจาต่อรอง จนประกาศธรรมนูญจังหวัด เป็นเมืองธรรมเกษตร (วันที่ 6 มี.ค. 2558)
- มีการจดทะเบียนเครือข่ายถูกต้องตาม พรบ.วิสาหกิจชุมชน ในชื่อเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์จังหวัดอำนาจเจริญ มีวัตถุประสงค์เป้าหมายที่ชัดเจนเพื่อส่งเสริมความเข้มแข็งให้แก่เครือข่ายข้าวอินทรีย์ในการผลิต การแปรรูปและการตลาด มีคณะกรรมการขึ้นมาบริหารจัดการที่ชัดเจน โดยให้สมาชิกคัดเลือกคณะกรรมการมาจากแกนนำระดับอำเภอ 13 คน เป็นคณะกรรมการบริหาร มีการแบ่งโครงสร้างการบริหารออกเป็นฝ่ายต่างๆ ประกอบด้วย ฝ้ายประชาสัมพันธ์ ฝ่ายสำรวจและข้อมูล ฝ่ายส่งเสริมผลิตเกษตรระบบอินทรีย์ ฝ่ายติดตามประเมินผล ฝ่ายสิ่งแวดล้อม และฝ่ายการตลาดและระบบการค้าที่เป็นธรรม(Fair trade) อีกทั้งประสานการทำงานกับภาคหน่วยงานภาครัฐและภาคีความร่วมมืออื่น จนเกิดการยอมรับเครือข่ายในระดับจังหวัด และยังได้ร่วมกันผลักดันแผนจังหวัดเกษตรอินทรีย์และงบประมาณลงมาดำเนินงาน
- เครือข่ายมีระบบการรับสมัครสมาชิกที่ชัดเจนกระจายครอบคลุมทุกอำเภอของจังหวัดอำนาจเจริญ และมีแปลงทำเกษตรกรรมอินทรีย์ที่ชัดเจนของสมาชิก สามารถวางแผนระบบการผลิตข้าวอินทรีย์ร่วมกัน วางแผนการตลาดเพื่อกระจายผลผลิตข้าวอินทรีย์ จุดสำคัญอีกอย่างหนึ่งของเครือข่ายคือผลผลิตข้าวอินทรีย์ของสมาชิกในเครือข่ายได้รับรองมาตรฐานอินทรีย์ทั้งในและต่างประเทศ เป็นที่ต้องการของตลาดสินค้าอินทรีย์ ผลผลิตข้าวอินทรีย์ของสมาชิกได้รับการระบายสู่ตลาดไม่มีผลผลิตตกค้าง สร้างรายได้ให้แก่สมาชิกเป็นอย่างดี
ข้อจำกัดและปัญหา
- นโยบายโครงการ และกลไกของภาครัฐ ทำให้ฐานทรัพยากรธรรมชาติท้องถิ่นเสื่อมโทรม ส่งผลให้ห่วงโซอาหารของชุมชนหายไป รัฐมีนโยบายที่มุ่งเน้นมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารและเกษตรกรขาดความมั่นคง เช่น โครงการรับจำนำข้าว การผลผลิตที่มุ่งเน้นแต่ด้านเศรษฐกิจ การส่งเสริมพืชพาณิชย์เชิงเดี่ยว อ้อย มันสำปะหลัง ยางพารา มีการนำสารเคมีมาให้ในกระบวนการผลิต พื้นที่อาหารพื้นที่เกษตรกรรมอินทรีย์ลดลงขาดพื้นที่ความมั่นคงทางอาหาร เป็นต้น
- ผลผลิตข้าวอินทรีย์ของสมาชิกหลุดมือไปสู่กลุ่มพ่อค้าคนกลาง ขาดความสามารถกำหนดกลไกทางการตลาด
- การทำเกษตรระบบอินทรีย์สมาชิกบางส่วนยังขากความรู้ความเข้าใจและการยอมรับของครอบครัว
- การส่งเสริมของหน่วยงานภาครัฐมุ่งเน้นปริมาณจำนวนสมาชิกและพื้นที่เกษตรกรรม มากกว่าส่งเสริมพัฒนาด้านความรู้ และยังสนับสนุนเมล็ดพันธุ์ข้าวคุกยาปนเปื้อนสารเคมีมาให้
การพัฒนาของกลุ่มเกษตรอินทรีย์และข้าวอินทรีย์จังหวัดอำนาจเจริญ ผ่านมากว่า 20 กว่าปี เป็นการปรับเปลี่ยนจากตัวเกษตรกรเอง จากสภาพสิ่งแวดล้อม จากกลไกการตลาด ตลอดจนการเข้าสนับสนุนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จนพัฒนาเป็นเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์จังหวัดอำนาจเจริญ ได้รับความร่วมมือและสนับสนุนการทำงานหลายบทบาทร่วมกันเป็นภาคีความร่วมมือจากหลายฝ่าย ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม กล่าวได้คือ
- เกษตรจังหวัดอำนาจเจริญ เข้ามามีบทบาทสนับสนุนให้ความรู้ส่งเสริมเกษตรอินทรีย์และข้าวอินทรีย์ พร้อมทั้งสนับสนุนวัสดุการทำเกษตรอินทรีย์ตาข่ายมุ้ง เมล็ดพันธุ์ข้าว
- พาณิชย์จังหวัดอำนาจเจริญ เข้ามาช่วยเหลือการประชาสัมพันธ์ และกระจายสินค้าผลผลิตข้าวอินทรีย์ มีโครงการผูกปิ่นโตข้าว เป็นการขายให้ให้แก่กลุ่มผู้บริโภครักสุขภาพในเมือง โรงแรม เป็นต้น
- กรมส่งเสริมการเกษตร เข้ามาประสานสนับสนุนการยืนขอรับรองมาตรฐานอินทรีย์ (มกท.) และการจดทะเบียนเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์จังหวัดอำนาจเจริญ
- ผู้ว่าราชการจังหวัดอำนาจเจริญ เข้ามาสนับสนุนการประชาสัมพันธ์ ความเข้มแข็งของกลุ่มเครือข่าย ผลักดันนโยบายเกษตรอินทรีย์สู่แผนจังหวัดและสนับสนุนงบประมาณ
- องค์การบริหารส่วนจังหวัดอำนาจเจริญ (อบจ.)สนับสนุนกระบวนการเรียนรู้ของสมาชิกเครือข่ายทั้งการประชุมอบรม ค่าอาหารและค่ายานพาหนะ พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์สินค้าอินทรีย์และข้าวอินทรีย์ของกลุ่ม
- องค์กรที่สมาชิกเครือข่ายรับของมาตรฐานอินทรีย์ คือ CERES NOP และ EU มาตรฐานสากลจากประเทศเยอรมัน ระบบการค้าที่เป็นธรรม (Fair trade) เข้ามาเกี่ยวข้องสนับสนุนรับรองแปลงและผลผลิตอินทรีย์ของสมาชิก และเป็นตลาดรับผลผลิตสินค้าอินทรีย์และข้าวอินทรีย์
- สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหาชน) เข้ามาสนับสนุนความเข้มแข็งของเครือข่าย ผ่านสภาองค์กรชุมชนตำบล เครือข่ายสภาองค์กรชุมชนจังหวัดอำนาจเจริญ ผ่านการจัดกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันของสมาชิกเครือข่าย จัดทำข้อมูล สังเคราะห์สรุปบทเรียน และขับเคลื่อนธรรมนูญจังหวัดอำนาจเจริญ
- มูลนิธิสุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการเสริมสร้างสุขภาพ (สสส.) เข้ามาสนับสนุนการจัดทำข้อมูลและการจัดเวทีนโยบายสาธารณะ ผ่านกระบวนการขับเคลื่อนผลักดันยุทธศาสตร์ธรรมนูญจังหวัดประชาชนฅนอำนาจเจริญสู่เมืองธรรมเกษตร
- ภาคประชาสังคมจังหวัดอำนาจเจริญ เครือข่ายข้าวอินทรีย์น้ำอ้อมจังหวัดยโสธร และร้านข้าวหอมจังหวัดสุรินทร์ เข้ามาสนับสนุนกระบวนการเรียนรู้ของเครือข่ายศึกษาและแลกเปลี่ยนดูงาน ส่งเสริมความเข้มแข้งของเครือข่าย ตลอดจนการตลาดระบายสินค้าอินทรีย์และข้าวอินทรีย์ของสมาชิกเครือข่าย
การดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่องของเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์จังหวัดอำนาจเจริญ ทางเครือข่ายยังมีแนวทางความต้องการยกระดับความเข้มแข็งของเครือข่าย ทั้งด้านความเข้มแข็งและศักยภาพของกลุ่มสมาชิก ระบบการผลิตข้าวอินทรีย์และสินค้าอินทรีย์ ระบบการค้าที่เป็นธรรม สู่จังหวัดเมืองแห่งอาหารในภายภาคหน้าโดยทำเกษตรอินทรีย์มีความปลอดภัย ปลอดสารเคมี และมีอากาศบริสุทธิ์ จึงได้ร่วมกันสร้างแนวทางการทำงานต่อของเครือข่าย คือ
- การประสานทำงานร่วมกับภาครัฐที่เกี่ยวข้องในจังหวัดอำนาจเจริญ ผลักดันจัดทำแผนยุทธศาสตร์พัฒนาจังหวัดและนำแผนการทำเกษตรระบบอินทรีย์ไปสู่แผนปฏิบัติในพิ้นที่
- ปีพ.ศ. 2560 ร่วมกับอุตสาหกรรมจังหวัดติดตามงบประมาณมาดำเนินการสร้างโรงสีข้าวอินทรีย์
- การพัฒนาสร้างแบรนด์สินค้าอินทรีย์สำหรับเครือข่าย
- จัดกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ให้กับผู้บริโภคและผู้ผลิตสมาชิกเครือข่าย โดยนำผู้บริโภคจากโครงการผูกปิ่นโตข้าวที่พาณิชย์จังหวัดเป็นผู้ดำเนินการ มีกลุ่มคนในเมืองที่รักษาสุขภาพ และโรงแรมที่รับข้าวอินทรีย์ของเครือข่าย ลงเยี่ยมเยียนแปลงเกษตรกรรมและพูดคุยกับสมาชิกเครือข่ายในพื้นที่
- การขยายสมาชิกเครือข่ายเพิ่ม โดยใช้แกนนำของเครือข่ายไปขยายผลสู่เครือญาติให้เข้ามาเรียนรู้ ทางเครือข่ายให้ความรู้การทำเกษตรระบบอินทรีย์ ลงศึกษาแปลงของสมาชิกที่ประสพความสำเร็จ และศึกษาดูงานแลกเปลี่ยนนอกพื้นที่ และส่งเสริมรายครอบครัวของสมาชิกให้พ่อแม่ลูกทำเกษตรระบบอินทรีย์ร่วมกัน ปลูกผักไว้กินเอง และปลูกผักหลังฤดูการทำนา
- การพัฒนาคุณภาพชีวิตของสมาชิก ส่งเสริมด้านสุขภาพแก่สมาชิกเครือข่ายบริการเจาะเลือดหาสารพิษสารเคมีตกค้างในเลือด และให้ความรู้เฝ้าระวังโรคที่เกิดขึ้นจากการทำเกษตรกรรม ส่งเสริมด้านเศรษฐกิจให้สมาชิกมีรายได้เพิ่มขึ้น หาช่องทางการตลาดให้สมาชิกขายข้าวได้เพิ่มขึ้น และลดต้นทุนการผลิตปลูกข้าวอินทรีย์ มีการรวมกลุ่มทำปุ๋ยร่วมกันของสมาชิกแต่ละบ้าน
- จัดตั้งศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวอินทรีย์ชุมชน และโรงสีข้าวอินทรีย์ของเครือข่าย
- ฟื้นฟูรักษาระบบนิเวศทางกายภาพในแปลงเกษตรกรรม ส่งเสริมการปรับปรุงดินให้สมบูรณ์เหมาะแก่การเพาะปลูก รักษาระบบนิเวศในแปลงนาให้ทรัพยากรสัตว์น้ำจำพวก ปลา กบ เขียด หอย ปู กลับคืนมารวมทั้งเทาสาหร่ายน้ำจืด
สิ่งที่เราได้เรียนรู้จากเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์จังหวัดอำนาจเจริญ เป็นการที่เกษตรกรเจอวิกฤตของการทำเกษตรแบบเดิมที่ต้องใช้สารเคมีในระบบการผลิต สิ่งแวดล้อมเปลี่ยนไปจากสภาพเดิมมีความเสื่อมโทรม เกษตรกรมีปัญหาด้านสุขภาพจากระบบการทำเกษตรกรรม กลไกตลาดราคาผลิตจาเกษตรไม่แน่นอตกต่ำ พื้นที่ผลิตอาหารของชุมชนถูกคุกคาม ชีวิตของเกษตรกรไม่มีความมั่นคง เกษตรกรและสมาชิกเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทร์จังหวัดอำนาจเจริญ หาทางออกด้วยการร่วมกลุ่มถ่ายทอดความรู้การทำเกษตรระบบอินทรีย์ สร้างตลาดผลผลิตสิ้นค้าอินทรีย์ จนกลุ่มเครือข่ายเกิดการยอมรับในระดับจังหวดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผลักดันงานเกษตรอินทรีย์สูแผนพัฒนาจังหวัดหวัดอำนาจเจริญ สมาชิกเครือข่ายขยายตัวไปทั่วจังหวัดอำนาจเจริญ สร้างระบบเศรษฐกิจของจังหวัดที่เชื่อมโยงกับพื้นที่ผลิตอาหารเกษตรกรสมาชิกมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น หากสิ่งที่กล่าวมาในเบื้องต้นเป็นความตระหนักถึงความมั่นคงทางอาหารและอาหารปลอดภัยของจังหวัดอำนาจเจริญจึงมีความร่วมมือกับหลายภาคส่วนทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคประชาสังคม และสมาชิกเครือข่าย เป็นพื้นที่ศึกษาและเรียนรู้ทั้งในระดับแปลง ระดับกลุ่มเครือข่าย และระดับนโยบาย ตามแนวทางพระราชดำริปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จระเจ้าอยู่หัว
[1] สรุปจากเวทีพูดคุยแกนนำและคณะกรรมการเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์จังหวัดอำนาจเจริญ วันที่ 14 ต.ค. 2559
อุดหนุนสินค้าได้ที่ เครือข่ายวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์จังหวัดอำนาจเจริญ https://www.facebook.com/RiceorganicAM/
ขอขอบคุณ
คุณวันนา บุญกลม เครือข่ายวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์ จ.อำนาจเจริญ,
คุณชื่น จิตจง ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มผลิตข้าวหอมมะลิอินทรีย์ ตำบลห้วยไร่
(ตอนที่ 1) เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกฉะเชิงเทรา
(ตอนที่ 2) เครือข่ายวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์จังหวัดอำนาจเจริญ
(ตอนที่ 3) โครงการพัฒนาอาหารปลอดภัยต่อสุขภาพด้วยระบบอินทรีย์ นครปฐม (สามพรานโมเดล)